xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ปาหี่ร่าง รธน.ลายพราง บทพิสูจน์ “แป๊ะ” เป็นใหญ่ในแผ่นดิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ไม่มีเหนียม ขอกันดังๆ กลางวันแสกๆ

ว่ากันถึง ข้อเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยื่นให้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) พิจารณา คราวนี้ไม่ได้ยื่นในนาม คสช.เสียด้วย แต่บอกว่าเป็นมติที่ประชุม “แม่น้ำ 4 สาย” ที่ประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เมื่อวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา

เป็นข้อเสนอที่พุ่งตรงไปในเรื่อง “จัดระเบียบอำนาจ” เน้นไปที่การได้มาของ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) รวมทั้งการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ทั้ง 3 ประเด็นที่ว่า คสช.บอกให้ กรธ.ใส่ไว้ใน “บทเฉพาะกาล” ซึ่งจะใช้ในช่วง 5 ปีหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ หรือที่เรียกกันว่า “ช่วงเปลี่ยนผ่าน”

อารมณ์นี้ตีความเป็นอื่นไม่ได้ นอกเสียจาก “แป๊ะ” จะเอาซะอย่าง ใครก็คงหยุดไม่อยู่ ถอดรหัสจากคำพูด “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ก็ส่งสัญญาณไปว่า “กรธ.คิดเป็น รู้ว่าควรทำอย่างไร” แต่จริงๆแล้วไม่ใช่เรื่อง “ควร-ไม่ควร” แต่เป็นเรื่องที่ กรธ. “ต้อง” ทำมากกว่า หนักไปกว่านั้น “บิ๊กตู่” ก็ยังพูดในทำนองว่า ถ้า กรธ.ไม่ยอมเขียนตาม ก็จะยื่นข้อเสนอไปเรื่อยๆ มองเผินๆแบบน่ารักหน่อยก็เหมือน “ลูกตื้อ” แต่จริงๆเป็นการ “ยื่นคำขาด” มากกว่า

ข้อเสนอ คสช.ในนาม “แม่น้ำ 4 สาย" จึงกลายเป็น “ข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้" ไปโดยปริยาย กระทั่ง มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ที่ “รุ่นใหญ่” พอตัว ก็ยังต้องรับลูกบอก “มีน้ำหนักๆ”

“ใบสั่งแป๊ะ” ยัดไส้กลางวันแสกๆ

น่าสนใจไม่น้อยที่ครั้งนี้ คสช.เลือกที่จะยื่นข้อเสนอแก้ร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ก่อนหน้านี้พยายามวางตัวไม่เข้าไป “กดดัน - ล้วงลูก” มาโดยตลอด ตั้งแต่สมัย คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ของ “เดอะปื๊ด” บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ก็เลือกที่จะยื่นในนาม ครม.เท่านั้น

รวมทั้งก่อนหน้านี้ ครม.ก็ได้ยื่นข้อเสนอ 16 ประเด็นที่ได้มาจากกระทรวงหน่วยงานต่างๆให้กับ กรธ.ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตาม “เดดไลน์” ที่กำหนดไว้ คือเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 เช่นเดียวกับแม่น้ำสายอื่น ทั้ง สนช. และ สปท.ที่ก็ยื่นเข้าไปในวันเดียวกัน ครั้งนั้นมีประเด็นจาก ครม.ที่น่าสนใจก็ในเรื่องการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2 ขยัก ซึ่งก็ถูกมองว่าเป็นการ “สืบต่ออำนาจ” อยู่แล้ว

