รอยเตอร์ - พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย ผู้บัญชาการกองทัพพม่า ได้กล่าวย้ำว่า ทหารจะเคารพผลการเลือกตั้งวันที่ 8 พ.ย. ที่ถูกมองว่าเป็นบททดสอบสำคัญของกระบวนการปฏิรูปประเทศ
พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย กล่าวว่า สิ่งที่กองทัพเป็นห่วงคือ การเลือกตั้งจะสามารถดำเนินการได้อย่างยุติธรรม และผลการเลือกตั้งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย แม้พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของอองซานซูจี จะชนะเสียงส่วนใหญ่ก็ตาม
“เราจะไม่ติดใจอะไร แม้พรรค NLD จะชนะในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า ตราบเท่าที่การเลือกตั้งเป็นไปอย่างเสรี และยุติธรรม ความปรารถนาของกองทัพคือ การเห็นการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นจัดขึ้นอย่างเสรี และยุติธรรม เราจะรับรอง และสนับสนุนผลการเลือกตั้งที่ประกาศโดยคณะกรรมาธิการการเลือกตั้งสหภาพ” พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย กล่าวต่อสมาชิกสภาสื่อมวลชนชั่วคราวแห่งพม่าในการประชุมเมื่อวันจันทร์ (24)
การเลือกตั้งที่ผ่านมาของพม่าถูกทหารแทรกแซง โดยในปี 2533 พรรค NLD ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย แต่ผลการเลือกตั้งกลับไม่ได้รับการยอมรับจากทหาร ส่วนการเลือกตั้งในปี 2553 ถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวางว่ามีการโกงเลือกตั้ง และพรรค NLD ได้คว่ำบาตรการเลือกตั้งครั้งนั้น
ในปี 2554 กองทัพทหารพม่า ได้ยกอำนาจให้แก่รัฐบาลกึ่งพลเรือนที่สิ้นสุดการปกครองของทหารนาน 49 ปี แต่กองทัพยังคงปรากฏบทบาทอยู่ในเวทีการเมืองของประเทศ โดยที่นั่ง 1 ใน 4 ของรัฐสภา ถูกสงวนไว้ให้แก่เจ้าหน้าที่ทหารที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และการเปลี่ยนแปลงใดๆ ต่อรัฐธรรมนูญที่ทหารร่างขึ้นในปี 2551 จำเป็นต้องได้เสียงสนับสนุนอย่างน้อยร้อยละ 75 จากสมาชิกสภานิติบัญญัติ ซึ่งส่งผลให้ทหารมีอำนาจคัดค้านการเปลี่ยนแปลงข้อกฎหมาย และความพยายามที่จะลดเกณฑ์เสียงสนับสนุนถูกคว่ำลงในเดือน มิ.ย.
พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย กล่าวว่า กองทัพจะถอยจากตำแหน่งนี้ในเวลาที่เหมาะสม โดยกองทัพจะเปลี่ยนแปลงสอดคล้องไปตามสันติภาพ ความมั่นคง และความสงบสุขเกิดขึ้นในประเทศ
พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USDP) ที่เต็มไปด้วยอดีตเจ้าหน้าที่ทหาร เกิดการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ในช่วงต้นเดือน เมื่อ ฉ่วย มาน หัวหน้าพรรคถูกปลดออกจากตำแหน่งโดยประธานาธิบดีเต็งเส่ง
มิน ออง หล่าย ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นต่อความเคลื่อนไหวดังกล่าว โดยระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นกิจการภายในพรรค แต่หากมองจากมุมมองของกองทัพ ไม่ใช่เรื่องดีสำหรับประเทศหากมีความแตกแยกในพรรคการใหญ่พรรคใดก็ตามเพราะประชาชนคือ ผู้ที่ได้รับผลกระทบ.