xs
xsm
sm
md
lg

ความท้าทายที่รอคอย ประธานาธิบดี อู ทิน จ่อ

เผยแพร่:   โดย: ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม

ภาพเอพี
ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม
ศูนย์อาเซียนศึกษา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ


เมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา ประวัติศาสตร์การเมืองเมียนมาต้องจารึกวันสำคัญวันนี้เอาไว้ครับ เพราะ เมียนมากำลังจะมีประธานาธิบดีพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งคนแรกในรอบกว่าครึ่งศตวรรษ หลังจากการเข้าสู่อำนาจของเผด็จการทหารในปี 1962 โดยประธานาธิบดีคนใหม่ของเมียนมาคือ คนสนิทของ อองซาน ซูจี ผู้ชายที่มีนามว่า “อู ทิน จ่อ (U Htin Kyaw)”

อู ทิน จ่อ เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีบทบาทโดดเด่นอย่างต่อเนื่อง เข้าใจสถานการณ์ และมีประวัติส่วนตัวและประวัติครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้ของประชาชนเมียนมามาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ปัจจุบัน อู ทิน จ่อ อายุ 69 ปีครับ เขาเกิดเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 1946 ที่กรุงย่างกุ้งในสมัยที่ยังถูกเรียกว่า Hannthawaddy Division แห่ง British Burma ภายใต้การดูแลของสหราชอาณาจักร

อู ทิน จ่อ เรียนโรงเรียนเดียวกันและเป็นรุ่นน้องของ อองซาน ซูจีครับ โดยเข้าเรียนที่โรงเรียน Yangon’s Methodist English High School จากนั้นเขาเข้าเรียนต่อทางเศรษฐศาสตร์ในระดับปริญญาตรีและโทที่ Rangoon Institute of Economics (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น YIE: Yangon Institute of Economics) โดยจบการศึกษาเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสถิติ และเริ่มต้นงานสอนในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ในปี 1968 พร้อมๆ กับที่เป็นเริ่มต้นเป็นนักเขียนครับ ต้องไม่ลืมนะครับว่าในสังคมเมียนมานักคิดนักเขียนเป็นอาชีพที่ได้รับเกียรติได้รับการยกย่องในสังคมว่าเป็นผู้มีความรู้เป็นผู้ชี้นำสังคม โดย อู ทิน จ่อ ใช้นามปากกาตามชื่อเล่นที่คุณพ่อของเขาตั้งให้ตั้งแต่เขาอายุ 3 เดือนว่า "Dala Ban" ซึ่งแปลว่า นักรบมอญที่ยิ่งใหญ่ ตามเชื้อชาติของเขาที่เป็นคนเชื้อสาย มอญ-พม่าครับ

ซึ่งคุณทินจ่อก็ทำได้ดีเหมือนคุณพ่อของเขาครับ เพราะคุณพ่อของเขาคือ Win Thu Wun นักคิดนักเขียนชั้นครูที่ได้รับการยกย่องให้เป็น National Poet และเขายังเป็นหนึ่งในผู้ชนะการเลือกตั้งทั่วไปในปี 1990 และถูกพรรค NLD วางตัวจะให้เป็นผู้นำรัฐบาล เนื่องจากคุณอองซาน ซูจีถูก House arrest แต่อย่างไรก็ตามผลการเลือกตั้งครั้งนั้นก็ถูกยกเลิกอยู่ดี

นอกจากคุณพ่อแล้ว อู ทิน จ่อ ยังสมรสกับคุณ Su Su Lwin ซึ่งปัจจุบันเธอเองก็ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเป็นสมาชิกรัฐสภาของเขต Thongwa Township และทำหน้าที่เป็นประธานกรรมธิการการต่างประเทศของรัฐสภา (Chairperson of International Relations Committee) และทำให้คุณอู ทิน จ่อ เป็นผู้มีบทบาทสูงในแวดวงการเมืองเมียนมา เพราะคุณพ่อของคุณ Su Su Lwin คือ U Lwin หนึ่งในผู่ก่อตั้งพรรค NLD และยังเป็นแกนนำผู้ดูแลรักษาพรรคในช่วงที่คุณอองซานถูกจำขัง

ปัจจุบันนอกจาก U Htin Kyaw จะทำหน้าที่เป็นคนสนิทของอองซาน ซูจีที่เดินทางไปด้วยกันทุกที่แล้ว เขายังทำหน้าที่เป็นผู้บริหารระดับสูงของมูลนิธิ Daw Khin Kyi มูลนิธิการกุศลของอองซานที่ตั้งชื่อตามคุณแม่ของเธอ