เวลาผ่านมาเกือบเดือนหลัง “เดดไลน์” ของ กรธ. จู่ๆคสช.ก็เรียกประชุมแม่น้ำ 5 สายเมื่อวันที่ 7 มีนาคม แบบไม่มีปี่มีขลุ่ย ขนาด วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ยังตีมึนไม่รู้ว่ามีการนัดประชุม ก่อนบ่ายเบี่ยงว่าคงเป็นการประชุมติดตามงานทั่วไป ขณะที่ “มีชัย” เองก็เล่นบท “ล่องหน” ไม่เข้าร่วมประชุมด้วย จนกลายเป็นว่าเหลือตัวแทนจากแม่น้ำ 4 สายเท่านั้น ก่อนจะสรุปออกมาเป็นหนังสือ 6 หน้า ที่แนบหลักการ-เหตุผลของข้อเสนอการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญใน 3 ประเด็นดังกล่าว

จริงๆ ก็เหมือน กรธ.จะรู้ว่าจะมี “ใบสั่ง” ทำนองนี้มาถึงมือ ทั้งการที่ “มีชัย” เลี่ยงเข้าร่วมประชุม เพราะคงรู้ว่ามีวาระในการเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ อีกทั้งก่อนหน้านี้ยังประวิงเวลายกเอาประเด็นร้อนทั้งที่มา ส.ว.-ส.ส. และการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ไว้พูดคุยท้ายสุด หลังจากที่พิจารณาปรับแก้ประเด็นอื่นๆจนเสร็จหมดแล้ว

พอ กรธ.แก้ไขในส่วนอื่นเสร็จ คสช.ก็ส่งข้อเสนอมา โป๊ะเชะ!! ตามที่นัดหมายกันไว้พอดี

ย้อนไปอีกหน่อย จับสังเกตท่าทีของ “บิ๊กตู่” และ “บิ๊กป้อม” ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตลอดช่วงเดือนที่ผ่านมาก็พยายามขยายความคำว่า “ช่วงเปลี่ยนผ่าน” ที่จำเป็นต้องมีกลไกในการควบคุมการใช้อำนาจของภาคส่วนต่างๆ ก่อนจะโยนลูกไปให้ กรธ.ช่วยออกแบบกติกาตามที่ “แป๊ะ” ต้องการ

แต่เหมือนว่าการประสาน “หลังไมค์” ทาง กรธ.จะออกอาการยึกยัก ไม่ “ตามน้ำ” เหมือนที่ กมธ.ยกร่างฯเคยรับลูกยัด คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) เข้ามาใส่ใน “ร่างบวรศักดิ์” จนคนด่ากันขรมเมือง ก่อนที่ “แป๊ะ” จะสั่งให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในสมัยนั้นตีตก “ร่างบวรศักดิ์” ไปแบบไม่ใยดี

จึงน่าจะเป็นเหตุที่ทำให้ คสช. ต้องออก “ใบสั่ง” อย่างเป็นทางการโดยให้ “บิ๊กหมู” พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะเลขาธิการ คสช. ลงนาม พร้อมระบุว่า เป็นความเห็นร่วมกันของ “แม่น้ำ 4 สาย”

เมื่อสั่งกันอย่างเป็นทางการ ก็ดูว่า กรธ.จะพึงพอใจมากกว่าการกดดันสั่งการกันหลังไมค์ โดยเฉพาะ “มีชัย” ผู้ที่เข้าใจความต้องการ “แป๊ะ” มากที่สุดคนหนึ่ง ย่อมไม่ต้องการเสียคนตอนแก่ซ้ำรอยศิษย์รัก “บวรศักดิ์” ที่วันนี้ยังนั่งกลืนเลือดจากเหตุที่ “แป๊ะ” หักหลัง พลันที่ได้ “ใบสั่ง คสช.” มาก็สั่งพิมพ์แจกให้รู้กันทั่วคุ้งทั่วแควกันไปเลย

งานนี้จึงถือว่า “มีชัย” เล่นเป็น พยายามฟ้องสังคมว่าถูก “ยัดไส้” มาแบบไม่เต็มใจนัก

ขณะเดียวกันก็ยังเป็นการส่งสัญญาณให้ กรธ.อีก “20 พระหน่อ” ได้รับรู้ด้วยว่า “แป๊ะสั่งมา” ดีกว่าทำงุบงิบรับใบสั่งมาคนเดียว จนอาจถูกคนนินทาหมาดูถูกให้ “เสียผู้ใหญ่”

