เอพี - การเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ของพม่าในวันนี้ (8) ที่จะเป็นบททดสอบว่าความนิยมจะสามารถคลายอำนาจที่ครองมายาวนานของกองทัพทหารได้หรือไม่ แม้พรรคของอองซานซูจี สามารถคว้าชัยชนะอย่างที่คาดกันอย่างกว้างขวาง
ประชาชนเข้าแถวยาวเหยียดตามหน่วยเลือกตั้งซึ่งจัดขึ้นที่วัด โรงเรียน และอาคารของรัฐ นับตั้งแต่เริ่มเปิดหีบให้ประชาชนใช้สิทธิหย่อนบัตรคะแนนเสียง ในสิ่งที่ผู้ตรวจสอบการเลือกตั้งเรียกว่า วันสุดพิเศษที่เต็มไปด้วยความตื่นเต้น และพลังงาน
หนึ่งในหมู่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มาใช้สิทธิตั้งแต่ช่วงแรกของการเปิดหีบ คือ อองซานซูจี ที่ถือเป็นครั้งแรกที่ได้ลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง ซูจี ถูกควบคุมตัวภายในบ้านพักในช่วงการเลือกตั้งปี 2533 ที่พรรคของเธอชนะแต่ถูกปฏิเสธจากรัฐบาลเผด็จการทหาร ซูจี ยังคงถูกควบคุมตัวในการเลือกตั้งครั้งถัดมาที่จัดขึ้นในปี 2553 ที่พรรคของเธอคว่ำบาตรการเลือกตั้ง และไม่ได้ร่วมลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งซ่อมในปี 2555
ซูจี เดินทางมาถึงหน่วยเลือกตั้งที่อยู่ใกล้กับบ้านพักริมทะเลสาบที่ซูจีถูกห้อมล้อมไปด้วยสื่อมวลชนหลายร้อยชีวิต ซูจี ใช้เวลาลงคะแนนเสียงอย่างรวดเร็ว และออกจากหน่วยโดยไม่ได้พูดคุยต่อสื่อแต่อย่างใด
“โดยทั่วไปการเลือกตั้งเหล่านี้มีความสำคัญเพราะเป็นตัวชี้วัดแรกของการเปลี่ยนไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่กำลังดำเนินการว่า เป็นการก้าวไปข้างหน้าครั้งใหญ่ หรือยังคงอยู่กลางรัฐบาลกึ่งพลเรือนไปอีกหลายปี” ธัน มิ้น-อู นักประวัติศาสตร์และที่ปรึกษารัฐบาล กล่าว
ประชาชนราว 30 ล้านคน มีสิทธิที่จะลงคะแนนเสียงให้แก่พรรคการเมืองมากกว่า 90 พรรคที่ร่วมลงชิงชัยในการเลือกตั้งครั้งนี้ การต่อสู้หลักระหว่างพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ที่นำโดย อองซานซูจี และพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USDP) ที่ก่อตั้งขึ้นจากอดีตสมาชิกรัฐบาลเผด็จการทหารส่วนใหญ่ และยังมีพรรคการเมืองอื่นๆ จากชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ที่มีสัดส่วนประชากร 40% ของประชากร 52 ล้านคนของประเทศก็ร่วมลงแข่งขัน
“ฉันตื่นเต้นมากที่จะมาลงคะแนนเสียง ฉันนอนไม่หลับทั้งคืนเลยมาที่นี่ตั้งแต่เช้า ฉันมาเลือกตั้งเพราะต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศ ฉันคิดว่าอองซานซูจี จะชนะหากการเลือกตั้งนี้บริสุทธิ์ยุติธรรมอย่างแท้จริง” โอนมา อายุ 38 ปี กล่าว
การเลือกตั้งถูกมองว่าเป็นโอกาสที่ดีที่สุดของพม่าในรอบหลายทศวรรษที่จะมุ่งไปสู่การเป็นประชาธิปไตย หากพรรคของซูจีรักษาจำนวนที่นั่งในสภาได้สูงสุด และได้อำนาจในการปกครอง แต่พรรค NLD เริ่มต้นด้วยการเสียเปรียบ เมื่อที่นั่งในสภา 664 ที่นั่ง ถูกสงวนไว้ให้แก่กองทัพแล้ว 25% ซึ่งหมายความว่า พรรค USDP ที่มีการสนับสนุนของทหารไม่จำเป็นต้องชนะเสียงส่วนใหญ่เพื่อควบคุมฝ่ายนิติบัญญัติ และเพื่อขัดขวางสถานการณ์ดังกล่าว พรรค NLD จำเป็นต้องชนะอย่างถล่มทลาย ซึ่งนั่นอาจไม่ใช่สิ่งที่เกินเอื้อมเพราะความนิยมในตัวของซูจี
แต่การชนะเลือกตั้งจะเป็นเพียงก้าวแรกไปสู่อำนาจสำหรับพรรคของซูจี เพราะหลังการเลือกตั้ง สมาชิกที่ได้รับเลือกชุดใหม่ และทหารที่ได้รับการแต่งตั้งจะเสนอชื่อผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดี 3 คน และเลือกเพียง 1 คนเป็นประธานาธิบดี ส่วนอีก 2 คน จะทำหน้าที่รองประธานาธิบดี โดยการลงคะแนนเสียงเลือกประธานาธิบดีนั้นจะยังไม่เกิดขึ้นก่อนเดือน ก.พ.