หลังจากทำงานเป็นอาจารย์ที่ Yangon Institute of Economics ในปี 1968 พอถึงปี 1970 คุณ อู ทิน จ่อ ก็ผันตนเองไปทำหน้าที่ Programmer และ System Analyst ให้กับศูนย์คอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัย ก่อนที่จะไปเรียนต่อยังประเทศอังกฤษในปี 1971-1972 ที่ Institute of Computer Science แห่ง the University of London และเดินทางต่อไปเรียนด้านการบริหารจัดการที่ Arthur D. Little School เมือง Cambridge มลรัฐ Massachusetts ประเทศสหรัฐอเมริกา และจบการศึกษาในปี 1987
ภาพเอพี
ในช่วงที่มีขบวนการเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศพม่าจากเหตุการณ์ 8888 คุณอู ทิน จ่อ ทำงานเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย และทำงานประจำอยู่ที่กระทรวงอุตสาหกรรมและการต่างประเทศ (Ministry of Industry and Foreign Affairs) แน่นอนว่าผู้ที่มีบทบาททางการเมืองอย่างเขาถูกกดดันจากการเข้ามากระชับอำนาจของรัฐบาลทหารคณะใหม่ในนาม สภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ (State Law and Order Restoration Council) หรือ SLORC นั่นทำให้เขาต้องลาออกจากระบบราชการในปี 1992 ด้วยตำแหน่งรองผู้อำนวยการ Deputy of Director in Foreign Economic Relations Department

และเมื่อลาออกจากภาครัฐ อู ทิน จ่อ ก็เดินหน้าเต็มตัวในการทำงานการเมืองร่วมกับอองซาน ซูจี และพรรค NLD โดยในปี 2000 เมื่อรัฐบาลเมียนมาในขณะนั้นปล่อยตัวอองซาน ซูจีจากการ House Arrest เป็นการชั่วคราว อู ทิน จ่อ และอองซาน ซูจีก็มีกำหนดการที่จะเดินทางไปเยี่ยมเยียนสมาชิกพรรค NLD ที่เมืองมัณฑะเลย์ แต่นั่นเองที่ทำให้ฝ่ายความมั่นคงเมียนมาพิจารณาว่าอาจจะนำไปสู่การเคลื่อนไหวทางการเมือง และทำให้อองซาน ซูจี ถูกจำขังในบ้านริมทะเลสาบอินยาของเธออีกครั้ง แต่สำหรับอู ทิน จ่อ นั่นหมายถึงการเข้าเรือนจำอินเส่งเป็นเวลา 4 เดือนในฐานะนักโทษการเมือง

เส้นทางการเป็นประธานาธิบดีของคุณ อู ทิน จ่อ เริ่มชัดเจนขึ้น เมื่อพรรค NLD ตกลงส่งเขาเป็นตัวแทนชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีในรัฐสภา (Pyithu Hluttaw) ในวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา และต่อมาในวันที่ 11 มีนาคม สมาชิกรัฐสภาจำนวน 274 คนจากจำนวนสมาชิกทั้งสิ้น 317 คนก็เลือกเขาให้เป็นรองประธานาธิบดี เพื่อที่จะชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 15 มีนาคม และในวันนั้นเองสมาชิกทั้ง 2 สภาคือ รัฐสภา (Pyithu Hluttaw) และวุฒิสภาหรือสภาแห่งรัฐ (Amyotha Hluttaw) จำนวน 360 คนจากทั้งหมด 652 คนก็เลือกให้เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยมี Myint Swe ซึ่งเสนอชื่อโดยกองทัพดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี คนที่ 1 และตัวแทนจากรัฐฉิ่น Henry Van Thio ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี คนที่ 2

โดยหลังการเลือกตั้งคำพูดที่ อู ทิน จ่อ กล่าวต่อสื่อมวลชน (จากการรายงานข่าวโดย BBC) ก็คือ “Victory! This is Sister Aung San Suu Kyi’s Victory. Thank you.”

ซึ่งแน่นอนว่าเส้นทางประธานาธิบดีพลเรือนจากการเลือกตั้งคนแรกในรอบกว่าครึ่งศตวรรษของเมียนมายังมีประเด็นท้าทายอีกมาก

แน่นอนครับว่า คุณอองซานซูจี และอู ทิน จ่อ และพรรค NLD ได้รับเลือกตั้งมากมายคะแนนท่วมท้นจนสามารถเสนอชื่อประธานาธิบดี และจัดตั้งรัฐบาล คำถามสำคัญก็คือ พรรค NLD มีทีมงานที่จะเสนอตัวเป็นรัฐบาลที่จะทำหน้าที่บริหารประเทศหรือไม่