ที่สำคัญยังเป็น “ยันต์กันผี” ที่ดี หากที่สุด “ร่างมีชัย” มีอันเป็นไป ไม่ผ่านประชามติ กรธ.ก็ยังพอยืดได้ว่า ร่างรัฐธรรมนูญของพวกเขาไม่ได้แท้ง เพราะยกร่างกันไม่ดี “บทถาวร” นั้นดีอยู่แล้ว แต่ตกม้าตายตรงบทเฉพาะกาลของ “แป๊ะ” ต่างหาก

ส.ว.ลากตั้งใหญ่คับประเทศ

ว่ากันไปต่อถึง “ใบสั่งแป๊ะ” ที่เขียนมายืดยาวถึง 6 หน้ากระดาษ หนักไปทางน้ำเสียเยอะ อารัมภบทเวิ่นเว้อ “ไม่สืบทอดอำนาจๆ” ท้ายจดหมายยังมี ป.ล.ด้วยว่า “อย่าได้หวาดระแวงว่าจะมีการสืบทอดอำนาจ พร้อมยุติบทบาทตาม Roadmap ไม่ก้าวก่ายแทรกแซงการจัดการเลือกตั้ง หรือการตั้งรัฐบาลใหม่แน่นอน”

ทีนี้มา “ปอกเปลือก” กันเลยว่า ที่ว่าไม่คิดสืบทอดอำนาจ มันจริงเท็จอย่างไร??

ประเด็นแรก คสช.รีเควสให้ช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี มี ส.ว.สรรหา หรือ “ลากตั้ง” จำนวน 250 คน มากกว่าในรัฐธรรมนูญ 2540-2550 และใน “ร่างมีชัย - ร่างบวรศักดิ์” ที่ต่างก็กำหนดไว้ที่ 200 คน ถามว่าทำไมต้องมี ส.ว. 250 คน ตอบแทนว่าก็เพื่อเพิ่ม “พลังต่อรอง” ในการคานอำนาจทั้งฝ่ายบริหาร คือ รัฐบาล และฝ่ายนิติบัญญัติ ในส่วนของ ส.ส.ที่กำหนดไว้ให้มี 500 คน เมื่อรวมกับ ส.ว. 250 คนแล้ว ก็รวมเป็น 750 คน

ส.ว. 250 คนก็เท่ากับ 1 ใน 3 ของรัฐสภาที่มีสมาชิกทั้งหมด 750 คน

ว่ากันต่อถึงเรื่องอำนาจหน้าที่ของ “ส.ว.ลากตั้ง” ถึง “บิ๊กป้อม” จะพยายามบอกว่า ไม่มีอำนาจพิเศษอะไร ซึ่งก็จริง แต่จริงครึ่งเดียว ต้องบอกว่า “ส.ว.เปลี่ยนผ่าน” มีอำนาจเยอะเป็นพิเศษ มากกว่า ส.ว.ในยามปกติ อาจจะไม่มีสิทธิโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ถ้าคิดจะเขี่ยนายกฯสักคนให้กระเด็นตกเก้าอี้ไปก็ไม่ยาก ทั้งการที่ “แป๊ะ” ขอให้ กรธ.ติดดาบให้สามารถเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้

ถ้ายึดเอาเสียงครึ่งหนึ่งของรัฐสภาเป็นเกณฑ์ในการถอดนายกฯ เฉพาะ ส.ว.ลากตั้งก็ปาเข้าไป 250 คน ไปหาแนวร่วมจากพวกส.ส.อีกสัก 100 กว่าคน เป็นอันเรียบร้อย “โรงเรียนแป๊ะ” ซึ่งเสียง ส.ส.เหล่านี้ก็ไม่ได้เหนือบ่ากว่าแรง ยิ่งถ้าตอนนั้นค่ายพระแม่ธรณีบีบมวยผมเป็นฝ่ายค้านด้วยแล้ว หัวขาดกระเด็น เตรียมหานายกฯ คนใหม่รอได้เลย

