รอยเตอร์ - เมื่อการเลือกตั้งของพม่าในเดือนหน้าถูกระบุว่าเป็นการเลือกตั้งที่เสรี และเป็นธรรมที่สุดในรอบ 25 ปี ของประเทศ ตุน ลิน และชาวพม่าอีกประมาณ 4 ล้านคน กลับไม่มีส่วนร่วมในการเลือกตั้งครั้งนี้
ชาวพม่าส่วนใหญ่ เช่นเดียวกัน ตุน ลิน ชาวประมงอายุ 33 ปี กำลังทำงานอยู่ในต่างแดน และไม่สามารถที่จะลงทะเบียนเลือกตั้งได้ แต่รายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งกลับเต็มไปด้วยข้อผิดพลาด และการยกเลิกคูหาเลือกตั้งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทางชาติพันธุ์ที่อาจกระทบความน่าเชื่อถือของการเลือกตั้งครั้งนี้
“ผมคิดว่ารัฐบาลไม่ทำในสิ่งที่รัฐบาลจำเป็นต้องทำเพื่อให้แน่ใจว่าชาวพม่าทั้งหมดจะสามารถลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้จากทุกที่ที่พวกเขาอาศัยอยู่ คนเหล่านี้ส่วนใหญ่ถูกตัดสิทธิเพราะระบบไม่เอื้อให้พวกเขามีส่วนร่วม” ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอชภูมิภาคเอเชีย กล่าว
การเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 8 พ.ย. เป็นเหตุการณ์สำคัญในการปฏิรูปของประเทศที่เริ่มขึ้นเมื่อรัฐบาลเผด็จการทหารสละอำนาจให้แก่รัฐบาลกึ่งพลเรือนในปี 2554
พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USDP) ของรัฐบาลพม่าคาดว่า จะพ่ายให้กับพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของอองซานซูจี ที่ชนะการเลือกตั้งในปี 2533 อย่างถล่มทลายแต่กลับถูกรัฐบาลเผด็จการทหารเพิกเฉย
ที่ท่าเรือมหาชัยในไทย แรงงานพม่าจำนวนมากร้องเรียนว่าได้รับข้อมูลสับสน และไม่เพียงพอจะทำให้พวกเขาไม่ได้ลงทะเบียนเลือกตั้ง
ตัวแทนรัฐบาลพม่าไม่ได้เดินทางมายังพื้นที่ดังกล่าวเพื่อบอกกล่าวต่อประชาชนว่า พวกเขาสามารถลงคะแนนเสียงได้ และคนงานจำนวนมากไม่ทราบว่าพวกเขาไม่สามารถใช้หนังสือเดินทางชั่วคราวแทนบัตรประชาชนเมื่อเดินทางมายังกรุงเทพฯ เพื่อลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนเผย
คนงานชาวพม่าจำนวนมากในมหาชัยหลบหนีออกจากพม่าหลังการปราบปรามการชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 2531 ส่วนคนอื่นๆ อพยพในภายหลังเพื่อหางานในความหวังที่จะมีความเป็นอยู่ดีขึ้น ชาวพม่าหลายพันคนต้อนรับซูจี เมื่อครั้งที่ซูจี เดินทางมายังมหาชัยในปี 2555 ในการเดินทางเยือนต่างประเทศเป็นครั้งแรกในรอบ 24 ปี
“พวกเขาไม่สนใจพวกเราเพราะพวกเขากลัวว่าพรรค NLD จะชนะ มันเป็นวิธีขัดขวางอย่างหนึ่งในการหยุดพวกเราจากการลงคะแนนเสียง” ตุน ลิน ที่เสียแขนขวาจากอุบัติเหตุบนเรือประมง กล่าว
รัฐบาลพม่าระบุว่า มีชาวพม่าเพียงแค่ 34,000 คน จากมากกว่า 2 ล้านคน ที่ลงทะเบียนแรงงานอย่างเป็นทางการในต่างประเทศ ได้ลงทะเบียนเลือกตั้งทันเวลา
หลังอยู่ภายใต้การปกครองของทหารเกือบครึ่งศตวรรษ พม่ายังด้อยประสบการณ์ในการจัดการเลือกตั้ง กองทัพยังคงอำนาจ และสงวนที่นั่ง 1 ใน 4 ของรัฐสภา และยังมีสิทธิยับยั้งการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญ
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานคณะกรรมาธิการการเลือกตั้งแห่งสหภาพ (UEC) ทิน เอ อดีตนายพล และพันธมิตรประธานาธิบดีเต็งเส่ง ได้เรียกประชุมพรรคการเมืองสำคัญพรรคต่างๆ และแนะนำให้เลื่อนการเลือกตั้งเนื่องจากเหตุอุทกภัยที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานที่ผ่านมา
