ดร.ปิติ ศรีแสงนาม
ศูนย์อาเซียนศึกษา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ
ศูนย์อาเซียนศึกษา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ
ต้องขอแสดงความดีใจกับพรรค NLD คุณอองซานซูจีและชาวเมียนมาที่ก้าวแรกสู่ความสำเร็จในการมีสิทธิเสรีภาพทางการเมืองได้ถูกจุดให้ติดขึ้นแล้วในประเทศเมียนมา แม้ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการยังไม่ได้มีการประกาศออกมา แต่ในหลายๆ เขตที่การนับคะแนนเสร็จสิ้นแล้ว คุณอองซานและพรรค NLD ก็ได้รับชัยชนะสมกับที่ตัวผมเองและหลายๆ ฝ่ายทั้งในประเทศเมียนมาและในประชาคมโลกมีความหวังและส่งใจไปช่วย อย่างไรก็ตามหลังชนะศึกเลือกตั้ง สงครามการตั้งรัฐบาลและความยากลำบากในการดูแลปกครองประเทศเมียนมาให้เดินหน้าต่อไปยังไม่สิ้นสุดครับ และ 10 ประเด็นที่ NLD และคุณอองซานซูจีต้องเผชิญหลังการเลือกตั้งที่ผมรวบรวมมีดังนี้ครับ
1.แม้ตอนนี้พรรค NLD จะชนะศึกเลือกตั้ง แต่ก็ยังไม่แน่นอนนะครับว่า คุณอองซานและ NLD จะได้เป็นผู้เสนอชื่อประธานาธิบดีคนใหม่ของประเทศเมียนมาหรือไม่ เพราะการเลือกประธานาธิบดีที่จะเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 2016 ผู้แทนราษฎร วุฒิสมาชิก และกองทัพมีสิทธิเสนอชื่อตัวเลือกประธานาธิบดีฝ่ายละ 1 ชื่อ นั่นหมายความว่าถ้า NLD ไม่ได้เสียงเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนที่นั่งในรัฐสภา นั่นคือ 332 ที่นั่งจากทั้งหมด 664 ที่นั่ง โอกาสที่จะเสนอชื่อตัวเลือกประธานาธิบดีและจัดตั้งรัฐบาลก็ยังไม่มีความแน่นอน
2.ถ้ามาดูคะแนนเสียงในรัฐสภา อย่าลืมนะครับว่า 1 ใน 4 ของจำนวน ส.ส. และ ส.ว. ยังมาจากการแต่งตั้งโดยกองทัพ ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 171 คน นั่นหมายความว่า USDP หากรวบรวมเสียงจาก ส.ส. และ ส.ว.ที่พรรคของตนชนะการเลือกตั้ง รวมกับ ส.ส. และ ส.ว. จากพรรคการเมืองอื่นๆ และกลุ่มชาติพันธุ์ได้เพียง 161 เสียง เมื่อรวมกับจำนวนเสียงที่แต่งตั้งมาจากกองทัพอีก 171 เสียง พวกเขาก็จะมีเสียงเกินครึ่งหนึ่งของรัฐสภาและกลายเป็นเสียงข้างมาก นั่นอาจจะทำให้คุณอองซานซูจีและพรรค NLD ที่ชนะการเลือกตั้งกลายเป็นฝ่ายค้านในรัฐสภาทันที
3.และหากเกิด 2 ประเด็นแรกที่ผมกล่าวไปแล้วขึ้น คำถามสำคัญก็คือ แล้วความรู้สึกของคนเมียนมาจะเป็นอย่างไร แน่นอนครับว่า คนเมียนมาจำนวนมากตั้งแต่ระดับรากหญ้าไปจนถึงเหล่าเซเลบฯ สนับสนุนอองซาน ประชาชนจำนวนมากออกมาช่วยพรรค NLD หาเสียง บางคนลงทุนทำป้ายหาเสียงให้คุณอองซานและพรรค NLD พวกเขาจะรู้สึกอย่างไรหากพรรคที่เขาสนับสนุนชนะการเลือกตั้ง ได้คะแนนเสียงจำนวนมาก ได้หลายที่นั่งในรัฐสภาแต่กลับไม่ได้ตั้งรัฐบาล และ/หรือ กลายเป็นฝ่ายค้าน แน่นอนครับว่าหลายฝ่ายเกรงว่า อาจจะเกิดความรุนแรงครับ แฟนานุแฟนของคุณอองซานและพรรค NLD อาจจะมีความเคลื่อนไหวและเหตุการณ์ความไม่สงบอาจจะเกิดขึ้น และนั่นเท่ากับเป็นการเปิดช่องให้กองทัพสามารถใช้เป็นข้ออ้างในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและยกเลิกกิจกรรมทางการเมืองทั้งหมดได้
4.สมมติว่า เกิดเหตุการณ์ในทิศตรงกันข้าม คุณอองซานและพรรค NLD ได้รับเลือกตั้งมากมายคะแนนท่วมท้นจนสามารถเสนอชื่อประธานาธิบดี และจัดตั้งรัฐบาล คำถามสำคัญก็คือ พรรค NLD มีทีมงาน มีตัวเลือกประธานาธิบดีที่จะเสนอหรือไม่ เพราะต้องยอมรับนะครับว่าตามกติกาคุณอองซานซูจีเองไม่สามารถเป็นประธานาธิบดีเพราะรัฐธรรมนูญเมียนมาไม่อนุญาตให้ผู้มีคู่สมรสและบุตรเป็นชาวต่างชาติสามารถทำหน้าที่นี้ได้ และในพรรค NLD เองก็ไม่มีบุคคลที่มีบารมีเพียงพอที่จะเทียบเคียงกับคุณอองซานซูจี คุณเต็งเส่งประธานาธิบดีคนปัจจุบัน หรือพลเอกมินอ่องลายที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดตอนนี้ได้