แล้วไม่ต้องบอกว่า ในรัฐสภาใครใหญ่ แม้ ส.ส.จะมีสัดส่วนถึง 500 คน แต่ก็ไม่ได้เป็นเอกเทศทั้งหมด ลองจับแยกพรรคขนาดเล็ก พรรคขนาดกลาง และพรรคประชาธิปัตย์ออกมา พรรคเพื่อไทยก็เหลือไม่กี่คน แต่ ส.ว.ลากตั้งนี่แพ็กกันแน่น แถวตรงเป๊ะ 250 คน

รวมทั้งยังมีหน้าที่เป็น “พี่เลี้ยงรัฐบาล” ในการกำกับการบริหารงานให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งตัวกฎหมายจะคลอดออกมาในไม่ช้า ซึ่งกำหนดให้มี คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ จำนวน 25 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี กรรมการชุดนี้มีอำนาจชงให้ “วุฒิสภา” ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ หากปรากฏข้อเท็จจริงว่ารัฐบาลไม่ได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งก็หมายความถึง “ถอดถอน” นั้นเอง

ซึ่ง ส.ว.ลากตั้งกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะมีที่มาจาก คสช.ทั้งสิ้น นี่เองที่ถูกมองว่าเป็นการปลุกเสก คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ขึ้นมาอีกครั้ง

อยากเรียกว่า “คานอำนาจ” ยังน้อยไป ต้องเรียกว่า “คุม” เลยจะดีกว่า

ส่ง “บิ๊กทหาร” คุมเกมเบ็ดเสร็จ

ข้อเสนอข้อสำคัญที่ คสช.ส่งไปให้ กรธ. คือผู้ที่จะมาเป็น ส.ว. ที่ขอให้เปิดทางข้าราชการประจำมาเป็นได้ พร้อมทั้งต้องล็อกไว้ 6 ที่นั่งสำหรับ “ผู้บัญชาการเหล่าทัพ” ซึ่งประกอบด้วยปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผอ.ทอ.) และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เข้าไปเป็น ส.ว.ลากตั้งโดยตำแหน่ง

ไม่ต้องสืบเลยว่า รัฐสภาใครจะเป็น “หัวโจก”

ยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัวทั้งฝ่ายความมั่นคงและนิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในขณะที่รัฐบาลมีแต่อำนาจบริหารอย่างเดียว แถมอำนาจดังกล่าวก็ใช้ได้ไม่เต็มที่ เดินไม่ดูตาม้าตาเรือ ส.ว.ลากตั้งหมั่นไส้เป่าออกจากเก้าอี้ไม่รู้ตัวอีก

นี่จึงถือเป็นการนำทหารมากดดันฝ่ายบริหารแบบชอบธรรมในฐานะสมาชิกรัฐสภา ยิ่งถ้า ผบ.เหล่าทัพคนใดคนหนึ่งลุกขึ้นซักฟอกนายกฯ หรืออภิปรายคัดค้านเรื่องหนึ่งเรื่องใด รัฐบาลที่ไหนจะดื้อด้านทำต่อ ไปสร้างความไม่พอใจ สูตรนี้เป็นในแง่หากพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งแล้ว และสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้!

ดีไม่ดีมี “แอ่น แอ๊น” กันกลางสภา

ว่ากันต่อถึงที่มา ส.ส.บ้าง ไม่รู้ไปได้ “สูตรเด็ด” มาจากไหน คสช.ขอให้ให้กลับไปใช้บัตรลงคะแนน 2 ใบเหมือนเดิม แต่กำหนดจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขต 350 คน บัญชีรายชื่ออีก 150 คน รวมเป็น 500 คน

