เอเอฟพี - ประธานาธิบดีพม่า ย้ำคำมั่นในวันนี้ (9) ว่า จะจัดการเลือกตั้งอย่างเสรี และยุติธรรม หลังประเทศได้กำหนดวันเลือกตั้ง ซึ่งหลายคนหวังว่าจะเป็นการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด
ประชากรชาวพม่าหลายล้านคนจะลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งประวัติศาสตร์ในวันที่ 8 พ.ย. ที่ดูเหมือนจะเป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี ที่ นางอองซานซูจี และพรรคฝ่ายค้านของนางได้มีส่วนในการเลือกตั้งทั่วประเทศ
“ในฐานะรัฐบาลพลเรือนชุดแรกในรอบหลายปี เรามีความรับผิดชอบ และเราสัญญาที่จะพยายามอย่างดีที่สุดที่จะรับรองว่าการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นนั้นเป็นการเลือกตั้งที่สะอาด เสรี และยุติธรรม“” ประธานาธิบดีเต็งเส่ง กล่าวผ่านสถานีวิทยุแห่งชาติ
ผู้นำพม่า ได้รับเสียงชื่นชมจากประชาคมโลกจากการดำเนินการปฏิรูปการเมือง และเศรษฐกิจประเทศ จนทำให้ตะวันตกยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรส่วนใหญ่ต่อพม่า
แต่ในขณะที่การเลือกตั้งใกล้เข้ามา ก็ยังคงมีความหวั่นวิตกว่า ประเทศที่ถูกปกครองโดยทหารมายาวนานเกือบครึ่งศตวรรษ อาจถอยหลังบนเส้นทางการเปลี่ยนไปสู่ประชาธิปไตย
อองซานซูจี ที่ไม่สามารถทำหน้าที่ในตำแหน่งประธานาธิบดีตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นโดยทหาร ยังไม่ได้ประกาศเข้าร่วมการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ แม้ว่าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ระบุว่า พรรคเตรียมนโยบายไว้พร้อมแล้ว และเป็นที่คาดกันว่าพรรค NLD จะกวาดคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งนี้
พรรค NLD ชนะการเลือกตั้งปี 2533 อย่างถล่มทลาย แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ครองอำนาจ จากผู้ปกครองทหารที่ควบคุมตัวซูจีในบ้านพักเป็นเวลา 15 ปี และในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดเมื่อปี 2553 ซูจี ก็ยังคงถูกควบคุมตัว โดยที่พรรคสหสามัคคีและการพัฒนาของเต็งเส่ง เป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้งท่ามกลางการคว่ำบาตรของพรรค NLD และมีการกล่าวหาอย่างกว้างขวางว่ามีการโกงเลือกตั้ง
ผู้สังเกตการณ์หวังให้การเลือกตั้งในเดือน พ.ย. จะเป็นการเลือกตั้งที่เสรีที่สุดในประวัติศาสตร์พม่า ด้วยคณะกรรมาธิการการเลือกตั้งแห่งสหภาพ (UEC) อนุญาตให้ต่างชาติร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้ง และสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในหลายประเทศที่สนับสนุนการเลือกตั้ง
มาร์ค โทเนอร์ รองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า การเลือกตั้งรัฐสภาที่น่าเชื่อถือถือเป็นก้าวสำคัญ
แต่พรรค NLD ได้เตือนว่า รายชื่อผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเต็มไปด้วยข้อผิดพลาด และได้เดินรณรงค์ตามบ้านกระตุ้นให้ประชาชนตรวจสอบรายละเอียดของตัวเอง ขณะเดียวกัน UEC ได้ยอมรับว่า มีปัญหาระบบคอมพิวเตอร์บนรายชื่อผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียง 30 ล้านชื่อ แต่ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงสามารถตรวจแก้ได้.