ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เมื่อวันก่อน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมาชี้แจงคำสั่งหัวหน้า คสช.ของวันนี้(๑ ก.พ.) ที่ประกาศผ่านราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๕/๒๕๕๙ เรื่อง มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ
พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงว่า คำสั่งดังกล่าวเพื่อช่วยสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้เกิดขึ้นระหว่างกัน
“ไม่ใช่จะไล่นักการเมืองอย่างเดียว ต้องไล่ข้าราชการด้วย ไม่ใช่ศัตรูข้าราชการ เพราะขณะนี้ประชาชนกับรัฐมีปัญหามาโดยตลอด ต้องสร้างความเข้าใจ เข้มงวดแบบนี้เขาต้องทำให้เต็มที่”
นายกฯ บอกว่า ปัญหามันเยอะเพราะเขาไม่เคยทำงานในระบบนี้ เมื่อก่อนมันง่าย แผนอนุมัติ ทำอย่างไรไม่รู้ ต่อเนื่องหรือไม่ไม่รู้ ตอนนี้ต้องปรับตัวเพราะกลัวกฎหมาย คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ตรวจสอบ รัฐบาลแก้ไขปัญหาการทุจริตไม่ใช่อยู่ดี ๆไม่ชี้ว่าผิดแล้วเอาไปติดคุก ตนมีอำนาจแต่ตนไม่ทำ
ทั้งนี้เพื่อให้ คตร.หาข้อสังเกต หากตั้งข้อสังเกตแล้วไม่สำคัญ เช่น งบประมาณที่เกี่ยวกับประชาชน แต่วัตถุประสงค์ในการใช้งบประมาณกว้างเกินไป ก็ไปปรับปรุงแก้ไข ตนสร้างการรับรู้ให้คนเข้าใจข้าราชการ ถ้าเรื่องไหนที่เป็นข้อสังเกตที่ปล่อยไว้ไม่ได้ ก็ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบ ไม่ใช่ตนต้องการทำลายกระบวนการให้ประชาชนเดือดร้อน แต่ต้องมีกติกากันบ้าง สั่งชัดเจนแล้วว่า คตร. ตรวจสอบโครงการที่มีปัญหา
สำหรับรายละเอียดของ คำสั่งดังกล่าวฯ ระบุว่า โดยหลักการประเมินนั้น จะประเมินประสิทธิภาพปฏิบัติงานประจําหรืองานตามหน้าที่ปกติ ได้แก่ งานตามกฎหมายกฎ มติคณะรัฐมนตรี นโยบายของรัฐบาล ประเมินประสิทธิภาพการปฏิบัติงานตามยุทธศาสตร์ นโยบาย หรือภารกิจที่มอบหมายเป็นพิเศษแก่บางหน่วยงานหรือข้าราชการบางตําแหน่งหน้าที่ เช่น ภารกิจในการปฏิรูป การสร้างความปรองดอง การแก้ปัญหาสําคัญเฉพาะเรื่อง ประเมินประสิทธิภาพการปฏิบัติงานตามพื้นที่หรือการบูรณาการการปฏิบัติงานหลายพื้นที่หรือหลายหน่วยงาน
ส่วนผู้รับการประเมิน ได้แก่ ส่วนราชการระดับกรมและกระทรวง ข้าราชการพลเรือนประเภทบริหารระดับสูง สำหรับผู้ประเมินนั้น ให้มีผู้ทําหน้าที่ประเมินส่วนราชการหรือข้าราชการ ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับมอบหมายหรือมอบอํานาจให้กํากับการบริหารราชการ และกํากับและติดตามการปฏิบัติราชการเขตตรวจราชการในภูมิภาค
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการในกรณีประเมินส่วนราชการระดับกรมและกระทรวง และเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในกรณีประเมินข้าราชการ การประเมินสํานักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และสํานักงานคณะกรรมการ ข้าราชการพลเรือน และเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการและเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน
สำหรับแบบประเมิน ให้สํานักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และสํานักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนจัดทําแบบประเมินส่วนราชการและแบบประเมินข้าราชการ โดยให้ประเมินความรู้ ความสามารถ ทักษะและสมรรถนะ ความวิริยะอุตสาหะ การอุทิศเวลาแก่ราชการ ประสิทธิภาพให้บริการและอํานวยความสะดวกแก่ประชาชน การเบิกจ่ายงบประมาณตามเป้าหมาย การสร้างความรับรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน การปฏิบัติงานเชิงรุกเพื่อให้ทันสถานการณ์ ความคิดริเริ่ม ความซื่อสัตย์สุจริตการมีธรรมาภิบาล และความพึงพอใจของประชาชนผู้รับบริการประกอบกัน
ด้านแนวทางการประเมิน หากมีผลการประเมินจากหน่วยงานกลาง เช่น สํานักงบประมาณ สํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือจากองค์กรภายนอกระบบราชการที่มีการประเมินประเทศในภาพรวมและเป็นที่ยอมรับทั่วไป และเกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบส่วนราชการใด ให้ผู้ประเมินนํามาพิจารณาประกอบด้วย
