ที่ประชุม ครม. รับทราบแผนกระตุ้นข้าราชการที่เกียร์ว่าง ใช้ประเมินผลรูปแบบใหม่ เม.ย. นี้ มีผลฤดูโยกย้าย ต.ค. ส่องยันผู้นำองค์กร ซี 10-11 ส่วนซีต่ำกว่านี้ให้ปลัดประเมิน ส่วนรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ ชงสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจภายในประเทศ 4 ด้าน คาดเกิดผลเร็ว ๆ นี้ “บิ๊กป้อม” แจงแก้ประมงคืบหน้า กฎหมาย - เอกสารเสร็จสิ้นแล้ว ติดตั้งระบบติดตามเรือได้ 93% พร้อมตั้งผู้ช่วยโฆษก รบ.
วันนี้ (12 ม.ค.) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า นายกรัฐมนตรีได้ตรวจการบ้านรองนายกรัฐมนตรี ที่ได้ให้ไว้ก่อนสิ้นปี โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้รายงานว่า ต่อไปนี้ต้องกระตุ้นข้าราชการที่เกียร์ว่าง การประเมินผลในรูปแบบจะต้องดำเนินการให้ได้เร็วที่สุด จะเริ่มการตรวจสอบตั้งแต่ เม.ย. 2559 มีผลต่อการโยกย้ายแต่งตั้งช่วง 1 ต.ค. ซึ่งนายวิษณุได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.), สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.), สำนักงบประมาณ, สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
โดยการประเมินผลรูปแบบใหม่จะไม่ใช่ประเมินแค่ข้าราชการอย่างเดียว แต่จะประเมินผู้นำองค์กรของรัฐวิสาหกิจ และองค์การมหาชนที่เป็นเบอร์หนึ่ง รวมถึงผู้บริหารระดับท้องถิ่น ทูตตามสถานทูตต่าง ๆ ที่มีระดับตั้งแต่ระดับ (ซี) 10 ถึง ซี 11 ขึ้นไป ส่วนซีที่ต่ำกว่านี้จะให้ปลัดเป็นผู้ประเมิน ตามกรอบการประเมินผลส่วนกลาง วัตถุประสงค์นี้เป็นการตอบโจทย์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการเร่งรัดให้ข้าราชการทุกระดับให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่มีเกียร์ว่าง เมื่อไปตรวจสอบพบว่ามีอยู่จำนวนหนึ่ง ฉะนั้น การประเมินผลแบบนี้จะทำให้ข้าราชการตื่นตัวในการทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่ และยังเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปประเทศ
“ใครที่ไม่ผ่านการประเมินก็จะมีผลร้ายกับตัวเอง ผลการประเมินจะนำไปปรับปรุงการปฏิบัติงานของแต่ละหน่วยงาน รวมถึงการพิจารณาหากต้องการแยกหน่วยงาน หรือขยายหน่วยงาน เพิ่มอัตรา หรือการยุบหน่วยงาน เช่น กรณีไอเคโอ (ICAO) เกี่ยวข้องกับหน่วยงานใดบ้าง ก็จะนำมาเป็นตัวชี้วัดด้วย รวมถึงต้องไปดูการขับเคลื่อนวาระพิเศษอย่างนโยบายประชารัฐ นอกจากนี้ จะดูงานในพื้นที่ด้วยว่ามีความรับผิดชอบมากน้อยขนาดไหน จะไม่ดูแค่ผลสัมฤทธิ์อย่างเดียวเพราะบางเรื่องเป็นปัญหาที่สืบเนื่องมายาวนาน แต่จะดูความตั้งใจว่าท่านพยายามแก้ไขปัญหาเหล่านั้นมากน้อยแค่ไหน ใส่ใจในหน้าที่ที่รับผิดชอบขนาดไหน โดยจะมีคณะกรรมการถอดรหัสการประเมินว่าใครผ่านการประเมิน” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวอีกว่า ด้าน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ รายงานในที่ประชุม ว่า สิ่งที่นายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบาย และนำไปขับเคลื่อน คือการสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยจะมีผลเป็นรูปธรรมใน 4 ด้านเร็ว ๆ นี้ ประกอบด้วย การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในชนบท เช่น วัตถุดิบภาคการเกษตร