อมรรัตน์ ล้อถิรธร....รายงาน
แม้จะไม่เหนือความคาดหมายกับมติมหาเถรสมาคม (มส.) 10 ก.พ. ที่อุ้ม “ธัมมชโย” ว่าไม่ปาราชิก โดยอ้างคดีจบไปนานแล้ว แถมสำทับว่าฟื้นคดีก็ไม่ได้ ปล่อยให้สังคมคาใจกันไป แต่อย่างน้อยก็ชัดเจนระดับหนึ่งว่า ไม่ใช่ “ธัมมชโย” ไม่ผิด แต่ความผิดไม่ได้ถูกพิจารณา เพราะถูกตัดตอนเสียก่อน ด้วยข้ออ้างต่างๆ ทั้งคดีทางโลกและคดีทางสงฆ์ ลองมาย้อนคดีนี้กันอีกครั้ง
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง รายงานพิเศษ : ทำไมคดี “ธัมมชโย” ยักยอกเงินวัด-ปาราชิก ต้องถูกตัดตอนทั้งทางโลก-ทางสงฆ์?
ย้อนกลับไปเมื่อ 18 ปีที่แล้ว ปี 2541 ข่าวพฤติกรรมฉาวของพระราชภาวนาวิสุทธิ์ หรือธัมมชโย หรือนายไชยบูลย์ สุทธิผล เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ได้ถูกเปิดขึ้นมา หลังพระอดิศักดิ์ วิริสโก อดีตพระลูกวัดพระธรรมกายได้ออกมากล่าวหาธัมมชโยว่า ยักยอกเงินและที่ดินที่บรรดาญาติโยมบริจาคให้วัด และมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น ใกล้ชิดสีกา และอวดอุตริมนุสธรรม ซึ่งต่อมา กรมที่ดินได้สำรวจพบ ธัมมชโยมีชื่อเป็นเจ้าของโฉนดที่ดินและ บริษัทที่เกี่ยวกับวัดพระธรรมกายกว่า 400 แปลง เนื้อที่กว่า 2 พันไร่ ใน จ.พิจิตร และเชียงใหม่
หลังจากนั้น นายวรัญชัย โชคชนะ แกนนำกลุ่มพุทธศาสนิกชนชาวไทย ได้เข้าแจ้งความต่อกองปราบปราม กล่าวหาธัมมชโยทำผิดกฎหมายอาญา มาตรา 314 และ 343 ฐานหลอกลวงผู้อื่นเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินและฉ้อโกงทรัพย์ที่มีผู้บริจาคให้วัดไปเป็นของตัวเองและพวก
ด้านพระพรหมโมลี เจ้าอาวาสวัดยานนาวา ในฐานะเจ้าคณะภาค 1 ได้รับมอบหมายจากมหาเถรสมาคม (มส.) ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องทั้งหมด ขณะที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ได้มีพระลิขิตให้ธัมมชโยคืนที่ดินและทรัพย์สินขณะเป็นพระให้วัดพระธรรมกาย ต่อมา มส.มีมติให้วัดพระธรรมกายปฏิบัติตามคำวินิจฉัย 4 ข้อของเจ้าคณะภาค 1 ที่สรุปไว้หลังตรวจสอบข้อเท็จจริง ได้แก่ ให้ปรับปรุงแนวทางคำสอนของวัดพระธรรมกายว่า นิพพานเป็นอนัตตา ไม่ใช่อัตตา และยุติการเรี่ยไรเงินนอกวัด เป็นต้น ส่วนคดีทางโลกนั้นให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองเป็นฝ่ายดำเนินการต่อไป
หลังจากผู้เกี่ยวข้องพยายามให้ธัมมชโยคืนที่ดินและเงินบริจาคแก่วัดพระธรรมกาย แต่ไม่สำเร็จ กรมการศาสนาจึงได้เข้าแจ้งความต่อกองปราบปราม กล่าวโทษธัมมชโยในคดีอาญา มาตรา 137, 147 และ 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานเบียดบังยักยอกทรัพย์และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ นอกจากนี้ยังมีอดีตทนายความวัดพระธรรมกายและญาติธรรมเข้าแจ้งความดำเนินคดีธัมมชโยเช่นกัน ฐานฉ้อโกงเงิน 35 ล้าน โดยมีข่าวว่าอัยการได้ยื่นฟ้องต่อศาล โดยแยกเป็น 3 คดี
ขณะที่คดีดำเนินไปตั้งแต่ปี 2542 ถึงเดือน ส.ค.ปี 2549 เกือบ 7 ปีเต็ม มีการสืบพยานไปแล้วกว่า 100 นัด เหลือเพียงการสืบพยานจำเลยอีก 2 นัดในวันที่ 23-24 ส.ค. 2549 ปรากฏว่าได้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิด เมื่อจู่ๆ พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 5 ได้ขอถอนฟ้องจำเลย คือ ธัมมชโย และนายถาวร พรหมถาวร ลูกศิษย์คนสนิท ที่ถูกฟ้องฐานเป็นเจ้าพนักงานและสนับสนุนเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยร่วมกันยักยอกทรัพย์และเงินบริจาคของวัดพระธรรมกายจำนวน 6.8 ล้าน ไปซื้อที่ดินเขาพนมพา ต.