ผู้จัดการรายวัน360- "สุวพันธุ์" สั่ง พศ.แจงมติ มส.อุ้ม “ธัมมชโย” หวั่นสังคมเสื่อมศรัทธา เผยตั้ง “สังฆราช” องค์ใหม่ยังไม่คืบ “ดีเอสไอ” เล็งดำเนินคดี "ธรรมกาย-เครือข่าย" ข้อหารับของโจร-ฟอกเงิน ชี้เส้นทางการเงินชัด รับเช็คสหกรณ์คลองจั่นจริง คาดสิ้นเดือน ก.พ.สอบเสร็จ “ไพบูลย์” ชงดีเอสไอ-ผู้ตรวจฯเอาผิด พศ.-มส.เว้นปฏิบัติหน้าที่ผิด ม.157 หลังมีมติไม่ปาราชิก “ธัมมชโย” ชี้จงใจช่วยเหลือชัดเจน ด้าน “ชูชาติ ศรีแสง” พลิก กม.ฟันธง “เจ้าอาวาสธรรมกาย” อาบัติปาราชิก เปรียบพระข่มขืนผู้หญิง แต่เหยื่อไม่เอาความ
วานนี้ (11 ก.พ.) นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวถึงกรณีที่ มหาเถรสมาคม (มส.) มีมติว่า พระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ไม่อาบัติปาราชิก ว่า หลังจากมีมติออกมาแล้ว ต้องไปดูหนังสือชี้แจงของ มส. และ พศ.ที่จะทำไปถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะที่ทำเรื่องสอบถามเข้ามาว่าเป็นอย่างไรบ้าง ทั้งนี้ตนได้ให้แนวทางแก่ พศ.ไปว่าเรื่องนี้สังคมไม่ได้มองว่าเป็นปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย ข้อบังคับ หรือพระธรรมวินัยเท่านั้น แต่เป็นคำถามที่เกี่ยวข้องกับความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา พศ.จึงต้องชี้แจงกับสังคมให้เข้าใจว่า ที่ผ่านมาได้ทำไปตามอำนาจหน้าที่อย่างไรบ้าง สุดขอบเขตอำนาจตัวเองแล้วหรือยัง ขณะที่ทาง มส.ก็คงต้องทำแบบนี้เช่นเดียวกัน ซึ่งตนได้เสนอข้อเสนอแนะไปแล้ว
** ยันไม่เกี่ยวกรณีตั้งสังฆราชใหม่
ผู้สื่อข่าวถามว่า จากกรณีนี้ ยิ่งทำให้เกิดข้อสงสัยของสังคมเกี่ยวกับสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช กับวัดพระธรรมกาย นายสุวพันธุ์ กล่าวว่า เราต้องแยกกันก่อน ต้องมองว่า มส.หารือเรื่องพระภิกษุรูปหนึ่ง ตามข้อกฎหมาย หรือข้อธรรมวินัย ที่ออกมาก็เป็นไปตามมตินั้น แต่ว่ามีเรื่องของศรัทธาอยู่ จึงต้องดูว่า สังคมรู้สึกอย่างไร จำเป็นต้องชี้แจง หรือทำความเข้าใจอะไรเพิ่มเติม เพื่อนำศรัทธากลับมาให้ได้ ทั้งนี้ที่ผ่านมาเรายึดข้อกฎหมาย ข้อบังคับของ มส. และพระธรรมวินัย แต่วันนี้ตนคิดว่า เราคงต้องเพิ่มการคำนึงถึงศรัทธาของประชาชนที่มีต่อพระพุทธศาสนาไปด้วย จะคิดแบบเดิมไม่ได้แล้ว เรื่องที่ยังค้างคาก็ต้องติดตาม ดูไปตามข้อกฎหมายที่มีอยู่ ดีเอสไอก็ทำในส่วนของตัวเองต่อไป
เมื่อถามว่า เมื่อเรื่องนี้จบแล้ว จะทำให้การแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่เดินต่อไปได้หรือไม่ นายสุวพันธุ์ กล่าวว่า เป็นคนละเรื่องกัน แต่สังคมอาจจะมองถึงความเชื่อมโยงกัน ทั้งนี้การแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช ยังอยู่ในขั้นตอนของตนอยู่ ยังไม่ได้เดินหน้าไปไหน เพราะตนยังเข้าใจสถานการณ์ไม่ครบถ้วน
