xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” ใช้ ม.44 คำสั่งประเมิน ขรก. สกัดเกียร์ว่าง-โยกรอบใหม่ เพิ่มอำนาจนายกฯ สั่งยุบเลิกกรอบอัตรากําลังชั่วคราว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“บิ๊กตู่” ใช้ ม.44 สกัดข้าราชการเกียร์ว่าง-โยกย้ายรอบใหม่ กำหนด “มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ” เพิ่มอำนาจนายกฯ สั่งให้ยุบเลิกกรอบอัตรากําลังชั่วคราว-ประเมินระดับบิ๊ก รองนายกฯ หรือ รมต.สำนักนายกฯ ประเมินระดับภูมิภาคที่กำกับดูแล ส่วน “รมว.-รมช.” ประเมินระดับกระทรวงฯ เผยใช้เกณฑ์ประเมินโดยทั่วไป แถมดูการเบิกจ่ายงบประมาณด้วย ส่วนระดับต่ำกว่าข้าราชการ ให้ผู้บังคับบัญชาประเมิน ด้าน “ทหาร-ตํารวจ” ให้กลาโหม-สตช.ประเมินแล้วแต่กรณี พร้อมให้ กพ.เปิดตำแหน่งไว้ 50 อัตรา หากกรณีเกิดการโยกย้าย

วันนี้ (1 ก.พ.) มีรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 5/2559 เรื่องมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ ดังนี้

“โดยที่การปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการตามอํานาจหน้าที่ในกฎหมายและระเบียบปฏิบัติต่างๆ ตลอดจนการขับเคลื่อนภารกิจสําคัญตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน การอํานวยความสะดวกแก่ประชาชน การเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาประเทศ ตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และปราศจากการทุจริตและประพฤติมิชอบ เป็นนโยบายสําคัญของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี และสอดคล้องกับประเด็นปฏิรูปทั้งของสภาปฏิรูปแห่งชาติและสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นควรกําหนดมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการของบุคลากรภาครัฐเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูประบบการบริหารราชการแผ่นดิน จึงมีคําสั่งดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ให้มีการประเมินส่วนราชการ และข้าราชการพลเรือนในความรับผิดชอบของฝ่ายบริหารโดยยึดหลักการประเมิน ดังนี้

(๑) ประเมินประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานประจําหรืองานตามหน้าที่ปกติ ได้แก่ งานตามกฎหมายกฎ มติคณะรัฐมนตรี นโยบายของรัฐบาล

(๒) ประเมินประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานตามยุทธศาสตร์ นโยบาย หรือภารกิจที่มอบหมายเป็นพิเศษแก่บางหน่วยงานหรือข้าราชการบางตําแหน่งหน้าที่ เช่น ภารกิจในการปฏิรูปการสร้างความปรองดอง การแก้ปัญหาสําคัญเฉพาะเรื่อง

(๓) ประเมินประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานตามพื้นที่หรือการบูรณาการการปฏิบัติงานหลายพื้นที่หรือหลายหน่วยงานเพื่อผลสัมฤทธิ์ร่วมกัน เช่น งานที่ต้องประสานและร่วมมือระหว่างจังหวัดระหว่างกรม หรือกระทรวง และงานตามนโยบายประชารัฐซึ่งภาครัฐพึงทํางานร่วมกับท้องถิ่น ภาคประชาชนหรือองค์กรสาธารณประโยชน์

ข้อ ๒ การประเมินตามข้อ ๑ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังนี้

(๑) ผู้รับการประเมิน ได้แก่ ส่วนราชการระดับกรมและกระทรวง ข้าราชการพลเรือน ประเภทบริหารระดับสูง

(๒) ผู้ประเมิน ให้มีผู้ทําหน้าที่ประเมินส่วนราชการหรือข้าราชการ ประกอบด้วย

๒.๑ นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี หรือ รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายหรือมอบอํานาจให้กํากับการบริหารราชการ และกํากับและติดตามการปฏิบัติราชการเขตตรวจราชการในภูมิภาค

๒.๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง

๒.๓ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการในกรณีประเมินส่วนราชการระดับกรมและกระทรวง และเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในกรณีประเมินข้าราชการการประเมินสํานักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และสํานักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน และเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการและเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ให้ใช้ผลการประเมินของผู้ประเมินตาม ๒.๑ และ ๒.๒ให้ผู้ประเมินตามข้อนี้ลงนามรับรองผลการประเมินด้วย

(๓) แบบประเมิน ให้สํานักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และสํานักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนร่วมกันจัดทําแบบประเมินส่วนราชการและแบบประเมินข้าราชการผู้รับการประเมินตามหลักการประเมินในข้อ ๑ โดยให้มีการประเมินความรู้ ความสามารถ ทักษะและสมรรถนะ ความวิริยะอุตสาหะ การอุทิศเวลาแก่ราชการ ประสิทธิภาพในการให้บริการและอํานวยความสะดวกแก่ประชาชน การเบิกจ่ายงบประมาณตามเป้าหมาย การสร้างความรับรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน การปฏิบัติงานเชิงรุกเพื่อให้ทันกับสถานการณ์ ความคิดริเริ่ม ความซื่อสัตย์สุจริตการมีธรรมาภิบาล และความพึงพอใจของประชาชนผู้รับบริการประกอบกัน