หนองพระ อ.วังทรายพูน จ.พิจิตร โดยโอนกรรมสิทธิ์ใส่ชื่อนายถาวร จำเลยที่ 2 และนำเงินอีกเกือบ 30 ล้านไปซื้อที่ดินกว่า 900 ไร่ ใน ต.หนองพระ (จ.พิจิตร) และที่ ต.ท่าข้าม อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์ โดยโอนกรรมสิทธิ์ให้นายถาวรเช่นกัน โดยพนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 5 ได้ขอถอนฟ้องเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2549 ก่อนหน้าจะถึงวันที่ศาลนัดสืบพยานจำเลย 2 นัดสุดท้ายแค่ 2 วัน ซึ่งศาลอาญาได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2549 อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องได้
เป็นที่น่าสังเกตว่า ตอนฟ้อง อัยการฝ่ายคดีอาญา 5 ให้เหตุผลในการฟ้องธัมมชโยและนายถาวรว่า เนื่องจากธัมมชโยกับพวกไม่ปฏิบัติตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชฯ บิดเบือนพุทธธรรมคำสั่งสอน โดยกล่าวหาว่า พระไตรปิฎกบกพร่อง ทำให้สงฆ์ที่หลงเชื่อแตกแยกออกเป็น 2 ฝ่าย เป็นการทำลายพระพุทธศาสนา ทำให้สงฆ์แตกแยกเป็นอนันตริยกรรม มีโทษทั้งปัจจุบันและอนาคตที่หนัก นอกจากนี้จำเลยไม่ยอมมอบสมบัติทั้งหมดขณะเป็นพระคืนให้วัดฯ แสดงชัดแจ้งว่า ต้องอาบัติ ปาราชิก ต้องพ้นจากความเป็นสมณะโดยอัตโนมัติ ต้องถูกจัดการอย่างเด็ดขาดเช่นเดียวกับผู้ไม่ใช่พระ!!
แต่พอจะถอนฟ้อง เรืออากาศโท วิญญู วิญญกุล อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 กลับให้เหตุผลว่า บัดนี้ปราฏข้อเท็จจริงว่า ธัมมชโยกับพวกได้เผยแผ่พระพุทธศาสนาตรงตามพระไตรปิฎกและนโยบายของสงฆ์แล้ว ด้วยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้เป็นที่ยอมรับทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังได้ให้ความร่วมมือช่วยเหลือกิจการของศาสนา ทั้งของคณะสงฆ์ ภาครัฐ และเอกชนจำนวนมาก ส่วนเรื่องทรัพย์สิน ธัมมชโยกับพวกก็ได้มอบทรัพย์สินทั้งหมด ทั้งที่ดินและเงินกว่า 959 ล้านบาทคืนแก่วัดพระธรรมกายแล้ว ดังนั้นการกระทำของธัมมชโยกับพวก จึงเป็นการปฏิบัติตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชฯ ครบถ้วนทุกประการแล้ว ประกอบกับขณะนี้(ขณะนั้น) บ้านเมืองต้องร่วมกันสร้างความสามัคคีของคนในชาติทุกหมู่เหล่า จึงเห็นว่า หากดำเนินคดีธัมมชโยกับพวกต่อไปอาจก่อให้เกิดความแตกแยกในศาสนจักร โดยเฉพาะพระภิกษุ สามเณร และประชาชนทั้งในและต่างประเทศที่นับถือศาสนาพุทธ นอกจากนี้การดำเนินคดีต่อไปยังไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ อัยการสูงสุดจึงมีคำสั่งให้ถอนฟ้องธัมมชโยและนายถาวร
ทั้งนี้ ผลจากการที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งให้ถอนฟ้องธัมมชโยกับพวกในคดีดังกล่าว และศาลอาญาอนุญาตให้ถอนฟ้องได้ ไม่เพียงทำให้ธัมมชโยกับนายถาวร รอดพ้นจากความผิดในคดียักยอกทรัพย์ดังกล่าว แต่ยังส่งผลให้อีก 3 คดีที่เหลือที่ธัมมชโยกับพวกถูกฟ้องฐานยักยอกทรัพย์เช่นกัน ซึ่งอัยการอยู่ระหว่างรอการสั่งคดี ต้องมีอันยุติและล้มเลิกไปด้วย โดยอ้างว่า เมื่ออัยการสูงสุดมีนโยบายให้ถอนฟ้อง พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 5 ก็ต้องมีความเห็นให้ยุติการสั่งคดีทั้ง 3 คดีไว้ เนื่องจากการดำเนินคดีจะไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ!?!
