ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - มติที่ประชุมมหาเถรสมาคมเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่ออกมาในลักษณะการอุ้ม “ธัมมชโย” แห่งวัดพระธรรมกายไม่ให้ต้องอาบัติปาราชิก ตามพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราช กรณีการยักยอกเงินและที่ดินวัดนั้น ไม่ใช่เรื่องที่อยู่เหนือความคาดหมายแต่อย่างใด
นั่นเพราะประธานในที่ประชุม ไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็นสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์(ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ หรือ สมเด็จช่วง ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ ให้ธัมมชโยนั่นเอง ในฐานะที่สมเด็จช่วงมีตำแหน่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชด้วย
ที่ประชุมมหาเถรสมาคมเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ไม่ได้หยิบยกประเด็นพฤติกรรมของธัมมชโยในการยักยอกเงินและที่ดินที่มีผู้บริจาคให้วัดพระธรรมกายมาเป็นของตนเองและพวก มาวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำที่เข้าข่ายต้องอาบัติปาราชิกหรือไม่แต่อย่างใด เป็นแต่เพียงการประชุมเพื่อรับรองหนังสือชี้แจงของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่จะส่งไปตอบกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) หลังจากดีเอสไอได้ส่งหนังสือมาเร่งรัดให้มหาเถรสมาคมลงมติเรื่องธัมมชโย ตามพระลิขิตพระสังฆราช เท่านั้น
ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ทำหนังสือที่ ยธ 0805/56 ลงวันที่ 8 มกราคม 2559 ถึงสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในฐานะดูแลสำนักงานเลขาธิการมหาเถรสมาคม เรื่องให้ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม ซึ่งก็คือสมเด็จช่วง ดำเนินการให้พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธัมมชโย) หรือ ธัมมชโย ต้องอาบัติปาราชิกตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช (สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก) ที่มีมติของมหาเถรสมาคมรับรองให้ถือเป็นคำสั่งที่ชอบ และจะต้องปฏิบัติตามให้ครบถ้วนตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 และสมเด็จพระญาณสังวรฯ ทรงมีพระลิขิตในฐานะสกลมหาสังฆปริณายกและประธานกรรมการมหาเถรสมาคม และได้นำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมมหาเถรสมาคมและได้มีมติเห็นชอบแล้ว จึงมีผลตามกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ 21 (พ.ศ. 2538) มาตรา 4 วรรคท้าย ให้อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายต้องสละสมณเพศ และตามข้อที่ 5 คำวินิจฉัยให้พระภิกษุสละสมณเพศตามข้อ 3 หรือข้อ 4 ให้เป็นอันถึงที่สุด
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่ามหาเถรสมาคมมีคำตอบอยู่ในใจอยู่แล้ว ที่ประชุมเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จึงไม่ได้พิจารณากรณีธัมมชโยต้องอาบัติปาราชิกแต่อย่างใด แต่ได้มีมติเห็นชอบร่างหนังสือของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติที่จะส่งไปชี้แจงกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ โดยมีสาระตามการแถลงของนายชยพล พงษ์สีดา รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สรุปว่าสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และ มหาเถรสมาคม ยืนยันว่าได้ตอบสนองต่อพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช กรณีธัมมชโยอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะมีการตีความว่า พระลิขิตเป็นพระบัญชาหรือพระดำริก็ตาม ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ในช่วงปี 2542 - 2544 มหาเถรสมาคมได้มีการประชุมหารือในเรื่องดังกล่าวนับ 100 ครั้ง
นายชยพลอ้างว่า การดำเนินคดีทางสงฆ์ใช้กฎนิคหกรรมฉบับที่ 11 ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯ หากเปรียบในคดีทางโลกจะเริ่มต้นจากศาลชั้นต้น ซึ่งก็คือเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี รองเจ้าคณะภาค และเจ้าคณะภาค ร่วมกันพิจารณา ในปี 2542 ที่มีการยื่นฟ้องคดี ซึ่งคณะพิจารณาของศาลชั้นต้นทางสงฆ์ไม่รับคำร้องของผู้ยื่นฟ้องคดี 2 คน คือ นายสมพร เทพสิทธา และนายมาณพ พลไพรินทร์ เนื่องจากคำร้องไม่สมบูรณ์และศาลชั้นต้นทางสงฆ์ได้เปิดโอกาสให้อุทธรณ์ภายใน 30 วัน แต่ผู้ยื่นฟ้องคดีไม่มายื่นอุทธรณ์และได้ถอนฟ้องไป 1 คน ทำให้การพิจารณาคดีในทางสงฆ์ต้องยุติลง และไม่มีการพิจารณาไปถึงกระบวนการที่ชี้ชัดว่าธัมมชโยอาบัติปาราชิก หรือไม่ ดังนั้นคดีทางสงฆ์จึงไปไม่ถึงการพิจารณาในขั้นศาลอุทธรณ์ทางสงฆ์ คือเจ้าคณะใหญ่หนกลาง และไม่ถึงขั้นศาลฎีกาทางสงฆ์ คือมหาเถรสมาคม
