xs
xsm
sm
md
lg

กองทัพยังเป็นอุปสรรคสำหรับ “ซูจี” แม้จะชนะเลือกตั้งถล่มทลาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของอองซานซูจี กำลังกวาดที่นั่งในสภาอย่างถล่มทลายเข้าใกล้การครองเสียงข้างมาก แต่ขณะเดียวกันกองทัพยังคงมีอำนาจในการเมืองของประเทศ ด้วยครองที่นั่ง 1 ใน 4 ในสภา และมีสิทธิในการแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญในคณะรัฐมนตรี ซึ่งในวันนี้ (11) พรรค NLD เปิดเผยว่าซูจีมีจดหมายถึงประธานาธิบดีเต็งเส่งและพล.อ.มิน ออง หล่าย เพื่อที่จะหารือถึงความปรองดองในชาติ.--Agence France-Presse/Ye Aung Thu.</font></b>

รอยเตอร์ - อองซานซูจี ที่กำลังขยับเข้าใกล้การได้เสียงข้างมากอย่างเด็ดขาดในสภาในวันนี้ (11) ได้ร้องให้มีการพบหารือกับประธานาธิบดี และผู้บัญชาการกองทัพพม่าที่จะหารือเกี่ยวกับการปรองดองแห่งชาติ

พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ชนะที่นั่งกว่าร้อยละ 90 ของที่นั่งที่ถูกประกาศจนถึงตอนนี้ในสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งสภาสูง และสภาในระดับภูมิภาค

หากผลการเลือกตั้งสุดท้ายยืนยันแนวโน้มดังกล่าว ชัยชนะของซูจี จะกวาดบรรดาอดีตนายพลที่ปกครองพม่านับตั้งแต่รัฐบาลเผด็จการทหารมอบอำนาจให้แก่รัฐบาลกึ่งพลเรือนของประธานาธิบดีเต็งเส่งในปี 2554

แต่กองทัพยังคงมีอำนาจในสถาบันการเมืองของพม่าหลังบริหารประเทศมาเกือบ 50 ปี และยังไม่แน่ชัดว่าซูจี และบรรดานายพลเหล่านั้นจะทำงานร่วมกันอย่างไร

ในจดหมายที่ส่งถึงผู้บัญชาการกองทัพพม่า และประธานาธิบดี ลงวันที่ 10 พ.ย. ที่พรรค NLD เผยแพร่ลงบนสื่อออนไลน์ในวันนี้ (11) ซูจี ได้เรียกร้องให้มีการพบหารือภายในหนึ่งสัปดาห์เพื่อหารือถึงการสร้างความปรองดองในชาติ

“มันเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากสำหรับศักดิ์ศรีของประเทศ และเพื่อนำสันติสุขมาสู่จิตใจของประชาชน” ซูจี ระบุในจดหมาย

เย ตุ๊ต รัฐมนตรีกระทรวงข้อมูลข่าวสาร และโฆษกประธานาธิบดี ระบุบนหน้าเพจเฟซบุ๊กของตัวเองว่า ประธานาธิบดีได้ตอบจดหมายของอองซานซูจี ว่า การพบหารือจะมีการประสานงานติดต่อเมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งสหภาพทำงานที่เกี่ยวข้องต่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้น

ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างซูจี และ พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของพม่านั้นถูกกล่าวกันว่าตึงเครียด

หนึ่งในต้นตอของความตึงเครียดที่ใหญ่ที่สุดระหว่างซูจี และกองทัพคือ บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นโดยรัฐบาลเผด็จการทหารที่ห้ามซูจีจากตำแหน่งประธานาธิบดี เพราะลูกของซูจีเป็นชาวต่างชาติ

ขณะที่จดหมายของซูจี แสวงหาความปรองดอง แต่ซูจี กลับเพิ่มความท้าทายต่อบทบัญญัติเกี่ยวกับประธานาธิบดีดังกล่าว เมื่อซูจี ประกาศชัดว่าเธอจะบริหารประเทศโดยไม่สนว่าใครคือผู้ที่พรรค NLD เลือกเป็นประธานาธิบดี

ซูจี ให้สัมภาษณ์ต่อบีบีซีเมื่อวันอังคาร (10) ถึงตัวเลือกตำแหน่งประธานาธิบดีว่า พรรคจะหามาคนหนึ่ง และเธอจะเป็นผู้ตัดสินใจทั้งหมดในฐานะหัวหน้าพรรคที่ชนะ

ผลการเลือกตั้งจนถึงตอนนี้ระบุว่า พรรคของซูจี ได้ที่นั่งไปแล้ว 135 ที่นั่ง จาก 149 ที่นั่ง ที่มีการประกาศจากทั้งหมด 330 ที่นั่งในสภาที่ไม่ถูกครอบครองโดยทหาร ซึ่งรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยรัฐบาลเผด็จการทหารระบุว่า 1 ใน 4 ของที่นั่งในทั้งสองสภาถูกสงวนไว้ให้แก่ทหารโดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้ง