สำหรับ 3 คดีดังกล่าว ประกอบด้วย 1.คดีที่ธัมมชโย ,นางกมลศิริ คลี่สุวรรณ และนายมัยฤทธิ์ ปิตะวนิค ลูกศิษย์คนสนิท ตกเป็นผู้ต้องหาร่วมกันเบียดบังเงินวัดพระธรรมกายกว่า 95 ล้านบาท ไปซื้อที่ดิน 2.คดีที่ธัมมชโย ,นางสงบ ปัญญาตรง ,นายมัยฤทธิ์ ปิตะวณิค และนายชาญวิทย์ ชาวงษ์ ลูกศิษย์คนสนิท ตกเป็นผู้ต้องหาเบียดบังเงินวัดฯ กว่า 845 ล้านบาท 3.คดีที่ธัมมชโย ร่วมกับนายเทิดชาติ ศรีนพรัตน์ ,นายมัยฤทธิ์ ปิตะวณิค และนางอมรรัตน์ สุวิพัฒน์ หรือ “สีกาตุ้ย” ลูกศิษย์คนสนิท ตกเป็นผู้ต้องหาร่วมกันปลอมแปลงเอกสารและสนับสนุนเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
การถอนฟ้องธัมมชโยกับพวกของอัยการสูงสุดในยุคนั้น (นายพชร ยุติธรรมดำรง) โดยอ้างเหตุว่า จำเลยได้ปฏิบัติตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชแล้ว แถมเงินและที่ดินที่ทั้งสองเคยยักยอกไป ก็ได้คืนให้วัดพระธรรมกายแล้ว นับเป็นเหตุผลที่สร้างความกังขาต่อบรรทัดฐานทางกฎหมายว่า ถ้าบุคคลใดกระทำผิดด้วยการยักยอกทรัพย์ หรือหากโจรปล้นเงินใครไป แล้ววันหนึ่งถูกจับได้ รีบนำเงินนั้นมาคืนก็ไม่ต้องมีความผิดแล้ว ไม่ต้องถูกดำเนินคดีแล้วอย่างนั้นหรือ? และการอ้างว่าบ้านเมืองต้องการความสามัคคี หากดำเนินคดีธัมมชโยกับพวกจะทำให้วงการสงฆ์และประชาชนแตกแยก นั่นแสดงว่าอัยการสูงสุดกำลังบอกกับสังคมว่าธัมมชโยและธรรมกายมีอิทธิพลมากในบ้านเมืองนี้ แม้จะทำผิดแค่ไหนก็ไม่ควรดำเนินคดี เพราะถ้าศาลสั่งลงโทษธัมมชโยขึ้นมาวันใด สังคมจะเกิดการลุกฮือ-ไม่ยอมรับผลคำตัดสินของศาลที่สั่งลงโทษผู้กระทำผิดใช่หรือไม่? และการอ้างว่า การดำเนินคดีธัมมชโยต่อไป ก็ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ นั่นแสดงว่า อัยการสูงสุดเห็นว่า กระบวนการยุติธรรมที่ศาลจะพิสูจน์ความจริงให้ปรากฏต่อสังคม และพิพากษาลงโทษหากจำเลยกระทำผิดจริง เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่คนอื่นต่อไป ไม่ใช่ประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างนั้นหรือ?
