ป้อมพระสุเมรุ
“รัฐบาลทหาร”บริหารประเทศมาจะร่วม 2 ปี มี“ตะเกียงวิเศษ”มาตรา 44 ไว้เป็นทางลัดในการแก้ไขสารพันปัญหาที่หมักหมมมานานหลายปี แบบที่ “รัฐบาลเลือกตั้ง”ไม่มีปัญญาทำ โดยเฉพาะการปลดล็อกเรื่องยากๆ ที่รัฐบาลปกติทำไม่ได้
แต่กับเรื่องปัญหาข้าราชการใส่ “เกียร์ว่าง”ก็ทำเอา “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถึงกับต้องกุมขมับ เพราะ “ตะเกียงวิเศษ”เอาไม่อยู่ แก้ไม่หมด เพราะ“ระบบ - ตัวบุคคล”มันเละตุ้มเป๊ะ อยู่ในอาการโคม่า ยากจะกระชากกลับมาได้ภายในวันสองวัน
นี่จึงอาจเป็นคำตอบหนึ่งว่า เหตุใด “บิ๊กตู่”ถึงมอบหมายให้ซือแป๋กฎหมาย“วิษณุ เครืองาม”รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)ไปสังคายนา หาวิธีการประเมินผลงานข้าราชการ กันใหม่
และก็เป็นคำตอบอีกว่า ทำไมหลังจากให้การบ้าน“วิษณุ”ไปไม่กี่เดือน สิ่งที่ “บิ๊กตู่”ต้องการก็ถูกเสิร์ฟขึ้นโต๊ะโดยฉับไว โดยการรื้อ “ระบบประเมิน”ที่จะเริ่มใช้ในเดือน เม.ย.นี้ และจะมีผลต่อการแต่งตั้งโยกย้ายช่วงปลายปีทันที
เหตุที่“นายกฯตู่”สั่งการ ให้รับลูกอย่างไว ก็เพราะหากยังปล่อยให้ข้าราชการ“เกียร์ว่าง”อยู่ รัฐบาลคสช. มีปัญหาแน่ เนื่องจากนโยบายหลายอย่างของรัฐบาลกำลังตกอยู่ในสภาวะยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ จริงอยู่แม้รัฐบาลจะมีอำนาจในฐานะผู้บังคับบัญชา แต่หากข้าราชการในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชาที่เป็นเสมือนฟันเฟืองขับเคลื่อนงานทุกอย่างไม่เดิน ก็เหมือน“สั่งลม”
การเลือกใช้วิธีแก้ไขแบบประเมินผลงานกันใหม่ ยังแสดงให้เห็นว่าไม่ได้เจาะจงแค่ระดับหัวหน้าส่วนราชการเท่านั้น แต่ต้องการชอนไชไปถึงระดับล่างๆ ทั้งหมด เพื่อให้เกิดการตื่นตัว เพราะในทางปฏิบัติ รัฐบาลไม่มีทางรู้จักข้าราชการตัวเล็กๆ เลยว่าแต่ละคนเป็นใครมาจากไหน วิธีนี้จะช่วยรัฐบาลกรองบุคลากรได้เยอะ แล้วไม่ถูกมองว่าเป็นการกลั่นแกล้งอีกด้วย เพราะมีเกณฑ์แปะฝาหนังไว้อยู่ ส่วน มาตรา 44 ไว้ใช้กับหัวหน้าส่วนราชการที่รัฐบาลรู้จัก ว่าใครเป็นใคร มีประวัติการทำงานแต่ละคนอยู่แล้ว ก็น่าจะพอ
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงแบบประเมินใหม่ โดยใช้หน่วยงานอย่าง ก.พ. และก.พ.ร.ส่งผลให้การบังคับใช้นั้นจะอยู่ยาวไปจนกว่าจะมีใครเข้ามาแก้ไข หรือโละมันทิ้ง
สำหรับการประเมินแบบใหม่ หากดูในรายละเอียดจะเห็นว่า หากข้าราชการคนใดไม่ผ่านการประเมิน หรือได้คะแนนน้อย จะมีผลต่อการเลื่อนขั้น และเงินโบนัส แต่หากใครทำงานเข้าตา มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอันจะได้เติบโตในตำแหน่งหน้าที่ราชการ นอกจากนี้ ยังมีกลไกปิดช่องประเมินไม่ตรงตรงความเป็นจริง กล่าวคือ หากผู้บังคับบัญชาประเมินว่าดี ทว่าประชาชนที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในแบบประเมินใหม่นี้เห็นแย้ง ฝ่ายหลังจะมีน้ำหนักมากกว่า
ในแง่ของผลสัมฤทธิ์ พวกทำงานแบบหายใจทิ้งไปวันๆ หวังจะเติบโตเพราะอาวุโส หรือทางลัดต่างๆ ต้องสะดุ้งกันไม่มากก็น้อย เพราะจะเที่ยวไปเอ้อระเหยลอยชายเหมือนแต่ก่อน มีหวังถูกฝังจมกรุ จึงต้องกระเตื้องขึ้นมาแบบไฟต์บังคับ ขณะที่พวกทำงานดี แต่ไม่มีเส้น จะมีโอกาสได้ขึ้นมาหายใจกับคนอื่นเขาบ้าง
ผลของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เที่ยวนี้ แม้จะไม่ได้ผล 100% แต่ก็น่าจะทำให้งานของ“บิ๊กตู่”เดินเร็วขึ้นกว่าเดิม เหมือนที่“เนติบริกร”ระบุ ซึ่งการเลือกทำแบบรวดเร็วฉับไวในปีนี้ทันที ก็สะท้อนให้เห็นเหมือนกันว่า รัฐบาลตั้งใจจะทำอะไรหลายอย่างให้เป็นชิ้นเป็นอันโดยเร็ว หลังถูกค่อนแคะมาเยอะว่า ไม่มีผลงานจับต้องได้
โดยใช้เอารางวัลมาล่อแบบถูกกฎหมาย สร้างแรงจูงใจในการทำงาน ในเมื่อต้องการผลผลิตเยอะ และเนื้องานที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นไปตามหลักการ “เลี้ยงคน”
แน่นอนหากไม่ใช่วิธีการดัดหลังแบบนี้ รัฐบาลลายพรางก็ต้องกระตุกไปกระตุกมาแบบนี้ เพราะงานไม่ขยับ ขณะที่วิธีการอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ “บิ๊กตู่”ก็ลองมาหลายอย่างแล้ว แต่ไม่ได้ผล
ขนาดตอน คสช.ขับรถถังมายึดอำนาจใหม่ๆ โละพวกบรรดาหัวหน้าส่วนราชการ“สายชิน”แทบจะทุกกระทรวง แล้วนำคนของตัวเองไปวางไว้แทนก็แล้ว แต่ก็เป็นแค่ 1 ใน 10 ของปัญหาทั้งหมดที่ฝังรากอยู่ในระบบราชการไทย เพราะวงจรอุบาทว์ มันฝังลึกมานานจนไม่สามารถถอนกันได้ง่ายๆ เหมือนที่มีคนบอกเอาไว้ หากคิดจะล้างระบอบทักษิณในระบบราชการให้หมด ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 รัฐบาล ถึงจะบรรเทาเบาบางไปได้
เชื่อขนมกินได้ สแกนลงไปในระบบราชการตอนนี้ ไล่ชื่อเรียงตัว ส่วนใหญ่นั่งนับวันรอ“บิ๊กตู่”รูดม่านลาโรงกันทั้งนั้น เพื่อให้ “นาย”ตัวเองกลับมา ถึงขนาดพวกที่ถูกคสช. จับเข้ากรุบางคนพูดตรงๆ แบบไม่เกรงกลัวเลยว่า “กูรอได้”ซึ่งนี่ก็เป็นปัญหาหนึ่ง ที่ทำให้งานบางอย่างของรัฐบาลลายพรางไม่คืบหน้าไปถึงไหน
นอกจากบรรดาพวก“แตงโม - มะเขือเทศ”ในระบบราชการ ที่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเกียร์ว่างแล้ว ด้วยความคุ้นชินกับระบบอุปถัมภ์ ธรรมเนียมเชลียร์แล้วได้ดี ทำให้ข้าราชการบางส่วนทำงานไม่เป็น เป็นเพียงจักรกลรอคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาอย่างเดียว
อนึ่ง เรื่องนี้จะว่าไปก็โทษข้าราชการฝ่ายเดียวไม่ได้เหมือนกัน เพราะบางงานที่ช้า ไม่ใช่ข้าราชการทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม แต่หลายคนก็ไม่กล้าทำโดยพลการ กลัวจะไป“ออฟไซด์” จึงต้องรออนุมัติจากผู้มีอำนาจก่อน เรียกว่าหากมี 4 ขั้นตอน ก็ต้องขอกันทุกขั้นตอนเลยทีเดียว เนื่องจากไม่มีใครกล้าเสี่ยงหากทำผิดแล้ว“บิ๊กตู่”ฉุนขึ้นมา จะทำอย่างไร
ยิ่ง“นายกฯตู่”เอง มีความมั่นใจ และเชื่อในความคิดตัวเองสูง เหมือนที่มักชอบพูดว่า ตัวเองศึกษามา บางเรื่องรู้ดีกว่าด้วยซ้ำนั้น ยิ่งไม่มีใครกล้าเสนอไอเดียใหม่ๆ ขึ้นไป
ที่ผ่านมา“บิ๊กตู่”มักพูดอยู่เสมอว่า พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากคนอื่น แต่มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่า ในการประชุมหลายครั้ง พอข้าราชการอ้าปากพูดได้ไม่กี่คำ ก็จะถูกตัดบท การประชุมส่วนใหญ่จึงเป็นนายกฯ พูดแทบจะเกือบทุกฟลอร์ ถามว่า ข้าราชการที่ไหนกล้าขัดใจนายกฯ ?
จนมีคนประชดประชันว่า นายกฯน่ะแหละ กำลังทำตัวเป็น “น้ำเต็มแก้ว”
แล้วอย่างที่รู้กันมาแต่ไหนแต่ไรแล้วว่า พลเรือนกับทหาร มักทำงานไม่ค่อยเข้าขากัน โดยฝ่ายพลเรือนมักมองว่า ทหารทำงานแบบทหาร เก่งแต่รบ ไม่ช่ำชองงานบริหาร ในขณะที่ทหารจะมองว่า ตัวเองเหนือกว่าพลเรือน จึงไม่ค่อยรับฟังความคิดเห็น รวมไปทั้งการทำงานสไตล์ทหาร ที่เคร่งครัด ทำให้พลเรือนไม่ชอบเหมือนสไตล์นักการเมือง ที่มักจะสบายๆ ก็ทำให้เป็นมูลเหตุหนึ่งของปรากฏการณ์ เกียร์ว่าง
ว่างชนิดที่ว่างเกิ๊น จนไฟลนก้น“ลุงตู่”กันเลย