5.แน่นอนครับ คุณอองซานเคยประกาศทางออกไว้ก่อนการเลือกตั้งแล้วว่าเธอจะอยู่ในตำแหน่งที่ “Above the President” ซึ่งตรงนี้อาจจะกลายเป็นกับดักที่กลับมาผูกมัดตัวเธอเองก็ได้ ทั้งนี้เพราะการประกาศเช่นนี้เท่ากับเป็นการบอกประชาคมโลกและคนเมียนมาว่า ในอีก 5 เดือนข้างหน้า ประเทศเมียนมาจะมีผู้นำที่เป็น Nominee ซึ่งแน่นอนครับ ตามมาตรฐานสากลเรื่องแบบนี้เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ ผู้นำระดับนานาชาติที่มาเจรจาความเมืองกับเมียนมาจะรูสึกอย่างไรครับ ถ้ารู้ว่าคนที่เขาจับมือเชคแฮนด์ด้วยในฐานะประธานาธิบดีเป็นเพียง Nominee ที่อำนาจการตัดสินใจไปอยู่ที่คนอื่น ไม่ใช่คนที่เขากำลังเจรจาด้วย ในขณะที่สังคมเมียนมาก็ไม่ใช่สังคมปิดอีกต่อไปนะครับ พวกเขารับรู้ข่าวสารและได้เห็นตัวอย่างแล้วว่า ในประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมาบางประเทศก็เคยมีผู้นำรัฐบาลที่เป็น Nominee ที่มีคนที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศออกคำสั่งซ้ายหันขวาหันต่อเนื่องกันหลายรัฐบาล และประเทศเหล่านั้นก็ล้วนแต่ประสบความล้มเหลวในการบริหารจัดการบ้านเมืองทั้งสิ้น คำถามคือ คนเมียนมาจะยอมให้สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในบ้านของเขาได้หรือไม่
6.สมมติต่อไปว่าพรรค NLD สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ คำถามคือรัฐบาลของพรรค NLD จะสามารถทำงานกับข้าราชการประจำหรือพนักงานของรัฐในประเทศเมียนมาได้หรือไม่ ในเมืองตำแหน่งบริหารในกระทรวงต่างๆ ของเมียนมาตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการ ขึ้นไปจนถึงระดับอธิบดี และปลัดกระทรวง ต่างเป็นคนที่แต่งตั้งมาโดยกองทัพตามสายการบังคับบัญชา NLD คือคนใหม่ที่เข้ามา เขาจะทำงานร่วมกับระบบแบบเดิมได้หรือไม่
7.ประชาธิปไตยแบบเมียนมาอาจจะเป็นระบบที่แตกต่างจากที่อื่นนะครับ เพราะปกติประชาธิปไตยคือการคานอำนาจถ่วงดุลโดย 3 เสาหลัก นั่นคือ บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ แต่ในเมียนมา ประชาธิปไตยยังมีเสาหลักที่ 4 ที่เข้ามาควบคุมการทำงานของ 3 เสาหลักด้วย นั่นคือ กองทัพ ดังนั้นแม้คุณอองซานและพรรค NLD จะสามารถเสนอชื่อประธานาธิบดี และจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่การบริหารราชการแผ่นดินในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงยังถูกควบคุมโดยกองทัพนะครับ ในคณะรัฐมนตรีของเมียนมาซึ่งมีมากกว่า 30 กระทรวง จะมีอยู่ 3 กระทรวงนะครับที่รัฐมนตรีจะได้รับการแต่งตั้งโดยกองทัพ ไม่ใช่ประธานาธิบดี นั่นคือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และกระทรวงกิจการชายแดน ดังนั้นการทำงานในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก
8.และเราก็พบว่ากระบวนการตัดสินใจในประเด็นใหญ่ๆ ของประเทศเมียนมา โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความมั่งคง ไม่ได้ทำกันในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนะครับ หากแต่เขามีกระบวนการตัดสินใจในการ สภาความมั่นคง ซึ่งมีกรรมการในการตัดสินใจ 11 คน โดย 5 คนของกรรมการชุดนี้มาจากพลเรือน แน่นอน ว่าคือ ประธานาธิบดีที่อาจจะมาจากพรรค NLD และทีมงาน ในขณะที่กรรมการอีก 6 คนซึ่งมีคะแนนมากกว่ามาจากผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้นำระดับสูงในกองทัพเมียนมา ดังนั้นกระบวนการตัดสินใจต่างๆ ในการบริหารประเทศยังสามารถควบคุมได้โดยกองทัพครับ