นี่ยังไม่รวมว่า สังคมมองอัยการสูงสุดยุคนั้นอย่างไร เอื้อต่อการเมืองและอำนาจรัฐที่เข้ามาแทรกแซงแค่ไหน แถมการถอนฟ้องธัมมชโยกับพวกในครั้งนั้น ยังเกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ใช้วัดพระธรรมกายรวมพลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกือบ 8 หมื่นคน ภายใต้ชื่องาน ”รวมใจทุกศาสนา พัฒนาท้องถิ่นไทย ถวายองค์ราชา ครองราชย์ 60 ปี” ไปหมาดๆ ในวันที่ 17-18 ก.ค. 2549 ซึ่งนอกจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกฯ จะเดินทางไปเป็นประธานด้วยตัวเองแล้ว ยังปาฐกถาชื่นชมความยิ่งใหญ่ของวัดพระธรรมกายด้วย!!
การถอนฟ้องธัมมชโยกับพวกในครั้งนั้น แม้ไม่มีใครกล้าออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งที่รู้ว่าไม่เหมาะสม แต่ก็มีข้อคิดที่โดนใจจากบางบุคคลในสังคมขณะนั้น เช่น อ.เจริญ คัมภีรภาพ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากรในขณะนั้น มองกรณีอัยการถอนฟ้องธัมมชโยกับพวกว่าจะส่งผลให้เกิดบรรทัดฐานใหม่ในสังคมที่เป็นอันตรายมากในทางนิติศาสตร์ เพราะประเทศปกครองโดยกฎหมาย ดังนั้นต้องทำให้กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์จะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องปล่อยให้กระบวนการพิจารณาดำเนินไปตามระบบ การที่อัยการซึ่งมีหน้าที่ต้องพิทักษ์ความยุติธรรม มาถอนฟ้องคดีออกจากระบบ ทำให้สังคมไม่รู้ว่า ความถูกต้องชอบธรรมอยู่ตรงไหน?
ส่วนที่อัยการอ้างว่า การดำเนินคดีธัมมชโยกับพวกต่อไป ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะนั้น อ.เจริญ ตั้งข้อสังเกตว่า จริงๆ แล้วคำว่า ประโยชน์สาธารณะต้องให้ศาลเป็นคนชี้ ถึงจะเป็นที่ยุติ และว่าผลจากการถอนฟ้องธัมมชโยครั้งนี้ หากวันหน้าเกิดมีผู้กระทำแบบเดียวกันนี้บ้าง และอัยการไม่ถอนฟ้องก็จะเกิดปัญหาเลือกปฏิบัติ เกิดปัญหาสองมาตรฐาน ซึ่งถือว่าทำลายหลักนิติศาสตร์-นิติธรรมไทย
“ประโยชน์สาธารณะมันจะต้องให้ศาลเป็นคนชี้นะ อัยการสามารถที่จะอ้างได้ แต่มันไม่ได้ยุติ เพราะสมมติถ้าศาลลงโทษบุคคลใดได้กระทำความผิดไปแล้ว ศาลก็ต้องมาวิเคราะห์ดูอีกนะว่า การกระทำความผิดนั้นมันร้ายแรงหรือไม่ มันเป็นสิ่งที่เจตนาทุจริตหรือเปล่า เรายังมีการรอกำหนดโทษ รอลงอาญา รออะไรอีกเยอะแยะไปหมด เพราะฉะนั้นสิ่งที่ศาลจะต้องตัดสิน คือ ตัดสินตัวการกระทำ เราต้องแยก”การกระทำ” กับ “การลงโทษ” การกระทำตรงนั้นมันก็คือ บรรทัดฐานของสังคมที่มันถูกร้อยเรียงโดยกฎหมาย ใช่มั้ย ก็ต้องชี้ก่อนว่า การกระทำเช่นนี้ทำได้หรือไม่ได้ ทำถูกหรือไม่ถูก เพราะการกระทำตรงนี้มันจะเป็นบรรทัดฐานต่อไปในอนาคตข้างหน้า ถ้าอย่างนี้ปุ๊บ(อัยการถอนฟ้อง) อีกหน่อยถ้ามีคนทำเหมือนเช่นเดียวกันกับเคสนี้ขึ้นมา แล้วก็ลงโทษไปล่ะ มันก็จะเกิดดับเบิลสแตนดาร์ด ก็ทำลายวงการนิติศาสตร์ไทย นิติธรรมไทย”
