xs
xsm
sm
md
lg

สื่อนอกมองพม่า “แม่ซู” สุดวิบากขวากหนามอีกเยอะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>อองซานซูจี หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ที่กวาดชัยชนะในการเลือกตั้ง ที่ได้ที่นั่งในสภามากพอจะตั้งรัฐบาลใหม่ คาดว่าจะต้องเผชิญกับปัญหาความท้าทายอีกมากในการบริหารประเทศ. -- Agence France-Presse/Ye Aung Thu.</font></b>

เอเอฟพี - พรรคของนางอองซานซูจี ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในการเข้าสู่สภา แต่ความนิยม และอำนาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นสำหรับซูจี และสมาชิกรัฐสภาหน้าใหม่หลายร้อยคนจากพรรคของเธอ ที่หลายคนยังไม่เคยมีประสบการณ์การทำงานในรัฐบาลมาก่อน

และนี่คือความท้าทายส่วนหนึ่งที่กำลังรอพรรคของซูจีอยู่ข้างหน้า

พรรคของซูจี สามารถตั้งรัฐบาลได้ แต่ใครจะขึ้นมาเป็นผู้นำยังคงเป็นคำถาม ด้วยตัวซูจี เองถูกขัดขวางจากการทำหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าวจากมาตราที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลทหารร่างขึ้น แต่ซูจี กล่าวว่า เธอจะปกครองอยู่เหนือประธานาธิบดีหุ่นเชิด ที่จะเข้าแทนที่ประธานาธิบดีเต็งเส่ง ในปลายเดือน มี.ค.นี้

ด้วยบทบาทที่ซูจี อ้างถึง อาจสร้างความไม่พอใจต่อกองทัพที่ยอมสละอำนาจบางส่วน แต่ยังคงสงวนที่นั่ง 25% ในรัฐสภา ซึ่งจำนวนดังกล่าวยังทำให้ทหารมีสิทธิยับยั้งการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ

นอกจากประเด็นการแต่งตั้งประธานาธิบดีแล้ว ซูจี ยังต้องปรองดองกับกองทัพที่เคยควบคุมตัวเธอมานาน 15 ปี ซึ่งผู้สังเกตการณ์ระบุว่า ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างซูจี และกองทัพเป็นสิ่งสำคัญต่อการดำเนินการไม่ว่าเรื่องใดๆ ก็ตาม นั่นเป็นเพราะอำนาจทางการเมืองของกองทัพไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงในรัฐสภาเท่านั้น

รัฐธรรมนูญปี 2551 ที่ร่างขึ้นภายใต้ผู้นำเผด็จการตาน ฉ่วย ได้มอบอำนาจการควบคุมให้แก่ผู้บัญชาการทหารเหนือกระทรวงสำคัญ 3 กระทรวง คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และกระทรวงกิจการชายแดน

กระทรวงมหาดไทย เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องต่อระบบราชการทั้งหมด รวมทั้งกองกำลังตำรวจ นอกเหนือจากนี้ ทหารยังคงต่อสู้ในสงครามกลางเมืองที่ยังดำเนินอยู่ในพื้นที่ชายแดนของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์

ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ของพม่าได้ต่อสู้เพื่อเรียกร้องการปกครองตนเองมาเป็นเวลามากกว่า 50 ปี แม้เต็งเส่ง ลงนามหยุดหยิงต่อกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์สำคัญหลายกลุ่ม แต่การต่อสู้ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในรัฐกะฉิ่น และรัฐชาน

แม้ซูจี จะเป็นชาติพันธุ์พม่า ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ของประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ จนทำให้บางครั้งถูกตั้งข้อสงสัยจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ แต่ซูจี ได้ให้คำมั่นว่า จะทำงานเพื่อมุ่งสู่ระบบสหพันธรัฐ

นอกจากปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ ซูจี ยังต้องจัดการต่อความรู้สึกต่อต้านชาวมุสลิม ที่แพร่ลามไปทั่วนับตั้งแต่เกิดเหตุไม่สงบในรัฐยะไข่ เมื่อปี 2555 ระหว่างชุมชนชาวพุทธ และชาวมุสลิมโรฮิงญา

มุสลิมโรฮิงญาหลายหมื่นคนยังคงติดค้างอยู่ในค่ายพักแรมสำหรับผู้พลัดถิ่น และรัฐบาลชุดใหม่ต้องเผชิญต่อแรงกดดันจากประชาคมโลกในการหาทางแก้ไขให้แก่คนกลุ่มนี้ แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องระมัดระวังว่าอาจสร้างความไม่พอใจต่อชาวพุทธยะไข่ ที่ส่วนใหญ่มองว่าชาวโรฮิงญานั้นเป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ ที่เป็นประเทศเพื่อนบ้าน

ในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ เศรษฐกิจของพม่าได้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้งภายใต้การปฏิรูปของรัฐบาลเต็งเส่ง การลงทุนจากต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาในประเทศนับตั้งแต่มาตรการคว่ำบาตรส่วนใหญ่ของชาติตะวันตกถูกยกเลิกลง

โทรศัพท์มือถือเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น รถยนต์นำเข้าเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว และเขตเศรษฐกิจพิเศษหลายแห่งกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนา

เศรษฐกิจประเทศขยายตัวขึ้น 8.5% ในปีงบประมาณ 2557-2558 แต่ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจพม่าจะขยายตัวในระดับปานกลางที่ 6.5% ในปีนี้

แต่ความยากจนยังคงเป็นปัญหาสำหรับผู้คนจำนวนมากในประเทศที่พึ่งพาการเกษตร

พรรค NLD ระบุว่า จะมุ่งความสนใจไปที่การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น แต่การพัฒนาอย่างรวดเร็วต้องชะลอตัว เนื่องจากปัญหาด้านพลังงานไฟฟ้า ถนน และทางรถไฟที่ยังย่ำแย่ รวมทั้งแรงงานไร้ฝีมือ

การทุจริตติดสินบนยังเป็นอีกปัญหาหนึ่งของประเทศ โดยพม่า ถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 147 จาก 168 ประเทศในดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันโลกปี 2558 ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ขณะเดียวกัน ความสัมพันธ์กับจีน ที่เป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของประเทศก็เป็นอีกหนึ่งคำถามสำคัญของรัฐบาลชุดใหม่.
กำลังโหลดความคิดเห็น