9.ต้องยอมรับนะครับว่าปัญหาสำคัญเรื่องหนึ่งในประเทศเมียนมาก็คือ ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ใน 7 รัฐ นั่นคือ กลุ่มคะฉิ่น คะชา มอญ กระเหรี่ยง ไทยใหญ่ ยะไข่ ซึ่งรัฐบาลชุดที่ผ่านมาประสบความสำเร็จในการเจรจาหยุดยิงกับกองกำลังติดอาวุธไปแล้วหลายๆ กลุ่ม โดยเรื่องหนึ่งซึ่งรัฐบาลชุดเดิมเคยให้คำสัญญาไว้ก็คือ จะให้กลุ่มชาติพันธุ์มีอิสระมากขึ้นในการปกครองตนเอง อาจจะอยู่ในรูปแบบของสหพันธรัฐที่รัฐต่างๆ เหล่านี้มีกฎหมายของตนเอง บังคับใช้กฎหมายของตนเอง บริหารรัฐของตนเองได้ในบางระดับ และมีการแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรของแต่ละรัฐให้เป็นของรัฐมากยิ่งขึ้น เพราะถึงวันนี้กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ก็ไม่ค่อยอยากจะแยกเป็นประเทศอิสระอีกต่อไปแล้วครับ เพราะทราบดีว่ารัฐเล็กรัฐน้อยของตนหากแยกเป็นประเทศจะมีข้อจำกัดมากมาย พวกเขาต้องการเพียงอิสระในการปกครองตนเองเท่านั้น ดังนั้นพวกเราจึงได้เห็นภาพที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้น เช่น ก่อนเลือกตั้ง เจ้ายอดศึกผู้นำกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มไทยใหญ่ออกมาสนับสนุนพรรค USDP ของรัฐบาล ทั้งท่พวกเขาต่อสู้กับรัฐบาลเมียนมามาตลอดชีวิต คำถามก็คือ รัฐบาลของพรรค NLD จะเดินหน้าต่อในประเด็นนี้ได้หรือไม่ เพราะในช่วงที่ NLD และคุณอองซานซูจีมีที่นั่งในรัฐสภาในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ตั้งแต่ปี 2013 คุณอองซานและพรรค NLD ไม่ได้ทำให้คนเมียนมา โดยเฉพาะคนกลุ่มน้อยได้เห็นครับว่าเธอมีศักยภาพในการที่จะเรียกร้องในเรื่องสิทธิและเสรีภาพ รวมทั้งการให้ความคุ้มครองพวกเขา โดยเฉพาะคำพูดปวดใจที่เธอกล่าวกับนักข่าวในกรณีของชาวโรฮิงญาที่ได้รับการรายงานว่า “she did not know if the Rohingya could be regarded as Burmese citizens.” (ที่มา: Misha Hussain (22 June 2012). "Rohingya refugees leave Burma to seek help in Bangladesh". The Guardian (London).) และในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา กลุ่มชาติพันธุ์ก็พยายามในการประสานกับพรรค NLD เพื่อให้พรรคไม่ส่งผู้สมัครในเขตพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อให้พวกเขามีตัวแทนของตนเองจากพรรคของตนเอง โดยที่ไม่มีตัวเลือกจากพรรค NLD เข้าไปตัดคะแนนเสียง แต่สิ่งที่ NLD ทำก็คือส่งผู้เข้าแข่งขันลงในทุกพื้นที่ ทำให้รอยร้าวระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์กับ NLD เกิดขึ้น รวมทั้งในอนาคตหากจะทำงานเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ชายแดน รัฐบาล NLD ก็ต้องทำงานใกล้ชิดกับกองทัพ ซึ่งการประสานงานความร่วมมือจะมีมากน้อยเพียงใดต้องรอพิจาณากันครับ
10.ประเด็นสุดท้ายก็คือ ต้องยอมรับนะครับว่า คุณอองซานซูจี ไม่เพียงแบกความคาดหวังของคนเมียนมาทั้งในประเทศและในต่างประเทศ หากแต่เธอแบกความคาดหวังของคนทั่วโลกเอาไว้ด้วย แต่ในเมียนมา การทำงานในเรื่องต่างๆ ยังมีเงื่อนไข และมีข้อจำกัดอยู่อย่างมาก ความกดดันเหล่านี้อาจจะทำให้คุณอองซานและทีมงานของพรรค NLD ไม่สามารถทำงานได้อย่างที่ทุกคนคาดหวัง พวกเราคงต้องส่งกำลังใจเอาใจช่วยคุณอองซานซูจีต่อไปครับ เพราะหนทางข้างหน้าของเมียนมาไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบแน่นอนครับ