ส่วนผลการประเมินนั้น ให้รองนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องรายงานต่อนายกรัฐมนตรีภายในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนเมษายนและเดือนกันยายน เพื่อทราบหรือประกอบการพิจารณาแต่งตั้ง โยกย้าย หรือพิจารณาความดีความชอบหรือลงโทษตามกฎหมายและระเบียบราชการ รองนายกรัฐมนตรีอาจเสนอรายงาน ตั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อกําหนดมาตรการเร่งด่วนได้ ทั้งนี้ ให้การดําเนินการทุกระดับเป็นธรรม ไม่มีการกลั่นแกล้ง ในกรณีเมื่อประเมินแล้วพบข้าราชการทําผิดวินัยหรือกฎหมาย ให้ดําเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ด้านการประเมินหน่วยงานของรัฐในความรับผิดชอบของฝ่ายบริหาร ได้แก่ รัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชน ให้หน่วยงานกลางที่เกี่ยวข้องจัดให้มีการประเมิน การประเมินข้าราชการทหารและข้าราชการตํารวจ ให้กระทรวงกลาโหม และสํานักงานตํารวจแห่งชาติแล้วแต่กรณี จัดให้มีการประเมิน
นอกจากนี้ ให้มีกรอบอัตรากําลังชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ ในสํานักงานคณะกรรมการข้าราชการ พลเรือนจํานวน 50 อัตรา เพื่อรองรับการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการพลเรือน ประเภทวิชาการ ระดับเชี่ยวชาญ ประเภทอํานวยการระดับสูง หรือประเภทบริหารระดับต้น หรือข้าราชการอื่นที่มิใช่ข้าราชการพลเรือนแต่ดํารงตําแหน่งเทียบเท่า โดยนายกรัฐมนตรีมีอํานาจออกคําสั่งให้โอนหรือย้ายมาหรือเลื่อนตําแหน่งสูงขึ้นในระดับดังกล่าว โดยขาดจากตําแหน่งหน้าที่และอัตราเงินเดือนเดิม ไม่ว่าข้าราชการผู้นั้น จะมีความผิดหรืออยู่ระหว่างถูกตรวจสอบหรือไม่ก็ตาม
ในกรณีที่ส่วนราชการใดต้องการให้ข้าราชการตามกรอบอัตรากําลังชั่วคราวดังกล่าวไปปฏิบัติราชการที่ส่วนราชการนั้น รัฐมนตรีที่สั่งและปฏิบัติราชการส่วนราชการนั้นอาจเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อมีคําสั่งให้ข้าราชการดังกล่าวไปดํารงตําแหน่งที่ส่วนราชการนั้นก็ได้ เมื่อบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการแล้ว ให้ประธานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนมอบหมายงานให้ข้าราชการผู้นั้นปฏิบัติ โดยคํานึงถึงความรู้ ความสามารถและความเหมาะสมตามหน้าที่ที่เคยปฏิบัติ หรืออาจมอบให้ข้าราชการผู้นั้นไปปฏิบัติงานหรือช่วยราชการที่ส่วนราชการใดชั่วคราวได้ ให้สํานักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนกําหนดชื่อตําแหน่ง อัตราเงินเดือน เงินประจําตําแหน่งตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการ กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติให้เสนอปัญหาและแนวทางแก้ไขให้คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนวินิจฉัย คําวินิจฉัยดังกล่าวให้เป็นที่สุด เมื่อหมดความจําเป็นแล้วนายกรัฐมนตรีอาจมีคําสั่งให้ยุบเลิกกรอบอัตรากําลังชั่วคราวตามทั้งหมดหรือบางส่วนได้
คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
จะเห็นได้ว่า คำสั่งดังกล่าวนี้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)” สั่งการต่อเนื่องมาจากคราวประชุม ครม.เมื่อวันที่ 12 ม.ค. โดยมีการตรวจการบ้านของ “รองนายกรัฐมนตรี”ทุกคน
ขณะที่ “นายวิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ได้รายงานการบ้านเรื่องการกระตุ้นข้าราชการเกียร์ว่าง โดยจะใช้การประเมินผลการดำเนินงานของข้าราชการในรูปแบบใหม่ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ช่วงเดือนเมษยาน 2559 และจะเกิดผลในช่วงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ช่วง 1 ตุลาคม 2559 โดยการประเมินผลนอกจากข้าราชการระดับสูงแล้ว ยังรวมถึงผู้นำองค์กรรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และผู้นำท้องถิ่น ทูตตามสถานทูตต่าง ๆ ด้วย
การประเมินรูปแบบใหม่ดังกล่าว ก็เพื่อให้การดำเนินงานของข้าราชการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เกียร์ว่าง มีความตื่นตัว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิรูปประเทศ ซึ่งจะดูจากผลสัมฤทธิ์การปฏิบัติงาน และความตั้งใจในการทำงาน และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการที่คอยประเมินผลต่อไป
ขณะนี้ กพ. ก็ได้เริ่มเปิดตำแหน่งไว้ 50 ตำแหน่งแล้วเพราะจะมีการประกาศตั้งแต่ช่วงเดือนเมษยาน 2559 จึงต้องมาดูว่าวันที่ 1 ตุลาคม 2559 นี้ ข้าราชกาคนใด ใครในระดับ ซี9 จะเข้าข่ายคำสั่งนี้เป็นรายแรก ๆ หรือคำสั่งนี้ จะเป็นยาแรงเพื่อคุมข้าราชการเกียร์ว่าง อย่างได้ผล