** “ดีเอสไอ” จ่อเชือดฟอกเงิน-รับของโจร
อีกด้าน พ.ต.ท.สมบูรณ์ สาระสิทธิ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยถึงความความคืบหน้าการดำเนินคดีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ว่า ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระธัมมชโย วัดพระธรรมกาย และพระเครือข่าย หลังมีชื่อรับเช็คจำนวน 878 ฉบับรวมมูลค่ากว่า 2 พันล้านบาทจาก นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตฯว่า ทางพนักงานอัยการได้มีหนังสือแจ้งกลับมาทางดีเอสไอ เมื่อวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา ให้พนักงานสอบสวนดีเอสไอสามารถดำเนินการพิจารณาในเรื่องของฐานความผิดฟอกเงินหรือรับของโจรได้เลย ซึ่งขณะนี้เรามีข้อมูลในคดีดังกล่าวพอสมควรแล้ว ซึ่งคาดว่าจะสามารถพิจารณาแล้วเสร็จได้ภายในสิ้นเดือน ก.พ.นี้ ส่วนกรณีที่การชี้มูลความผิดเพิ่มเติมในคดีดังกล่าวจะมีผลกระทบกับวินัยสงฆ์หรือไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่มีผู้ร้องเรื่องวินัยประเด็นรับเช็คสหกรณ์ฯ แต่ในส่วนที่ดีเอสไอจะดำเนินการเป็นเรื่องของคดีอาญาเท่านั้น ส่วนจะมีการไปร้องเรียนเรื่องให้พระธัมมชโยต้องอาบัติปาราชิกหรือไม่นั้น อาจต้องรอให้คดีนี้แล้วเสร็จก่อน
“ในส่วนของวัดพระธรรมกายและเครือข่าย มีข้อเท็จจริงชัดเจนจากการสอบสวนเส้นทางการเงินก่อนหน้านี้ว่ามีการรับเช็คจำนวนดังกล่าวไปจริง หลังจากนี้ต้องสอบสวนว่าจะเข้าข่ายความผิดใดระหว่างฟอกเงินหรือรับของโจร โดยต้องพิสูจน์เจตนาเป็นหลัก” พ.ต.ท.สมบูรณ์ กล่าว
พ.ต.ท.สมบูรณ์ กล่าวด้วยว่า กรณีการฟอกเงินต้องดูทั้งเจตนา และการมีมูลหนี้ต่อกันหรือไม่ หากไม่มีมูลหนี้ต่อกันก็ถือเป็นข้อสังเกตเรื่องเจตนาว่าต้องรู้หรือควรรู้ว่าเงินดังกล่าวได้มาจากการยักยอกหรือไม่ ส่วนกรณีรับของโจรต้องพิจารณาว่า ได้รู้มาก่อนหรือไม่ว่าเงินดังกล่าวได้มาจากการกระทำผิด ซึ่งทั้ง 2 ข้อหามีอายุความต่างกัน โดยคดีฟอกเงินมีอายุความ 15 ปี ส่วนข้อหารับของโจรมีอายุความ 5 ปี
** “ไพบูลย์” บี้ พศ.-มส.ผิด ม.157
ที่รัฐสภา นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรฐานปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนาสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และเครือข่ายปกป้องพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช และเครือข่ายสตรีปกป้องพระพุทธศาสนา แถลงถึงมติ มส.ที่ปฏิเสธดำเนินการตามความเห็นของดีเอสไอให้พระธัมมชโยต้องอาบัติปาราชิกตามพระลิขิตของสมเด็จญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราชว่า การที่ มส. ระบุว่า ไม่สามารถดำเนินการตามดีเอสไอได้ โดยอ้างว่า คดีพระธัมมชโยสิ้นสุดในคณะผู้พิจารณาชั้นต้นแล้วนั้น เห็นว่าการกระทำของ มส.และ พศ.อาจเข้าข่ายปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และการที่ประชุม มส. รับรองการดำเนินการให้คณะผู้พิจารณาชั้นต้น ดำเนินการชอบด้วยกฎหมายแล้วเห็นว่า ผู้พิจารณาชั้นต้นไม่ได้รายงานข้อเท็จจริงของกฎหมาย และธรรมวินัยที่เกี่ยวข้องต่อ มส. เพื่อให้พิจารณาตามกฎของ มส.