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นปราศจากการเตือน สร้างความประหลาดใจให้แก่พรรคฝ่ายค้านที่มองว่าข้อเสนอเลื่อนการเลือกตั้งอาจเป็นกลวิธีอย่างหนึ่งของค่ายรัฐบาลที่จะมีอิทธิพลต่อผลการเลือกตั้ง
สื่อต่างสับสนวุ่นวาย เสียงโทรศัพท์ดังกันวุ่นท่ามกลางความวิตกของนักการทูตในกรุงเนปีดอ ก่อนที่คณะกรรมาธิการการเลือกตั้งจะกลับลำอย่างรวดเร็วในเวลาต่อมา ด้วยการประกาศว่าการเลือกตั้งจะเป็นไปตามกำหนดเดิม
เหตุที่เกิดขึ้นอาจเป็นผลจากการจัดการย่ำแย่ ที่เน้นย้ำให้เห็นถึงการขาดความโปร่งใสที่ทำให้ระบบตกอยู่ในความเสี่ยงจากการแทรกแซงของรัฐบาล
ประชาชนหลายพันหลายหมื่นคนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยมีแนวโน้มที่จะไม่สามารถเลือกตั้งได้ แต่พวกเขาจะเป็นเพียงสัดส่วนเล็กๆ จากจำนวนคนทั้งหมดที่ไม่สามารถหย่อนบัตรเลือกตั้งของตัวเองได้
.
.
เต็ง อู โฆษกคณะกรรมาธิการการเลือกตั้งทราบว่า มีปัญหาเกิดขึ้น โดยได้กล่าวว่า คณะกรรมาธิการกำลังทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านั้น
เต็ง อู ระบุว่า เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ที่จะประเมินได้ว่ามีประชาชนกี่คนที่ไม่สามารถร่วมการเลือกตั้ง แต่มีบางคนประเมินว่่า น่าจะมีชาวพม่าประมาณ 4 ล้านคนที่ไม่ได้ร่วมการเลือกตั้ง ซึ่งจำนวนดังกล่าวมีสัดส่วนมากกว่า 10% ของชาวพม่าที่มีสิทธิเลือกตั้งอย่างเป็นทางการทั้งหมด 33.5 ล้านคน
ฮิวแมนไรท์วอช ประเมินว่า ชาวพม่าที่ไม่มีส่วนร่วมในการเลือกตั้งครั้งนี้ประกอบด้วย อดีตพลเมืองชั่วคราวราว 800,000 คน ที่หลายคนเป็นชาวมุสลิมโรฮิงญา ผู้คนในพื้นที่ชาติพันธุ์ห่างไกล หรือแรงงานต่างถิ่น เช่น ผู้ที่อยู่ในชุมชนแออัดในนครย่างกุ้ง ที่ไม่ได้ลงทะเบียนเลือกตั้งราว 100-500,000 คน ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ ผู้ลี้ภัยกว่าหนึ่งแสนคนที่อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย 9 แห่ง ตามแนวพรมแดนไทย-พม่า ก็ไม่สามารถเลือกตั้งได้ รวมถึงแรงงานพม่าในไทยอีกจำนวนมากจากราว 3 ล้านคน ที่ไม่ได้ลงทะเบียนเลือกตั้ง พร้อมทั้งอีกหลายคนในมาเลเซีย และสิงคโปร์
คณะกรรมาธิการการเลือกตั้งมีแผนยกเลิกจัดการเลือกตั้งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทางชาติพันธุ์ แม้ว่าในบางพื้นที่ถูกควบคุมโดยกลุ่มที่ตกลงหยุดยิงกับรัฐบาลแล้วก็ตาม
“เรามีเวลาไม่มากพอที่จะออกรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และเตรียมการที่จำเป็น” เต็ง อู ระบุ แต่การเลือกตั้งอาจเกิดขึ้นในพื้นที่เหล่านั้นเมื่อสถานการณ์มีเสถียรภาพ
อย่างไรก็ตาม ผู้ตรวจสอบ และพรรคฝ่ายค้านระบุว่า รายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีข้อผิดพลาด และมีชื่อหายไปหลายชื่อ
“มันเป็นไปไม่ได้ที่การเลือกตั้งจะมีความเสรี และเป็นธรรมเพราะมีข้อผิดพลาดมากมายบนรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง นั่นเป็นปัญหาใหญ่มาก” หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยแห่งชาติไทใหญ่ กล่าว.