ที่จะมีการขับเคลื่อนประชารัฐ โดยมี นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, การสร้าง 1 ตำบล 1 เอสเอ็มอี จะหามาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีใหม่ เพื่อเป็นการขยายธุรกิจและตลาดใหม่ รัฐบาลเองจะสร้างความตื่นตัวครั้งใหญ่ในเรื่อง ไทยแลนด์สตาร์ทอัพ จับมือกับภาคอุตสาหกรรม เกษตร เทคโนโลยี ภาคธุรกิจบริการ เพื่อให้ผู้ประกอบการใช้นวัตกรรมเติบโตขึ้น จะมีการลงทุนการท่องเที่ยวระดับท้องถิ่น ตำบล หมู่บ้าน และสร้างตลาดกลางสินค้าเกษตร จะเห็นผลเป็นรูปธรรมในเร็ว ๆ นี้
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า เนื่องจากในอนาคตจะมีโครงการต่าง ๆ ออกมามากมายเพื่อที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างความเข้มแข็งของประชารัฐ และกระตุ้นเศรษฐกิจดิจิตอล ซึ่งทำให้งานของโฆษกประจำสำนักนายกฯมีเพิ่มขึ้น จึงมีการแต่งตั้ง พ.อ.อภิสิทธิ์ ไชยนุวัติ และพ.อ.หญิงทักษดา สังขจันทร์ เป็นผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักฯ เข้ามาช่วยสร้างความเข้าใจพื้นฐานให้กับประชาชน ไม่ให้มีการสื่อความหมายผิดไปจากนโยบาย ใน 2 กรอบใหญ่ คือ 1. สร้างการรับรู้นโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลที่จะออกมาในอนาคต และ 2. สร้างการรับรู้โครงการของรัฐบาลที่ได้มีการดำเนินไปแล้วมีความคืบหน้าอย่างไร ใน 1 - 2 วันนี้น่าจะเริ่มให้ข้อมูลได้
“ยกตัวอย่างกรณีนายกฯ พยายามเน้นว่าจะขับเคลื่อนประชารัฐ โดยจะให้ภาคประชาชนเป็นหลักว่าเขาคิดอย่างไร และมีภาคเอกชนที่มีกำลังและความสามารถเข้ามาเป็นส่วนต่อยอด โดยภายหลังมีการเปิดเผยรายชื่อกันจากทีมเศรษฐกิจว่ามีภาคเอกชนเข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ปรากฏว่า มีบางส่วน โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดียไปตีความว่ารัฐบาลกำลังจะโอบอุ้มเจ้าสัวและนายทุน ซึ่งถ้าทุกอย่างมองในแง่ร้ายทั้งหมดตนว่าประเทศไทยคงเดินลำบาก นี่เป็นสิ่งที่นายกฯ กังวล จึงต้องสร้างความเข้าใจ” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้รายงานให้ที่ประชุม ครม. ทราบถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ทั้งเรื่องกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง เอกสารสำคัญ ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ส่วนการระบบติดตาม ควบคุม เฝ้าระวัง มีความก้าวหน้าไปมาก โดยเรือ 60 ตันกรอสขึ้นไปที่จะต้องติดตั้งระบบการตรวจสอบและติดตาม ขณะนี้ดำเนินการไปเสร็จเรียบร้อยแล้ว 93%
ขณะที่การบังคับใช้กฎหมายทั้งบนบกและในทะเล มีการตรวจสอบตรวจตราอย่างต่อเนื่อง เรื่องมาตรการลงโทษก็มีการดำเนินการอย่างเคร่งครัด ไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหมทั้งสิ้น ยิ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวพันยิ่งดำเนินการ จะลงโทษตามอัตราสูงสุด นอกจากนี้ ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมามีการไปตรวจสอบโรงงานกว่าร้อยแห่ง พบโรงงานที่กระทำผิดอยู่ 5 แห่ง ซึ่งมีการสั่งปิดไปแล้ว อานิสงส์จึงไปตกอยู่ที่เจ้าหน้าที่ เกี่ยวพันกับการปล่อยปละละเลย อย่างอุตสาหกรรมจังหวัดที่มีการสั่งการไปว่ากระทรวงต้นสังกัดให้รับไปดำเนินการ เพราะมีโทษทางวินัย