เอเอฟพี - นางอองซานซูจี หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านพม่า กล่าววานนี้ (20) ว่า พรรคของเธอจะตัดสินใจว่าจะคัดค้านการเลือกตั้งหรือไม่ในอีกไม่นานนี้ ในความพยายามที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญที่ห้ามซูจีจากตำแหน่งประธานาธิบดี
ในการกล่าวต่อบรรดาสมาชิกอาวุโสของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) เพื่อเริ่มการประชุมพรรคประจำปีในนครย่างกุ้ง ซูจี กล่าวว่า พรรคยังไม่มีข้อสรุปว่าจะคัดค้านการเลือกตั้งครั้งแรกของประเทศในรอบ 25 ปี
การเลือกตั้งที่กำหนดจะจัดขึ้นในช่วงเดือน ต.ค. หรือเดือน พ.ย. ถูกมองว่าเป็นบททดสอบสำคัญของการปฏิรูปประชาธิปไตยในพม่า หลังอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารนานหลายทศวรรษ และหากการเลือกตั้งเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม คาดว่าพรรค NLD จะกวาดคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่ซูจี ถูกห้ามจากการทำหน้าที่ในตำแหน่งประธานาธิบดี ภายใต้รัฐธรรมนูญยุครัฐบาลทหาร ซึ่งซูจี ระบุไว้ก่อนหน้านี้ว่า ไม่ยุติธรรม และไม่เป็นประชาธิปไตย
“เร็วๆ นี้ พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย จะตัดสินใจว่าจะลงเลือกตั้งหรือไม่ลง หลังจากที่เราตัดสินใจแล้ว เราจะเลือกตัวแทน” ซูจี กล่าวต่อสมาชิกอาวุโสของพรรคที่รวมตัวกันเพื่อเข้าร่วมการประชุมในนครย่างกุ้ง
แม้ว่าการตัดสินใจจะยังไม่เกิดขึ้น แต่ซูจี ชี้ว่าพรรคยังคงเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้ง
“ปีนี้เป็นปีที่เราจะต้องพยายาม” ซูจี กล่าวต่อคณะกรรมการกลางพรรคที่รวมตัวจากทั่วประเทศ ซึ่งบางคนสวมเครื่องประดับศีรษะสีสันสดใสตามพื้นที่ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ของตัวเอง
“เราจะทึกทักเองไม่ได้ เพียงเพราะเราเคยชนะมาก่อน เราจะต้องพยายามอยู่ตลอดเวลา” ซูจี กล่าว
รัฐธรรมนูญพม่าสงวนที่นั่ง 1 ใน 4 ของรัฐสภาให้แก่นายทหาร ขณะเดียวกัน ก็ระบุห้ามผู้ที่มีคู่สมรส หรือบุตรเป็นชาวต่างชาติทำหน้าที่ผู้นำประเทศ บทบัญญัติที่ถูกมองว่าพุ่งเป้าโดยตรงไปที่นางซูจี ที่มีบุตรชาย 2 คนเป็นชาวอังกฤษ
พรรค NLD เร่งความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยมุ่งไปที่มาตราที่มอบสิทธิยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้แก่กองทัพ พรรครวบรวมรายชื่อผู้สนับสนุนร้องเรียนได้ 5 ล้านชื่อในปีก่อน แต่สมาชิกทหารก็คัดค้านการลดสิทธิพิเศษนี้
ร่างกฎหมายที่รอมายาวนานที่ได้ตีพิมพ์ลงในสื่อของทางการในเดือนนี้ และมีกำหนดจะอภิปรายในรัฐสภาในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ได้ปรับลดเกณฑ์การลงคะแนนเสียงสำหรับการแก้ไขกฎหมาย จากเดิมต้องมีคะแนนเสียงอย่าง 75% ของรัฐสภา ลดเหลือ 70% ซึ่งจะช่วยให้ง่ายขึ้นสำหรับสมาชิกรัฐสภาที่จะลงคะแนนเสียงให้ผ่านกฎหมาย แต่สำหรับมาตราที่ห้าม ซูจี จากการเป็นประธานาธิบดียังคงเนื้อหาเช่นเดิม
ตำแหน่งทางการเมืองสูงสุดของพม่าจะถูกเลือกโดยรัฐสภาจากการลงคะแนนเสียงของสมาชิกรัฐสภาหลังการเลือกตั้ง
อองซานซูจี ที่อายุครบ 70 ปี ไปเมื่อวันศุกร์ (19) ได้ร้องขอการเมืองใสสะอาดต่อบรรดาสมาชิกรัฐสภา และว่า พรรค NLD จะขอให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งเผยสินทรัพย์ของตัวเอง และคู่สมรส
ความเคลื่อนไหวที่เป็นการเตือนกลุ่มคนชั้นสูงในพม่า ที่การปกครองของรัฐบาลทหาร และระบบพวกพ้องทำประเทศเสียหายจากการทุจริต โดยพม่านั้นถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 156 จาก 175 ประเทศ ของดัชนีประเทศที่คอร์รัปชันน้อยที่สุดของปี 2557 โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ
พม่า เริ่มหลุดพ้นจากการปกครองของทหารในปี 2554 หลังการเลือกตั้งที่ถูกกล่าวหาอย่างกว้างขวางว่าใช้กลโกง และการไม่เข้าร่วมของพรรค NLD การบริหารประเทศของประธานาธิบดีเต็งเส่งได้รับเสียงชื่นชมจากการปฏิรูปการเมือง และเศรษฐกิจ แต่ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา กลุ่มสิทธิมนุษยชน และซูจี ได้เตือนว่าการเปลี่ยนไปสู่ระบอบประชาธิปไตยของประเทศได้หยุดชะงักลง.