xs
xsm
sm
md
lg

10 จุดตายของคุณอองซานซูจีและพรรค NLD ในการเลือกตั้งเมียนมาปี 2015

เผยแพร่:   โดย: ดร.ปิติ ศรีแสงนาม

ภาพเอพี
ดร.ปิติ ศรีแสงนาม
ศูนย์อาเซียนศึกษา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ


1.คุณอองซานซูจีมีสามีและบุตรเป็นคนต่างชาติครับ และนั่นทำให้โดนล็อคโดยรัฐธรรมนูญทำให้เธอไม่สามารถลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งจะเลือกจากการเสนอชื่อโดยสมาชิกรัฐสภาในวันที่ 29 มีนาคม 2559 ได้ครับ

2.เธอออกมากล่าวว่า เธอจะเป็นผู้ “อยู่เหนือประธานาธิบดีและบริหารประเทศ หากพรรคของนางชนะการเลือกตั้งในวันอาทิตย์นี้” ซึ่งนั่นทำให้ภาพของเธอที่เป็นผู้นำประชาธิปไตยลดลงครับ เพราะมันหมายความว่าเธอจะกลายเป็น สถาบันนอกรัฐธรรมนูญที่ครอบประธานาธิบดีและรัฐบาลเมียนมาอีกทอดนึง บางคนใช้คำว่า Mastermind เลยด้วยซ้ำ และคำพูดลักษณะนี้ทำให้เธอถูกโจมตีว่าไม่เคารพกติกา

3.ในช่วงที่ผ่านมานักสังเกตการณ์ทางการเมืองของเมียนมาพยายามอย่างยิ่งที่จะแนะนำให้คุณอองซานซูจีและพรรค NLD ตั้งรัฐบาลเงา เพื่อติดตาม ตรวจสอบ รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ และเรียนรู้ข้อผิดพลาดจากรัฐบาลของเต็งเส่งในช่วงที่ผ่านมา แต่เธอและพรรคก็ไม่ได้ทำในสิ่งเหล่านี้ และนั่นทำให้พรรค NLD ขาดคนที่จะเข้ามาทำหน้าที่ในรัฐบาลหากพรรคเกิดชนะการเลือกตั้งขึ้นมา

4.ในช่วงที่ NLD และคุณอองซานซูจีมีที่นั่งในรัฐสภาในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ตั้งแต่ปี 2013 คุณอองซานและพรรค NLD ไม่ได้ทำให้คนเมียนมา โดยเฉพาะคนกลุ่มน้อยได้เห็นครับว่าเธอมีศักยภาพในการที่จะเรียกร้องในเรื่องสิทธิและเสรีภาพ รวมทั้งการให้ความคุ้มครองพวกเขา โดยเฉพาะคำพูดปวดใจที่เธอกล่าวกับนักข่าวในกรณีของชาวโรฮิงญาที่ได้รับการรายงานว่า “she did not know if the Rohingya could be regarded as Burmese citizens.” (ที่มา: Misha Hussain (22 June 2012). "Rohingya refugees leave Burma to seek help in Bangladesh". The Guardian (London).)

5.แต่สิ่งที่พรรค NLD ภายใต้การนำของคุณอองซานซูจีกลับกระตือรือร้นเดินหน้าอย่างต่อเนื่องคือการขอการสนับสนุนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้คุณอองซานซูจีสามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศได้ ในขณะที่คู่แข่งทางการเมืองคือพรรค USDP ก็เสนอการแก้รัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน แต่กลับเป็นสิ่งที่ชนกลุ่มน้อยเมียนมาต้องการ นั่นคือ การให้พวกเขาดูแลกันเองในลักษณะของเขตปกครองพิเศษ หรืออาจจะเป็นถึงขั้นจัดตั้งเป็น สหพันธรัฐเมียนมา ที่ให้พวกเขาได้มีกฎหมายของตนเอง ดูแลผลประโยชน์กันเองจาการขายทรัพยากรที่มีการจัดสรรผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลกลาง ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวทางการเจรจาหยุดยิงกับชนกุล่มน้อยหลายๆ กลุ่มของรัฐบาลเมียนมาในช่วงที่ผ่านมา

6.ในการหาเสียงเลือกตั้ง พรรค NLD และคุณอองซานซูจีเองก็ไม่เคยมีทั้งนโยบายเศรษฐกิจ และนโยบายในการพัฒนาประเทศ รวมทั้งไม่มีการเสนอทีมงานให้ประชาคมโลกได้รับรู้ด้วยว่าหากพรรคของเธอชนะ ใครจะเข้ามาทำงาน เธอได้แต่ยืนยันว่าเธอจะทำ 2 เรื่อง นั่นคือ เรื่องปราบคอรัปชันสร้างความโปร่งใส และเรื่องเดิมที่เธอทำมาตลอดนั่นคือ การแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้คุณอองซานซูจีสามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศได้ แน่นอนว่าฝ่ายตรงข้างคือพรรค USDP ก็ไม่ได้มีนโยบายอะไรที่โดดเด่นเช่นกัน แต่อย่างน้อย USDP ก็สามารถโฆษณาได้ว่า พวกเขามีประสบการณ์แล้ว พวกเขาต้องการทำงานต่อ และผลงานที่ผ่านมาประชาชนก็รับรู้ได้จริงๆ ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจภายในประเทศเมียนมาดีขึ้น

