xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เลือกตั้งพม่า : "อองซานซูจี" ประชาธิปไตยใต้ท็อปบูต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.อาวุโสมินอองหล่าย ขณะให้สัมภาษณ์สื่อหลังไปใช้สิทธิออกเสียง ที่หน่วยเลือกตั้งในกรุงเนปยีดอว์  ผู้บัญชาการทหารสูงสุดผู้นี้ประกาศว่า ไม่มีเหตุผลใดที่จะไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง. -- Agence France-Presse/Commander-in-Chief Office.
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -การเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ของพม่าเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ถือเป็นบททดสอบสำคัญของการปฏิรูปประชาธิปไตยของพม่า ที่ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด สถานการณ์ทางการเมืองที่กองทัพเคยปกครองมานานเกือบครึ่งศตวรรษ ก่อนส่งต่ออำนาจให้กับรัฐบาลกึ่งพลเรือนภายใต้การนำของประธานาธิบดีเต็งเส่ง จากพรรคสหภาพสามัคคีและการพัฒนา (USDP) ที่สมาชิกส่วนใหญ่ในพรรค เป็นอดีตนายพลจากรัฐบาลชุดก่อน แต่เป็นที่ชัดเจนในขณะนี้ว่าอำนาจกำลังจะเปลี่ยนมือไปสู่ พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของนางอองซานซูจี หญิงเหล็กนักประชาธิปไตยคนดัง

ผลการเลือกตั้งที่คณะกรรมการการเลือกตั้งสหภาพ (UEC) ประกาศในปลายสัปดาห์ มีแนวโน้มสูงที่ NLD จะครองเสียงส่วนใหญ่ถึง 80% ในทั้งสองสภา เป็นชัยชนะถล่มทลายเหนือพรรค USDP (Union Solidarity and Development Party) พรรครัฐบาลที่มีกองทัพหนุนหลัง ที่เป็นคู่แข่งสำคัญที่สุด

ความคืบหน้าล่าสุดก็คือ บุคคลระดับสูงของพรรค USDP หลายคน รวมทั้งประธานาธิบดีเต็งเส่ง และ พล.อ.อาวุโสมิน ออง หล่าย ผู้บัญชาการกองทัพ ได้ออกมากล่าวยอมรับความพ่ายแพ้ และ แสดงความยินดีต่อพรรค NLD กับนางซูจี ทั้งยังให้คำมั่นจะเคารพผลการเลือกตั้ง ทำงานอย่างสันติในการถ่ายโอนความรับผิดชอบต่างๆ ให้กับผู้ชนะ

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ต่างชาติจากหลายสำนักระบุว่า การเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน ไม่ได้เป็นสิ่งที่กำหนดว่า พม่าเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงแล้ว เพราะรัฐธรรมนูญยังให้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภาแก่ผู้แทนของกองทัพถึง 1 ใน 4 โดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้ง และ ผู้บัญชาการกองทัพ ยังสามารถแต่งตั้งรัฐมนตรีประจำกระทรวงที่ทรงอำนาจในรัฐบาลได้ถึง 3 กระทรวง

ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอชภูมิภาคเอเชีย ให้ข้อสังเกตว่า ชัยชนะอย่างยิ่งใหญ่ของพรรค NLD ของอองซานซูจีเป็นเพียงก้าวแรกของการเจรจาที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ระหว่างฝ่ายอำนาจใหม่ที่ได้รับเลือกเข้ามาและฝ่ายอำนาจเก่าคือทหารที่ได้รับการรับรองจากรัฐธรรมนูญ

เมื่อครั้งคณะปกครองทหาร ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2551 ได้กำหนดโครงสร้างทางการเมือง ที่กีดกันอองซานซูจีออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี และยังกำหนดอำนาจและสิทธิพิเศษให้กับฝ่ายตัวเอง รวมทั้งร้อยละ 25 ของที่นั่งในสภาถูกสงวนไว้ให้กับกองทัพ การแก้ไขบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องได้เสียงสนับสนุนอย่างน้อยร้อยละ 75 ไม่มีการตรวจสอบงบประมาณทหาร และ มีเพียงนายทหารที่จะสามารถดำรงตำแหน่งใน 3 กระทรวงด้านความมั่นคง คือ กลาโหม มหาดไทย และความมั่นคงชายแดน

ดังนั้น แม้จะมีประชาชนหนุนหลัง แต่นางซูจียังต้องเผชิญปัญหาอีกมากมาย เพราะถ้าหากมุ่งหน้าฝ่าอำนาจทหาร ก็เหมือนกับการเอาหัวชนกำแพง

นักวิเคราะห์การเมืองอิสระบางรายชี้ว่า ในเมื่อกองทัพยังควบคุมการตัดสินใจทางการเมืองที่สำคัญ พรรค NLD และ พรรคการเมืองอื่นๆ ต้องร่วมมือกับทหาร นางซูจีจะร่วมมือกับทหารได้ดีขึ้น ถ้าหากใช้หลักของการสร้างความปรองดองในชาติ ทหารเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญในสภา ที่ไม่สามารถเพิกเฉยได้