ซูจี ไม่สามารถทำหน้าที่ในตำแหน่งประธานาธิบดีได้ เพราะรัฐธรรมนูญระบุห้ามบุคคลที่มีคู่สมรสหรือทายาทเป็นชาวต่างชาติทำหน้าที่ตำแหน่งสูงสุดของประเทศ ซึ่งซูจี มีสามี และลูกชายเป็นชาวอังกฤษ
นอกจากนั้น กองทัพยังประกันตำแหน่งสำคัญในคณะรัฐมนตรี คือ กลาโหม มหาดไทย และความมั่นคงชายแดน ตำแหน่งเหล่านี้ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล และอาจต่อสู้กับกลุ่มชาติพันธุ์ แต่สิ่งที่นักวิจารณ์เป็นห่วงมากที่สุดคือ สิทธิตามรัฐธรรมนูญของทหารที่จะยึดคืนการควบคุมโดยตรงของรัฐบาล รวมทั้งการควบคุมทางตรง และทางอ้อมต่อเศรษฐกิจประเทศ
ริชาร์ด ฮอร์ซี นักวิเคราะห์อิสระ กล่าวว่า การให้อำนาจดังกล่าวแก่ทหารทำให้กองทัพไม่ลำบากใจมากนักเกี่ยวกับการมอบอำนาจให้แก่พรรค NLD หากพรรค NLD ชนะ
“แต่นั่นไม่ได้เป็นการกล่าวว่าความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหารชุดใหม่ และกองทัพจะเข้มแข็งแน่นแฟ้น มันเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะจินตนาการถึงคนที่บริหารประเทศนี้โดยไม่มีการสนับสนุนของทหาร” ฮอร์ซี กล่าว
ยังมีความกังวลเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของการเลือกตั้ง เพราะเป็นครั้งแรกของผู้มีสิทธิเลือกตั้งประมาณ 500,000 คน จากชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญาถูกกันออกจากการลงคะแนนเสียง รัฐบาลพิจารณาว่า คนเหล่านี้เป็นชาวต่างชาติแม้ว่าหลายคนอาศัยอยู่ในพม่ามาหลายชั่วอายุคน แต่ทั้งพรรค NLD และ USDP ต่างก็ไม่ส่งผู้สมัครชาวมุสลิมลงแข่งขันในการเลือกตั้ง
ผู้สังเกตการณ์ทั้งคนท้องถิ่น และชาวต่างชาติราว 11,000 คน เข้าตรวจสอบหน่วยเลือกตั้งกว่า 40,000 แห่ง ผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งกล่าวว่า พวกเขาหวังให้ความพยายามใดๆ ก็ตามที่จะกระทำผิดกฎหมายถูกสังเกตเห็น
“มันเป็นวันที่พิเศษอย่างมาก” เจสัน คาร์เตอร์ ผู้จัดการศูนย์คาร์เตอร์ และหลานชายของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ จิมมี่ คาร์เตอร์ กล่าว
คาร์เตอร์ กล่าวว่า ผู้สังเกตการณ์ได้พูดคุยกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนหนึ่งที่กำลังรออยู่ด้านนอกหน่วยเลือกตั้ง ตั้งแต่ 3.00 น. 3 ชั่วโมงก่อนเปิดหีบเลือกตั้ง
การเลือกตั้งครั้งนี้ยังถูกมองว่า เป็นโอกาสสำหรับซูจี ที่จะทวงสิ่งที่เธอมองว่าเป็นโชคชะตาของเธอ
พรรคของซูจี ชนะที่นั่งในสภากว่า 80% ในปี 2533 แม้ว่าเธอจะถูกควบคุมตัวในบ้านพัก แต่ทหารปฏิเสธผลการเลือกตั้งดังกล่าว และการเลือกตั้งในปี 2553 ที่พรรค NLD คว่ำบาตร ที่เป็นการยุติยุคสมัยการปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหารซึ่งเริ่มขึ้นมาตั้งแต่ปี 2505 ได้แต่งตั้งประธานาธิบดีเต็งเส่ง อดีตนายพลผู้ที่เริ่มต้นปฏิรูปการเมือง และเศรษฐกิจ สิ้นสุดการโดดเดี่ยวประเทศ และกระตุ้นเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะย่ำแย่
กฎหมายการเลือกตั้งถูกแก้ไข และในปี 2555 พรรค NLD ตกลงที่จะร่วมลงแข่งขันในการเลือกตั้งซ่อม โดยชนะที่นั่งที่ร่วมลงแข่งเกือบทั้งหมด และซูจี ได้รับเลือกเข้าสู่สภาจากหน่วยเลือกตั้งชานนครย่างกุ้ง
“ฉันคิดว่าประเทศจะดีขึ้นหากพรรคที่เราเลือก หรือผู้นำที่เราเลือกได้กลายเป็นผู้นำจริงๆ ฉันลงคะแนนให้แก่ NLD นั่นคือตัวเลือกของฉัน” เมียว ซู ไว ผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก กล่าว.
.