ส่วนการยื่นฟ้องคดีทางโลกที่ยื่นฟ้องไปพร้อมกัน ในเวลาต่อมาอัยการได้ถอนฟ้องคดี ส่งผลให้คดีทางโลกสิ้นสุดลงไปด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าหากจะมีการฟ้องร้องพระธัมมชโยอีกจะต้องเป็นข้อกล่าวหาในคดีอื่นๆ ที่เป็นคดีใหม่ ไม่ใช่กรณีข้อกล่าวหายักยอกที่ดิน โดยผู้ที่ต้องการฟ้องคดีทางสงฆ์จะต้องไปยื่นฟ้องที่เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี เพราะเป็นเจ้าคณะปกครองโดยตรง
หากจะขยายความการฟ้องคดีทางโลกนั้น ต้องย้อนไปในปี 2542 เมื่อกรมการศาสนาได้เข้าแจ้งความต่อกองปราบปราม กล่าวโทษธัมมชโยในคดีอาญา ม.137 ,147 และ 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานเบียดบังยักยอกทรัพย์และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีที่ยักยอกเงินที่ญาติโยมบริจาคให้วัดไปซื้อดินในชื่อของตนเองและพรรคพวกที่จังหวัดพิจิตรและเพชรบูรณ์ แต่หลังจากศาลพิจารณาคดีไปจนถึงปี 2549 พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 5 ได้ขอถอนฟ้องคดี โดยอ้างว่าธัมมชโยกับพวกได้มอบทรัพย์สินทั้งหมด ทั้งที่ดินและเงินกว่า 959 ล้านบาทคืนแก่วัดพระธรรมกายแล้ว ทำให้คดีเป็นอันยุติ
การถอนฟ้องดังกล่าว ยังส่งผลให้อีก 3 คดีที่ธัมมชโยกับพวกถูกฟ้องฐานยักยอกทรัพย์เช่นกัน ซึ่งอัยการอยู่ระหว่างรอการสั่งคดี ต้องยุติไปด้วย เนื่องจากอัยการอ้างว่าในเมื่อคดีแรกยุติไปแล้ว หากจะดำเนินคดีต่อก็จะไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
คดีทั้ง 3 ได้แก่ 1)คดีที่ธัมมชโย และลูกศิษย์คนสนิท ตกเป็นผู้ต้องหาร่วมกันเบียดบังเงินวัดพระธรรมกายกว่า 95 ล้านบาท ไปซื้อที่ดิน 2)คดีที่ธัมมชโย และลูกศิษย์คนสนิท ตกเป็นผู้ต้องหาเบียดบังเงินวัดพระธรรมกายกว่า 845 ล้านบาท 3)คดีที่ธัมมชโย ร่วมกับลูกศิษย์คนสนิท ตกเป็นผู้ต้องหาร่วมกันปลอมแปลงเอกสารและสนับสนุนเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
อย่างไรก็ตาม เรื่องคงยังไม่จบเพียงเท่านี้ เมื่อนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เห็นว่า มติมหาเถรสมาคมเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ เป็นการปฏิเสธที่จะดำเนินการตามที่ดีเอสไอ มีหนังสือแจ้ง 2 กรณี คือ 1. การดำเนินการให้พระธัมมชโยต้องอาบัติปาราชิก และ 2. การพิจารณาความผิดและการดำเนินการกับเจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์ชั้นต้น ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการตามข้อ 1 การกระทำของมหาเถรสมาคม และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ อาจเข้าข่ายเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ดังนั้น เพื่อให้กระบวนการบังคับใช้กฎหมายดำเนินการให้ได้ข้อยุติ จึงจะนำเรื่องดังกล่าวข้างต้นพร้อมกับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายไปยื่นหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยในวันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้ จะยื่นต่อดีเอสไอ และวันถัดไปจะยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้วินิจฉัย
ส่วนนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า ได้บอกสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติไปว่าเรื่องนี้สังคมไม่ได้มองว่าเป็นปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย ข้อบังคับ หรือพระธรรมวินัยเท่านั้น แต่เป็นคำถามที่เกี่ยวข้องกับความศรัทธาต่อองค์กร สถาบันพระพุทธศาสนา สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติจึงต้องชี้แจงกับสังคมให้เข้าใจว่าที่ผ่านมาได้ทำไปตามอำนาจหน้าที่ของตัวเองอย่างไรบ้าง สุดขอบเขตอำนาจตัวเองแล้วหรือยัง ขณะที่ทางมหาเถรสมาคมคงต้องทำแบบนี้เช่นเดียวกัน ซึ่งตนได้เสนอข้อเสนอแนะไปแล้ว
นั่นเท่ากับว่า ถึงแม้มหาเถรสมาคมจะพยายามตัดตอนคดีความของธัมมชโยกรณียักยอกเงินบริจาคและที่ดินวัดไปเป็นของตัวเองและพวกพ้อง อันจะนำมาซึ่งการต้องอาบัติปาราชิก โดยอ้างถึงการยุติคดีทางโลกด้วยการที่อัยการถอนฟ้องตั้งแต่ปี 2549 และการยุติคดีทางสงฆ์ ด้วยการที่เจ้าคณะจังหวัดและเจ้าคณะภาคไม่รับฟ้อง ตั้งแต่ปี 2542 แต่คดีนี้ยังไม่น่าจะจบลงง่ายๆ
และคงจะต้องเชื่อมโยงไปถึงกรณีการเสนอชื่อสมเด็จช่วงขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ ตามมติลับๆ ของมหาเรถสมาคมเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2559 ด้วย เมื่อนายสุวพันธ์บอกว่า เรื่องแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชยังอยู่ในขั้นตอนของตนอยู่ ยังไม่ได้เดินหน้าไปไหน เพราะตนยังเข้าใจสถานการณ์ได้ไม่ครบถ้วน
ขณะที่ยังมีอีกคดีที่ธัมมชโยรอขึ้นเขียงอยู่ นั่นคือคดียักยอกเงินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ของ นายศุภชัย ศรีศุภอักษร จำนวนราว 2 พันล้านบาท ซึ่งธัมมชโยและวัดพระธรรมกาย มีชื่อเป็นผู้รับเช็คที่ได้จากการยักยอกเงินครั้งนี้ และส่อแววอาจถูกดำเนินคดีฐานรับของโจรและฟอกเงินด้วย