รอยเตอร์/เอเอฟพี - ผู้สังเกตการณ์จากสหภาพยุโรปจะได้รับอนุญาตให้เข้าถึงคูหาเลือกตั้งในค่ายทหารในระหว่างการเลือกตั้งเดือนหน้า หัวหน้ากลุ่มผู้สังเกตการณ์เผยวันนี้ (20)
การเข้าถึงฐานทัพทหารของผู้สังเกตการณ์ต่างชาตินับเป็นก้าวสำคัญในการรับประกันความโปร่งใสของการเลือกตั้ง ตามที่อ้างว่าเป็นการเลือกตั้งที่เสรี และยุติธรรมที่สุดครั้งแรกในรอบ 25 ปีของพม่า
นายทหารหลายหมื่นนายคาดว่าจะเข้าร่วมการเลือกตั้งที่ค่ายทหาร เพราะพวกเขาประจำการไกลจากเขตเลือกตั้งในภูมิลำเนาของตัวเอง
อเล็กซานเดอร์ กราฟ แลมป์สดอร์ฟ หัวหน้าผู้สังเกตการณ์สหภาพยุโรป กล่าวว่า เขาได้รับการรับรองการเข้าถึงพื้นที่ดังกล่าวหลังการหารือกับ พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย ผู้บัญชาการกองทัพพม่า ในกรุงเนปีดอ
“มันเป็นการประชุมที่สร้างสรรค์ เพราะนี่คือพื้นที่ที่เรากังวล การตัดสินใจนี้จะทำให้การเลือกตั้งมีความโปร่งใสมากขึ้น และรายงานของเรามีความถูกต้องเที่ยงตรงมากยิ่งขึ้น” หัวหน้าผู้สังเกตการณ์สหภาพยุโรป กล่าว
การเลือกตั้งทั่วประเทศครั้งล่าสุดในปี 2553 เชื่อกันอย่างกว้างขวางว่ามีกลโกงที่เอื้อต่อพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USDP) และพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของอองซานซูจี ได้คว่ำบาตรการเลือกตั้งดังกล่าว นอกจากนั้น ยังมีความผิดปกติหลายอย่างเกิดขึ้นในรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งในค่ายทหารทั่วประเทศ
พรรค NLD ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในปี 2533 แต่ผลการเลือกตั้งไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลเผด็จการทหารในขณะนั้น
สหภาพยุโรป จะมีผู้สังเกตการณ์ระยะยาว 30 คน เข้าสังเกตการณ์การเลือกตั้งวันที่ 8 พ.ย. นอกเหนือไปจากผู้สังเกตการณ์ระยะสั้น 62 คน ที่ส่งไปสังเกตการณ์ทั่วประเทศ ขณะที่ศูนย์คาร์เตอร์ทีีมีสำนักงานในสหรัฐฯ จะเข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย
กองทัพพม่าถอนตัวออกจากการปกครองประเทศโดยตรงในปี 2554 เมื่อประธานาธิบดีเต็งเส่ง ขึ้นบริหารประเทศ แต่ยังคงรักษาตำแหน่งที่มีอำนาจภายในเวทีการเมือง และที่นั่ง 1 ใน 4 ของรัฐสภาถูกสงวนไว้ให้แก่เจ้าหน้าที่ทหารที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งที่ได้รับแต่งตั้งจากผู้บัญชาการกองทัพ
รัฐบาลพม่า และกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ 8 กลุ่ม ได้ลงนามหยุดยิงกันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่กองทัพยังคงสู้รบกับกลุ่มติดอาวุธอีกจำนวนหนึ่ง ขณะที่หนังสือพิมพ์โกลบอลนิวไลท์ออฟเมียนมาร์ รายงานวันนี้ (20) ว่า กองทัพได้ปะทะกับกองทัพรัฐชาน-เหนือ ถึง 37 ครั้งในระหว่างเดือน ต.ค.