ส.ส.เขตให้ใช้ระบบเขตใหญ่ไม่เกิน 3 คน แต่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้สิทธิ เลือกได้คนเดียว แน่นอนว่าคะแนนจะกระจัดกระจายเป็น “เบี้ยหัวแตก” ขนาดผู้สมัครพรรคเดียวกันยังต้องแข่งกันเลยด้วยซ้ำ ถือเป็น “สูตรใหม่” ที่เชื่อว่า “ทีมอีสานใต้” คำนวณมาอย่างดีแล้ว สกัดประเภทชนะยกพวงถล่มทลายทั้งประเทศแบบในอดีตได้ชะงักนัก

มโนไปไกล หากเป็นไปตามนี้ “พรรคเบอร์หนึ่ง” ชนะเลือกตั้งได้เสียงข้างมาก ก็ถูกคุมเข้มแบบออกนอกลู่นอกทางไม่ได้เลย ทั้ง ส.ว.ลากตั้ง กรรมการยุทธศาสตร์ฯ รวมไปถึงไม่เบื่อไม้เมาอย่าง “ศาลรัฐธรรมนูญ” ที่ว่ากันว่าอำนาจครอบจักรวาล

แต่หาก “พรรคเบอร์หนึ่ง” อาจจะได้ ส.ส.มามากที่สุด แต่ไม่เกิน 250 เสียง ก็คงจัดตั้งรัฐบาลลำบาก หาก “พรรคเบอร์สอง” ไปแตะมือกับบรรดา “พรรคเอสเอ็มอี” แล้วมีเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง ตรงนี้โอกาสจะได้ “นายกฯ คนนอก” ก็มีค่อนข้างสูงลิบ

จึงเป็นที่มาของข้อเสนอประเด็นสุดท้ายของ คสช.ที่ระบุว่า ให้งดการบังคับพรรคการเมืองเปิดเผยรายชื่อผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกฯพรรคละ 3 คน ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี แต่ให้ ส.ส.เป็นคนเลือก จุดนี้ยิ่งสร้างความลึกลับซับซ้อน เพราะไม่มีใครรู้ว่า สุดท้ายสภาฯจะเสนอชื่อใคร ต่างจากการเปิดเผยก่อน ซึ่งประชาชนจะรู้ได้เลยว่า ชื่อของบรรดาแคนดิเดตทั้งหลายมีใครบ้าง แล้วใครมาจากคอนเนกชั่นใคร หรือง่ายๆ คือ รู้เลยว่าใคร “เด็กคสช.” ส่งเข้าประกวด นึกภาพไม่ออกให้ย้อนไปดูเมื่อครั้ง สนช.โหวตเลือก “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯคนปัจจุบัน

ต่างๆ เหล่านี้คือสิ่งที่ คสช.ยัดทะนานให้ 21 อรหันต์ กรธ.นำไปเขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งดูแนวโน้มแล้ว กรธ.ก็คงยากที่จะขัดศรัทธา อยู่ที่จะจัดแต่งให้แยบยลได้ขนาดไหน ส่วนภาพที่ “ซือแป๋มีชัย” ดูกระอักกระอ่วนใจ ราวกับถูกมีดจี้คอให้ทำ ก็เป็นแค่ “ปาหี่” ฉากหนึ่งเท่านั้น ดีไม่ดีเจ้าตัวไปนั่งร่างหนังสือ คสช.ที่ส่งมาให้ กรธ.กับ “วิษณุ” ศิษย์เอกด้วยซ้ำ

ป้ายต่อไปก็อยู่ที่การทำประชามติ ผ่านไม่ผ่านก็คงต้องว่ากันช่วงโค้งสุดท้าย ส่วนวันนี้ก็ทำให้รู้แล้วว่า “แป๊ะ คสช.” ไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม ไม่แคร์อะไรทั้งสิ้น หรืออย่างที่ “ท่านผู้นำ” ว่าไว้ “ไม่ดีก็ร่างใหม่ ทำไมล่ะ ก็ผมมีอำนาจ”

หากพูดภาษาชาวบ้านคงประมาณว่า “กูจะเอาแบบนี้ ใครจะทำไม”.



กำลังโหลดความคิดเห็น