7.ภาพที่ประชาคมโลกเห็น คือ บุคคลระดับสูงประเภทนักวิชาการ ดารา นักร้อง ผู้คนในวงสังคม หรือคนไทยอาจจะเรียกว่า เหล่าเซเลบฯ ชาวเมียนมา (Celebrity) ต่างออกมา Post รูปใน Facebook ของตนว่าสนับสนุนคุณอองซานซูจี สนับสนุน NLD แต่ต้องอย่าลืมว่านี่คือคนส่วนน้อยของประเทศนะครับ เมียนมามีประชากรประมาณ 51 ล้าน เข้าถึง smartphone และ Facebook ได้ประมาณ 5 ล้านคน และทั้ง 5 ล้านคนนี้ก็ไม่ได้สนับสนุนคุณอองซานและพรรค NLD และเอาเข้าจริงๆ กลุ่มที่กลับมีอิทธิพลต่อความคิดของคนเมียนมาส่วนใหญ่ได้กลับกลายเป็นกลุ่ม “พระ” ครับ และกลุ่มพระที่มีบทบาทเข้มแข็งทางการเมืองมากๆ เช่น พระกลุ่ม Ma Ba Tha ซึ่งเป็นกลุ่มพระอนุรักษ์นิยมที่ผลักดันกฎหมาย 4 ฉบับเพื่อควบคุมการนับถือศาสนา และการกีดกันผู้มีคู่สมรสชาวต่างชาติ กลุ่มพระสงฆ์เหล่านี้ให้การสนับสนุนพรรค USDP ครับ และบางครั้งก็ออกมาหาเสียงให้ USDP ด้วย เพราะเกรงว่าถ้า NLD เข้ามากฎหมายเหล่านี้จะถูกปรับแก้

8.ต้องไม่ลืมนะครับว่า คน 70% ของเมียนมาอยู่นอกเขตเมือง คนจำนวนมากเป็นชนกลุ่มน้อย และพรรคของชนกลุ่มน้อยประมาณ 21-23 พรรคก็กำลังรวมตัวกัน และจะเป็นตัวแปรหลักในการกำหนดผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ในขณะที่พรรค NLD เอง จะมีคนเลือกมากหรือน้อยแค่ไหน (ดูบทวิเคราะห์ของผมได้ที่ www.facebook.com/piti.srisangnam/posts/10153652028937225)

9.และอย่างที่เคยวิเคราะห์เอาไว้ใน Facebook ว่าถึงชนะศึกเลือกตั้งก็ไม่ได้หมายความว่าจะชนะสงครามการชิงเก้าอี้ประธานาธิบดี เพราะถ้าทหารเขาไม่มั่นใจว่าเขาคุมสถานการณ์ได้ ทหารไม่มีวันปล่อยให้มีการเลือกตั้งทั่วไปแบบนี้ได้อย่างแน่นอน กองทัพยังมีการวางหมากและเตรียมรูปแบบการสกัดดาวรุ่งอย่างคุณอองซานไว้อีกหลายชั้น (ดูบทวิเคราะห์ของผมได้ที่ www.facebook.com/piti.srisangnam/posts/10153652028937225)

10.นักสังเกตการณ์ทางการเมืองของเมียนมาหลายๆ คนวิเคราะห์ตรงกันครับว่า “คุณอองซานซูจีคือนักสู้ครับ แต่คุณอองซานซูจีไม่ใช่นักพัฒนา” ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ คุณอองซานก็คือ เหมาเจ๋อตง ก็คือลุงโฮจิมินห์ครับ นั่นคือเป็นนักยุทธวิธีที่นำการเปลี่ยนแปลงครับ นำการเปลี่ยนผ่าน แต่หากเมื่อการเปลี่ยนผ่านผ่านไปแล้ว คนเหล่านี้ก็อาจจะไม่ถนัดที่จะนำการพัฒนาครับ โดยเฉพาะการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ ประธานเหมาประสบความสำเร็จมากนะครับในการเปลี่ยนยุทธศาสตร์ให้เกษตรกรเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง แต่เหมาเองก็พลาดในเรื่องของนโยบายเศรษฐกิจที่นำเอานโยบายก้าวกระโดดไปข้างหน้าที่กลับพาให้เศรษฐกิจถอยหลังและเผชิญช่วงวิกฤต โฮจิมินห์เองนำกองทัพเปลี่ยนผ่าน วางยุทธวิธีในการสู้รบกับฝรั่งเศษจนสามารถเอาชนะและประเทศกลายเป็นเอกราช แต่นโยบายเศรษฐกิจของเวียดนามก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จจนกระทั่งต้องปฏิรูปเศรษฐกิจประเทศเข้าสู่ระบบตลาดภายใต้นโยบายโด่ยเหมย

คำถามที่สำคัญสำหรับเมียนมาก็คือ ชั่วโมงนี้ประเทศเมียนมาต้องการนักสู้ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงประเทศ หรือการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นไปแล้ว และตอนนี้ประเทศเมียนมากำลังต้องการนักพัฒนามากกว่า ต้องยอมรับนะครับว่า คนเมียนมาคาดหวังกับคุณอองซานซูจีไว้มาก คุณอองซานเองต้องแบกความหวังเหล่านั้นไว้ ทั้งในฐานะลูกสาวของวีรบุรุษกู้ชาตินายพลอองซาน ทั้งในฐานะผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ความหนักหนาสาหัสของการแบกความคาดหวังของประชาชนและประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย และในความเป็นจริงแล้วฐานะที่เหมาะสมกว่าของคุณอองซานซูจีอาจจะเป็นตำแหน่งอย่างเช่นรัฐบุรุษ (Stateman) ที่คอยให้คำปรึกษาเพื่อนำพาความเจริญรุ่งเรืองให้กับประเทศมากกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น