เพื่อจัดตั้งรัฐบาลที่ได้รับเลือกมาตามระบอบประชาธิปไตยเป็นครั้งแรกของพม่านับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1960 พรรค NLD จำเป็นต้องชนะมากกว่า 2 ใน 3 ของที่นั่งที่เปิดให้แข่งขัน

พรรค NLD ระบุว่า พรรคน่าจะได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรมากกว่า 250 ที่นั่ง ซึ่งเกินกว่า 221 ที่นั่งที่จำเป็นต้องได้หากต้องการควบคุมสภา
.
<br><FONT color=#000033>พล.อ.มิน ออง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดพม่า ยังเป็นตัวแปรสำคัญในการบริหารประเทศของอองซานซูจี เนื่องจากทหารยังคงครองที่นั่ง 1 ใน 4 ของสภาตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และมีสิทธิในการแต่งตั้งรัฐมนตรีใน 3 กระทรวงสำคัญของประเทศ.--Agence France-Presse/Pool/Hla Hla Htay.</font></b>
.
พรรคสหภาพสามัคคีและการพัฒนา (USDP) ที่สร้างขึ้นจากรัฐบาลเผด็จการทหาร และนำโดยบรรดานายทหารเกษียณอายุ ได้ยอมรับความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งที่เป็นเหตุการณ์สำคัญบนเส้นทางอันยากลำบากของพม่าจากการปกครองแบบเผด็จการ ไปสู่การปกครองแบบประชาธิปไตย

ซูจี ยังต้องการที่จะพบหารือกับฉ่วย มาน อดีตหัวหน้าพรรค USDP และประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเสียที่นั่งของตัวเองในการเลือกตั้งครั้งนี้ และก่อนหน้าการเลือกตั้งเขาถูกมองว่าเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกคนหนึ่ง

ฉ่วย มาน ต่อต้านกองทัพขณะอยู่ในสภา และสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับซูจี ที่สร้างความสงสัยให้แก่หลายคนในพรรค USDP

นอกเหนือไปจากกลุ่มทหารที่ครองที่นั่งในสภาแล้ว ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพพม่ายังสามารถแต่งตั้งรัฐมนตรีประจำกระทรวงที่ทรงอำนาจ และครองงบประมาณก้อนใหญ่ถึง 3 กระทรวง คือ กระทรวงกลาโหม กระทรวงความมั่นคงชายแดน และกระทรวงมหาดไทย ซึ่งในส่วนของกระทรวงมหาดไทยนี้ ทำให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดมีอำนาจควบคุมระบบราชการ ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายของพรรค NLD

อีกหนึ่งความท้าทายของซูจี คือ ความพยายามที่จะยุติความขัดแย้งยาวนานหลายทศวรรษกับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ ซึ่งเต็งเส่ง ยังทำไม่สำเร็จ แม้จะมีการเจรจาหารือหลายครั้งจนนำไปสู่การหยุดยิงกับกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่ม และหัวหน้าทีมผู้เจรจาหยุดยิงของรัฐบาล อ่อง มีน ที่เป็นหนึ่งในนักการเมืองที่มีอิทธิพลมากก็เสียเก้าอี้จากการเลือกตั้งครั้งนี้เช่นกัน

การเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ (8) เป็นการเลือกตั้วทั่วไปที่แข่งขันกันอย่างเสรีเป็นครั้งแรกของประเทศ นับตั้งแต่เต็งเส่ง ดำเนินการปฏิรูปจนทำให้ต่างชาติยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรบางส่วน และหลังจากนั้น ทุนจากต่างชาติเริ่มไหลเข้าประเทศอย่างรวดเร็ว การลงทุนโดยตรงจากต่างชาติมีมูลค่าอยู่ที่ 8,000 ล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณ 2557-2558 เพิ่มขึ้น 5 เท่าจาก 2 ปีก่อน

สหรัฐฯ ยินดีต่อการเลือกตั้งเป็นชัยชนะสำหรับประชาชนชาวพม่า แต่ระบุว่า สหรัฐฯ จะจับตาว่ากระบวนการประชาธิปไตยว่ามีความก้าวหน้าหรือไม่ ก่อนจะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรที่ยังเหลืออยู่

ประธานาธิบดีบารัค โอบามา เคยเยือนพม่า 2 ครั้ง ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ในความหวังที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยของพม่าเป็นผลงานระหว่างดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ปักหมุดเอเชีย

สำหรับผลการเลือกตั้งสุดท้ายมีกำหนดไม่เกินสองสัปดาห์นับจากวันเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ (8).
กำลังโหลดความคิดเห็น