คุณอองซานเคยประกาศทางออกไว้ก่อนการเลือกตั้งแล้วว่าเธอจะอยู่ในตำแหน่งที่ “Above the President” ซึ่งตอนนี้คำกล่าวนี้กลายเป็นกับดักที่กลับมาผูกมัดตัวเธอเองแล้ว ทั้งนี้เพราะการประกาศเช่นนี้เท่ากับเป็นการบอกประชาคมโลกและคนเมียนมาว่า ในวันที่ 30 มีนาคม 2559 ประเทศเมียนมาจะมีผู้นำประธานาธิบดี อู ทิน จ่อ ที่เป็น Nominee ซึ่งแน่นอนครับ ตามมาตรฐานสากลเรื่องแบบนี้เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ ผู้นำระดับนานาชาติที่มาเจรจาความเมืองกับเมียนมาจะรูสึกอย่างไรครับ ถ้ารู้ว่าคนที่เขาจับมือเช็คแฮนด์ด้วยในฐานะประธานาธิบดีเป็นเพียง Nominee ที่อำนาจการตัดสินใจไปอยู่ที่คนอื่น ไม่ใช่คนที่เขากำลังเจรจาด้วย ในขณะที่สังคมเมียนมาก็ไม่ใช่สังคมปิดอีกต่อไปนะครับ พวกเขารับรู้ข่าวสารและได้เห็นตัวอย่างแล้วว่า ในประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมาบางประเทศก็เคยมีผู้นำรัฐบาลที่เป็น Nominee ที่มีคนที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศออกคำสั่งซ้ายหันขวาหันต่อเนื่องกันหลายรัฐบาล และประเทศเหล่านั้นก็ล้วนแต่ประสบความล้มเหลวในการบริหารจัดการบ้านเมืองทั้งสิ้น คำถามคือ คนเมียนมาจะยอมให้สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในบ้านของเขาได้หรือไม่

อย่าลืมนะครับว่าประโยคแรกหลังชนะการเลือกประธานาธิบดีของอู ทิน จ่อ คือ “Victory! This is Sister Aung San Suu Kyi’s Victory. Thank you.”

ประเด็นท้าทายต่อมาคือ รัฐบาลของพรรค NLD ภายใต้การนำของอู ทิน จ่อ และอองซาน ซูจี จะสามารถทำงานกับข้าราชการประจำหรือพนักงานของรัฐในประเทศเมียนมาได้หรือไม่ ในเมืองตำแหน่งบริหารในกระทรวงต่างๆ ของเมียนมาตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการ ขึ้นไปจนถึงระดับอธิบดี และปลัดกระทรวง ต่างเป็นคนที่แต่งตั้งมาโดยกองทัพตามสายการบังคับบัญชา NLD คือคนใหม่ที่เข้ามา เขาจะทำงานร่วมกับระบบแบบเดิมได้หรือไม่

ประชาธิปไตยแบบเมียนมาอาจจะเป็นระบบที่แตกต่างจากที่อื่นนะครับ เพราะปกติประชาธิปไตยคือการคานอำนาจถ่วงดุลโดย 3 เสาหลัก นั่นคือ บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ แต่ในเมียนมา ประชาธิปไตยยังมีเสาหลักที่ 4 ที่เข้ามาควบคุมการทำงานของ 3 เสาหลักด้วย นั่นคือ กองทัพ ดังนั้นแม้คุณอองซานและพรรค NLD จะสามารถเสนอชื่อประธานาธิบดี อู ทิน จ่อ และจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่การบริหารราชการแผ่นดินในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงยังถูกควบคุมโดยกองทัพนะครับ ในคณะรัฐมนตรีของเมียนมาซึ่งมีมากกว่า 30 กระทรวง จะมีอยู่ 3 กระทรวงนะครับที่รัฐมนตรีจะได้รับการแต่งตั้งโดยกองทัพ ไม่ใช่ประธานาธิบดี นั่นคือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และกระทรวงกิจการชายแดน ดังนั้นการทำงานในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

และเราก็พบว่ากระบวนการตัดสินใจในประเด็นใหญ่ๆ ของประเทศเมียนมา โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความมั่งคง ไม่ได้ทำกันในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนะครับ หากแต่เขามีกระบวนการตัดสินใจในการ สภาความมั่นคง ซึ่งมีกรรมการในการตัดสินใจ 11 คน โดย 5 คนของกรรมการชุดนี้มาจากพลเรือน แน่นอน ว่าคือ ประธานาธิบดีอู ทิน จ่อ ที่มาจากพรรค NLD และทีมงาน ในขณะที่กรรมการอีก 6 คนซึ่งมีคะแนนมากกว่ามาจากผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้นำระดับสูงในกองทัพเมียนมา ดังนั้นกระบวนการตัดสินใจต่างๆ ในการบริหารประเทศยังสามารถควบคุมได้โดยกองทัพครับ

