xs
xsm
sm
md
lg

“ซูจี” ขอคะแนนเสียงจากชนกลุ่มน้อยในรัฐกะฉิ่นชูพรรคเป็นตัวแทนคนทั้งชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>อองซานซูจี หัวหน้าพรรค NLD ขึ้นกล่าวปราศรัยหาเสียงที่ชานเมืองไวมอ ใกล้กับเมืองมิตจีนา เมืองเอกของรัฐกะฉิ่น เมื่อวันที่ 2 ต.ค.--Agence France-Presse/Ye Aung Thu.</font></b>

เอเอฟพี - อองซานซูจี กล่าวต่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งในรัฐกะฉิ่นว่า พรรคฝ่ายค้านของเธอเป็นตัวแทนของประชาชนทั้งหมดของพม่า ไม่ใช่เพียงแค่กลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นประชากรส่วนใหญ่เท่านั้น ในการรณรงค์หาเสียงในพื้นที่ของชนกลุ่มน้อยก่อนการเลือกตั้งครั้งสำคัญในเดือน พ.ย.นี้

ประชาชนชาวกะฉิ่นจำนวนมากส่งเสียงร้องเชียร์เมื่อซูจีขึ้นกล่าวปราศรัยหาเสียงต่อฝูงชนที่บริเวณชานเมืองไวมอ ใกล้กับเมืองมิตจีนา เมืองเอกของรัฐกะฉิ่น ขณะที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) เร่งเครื่องรณรงค์หาเสียงเพื่อการเลือกตั้งทั่วประเทศครั้งแรกที่พรรคได้ร่วมลงแข่งขันในรอบ 25 ปี

“พรรค NLD ไม่ได้เป็นตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง รวมทั้งชาติพันธุ์พม่า (ที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ) เราเป็นตัวแทนสหภาพทั้งหมด” ซูจี กล่าวต่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งในประเทศที่ชนกลุ่มน้อยมีสัดส่วนราว 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด 51 ล้านคน

รัฐกะฉิ่น ได้กลายเป็นสนามต่อสู้การเลือกตั้งสำคัญเมื่อพรรคการเมืองชาติพันธุ์คาดว่าจะได้คะแนนเสียงเป็นจำนวนมากในการเลือกตั้งวันที่ 8 พ.ย.

ซูจี ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความล้มเหลวที่จะสร้างพันธมิตรกับกลุ่มเหล่านี้ และเมื่อวันศุกร์ (2) พรรค NLD พยายามที่จะขอเสียงจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งชนกลุ่มน้อยในการเลือกตั้งที่พรรคคาดว่าได้ชัยชนะหากการเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม

“หากคุณต้องการเปลี่ยน โปรดเลือกพรรค NLD” ซูจี เรียกร้องต่อฝูงชน

ผู้คนในรัฐกะฉิ่นราว 100,000 คน ต้องไร้ที่อยู่อาศัยนับตั้งแต่การต่อสู้ปะทุขึ้นระหว่างกองทัพทหารพม่า และกลุ่มกบฏชาติพันธุ์จากกองทัพกะฉิ่นอิสระ (KIA) ในปี 2554

ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ประเด็นการปกครองตนเองเป็นหนึ่งในคำถามข้อแรกๆ ที่ถูกถามขึ้นจากบรรดาฝูงชนต่ออองซานซูจี และเป็นหนึ่งข้อที่ซูจี หลีกเลี่ยงที่จะตอบโดยตรง

“รัฐบาลของ NLD จะเสนอระบบที่ประชาชนต้องการ ด้วยการสนับสนุน และความร่วมมือของประชาชน” ซูจี กล่าวอย่างระมัดระวัง

การเลือกตั้งถูกมองว่าเป็นบททดสอบสำคัญในความคืบหน้าทางประชาธิปไตยในพม่าที่หลุดพ้นจากการปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหารที่ยาวนานครึ่งศตวรรษในปี 2554

แต่แม้ว่าการปฏิรูปเศรษฐกิจ และการเมืองจะถูกดำเนินการภายใต้รัฐบาลกึ่งพลเรือนของประธานาธิบดีเต็งเส่ง พม่ายังคงห้อมล้อมไปด้วยความขัดแย้งเพื่อเรียกร้องการปกครองตนเองในพื้นที่ชาติพันธุ์ห่างไกล ซึ่งในหลายพื้นที่ยังคงต่อสู้กับทางการนับตั้งแต่พม่าได้เอกราชจากเจ้าอาณานิคมอังกฤษในปี 2491 และการบรรลุข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศก่อนการเลือกตั้ง ถือเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนการปฏิรูปของรัฐบาล

แต่ความหวังเหล่านี้ต้องสะดุดลงเมื่อกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มใหญ่บางกลุ่ม รวมทั้ง KIA ได้ให้คำมั่นว่าจะไม่ลงนามหากกองกำลังกบฏทั้งหมดไม่มีส่วนร่วมในข้อตกลง

การปะทะกันระหว่าง KIA และกองกำลังของรัฐบาล ได้ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อการเจรจาหยุดยิงมาถึงช่วงเวลาสำคัญ

รัฐบาลยังคงผลักดันให้ข้อตกลงสามารถที่จะลงนามกันได้ในเดือนนี้ ในความเคลื่อนไหวที่ผู้สังเกตการณ์เชื่อว่า อาจแบ่งแยกกองทัพชาติพันธุ์

ประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรชาวพม่าระบุว่า ตนเองเป็นหนึ่งในชนกลุ่มน้อยจากทั้งหมด 135 กลุ่มของประเทศ ที่มีภาษา และประเพณีของตนเอง

ในเมืองไวมอ นักเคลื่อนไหวของพรรค NLD วุ่นต่อการขายเสื้อยืดที่มีรูปของซูจี ขณะที่ผู้สนับสนุนท้องถิ่นโบกธงที่ประดับด้วยนกยูงนักสู้ และดาวอันเป็นสัญลักษณ์ของพรรค

รัฐกะฉิ่น มีทรัพยากรธรรมชาติอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ ทั้งแหล่งไม้ หยก และทองคำ แต่ความร่ำรวยของรัฐไม่ได้ผ่านลงมาถึงผู้คนส่วนใหญ่ที่ยังยากจน.
.
<br><FONT color=#000033>ผู้สนับสนุนส่งเสียงเชียร์ขณะฟังการปราศรัยหาเสียงของพรรค NLD ที่ซูจี หัวหน้าพรรคระบุว่า พรรค NLD ไม่ได้เป็นตัวแทนของชาติพันธุ์ใดชาติพันธุ์หนึ่ง แต่เป็นตัวแทนของประชาชนทั้งประเทศ.--Agence France-Presse/Ye Aung Thu.</font></b>
กำลังโหลดความคิดเห็น