สถานการณ์เช่นนี้ทำให้มีเหลือทางเลือกอยู่เพียง 2 ทาง ตามคำกล่าวที่ว่า If you don't beat them, join them ฝ่ายค้านที่จะเป็นรัฐบาลใหม่ จึงต้องร่วมมือ และต้องโน้มน้าวกองทัพให้ร่วมมือกับฝ่ายตนเอง

แม้ผลการเลือกตั้งจะยังประกาศออกมาไม่ครบ แต่ที่ผ่านมาพรรคของนางซูจีกวาดไปเกือบทั้งกระดาน จากเกือบทุกเขตเลือกตั้งทั่วประเทศ กระทั่งในเขตอิทธิพลของฝ่ายทหาร ชนะทั้งในชนบทและในเมืองใหญ่ รวมทั้งย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และ ในเขตที่ราบใหญ่ปากแม่น้ำอิรวดี ที่เป็น "เขตรากหญ้า" ของกองทัพ ชนะในกรุงเนปยีดอว์ปิดอ อันเป็นที่มั่นใหญ่ของรัฐบาล และกองทัพทั้งกองทัพ

เส้นทางสู่สภาและการครองเสียงข้างมากเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย แต่แท้จริงแล้วยังมีอุปสรรคความท้าทายอีกหลายอย่างรออยู่ข้างหน้า

แม้พรรคของอองซานซูจีจะชนะอย่างถล่มทลาย แต่หัวหน้าพรรคไม่สามารถขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีได้ ด้วยข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญที่ทหารร่างขึ้น นางซูจีให้สัมภาษณ์ก่อนการเลือกตั้งว่า หาก NLD ชนะ นางก็จะบริหารรัฐบาล และอยู่เหนือประธานาธิบดี

คำพูดเช่นนี้เป็นแรงกระตุ้นให้กับบรรดาผู้มีสิทธิเลือกตั้งฮึกเหิมและเลือกผู้สมัครของพรรค แต่สร้างความประหลาดใจให้กับหมู่นักวิเคราะห์ ที่สงสัยในความหมาย เนื่องจากยังไม่มีผู้ใดทราบว่า นางซูจีหัวหน้าพรรค จะเสนอชื่อใครเป็นประธานาธิบดี และก็ยังเป็นความท้าทายว่า จะนำรัฐบาลได้อย่างไร เพราะไม่มีใครใน NLD มีประสบการณ์มาก่อน

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าใครหรือพรรคการเมืองใดจะชนะในการเลือกตั้ง กองทัพจะยังคงมีอิทธิพลอย่างมากภายในรัฐบาล ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ให้ที่นั่ง 1 ใน 4 แก่ผู้แทนจากกองทัพ หมายความว่า ไม่ว่ารัฐบาลใดๆ ก็ตาม ก็ยังคงต้องติดอยู่กับบทบาทของทหาร ทั้งในทางการเมืองและ การใช้อำนาจ นอกจากนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งแม้ว่า NLD จะได้เสียงข้างมากท่วมท้น ไม่มีปัญหาเสียงสนับสนุนร้อยละ 75 แต่ก็ต้องดูท่าทีของฝ่ายกองทัพ ที่ยังควบคุมกระทรวงสำคัญ กำกับดูแลกองกำลังทหาร ตำรวจ กิจการชายแดน รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนมากทั่วประเทศ ที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาลมือใหม่

นอกจากนั้น กองทัพยังมีอำนาจฉุกเฉินพิเศษที่เขียนขึ้นในรัฐธรรมนูญ ที่ให้ฝ่ายทหารมีสิทธิ เข้าควบคุมประเทศด้วยเหตุผลที่ไม่ได้มีการระบุแน่ชัด เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติและความสามัคคีของชาติ

ความพยายามที่จะยุติความขัดแย้งยาวนานหลายทศวรรษกับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ในประเทศ เป็นอีกหนึ่งความท้าทายของรัฐบาลชุดใหม่ ที่แม้แต่รัฐบาลของ ปธน.เต็งเส่งก็ยังทำไม่สำเร็จ แม้จะมีการเจรจาหารือหลายครั้ง จนนำไปสู่การหยุดยิงกับกลุ่มชาติพันธุ์ได้เพียงแค่บางกลุ่มเท่านั้น

กลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มใหญ่ที่มีอำนาจสูง ยังคงไม่ยอมเข้าร่วมลงนามในข้อตกลงนี้ แม้จะมีการเจรจากันมา แต่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปเกี่ยวกับข้อเรียกร้องจากฝั่งกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต้องการการปกครองตนเองได้ เช่น ในรัฐกะฉิ่น ซึ่งทำให้การต่อสู้ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์และรัฐบาลยังคงดำเนินต่อเนื่อง ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ขณะที่กองทัพก็อ้างว่า การปราบปรามอย่างรุนแรงเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาความสามัคคีของชาติ

นอกจากประเด็นความขัดแย้งกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ แล้ว ยังมีประเด็นเกี่ยวกับชาวมุสลิมและโรฮีนจา ที่นางซูจีเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าล้มเหลวที่จะปกป้องสิทธิของชาวมุสลิมและการไม่เอ่ยถึงชะตากรรมของคนกลุ่มนี้ ที่อาศัยอยู่ในพม่ากว่า 500,000 คน โดยถูกกดขี่ข่มเหงมาตลอด นางซูจีได้ออกปกป้องท่าทีของตนว่า เป็นวิธีทางการเมืองในประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ งานของเธอคือการประนีประนอมไกล่เกลี่ยระหว่างสองชุมชนไม่สร้างความแตกแยก

นางซูจียังได้เรียกร้อง ให้สื่อต่างๆ ยุติการเสนอเนื้อหาเกินจริงเกี่ยวกับปัญหาชาวโรฮีนจา ในประเทศซึ่งยังมีปัญหาอีกมากมายให้ต้องแก้ไข

รัฐบาลพม่ากล่าวว่า "โรงฮีนจา" เป็นคำที่คิดค้นกันขึ้นมาเอง แท้จริงแล้วคนกลุ่มนี้เป็นชาวมุสลิมเบงกาลี (Bengali) ที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายจากประเทศเพื่อนบ้าน จึงไม่ใช่พลเมืองพม่า และ ทางการออกเอกสารให้เป็นเพียงผู้อาศัยชั่วคราวเท่านั้น จึงไม่มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งในครั้งนี้ ถึงแม้ว่าโรฮีนจาจำนวนมากจะเกิด หรือ อาศัยอยู่ในพม่ามานานนับชั่วคนก็ตาม

นักวิเคราะห์มองว่า พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ดูเหมือนจะโอนอ่อนผ่อนตามไปกับความรู้สึกอคติต่อชาวมุสลิม มากกว่าที่จะคัดค้าน ทำให้ชาวมุสลิมจำนวนมากไม่คาดหวังว่า ผู้นำฝ่ายค้านจะทำอะไรมากนัก เพื่อยุติการต่อต้านชาวมุสลิมที่กำลังขยายตัวขึ้นในประเทศ หรือยกเลิกกฎหมายต่อต้านมุสลิมที่เพิ่งประกาศใช้ไปเมื่อไม่นานนี้

และต่างไปจากในนครย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และ ที่อื่นๆ ที่มีประชากรชาวมุสลิมแน่นหนา และอาศัยอยู่ร่วมกับชาวพุทธกับชาวฮินดู รวมทั้งประชาชนกลุ่ม ศาสนาอื่นๆ อย่างมีสันติสุข ชาวมุสลิมในรัฐระไขน์ (Rakhine) ทางตะวันตกของประเทศ ถึงแม้จะไม่ใช่โรฮีนจาก็ตาม ยังไม่สบอารมณ์ในนโยบายของรัฐบาล เคยร่วมก่อความไม่สงบมาหลายครั้ง และ ถูกปราบปรามมาทุกครั้ง

พรรค NLD ของนางซูจีเองพ่ายการเลือกตั้งในบางเขตรัฐระไค ที่มีประชากรมุสลิมหนาแน่น ซึ่งอาจจะสะท้อนให้เห็นความไม่พอใจต่อฝ่ายค้านได้เป็นอย่างดี

กลุ่มสิทธิมนุษยชนอีกกลุ่มหนึ่งมองว่า บรรยากาศที่เป็นภัยต่อชาวมุสลิมโดยทั่วไป และต่อชาวโรฮีนจาเป็นพิเศษนี้ อาจนำไปสู่ความรุนแรง เปิดโอกาสให้ทหารใช้เป็นข้ออ้าง ในการเข้ายึดอำนาจอีกครั้ง "เพื่อปกป้องคุ้มครองความสงบสุขในประเทศ".



อองซานซูจี หัวหน้าพรรค NLD โบกมือให้กับฝูงชนและสื่อหน้าสำนักงานใหญ่พรรค NLD ในนครย่างกุ้ง หลังกล่าวปราศรัยจากระเบียงสำนักงานพรรค.--Agence France-Presse/Nicolas Asfouri.
ประธานาธิบดีเต็งเส่งยอมรับความพ่ายแพ้ของพรรค และแสดงความยินดีกับชัยชนะของพรรคคู่แข่ง พร้อมกับระบุว่ายินดีที่จะหารือเพื่อสร้างความปรองดองตามคำขอของซูจี ทันทีที่ผลการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้งสหภาพเสร็จสิ้น.--Associated Press/ Aung Shine Oo


กำลังโหลดความคิดเห็น