xs
xsm
sm
md
lg

พม่าประกาศให้ 8 พ.ย. เป็นวันเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 7 ก.ค. ชาวพม่ากำลังตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงในหมู่บ้านแห่งหนึ่งของเมืองกอมู ที่ใช้เวลาเดินทางจากนครย่างกุ้งราว 2 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่พม่าได้ประกาศในวันนี้ (8) ว่าวันเลือกตั้งทั่วไปครั้งสำคัญของประเทศจะมีขึ้นในวัน 8 พ.ย.--Agence France-Presse/Ye Aung Thu.</font></b>

เอเอฟพี - เจ้าหน้าที่พม่าได้ประกาศในวันนี้ (8) กำหนดให้วันที่ 8 พ.ย. เป็นวันเลือกตั้งทั่วไปครั้งประวัติศาสตร์ ที่พรรคฝ่ายค้านของนางอองซานซูจี เข้าร่วมลงแข่งขันเป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี

“การเลือกตั้งทั่วไปจะมีขึ้นในวันที่ 8 พ.ย. คณะกรรมาธิการการเลือกตั้งแห่งสหภาพจะประกาศรายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติมในภายหลัง” ทัน ซิน อ่อง รองผู้อำนวยการคณะกรรมาธิการการเลือกตั้งนครย่างกุ้ง กล่าวถึงการเลือกตั้งที่จะเป็นการเลือกสมาชิกสภาของทั้ง 2 สภา

สำหรับตำแหน่งประธานาธิบดีจะมีการเลือกในภายหลังโดยรัฐสภา แต่ซูจี ไม่สามารถทำหน้าที่ในตำแหน่งผู้นำสูงสุดของประเทศตามรัฐธรรมนูญ

พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของซูจี ยังไม่ได้ยืนยันว่า พรรคจะเข้าร่วมในการเลือกตั้ง แม้จะเป็นที่คาดการณ์กันอย่างกว้างขวางว่า พรรคจะได้คะแนนเสียงส่วนใหญ่ในการเลือกตั้งครั้งนี้

“ตอนนี้เรายังพูดไม่ได้ว่าเราจะเข้าร่วม เราจำเป็นที่จะต้องประชุมหารือเพื่อตัดสินใจ” เนียน วิน โฆษกพรรค NLD กล่าว

สำหรับผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงหลายคนจากประมาณ 30 ล้านคนในพม่า นี่อาจเป็นโอกาสแรกที่จะได้ลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งทั่วประเทศที่พรรคฝ่ายค้านพรรคใหญ่ของประเทศเข้าร่วม

พรรค NLD ชนะการเลือกตั้งทั่วประเทศในปี 2533 แต่ทหารไม่ปล่อยให้พรรคได้ครองอำนาจ ซูจีที่อยู่ภายใต้การควบคุมตัวภายในบ้านพักนานถึง 15 ปี ยังคงถูกขังระหว่างการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดเมื่อปี 2553 ที่พรรค NLD คว่ำบาตร และมีการกล่าวหาว่า การเลือกตั้งครั้งดังกล่าวเต็มไปด้วยข้อบกพร่อง และกลโกง

แต่ซูจี และสมาชิกพรรคอีก 44 คน ในเวลานี้ได้เข้านั่งในรัฐสภาจากการเลือกตั้งซ่อมปี 2555 ที่จัดขึ้นในส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการเมืองภายใต้รัฐบาลกึ่งพลเรือนที่เต็มไปด้วยอดีตนายพล ซึ่งเข้าแทนที่รัฐบาลทหารที่ปกครองประเทศยาวนานเกือบครึ่งศตวรรษ

รัฐบาลภายใต้การปกครองของประธานาธิบดีเต็งเส่ง ได้สร้างชื่อเสียงจากการยุติการเซ็นเซอร์สื่ออย่างเข้มงวด การปล่อยตัวนักโทษการเมือง และการดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจที่ทำให้ได้เห็นชาติตะวันตกยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรส่วนใหญ่ต่อพม่า

แต่ซูจี และนักรณรงค์เคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนได้เตือนว่า การปฏิรูปนั้นหยุดชะงัก หรือแม้แต่กำลังถอยหลังในบางด้าน ทั้งผู้ชุมนุมที่เป็นนักศึกษาหลายสิบคนถูกจับกุมตัว และการเข้มงวดต่อเสรีภาพสื่อ

เมื่อเดือนก่อน ซูจี ได้ให้คำมั่นที่จะไม่ยอมอ่อนข้อจากการเลือกตั้ง แม้ว่าเป้าหมายที่จะยุติอำนาจวีโต้ของทหารต่อการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญจะพ่ายไปในการลงมติในรัฐสภา

รัฐสภาพม่า ยังคงถูกครอบครองโดยทหาร ด้วยจำนวนที่นั่ง 1 ใน 4 ของที่นั่งทั้งหมดในรัฐสภาถูกสงวนไว้ให้แก่ทหารที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งหมายความว่า การเปลี่ยนแปลงแก้ไขมาตราในรัฐธรรมนูญที่สำคัญๆ ใด จำเป็นต้องได้เสียงส่วนใหญ่มากกว่า 75% ซึ่งทำให้ทหารได้อำนาจในการชี้ขาด

ผลการลงมติเมื่อไม่นานนี้ ดับโอกาสของซูจีที่จะเป็นประธานาธิบดี เพราะรัฐธรรมนูญระบุไม่รวมผู้ที่มีบุตรเป็นชาวต่างชาติทำหน้าที่ผู้นำประเทศ ซึ่งบุตรชายของซูจีเป็นชาวอังกฤษ

จากการห้ามซูจี ทำหน้าที่ในตำแหน่งประธานาธิบดี และยังไม่มีผู้สมัครรับเลือกชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 2 จากภายในพรรค ผู้สังเกตการณ์คาดการณ์ว่า พรรคอาจไปจบลงที่การสนับสนุนผู้สมัครตำแหน่งประธานาธิบดีที่เป็นคนนอก

ผู้เชี่ยวชาญกลัวว่า การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ซึ่งกันและกันระหว่างการเลือกตั้ง และการประกาศผู้ลงสมัครรับเลือกตำแหน่งประธานาธิบดีในอีกหลายเดือนต่อมาอาจก่อให้เกิดความไม่มั่นคงในประเทศ

พรรค NLD ได้แสดงความกังวลว่า รายชื่อผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงที่ติดประกาศอยู่ทั่วประเทศนั้นมีความไม่ถูกต้อง ซึ่งฝ่ายเจ้าหน้าที่การเลือกตั้งในวันนี้ (8) ได้ยอมรับว่า รายชื่อยังมีข้อผิดพลาด โดยกล่าวโทษว่า เป็นความผิดพลาดทางเทคนิค และเพราะขาดแคลนเจ้าหน้าที่

พรรค NLD ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าล้มเหลวที่จะร่างนโยบายเฉพาะในขณะที่การเลือกตั้งใกล้เข้ามาทุกที ระบุว่า พรรคพร้อมที่จะออกคำแถลงที่เฝ้ารอกันทั้งในด้านเศรษฐกิจ สาธารณสุข ความมั่นคง และการศึกษา.
กำลังโหลดความคิดเห็น