xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” รอชัดเจนเพิ่มอำนาจศาล รธน.หยุดล้มการปกครอง จ่อคุมงบหลักสูตรองค์กรอิสระ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี(แฟ้มภาพ)
รองนายกฯ โยน กรธ.ให้มีความชัดเจนมากกว่านี้ ปมเพิ่มอำนาจศาล รธน.หยุุดการล้มล้างการปกครอง จะเป็นเครื่องมือการเมืองหรือไม่ก็ต้องช่วยตรวจสอบ ฝากเรื่องคัดคนเข้าองค์กร สังคมเชื่อใจก็ไร้ปัญหา เตรียมเชิญองค์กรต่างๆ หารือเรื่องหลักสูตร ไม่ออกกฎบังคับ แต่จะคุมเงิน อย่าให้ปัญหาลามไปถึงคนอื่น

วันนี้ (13 ม.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพิ่มอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดให้หยุดการกระทำที่เข้าข่ายการล้มล้างการปกครอง ทั้งที่ก่อนหน้านี้เคยถูกโจมตีเรื่องการใช้อำนาจ จึงเป็นห่วงจะกลายเป็นปัญหาหรือไม่ว่า คงต้องให้ กรธ.มีความชัดเจนมากกว่านี้ ส่วนกรณีศาลรัฐธรรมนูญถูกทักท้วง ก่อนหน้านี้ต้องดูว่าเป็นการทักท้วงตัวบุคคล องค์กร หรือวิธีทำงาน เพราะตัวบุคคลนั้นสามารถเปลี่ยนได้

“ผมอยากฝากว่าการจะปรับเปลี่ยนอำนาจหน้าที่อย่างไร ก็ต้องพิจารณาเรื่องการคัดเลือกคนเข้าสู่องค์กร ปฏิรูปตรงนั้นด้วย ถ้าสังคมเชื่อใจก็ไม่เป็นปัญหา ซึ่งเรื่องการคัดเลือกสมาชิกขององค์กรเช่นนี้ไม่เหมือนการแต่งตั้งทั่วไป มันมีกระบวนการของมัน ไม่มีใครจะมาล้มกระดานแล้วหาคนใหม่ที่ดีกว่าได้” รองนายกฯ กล่าว

นายวิษณุกล่าวด้วยว่า หน้าที่หลักของศาลรัฐธรรมนูญ คือชี้ผิดถูกเรื่องรัฐธรรมนูญ ส่วนจะมีหน้าที่แถมอย่างไรก็แล้วแต่ อย่างในอดีต ศาลรัฐธรรมนูญก็มีหน้าที่หลัก และหน้าที่แถมอยู่ 3-4 เรื่อง หรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีหน้าที่หลัก คือ การดูแลการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรม แต่สุดท้ายก็มีหน้าที่อื่นเพิ่มขึ้นมา เช่นเรื่องประชามติ เรื่องพรรคการเมือง เป็นการเพิ่มอำนาจเข้าไป ถ้าไม่เปิดก็ต้องตั้งองค์กรใหม่ ก็มองกันว่าจะเป็นการสิ้นเปลือง

เมื่อถามว่าการให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยเรื่องที่จะเป็นการล้มล้างการปกครอง บางฝ่ายมองว่าจะกลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง นายวิษณุกล่าวว่า หากเรายอมรับว่าต้องมีกลไกที่จะตรวจสอบเรื่องนี้ก็ต้องอยู่กับใครสักคน ส่วนจะเป็นเครื่องมือหรือไม่ ก็ต้องช่วยกันตรวจสอบองค์กรนั้น เว้นแต่จะบอกว่ากลไกอย่างนี้ไม่ต้องมีเลย ก็คือเรายอมรับให้มีการกระทำอย่างนั้น โดยไม่ต้องตรวจสอบใช่หรือไม่

นายวิษณุกล่าวถึงการจัดระเบียบหลักสูตรต่างๆ ขององค์กรอิสระว่า ตนเตรียมที่จะเชิญองค์กรต่างๆ มาหารือขอความร่วมมือ เรื่องการออกแบบหลักสูตรขององค์กรนั้นๆ เพราะระบบราชการเหมือนตลาดที่จะใช้ประโยชน์จากคนที่ผ่านการอบรมมา รวมถึงเรื่องของคุณสมบัติของผู้ที่เข้าเรียน วันนี้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เสนอมาว่า ใครเข้าหลักสูตรนี้แล้ว ถ้าจะเข้าหลักสูตรอื่นอีกต้องเว้นกี่ปี เรื่องการดูงานว่าแบบไหนจะได้ประโยชน์กว่ากัน และการทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งบางครั้งมีการลงขันกันขายบัตร และไปรบกวนคนอื่นที่ไม่ใช่ผู้ที่อยู่ในหลักสูตร เขาร้องเรียนมายังรัฐบาลเพราะขัดไม่ได้ เนื่องจากผู้อยู่ในหลักสูตรต่างเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ จะให้รัฐบาลปรามๆได้หรือไม่ ก็จะได้มีการพูดกันให้เรียบร้อย

“จะไม่มีการออกกฎระเบียบอะไรไปบังคับ เพราะรัฐบาลไม่ได้เป็นเจ้าของหลักสูตร แต่รัฐบาลคุมเงินที่ส่งคนไปเรียน เราต้องคุมตรงนี้ ใครจะควักกระเป๋าไปเรียนเองแล้วไม่กระทบเวลาราชการก็ทำได้ แต่จะให้เวลาราชการและใช้เงินรัฐบาลไปเรียน รัฐบาลก็มีสิทธิคุม แม้จะมีการเปิดหลักสูตรเฟ้อมากมาย ก็ไม่เป็นไร แต่อย่าเรียนเฟ้อ ทำกิจกรรมเฟ้อ ทำกันเองในรุ่นตัวเองไม่เป็นไร แต่อย่าให้ปัญหาลามไปถึงคนที่ไม่เกี่ยวด้วย” นายวิษณุกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น