ฉบับที่ 21 (พ.ศ.2538) ข้อ 4 วรรคแรกและวรรคท้าย จึงอาจเข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ดังนั้น เพื่อให้กระบวนการบังคับใช้กฎหมายดำเนินการให้ได้ข้อยุติ จะยื่นหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษ ต่อดีเอสไอและผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยต่อไป
“การกระทำลักษณะนี้เสมือนเป็นการโอบอุ้มพระธัมมชโย เพราะเรื่องนี้เลือกใช้กฎหมายได้ถึง 2 ฉบับ คือ กฎ มส.ที่ 11 ว่าด้วยเรื่อง นิคหกรรม และฉบับที่ 21 ว่าด้วยการให้พระภิกษุสละสมณเพศ ตามบทบัญญัติที่มีอำนาจโดยตรงและไม่กระทบกับการลงนิคหกรรม คล้ายกรณีอธิกรณ์พระยันตระที่เคยทำในอดีต ในเมื่อสมเด็จพระสังฆราชฯมีพระลิขิตชี้ให้พระธัมมชโยต้องอาบัติปาราชิกไปแล้ว มส.ก็ควรดำเนินการตามกฎฉบับที่ 21 ในการเอาผิดกับพระธัมมชโย" นายไพบูลย์ กล่าว
** “ชูชาติ” ชี้ชัด “ธัมมชโย” ต้องปาราชิก
อีกด้าน นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุตอนหนึ่งว่า การที่เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายเอาที่ดินของวัดมาใส่ชื่อตนเองในโฉนดที่ดินเป็นผลให้ที่ดินก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเองอันเป็นความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 252 ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ และได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลในข้อหายักยอก แม้ต่อมาได้โอนคืนที่ดินให้แก่วัดและพนักงานอัยการโจทก์ขอถอนฟ้องคดีไปจากศาล แต่ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ที่ครบองค์ประกอบความผิดโดยสมบูรณ์แล้ว ก็ยังคงเป็นความผิดอยู่ พร้อมยกตัวอย่างกรณีพระภิกษุข่มขืนกระทำชำเราผู้หญิง จนถูกฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลในข้อหาข่มขืนกระทำชำเรา แต่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล ผู้เสียหายแถลงต่อศาลว่า ไม่ติดใจให้ดำเนินคดีแก่พระภิกษุรูปนั้นอีกต่อไปและขอถอนคำร้องทุกข์ พระภิกษุจำเลยจึงไม่ถูกศาลลงโทษ แต่ไม่ได้หมายความจำเลยหรือพระภิกษุรูปนั้น ไม่มีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราที่เป็นการร่วมประเวณีกับหญิงผู้เสียหาย
“ขอถามผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีนี้ว่า การที่พระภิกษุได้ร่วมประเวณีกับผู้หญิง แม้ไม่ถูกศาลลงโทษในข้อหาข่มขืนกระทำชำเรา พระภิกษุรูปนั้นต้องอาบัติปราชิกและต้องขาดจากความเป็นพระภิกษุหรือไม่ ถ้าพระภิกษุรูปดังกล่าวต้องอาบัติปราชิกและต้องขาดจากความเป็นพระภิกษุ เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายก็ต้องอาบัติปาราชิกและต้องขาดความเป็นพระภิกษุเช่นเดียวกัน" นายชูชาติ ระบุ