“เหตุผลในการใช้ประโยชน์สาธารณะนั้น เท่าที่ผมทราบ เขาจะใช้กับหลักในเรื่องกฎหมายมหาชนนะ แต่อันนี้เชื่อว่าเป็นความผิดในทางอาญาแผ่นดิน เพราะฉะนั้นจะไปอ้างอย่างนั้น ก็ไม่ยุติ อย่างไรเสียศาลก็ต้องวินิจฉัย ส่วนการจะลงโทษหรือไม่ลงโทษอย่างไรนั้น ผมคิดว่า เป็นดุลพินิจศาลต้องใช้อยู่แล้ว อย่างนี้ อัยการตัดสินเอาเอง แล้วอัยการก็อยู่ภายใต้การบริหารบังคับของรัฐบาลอีกต่างหาก เพราะฉะนั้นอันนี้ ผมห่วงอย่างเดียวคือ ผมไม่ได้ติดใจกับการถอนฟ้องหรือไม่ถอน แต่ผมติดใจที่ว่า เรากำลังสร้างบรรทัดฐานของสังคมในทางนิติศาสตร์ต่อไปอย่างไรมากกว่า อย่าลืมว่า อำนาจของอัยการเป็นอำนาจที่ปนเปกับอำนาจศาลด้วย สมมติเกิดเหตุการณ์ลักษณะเช่นเดียวกันนี้ขึ้นมาอีก และอัยการก็บอก เพื่อประโยชน์สาธารณะ ฉันไม่ฟ้อง ก็ตัดสินไม่ฟ้อง ศาลก็ไม่มีทางที่จะไปก้าวล่วง (ศาล)หยิบคดีขึ้นสู่ศาลไม่ได้ ศาลมีหน้าที่อยู่เฉยๆ ให้คนเอาคดีมาฟ้อง แล้วศาลตัดสิน เพราะฉะนั้นก็เป็นสิ่งที่น่ากลัวมากว่า บรรทัดฐานในทางนิติศาสตร์มันจะพัฒนาไปในทิศทางใด จะพัฒนาไปในทิศทางของหลักนิติธรรม หรือในเรื่องของบริหารการจัดการ เราไม่อาจจะเอาสิ่งที่มันตกผลึกแล้วในเรื่องของความยุติธรรมในคดีความผิดเช่นนี้มาถูกเปลี่ยนแปลงด้วยเหตุผลประการอื่น ที่ถูกปรุงแต่งด้วยเหตุผลหรือสาธยายอะไรก็ได้”
ไม่เพียงคดีในทางโลกจะถูกตัดตอนโดยอัยการ แต่คดีทางสงฆ์ของธัมมชโยยังถูกตัดตอนโดยกระบวนการยุติธรรมชั้นต้นของสงฆ์อีก สังเกตได้จากคำชี้แจงของนายชยพล พงษ์สีดา รองผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) ที่ยืนยันหลังการประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) เมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมาว่า คดีธัมมชโยถือครองที่ดินและทรัพย์สินของวัด รวมทั้งกรณีพระลิขิตพระสังฆราช จบไปแล้ว โดยชี้ว่า ขั้นตอนการพิจารณาความของคณะสงฆ์ ก็เหมือนทางโลก คือมีศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา และคดีธัมมชโยก็จบไปตั้งแต่ศาลชั้นต้น คือการพิจารณาของเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี โดยมีเจ้าคณะภาค 1 เป็นประธาน
นายชยพลกล่าวต่อว่า ตอนแรกเจ้าคณะภาค 1 ไม่รับคำร้องจากผู้กล่าวหา 2 คน คือ นายสมพร เทพสิทธา ประธานยุวพุทธิกสมาคมแห่งชาติในขณะนั้น และนายมานพ พลไพรินทร์ ผู้เชี่ยวชาญกรมการศาสนาในขณะนั้น ที่ร้องพระธัมมชโยในคดีละเมิดพระธรรมวินัยและละเมิดจริยาพระสังฆาธิการ โดยเจ้าคณะภาค 1 ยึดตามพระธรรมวินัยว่า ผู้ที่ร้องต้องเป็นผู้ที่วาจาน่าเชื่อถือ และเปรียบเท่าพระโสดาบันขึ้นไป ดังนั้น จึงไม่รับคำร้อง แต่ มส.