(๔) แนวทางการประเมิน ในการประเมิน หากมีผลการประเมินจากหน่วยงานกลางเช่น สํานักงบประมาณ สํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือจากองค์กรภายนอกระบบราชการที่มีการประเมินประเทศในภาพรวมและเป็นที่ยอมรับทั่วไป และเกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบส่วนราชการใด ให้ผู้ประเมินนํามาพิจารณาประกอบด้วย

(๕) ผลการประเมิน ให้รองนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องรายงานผลการประเมินตามคําสั่งนี้ต่อนายกรัฐมนตรีภายในสัปดาห์ที่สองของเดือนเมษายนและเดือนกันยายน เพื่อทราบ หรือประกอบการพิจารณาแต่งตั้ง โยกย้าย หรือพิจารณาความดีความชอบหรือลงโทษตามกฎหมายและระเบียบราชการในระหว่างเวลาดังกล่าว รองนายกรัฐมนตรีอาจเสนอรายงาน ตั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อกําหนดมาตรการเร่งด่วนได้ ทั้งนี้ ให้การดําเนินการทุกระดับมีความเป็นธรรม มิให้เกิดการกลั่นแกล้ง ในกรณีเมื่อมีการประเมินแล้วพบว่าข้าราชการผู้ใดทําผิดวินัยหรือกฎหมาย ให้ดําเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ข้อ ๓ การประเมินหน่วยงานและข้าราชการอื่นนอกเหนือจากข้อ ๒ ให้ดําเนินการตามมาตรการในคําสั่งนี้โดยอนุโลมเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติปกติ ดังนี้

(๑) การประเมินข้าราชการพลเรือนระดับต่ำกว่าข้าราชการตามข้อ ๒ (๑) ให้ผู้บังคับบัญชาจัดให้มีการประเมิน

(๒) การประเมินหน่วยงานของรัฐในความรับผิดชอบของฝ่ายบริหาร ได้แก่ รัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชน ให้หน่วยงานกลางที่เกี่ยวข้องจัดให้มีการประเมิน

(๓) การประเมินข้าราชการทหารและข้าราชการตํารวจ ให้กระทรวงกลาโหม และสํานักงานตํารวจแห่งชาติแล้วแต่กรณี จัดให้มีการประเมิน

ข้อ ๔ ให้มีกรอบอัตรากําลังชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษในสํานักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนจํานวนห้าสิบอัตรา เพื่อรองรับการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการพลเรือน ประเภทวิชาการระดับเชี่ยวชาญ ประเภทอํานวยการระดับสูง หรือประเภทบริหารระดับต้น หรือข้าราชการอื่นที่มิใช่ข้าราชการพลเรือนแต่ดํารงตําแหน่งเทียบเท่าโดยนายกรัฐมนตรีมีอํานาจออกคําสั่งให้โอนหรือย้ายมา หรือเลื่อนให้ดํารงตําแหน่งสูงขึ้นในระดับดังกล่าวโดยขาดจากตําแหน่งหน้าที่และอัตราเงินเดือนเดิม ไม่ว่าข้าราชการผู้นั้นจะมีความผิดหรืออยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบหรือไม่ก็ตาม

ในกรณีที่ส่วนราชการใดต้องการให้ข้าราชการตามกรอบอัตรากําลังชั่วคราวดังกล่าวไปปฏิบัติราชการที่ส่วนราชการนั้น รัฐมนตรีที่สั่งและปฏิบัติราชการส่วนราชการนั้นอาจเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อมีคําสั่งให้ข้าราชการดังกล่าวไปดํารงตําแหน่ง ณ ส่วนราชการนั้นก็ได้เมื่อมีการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการผู้ใดตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ประธานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนมอบหมายงานให้ข้าราชการผู้นั้นปฏิบัติ โดยคํานึงถึงความรู้ ความสามารถและความเหมาะสมตามหน้าที่ที่เคยปฏิบัติ หรืออาจมอบหมายให้ข้าราชการผู้นั้นไปปฏิบัติงานหรือช่วยราชการณ ส่วนราชการใดเป็นการชั่วคราวได้

ให้สํานักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนกําหนดชื่อตําแหน่ง อัตราเงินเดือน เงินประจําตําแหน่งตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการ และกําหนดวิธีปฏิบัติตามข้อนี้ ในกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติให้เสนอปัญหาและแนวทางแก้ไขให้คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนวินิจฉัย คําวินิจฉัยดังกล่าวให้เป็นที่สุดเมื่อหมดความจําเป็นแล้ว นายกรัฐมนตรีอาจมีคําสั่งให้ยุบเลิกกรอบอัตรากําลังชั่วคราวตามข้อนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนได้

ข้อ ๕ คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

สั่ง ณ วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๕๙
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ”


กำลังโหลดความคิดเห็น