ต้องยอมรับนะครับว่าปัญหาสำคัญเรื่องหนึ่งในประเทศเมียนมาก็คือ ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ใน 7 รัฐ นั่นคือ กลุ่มคะฉิ่น คะชา มอญ กระเหรี่ยง ไทยใหญ่ ยะไข่ ซึ่งรัฐบาลชุดที่ผ่านมาประสบความสำเร็จในการเจรจาหยุดยิงกับกองกำลังติดอาวุธไปแล้วหลายๆ กลุ่ม โดยเรื่องหนึ่งซึ่งรัฐบาลชุดเดิมเคยให้คำสัญญาไว้ก็คือ จะให้กลุ่มชาติพันธุ์มีอิสระมากขึ้นในการปกครองตนเอง อาจจะอยู่ในรูปแบบของสหพันธรัฐที่รัฐต่างๆ เหล่านี้มีกฎหมายของตนเอง บังคับใช้กฎหมายของตนเอง บริหารรัฐของตนเองได้ในบางระดับ และมีการแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรของแต่ละรัฐให้เป็นของรัฐมากยิ่งขึ้น เพราะถึงวันนี้กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ก็ไม่ค่อยอยากจะแยกเป็นประเทศอิสระอีกต่อไปแล้วครับ เพราะทราบดีว่ารัฐเล็กรัฐน้อยของตนหากแยกเป็นประเทศจะมีข้อจำกัดมากมาย พวกเขาต้องการเพียงอิสระในหารปกครองตนเองเท่านั้น

ดังนั้นพวกเราจึงได้เห็นภาพที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้น เช่น ก่อนเลือกตั้ง เจ้ายอดศึกผู้นำกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มไทยใหญ่ออกมาสนับสนุนพรรค USDP ของรัฐบาล ทั้งที่พวกเขาต่อสู้กับรัฐบาลเมียนมามาตลอดชีวิต คำถามก็คือ รัฐบาลของพรรค NLD จะเดินหน้าต่อในประเด็นนี้ได้หรือไม่ เพราะในช่วงที่ NLD และคุณอองซานซูจีมีที่นั่งในรัฐสภาในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ตั้งแต่ปี 2013 คุณอองซานและพรรค NLD ไม่ได้ทำให้คนเมียนมา โดยเฉพาะคนกลุ่มน้อยได้เห็นครับว่าเธอมีศักยภาพในการที่จะเรียกร้องในเรื่องสิทธิและเสรีภาพ รวมทั้งการให้ความคุ้มครองพวกเขา โดยเฉพาะคำพูดปวดใจที่เธอกล่าวกับนักข่าวในกรณีของชาวโรฮิงญาที่ได้รับการรายงานว่า “she did not know if the Rohingya could be regarded as Burmese citizens.” (ที่มา: Misha Hussain (22 June 2012). "Rohingya refugees leave Burma to seek help in Bangladesh". The Guardian (London).) และในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา กลุ่มชาติพันธุ์ก็พยายามในการประสานกับพรรค NLD เพื่อให้พรรคไม่ส่งผู้สมัครในเขตพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อให้พวกเขามีตัวแทนของตนเองจากพรรคของตนเอง โดยที่ไม่มีตัวเลือกจากพรรค NLD เข้าไปตัดคะแนนเสียง แต่สิ่งที่ NLD ทำก็คือส่งผู้เข้าแข่งขันลงในทุกพื้นที่ ทำให้รอยร้าวระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์กับ NLD เกิดขึ้น รวมทั้งในอนาคตหากจะทำงานเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ชายแดน รัฐบาล NLD ก็ต้องทำงานใกล้ชิดกับกองทัพ ซึ่งการประสานงานความร่วมมือจะมีมากน้อยเพียงใดต้องรอพิจาณากันครับ

ประเด็นสุดท้ายก็คือ ต้องยอมรับนะครับว่า คุณอองซานซูจี ไม่เพียงแบกความคาดหวังของคนเมียนมาทั้งในประเทศและในต่างประเทศ หากแต่เธอแบกความคาดหวังของคนทั่วโลกเอาไว้ด้วย แต่ในเมียนมา การทำงานในเรื่องต่างๆ ยังมีเงื่อนไข และมีข้อจำกัดอยู่อย่างมาก ความกดดันเหล่านี้อาจจะทำให้คุณอองซาน อู ทินจ่อ และทีมงานของพรรค NLD ไม่สามารถทำงานได้อย่างที่ทุกคนคาดหวัง

พวกเราคงต้องส่งกำลังใจเอาใจช่วยคุณ อู ทิน จ่อ และ คุณอองซานซูจีต่อไปครับ เพราะหนทางข้างหน้าของเมียนมาไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบแน่นอนครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น