ยืนยันให้รับ และได้ขอความร่วมมือไปยังกระทรวงศึกษาธิการ ให้มาตีความกฎแห่งนิคหกรรม ซึ่งนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานวุฒิสภาในขณะนั้น ยืนยันว่า สามารถรับคำฟ้องได้ เพราะตามกฎ มส.ผู้ร้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไป จึงรับคำฟ้องได้ ดังนั้น เจ้าคณะใหญ่หนกลาง จึงได้สั่งปลดเจ้าคณะภาค 1 ด้วยเหตุที่ไม่รับคำร้องและตั้งเจ้าคณะภาค 1 รูปใหม่ขึ้น เพื่อมาพิจารณาคดีดังกล่าว แต่เนื่องจากคำกล่าวหาไม่สมบูรณ์ จึงได้ให้ผู้ร้องมีการแก้ไขคำร้องในปี 2543 ขณะเดียวกัน ทางคณะสงฆ์ขอให้รัฐบาลดำเนินคดีกับพระธัมมชโยด้วย ซึ่งขณะนั้นอัยการรับฟ้อง ทำให้เกิดคดีทางโลกขึ้น คดีทางสงฆ์จึงต้องยุติเพราะกฎหมายบังคับไว้ กระทั่งปี 2549 นายมานพได้ถอนฟ้องไป เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีรูปใหม่ จึงได้หยิบคำร้องของนายสมพรมาพิจารณาต่อ แต่ด้วยคำร้องของนายสมพรไม่เป็นไปตามหลัก ขาดบางประเด็น และเป็นคุรุกาบัติ (อาบัติหนัก) เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี จึงไม่รับคำร้องดังกล่าว โดยได้เสนอคำร้องที่ไม่สมบูรณ์ไปยังเจ้าคณะภาค 1 รองเจ้าคณะภาค และเจ้าคณะใหญ่หนกลาง เพื่อให้รับทราบ เมื่อคำร้องไม่สมบูรณ์และผู้ร้องไม่ยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน และนายสมพรได้เซ็นรับทราบแล้ว จึงถือว่าคดีของพระธัมมชโย สิ้นสุดในศาลชั้นต้นของคณะสงฆ์แล้ว
รองผู้อำนวยการ พศ. ยังพูดเหมือนปิดประตูการรื้อฟื้นคดีธัมมชโยด้วยว่า “ตามกฎหมายและพระวินัยไม่สามารถที่จะรื้อฟื้นคดีเดิมที่พิจารณาสิ้นสุดแล้วมาพิจารณาใหม่ จะต้องเป็นประเด็นใหม่เท่านั้นจึงจะร้องได้ เมื่อคดีจบในศาลชั้นต้นแล้ว มส.ไม่มีอำนาจหยิบขึ้นมาพิจารณาเอง เพราะ มส.ทำหน้าที่ศาลฎีกาเท่านั้น ไม่มีอำนาจที่จะลงไปล้วงลูก เพราะฉะนั้นถือว่าคดีของพระธัมมชโย ไม่ได้ไปถึงขั้นตอนพิจารณาเรื่องปาราชิก”
มาถึงนาทีนี้ หลายคนคงรู้สึกเหมือนกันว่า คดีธัมมชโยยักยอกเงินและที่ดินวัดพระธรรมกาย และต้องอาบัติปาราชิกตามพระลิขิตพระสังฆราช ไม่เพียงคดีทางโลกจะถูกตัดตอนโดยอัยการ ด้วยคำอ้าง ฟ้องไปก็ไม่มีประโยชน์ต่อสาธารณะ....!! แต่คดีทางสงฆ์ยังถูกตัดตอนโดยเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ด้วยคำอ้างที่ว่า คำร้องไม่เป็นไปตามหลัก ขาดบางประเด็น แต่ พศ.ไม่ยอมเปิดเผยว่า ขาดประเด็นอะไร?? และในที่สุด คดีนี้ก็ถูกสำทับโดย พศ.และ มส.ว่าจบไปนานแล้ว และต้องจบ รื้อฟื้นใหม่ไม่ได้!? งานนี้คงต้องทำใจ และรอลุ้นผลอีก 1 คดี ที่ธัมมชโยกับพวกเครือข่ายธรรมกาย รับของโจร-ฟอกเงิน กรณีรับเช็คจากนายศุภชัย ศรีศุภอักษร จำเลยคดียักยอกทรัพย์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำนวน 878 ฉบับ มูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท ต้องลุ้นว่า...คดีนี้จะรอดได้อีกหรือไม่??