ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ผลพวงจากกรณีการสถาปนา “ว่าที่สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์” กำลังกลายเป็นชนวนแห่งความขัดแย้ง “ครั้งใหญ่” ทั้งในหมู่ “คณะสงฆ์” เอง และ “พุทธศาสนิกชน” คนไทยเกือบทั้งประเทศ รวมถึงกำลังถูกหยิบยกนำไปขยายผลโดย “กลุ่มการเมือง” ซึ่งต้องการสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลทหารที่ปกครองประเทศอยู่ในขณะนี้
โดยเฉพาะคณะสงฆ์นั้น เห็นชัดเจนว่า มีความเคลื่อนไหวออกมาจากทั้งฝั่ง “มหานิกาย” ซึ่งพลาดตำแหน่งนี้มาถึง 2 สมัย และฝั่ง “ธรรมยุติกนิกาย”
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า เป้าของความขัดแย้งที่สำคัญอยู่ที่ “สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ)” เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ สมเด็จพระราชาคณะ ชั้นสุพรรณบัฏ ซึ่งมีคุณสมบัติได้รับการสถาปนาเป็นสกลมหาสังฆปริณายกเพียง 1 เดียว ตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 ที่บัญญัติชัดเจนว่า ผู้ที่ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช คือ สมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏที่มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ จากเดิมที่บัญญัติไว้ให้เป็นพระราชอำนาจ
เหตุผลประการสำคัญของกลุ่มที่คัดค้านสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ก็คือ ความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับ พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) หรือ พระธัมมชโย แห่งวัดพระธรรมกาย ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า เป็นความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ รวมถึงวัตรปฏิบัติอันเป็นที่กังขามากมายหลายประเด็น
ขณะเดียวกัน ก็เกิดคำถามตามมาเป็นกระบุงโกยเกี่ยวกับพฤติกรรมอันผิดปกติขององค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ไทยคือ “มหาเถรสมาคม(มส.)” ซึ่งมีสิทธิเสนอชื่อผู้ที่จะได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ เพราะการประชุมในวาระดังกล่าวดำเนินไปอย่างลับๆ ล่อๆ จนเป็นที่ผิดสังเกตว่า ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น
เมื่อ มส. ทำลับๆ ล่อๆ มีมติหนุน “สมเด็จช่วง”
วันที่ 11 มกราคม 2559
สื่อทุกสำนักและทุกแขนง รวมทั้งคนไทยทั้งประเทศเฝ้าติดตามการประชุมของมหาเถรสมาคม(มส.) ซึ่งมีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์(ช่วง วรปุญฺโญ) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชเป็นประธานอย่างใกล้ชิด เนื่องจากตั้งสมมติฐานว่า น่าจะมีการนำวาระสำคัญคือการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชเข้าสู่การพิจารณาของ มส.
ภายหลังการประชุมจบ นายประดับ โพธิกาญจนวัตร” รองโฆษกสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ก็ได้ออกมาเปิดเผยว่า ในการประชุม มส.ครั้งนี้ ไม่มีการหารือเรื่องการเสนอรายชื่อสมเด็จพระราชาคณะเพื่อทูลเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช
แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีประเด็นที่ต้องขีดเส้นใต้สองเส้นเอาไว้ เมื่อรองโฆษกสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้ออกมายอมรับว่า “มส.มีการนัดประชุมวาระลับพิเศษไปแล้วเมื่อวันที่ 5 มกราคม แต่ไม่ทราบว่าเป็นการประชุมเรื่องใด”
จากการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า การประชุม “วาระลับพิเศษ” ข้างต้นนั้น เป็นการประชุมลับเฉพาะกรรมการ มส. และที่ประชุมมีมติเสนอชื่อสมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 แล้ว โดยที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ให้เสนอชื่อสมเด็จพระราชาคณะที่มีคุณสมบัติตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 เพียงรูปเดียว ซึ่งแน่นอนว่าจะเป็นใครเสียมิได้นอกจาก สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์(ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ
โดยในการประชุมดังกล่าวมีกรรมการ มส. 2 รูปที่ไม่ได้เข้าประชุมเนื่องจากอาพาธคือสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร) เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม และสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (วีระ ภทฺทจารี) เจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม
คำถามก็คือว่า ทำไม มส.ถึงจะต้องมีการประชุมวาระลับพิเศษเกี่ยวกับเรื่องการเสนอชื่อเพื่อสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ทำไมถึงไม่มีการประชุมอย่างเปิดเผย เกรงกลัวปัญหาอะไร หรืออย่างไร เพราะในความเป็นจริงแล้ว เรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องกระทำเป็นความลับ หากแต่สมควรทำอย่างเปิดเผยเพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบ เพราะ มส.ย่อมรู้อยู่เต็มอกว่า สังคมกำลังเฝ้าจับตาเรื่องนี้อยู่อย่างไม่วางตา
ยัง....ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น
เพราะแม้จะมีข่าวเล็ดลอดออกมายืนยันว่าการประชุมลับของ มส.มีจริง แต่ก็ไม่มีกรรมการ มส. หน่วยงานใด หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องใดๆ ออกมาเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้แม้แต่เพียงรายเดียว กระทั่งเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2559 ทุกอย่างจึงได้พรั่งพรูออกมา
หรือหมายความว่า มส.ได้ประชุมลับและมีมติลับไปตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2559 แต่กว่าจะยอมรับก็ปาเข้าไปวันที่ 13 มกราคม 2559
พฤติกรรมลับๆ ล่อๆ ของ มส.ในเรื่องนี้ ความจริงถ้าจะว่าไปแล้วก็มิได้ต่างจากพฤติกรรมของนักการเมืองที่ผู้คนก่นด่ากันทั้งบ้านทั้งเมืองกับกรณี “การลักหลับ” ผ่าน “พ.ร.บ.นิรโทษกรรม” ตอนตี 3 ของสภาผู้แทนราษฎรในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
นี่หรือพฤติกรรมขององค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ไทย
นี่หรือคือพฤติกรรมของ “สงฆ์” ผู้เป็นศิษย์ของตถาคตผู้แสวงหาความหลุดพ้น
การมีมติลับในครั้งนี้ มิอาจตีความเป็นอื่นไปได้ว่า มส.ทำทุกวิถีทางเพื่อบรรลุเป้าหมายของตนเองโดยมิได้คำนึงถึงคุณธรรม และจริยธรรม อันสมควรเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ฆราวาสแม้แต่น้อย...ใช่หรือไม่
ขณะเดียวกัน ก็เป็นเรื่องที่น่าค้นหาว่า ทำไม มส.ถึงต้องปกปิดเรื่องนี้เอาไว้
13 มกราคม 2559 นายชยพล พงษ์สีดา รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ได้เปิดเผยอย่างเป็นทางการว่า มหาเถรสมาคม (มส.) ได้แจ้งมติการประชุมลับนัดพิเศษเมื่อวันที่ 5 ม.ค.2559 มายัง พศ. แล้ว โดยการประชุมนัดดังกล่าว กรรมการ มส. ซึ่งมาครบทุกรูปยกเว้นองค์ที่อาพาธ ได้ลงมติเสนอชื่อสมเด็จพระราชาคณะที่จะสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 จากนั้น ในการประชุมมส.นัดปกติเมื่อวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้รับรองมติการประชุมลับ วันที่ 5 ม.ค. เรื่องการประชุมวาระพิเศษ และเพิ่งจะแจ้งเรื่องมาทาง พศ. ซึ่งทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขาธิการของ มส.
“เจ้าหน้าที่ของ พศ. กำลังตรวจสอบความถูกต้องของถ้อยคำที่จะจัดทำเป็นมติ มส. เพื่อเสนอนายพนม ศรศิลป์ ผู้อำนวยการ พศ. ลงนาม ซึ่งโดยปกติแล้ว ผอ.พศ. จะต้องเป็นผู้ลงนามในมติ มส. ทุกเรื่อง จากนั้นจะนำเสนอไปตามขั้นตอน ผ่านทางนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแล พศ. และนายกรัฐมนตรี ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวจะเสนอโดยเร็ว”
นายชยพลระบุด้วยว่า ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่า มติ มส. เสนอสมเด็จพระราชาคณะองค์ใดเป็นสมเด็จพระสังฆราช โดยหลังจากที่นายพนม ลงนามแล้ว ถึงจะเปิดเผยชื่อได้ แต่ตามหลักการ มส. ต้องเสนอชื่อสมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ เพื่อเสนอขึ้นทูลเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช
ด้านนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2559 ว่า พศ.ได้รับมติของกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) ที่เห็นชอบเสนอนามของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เพื่อส่งถึงรัฐบาลนำความกขึ้นราบบังคมทูลฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 เรียบร้อยแล้ว และได้ทำหนังสือส่งมาให้ในฐานะรัฐมนตรีเจ้าสังกัดแล้ว ซึ่งมติของ มส.เป็นมติที่เห็นชอบร่วมกันของกรรมการ มส.ทุกรูป ไม่มีประเด็นที่เป็นข้อขัดแย้งหรือมีปัญหาในมส. ซึ่งหลังจากนี้จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนของรัฐบาล โดยเรียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่ก่อนที่ส่งให้นายกรัฐมนตรี สิ่งที่จะต้องทำเพิ่มเติมคือ จะหารือเพิ่มเติมกับ พศ. คณะสงฆ์ และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วน รอบด้าน เพียงพอที่นายกรัฐมนตรีจะพิจารณา ส่วนระยะเวลาคงบอกไม่ได้ว่าจะนานแค่ไหน แต่จะทำไปตามกระบวนการ ตามประเด็นปลีกย่อย หรือประเด็นที่มีความจำเป็นที่นายกรัฐมนตรีจะได้รับทราบ
ในขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้อรรถาธิบายเรื่องการประชุมลับประหนึ่งแก้ตัวแทน มส.เอาไว้แบบ “เนียนๆ” ว่า “ประชุมทุกครั้งก็ลับทั้งนั้น ลับหรือไม่ลับจึงไม่มีความแตกต่าง ปัญหาคือวาระที่ประชุมบอกให้คนรู้ก่อนหรือไม่ สมมติถ้าทำไปแล้วจริงอาจจะตื่นเต้นเพราะไม่คาดว่าจะเกิด อย่างนั้นอีกเรื่อง แต่ทำไมเขาต้องไปบอกใคร เพราะอย่างน้อยก็ต้องบอกกันเองไม่เช่นนั้นกรรรมการ มส.จะมาประชุมได้หรือ ส่วนจะครบองค์ประชุมหรือไม่ตนไม่ทราบ และหากมีมติใดออกมาก็สามารถเสนอมายังรัฐบาลได้ ถ้าการประชุมมีมติรับรองถูกต้องมันก็จบ จะมีอะไรไปหักไปโค่นว่าไม่ถูก”
แต่กระนั้นก็ดี ดูเหมือนว่า นายวิษณุจะมีท่าทีกลับไปกลับมาเกี่ยวกับเรื่องนี้ประหนึ่ง “ศรีธนญชัย” กล่าวคือเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2559 พูดเอาไว้ชัดเจนว่า “เรื่องนี้พระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชตามที่นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายโดยความเห็นชอบของ มส. ซึ่งจะต้องเสนอเห็นชอบสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นสมเด็จช่วง วัดปากน้ำ แล้วจะมาพูดเป็นอย่างอื่นให้มันยุ่ง ทำไม วันนี้ เราบอกสมเด็จวัดปากน้ำท่านอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ถ้าไม่ตั้ง สมเด็จวัดปากน้ำแล้วจะตั้งใคร ไม่ชอบสมเด็จวัดปากน้ำไม่ว่า แต่ถ้าไม่ตั้งแล้วไปตั้งใคร หมายถึงจะตั้งโดยให้ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งกำหนดว่าเป็นสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้”
พร้อมทั้งขยายความด้วยว่า หลายครั้งที่ตั้งสมเด็จพระสังฆราชในอดีต มีปัญหาเกือบทุกครั้ง เมื่อมีปัญหาถ้าตั้งได้ก็จบ ชอบไม่ชอบ นับถือไม่นับถือก็อยู่ในใจ ครั้งนี้ไม่ได้มีการแย่งชิง ที่มีปัญหาคือ ลูกศิษย์ที่อยากให้อาจารย์ตัวเองได้เป็น จึงควรปล่อยให้เป็นไปโดยธรรมชาติ อย่าให้มันผิดธรรมชาติ
แต่ในวันถัดมาคือวันที่ 14 มกราคม 2559 ท่าทีของนายวิษณุก็เปลี่ยนไป โดยกล่าวว่า “ เป็นไปได้ทุกอย่าง เพราะที่ผ่านมาในอดีตเมื่อครั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 7 ของไทยสิ้นพระชนม์ได้ใช้เวลาห่างจากองค์ก่อนหน้านั้น 37 ปี และเมื่อผ่านไป 2 รัชกาล คือ รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 จึงได้สถาปนาสมเด็จพระสังฆราชวัดบวรนิเวศ และเมื่อท่านเป็นสมเด็จพระสังฆราชได้ 2 ปีก็สิ้นพระชนม์ หลังจากนั้นทิ้งไปอีก 11 ปีจึงได้สถาปนาสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ดังนั้น หากจะเอาตามประเพณีแล้วก็มีทุกแบบ จึงจะมาอ้างว่าต้องเร็วหรือช้าไม่ได้ เพราะในทุกคราวต่างมีเหตุผลด้วยกันทั้งนั้น จึงต้องดูความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ดำรงตำแหน่งรักษาการสามารถปฏิบัติภารกิจทุกอย่างได้ทั้งหมด”
ไม่รู้ว่าท่าทีที่เปลี่ยนไปเช่นนี้จะเป็น “กุศโลบาย” ตามที่นายวิษณุยอมรับเอาไว้เองหรือไม่ ส่วนจะเป็นกุศโลบายเอียงข้างฝ่ายไหน อีกไม่นานคงได้รู้กัน
“ลับๆ ล่อๆ” เพื่อรอกองเชลียร์?!
สิ่งที่ต้องค้นหาประการถัดไปคือ มส.กระทำการแบบลับๆ เพื่ออะไร เพราะเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า ต้องมีเหตุผลที่ต้องทำเช่นนั้น
ทั้งนี้ หากพิจารณาความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชแล้ว นอกจากเสียงของฝ่ายค้านแล้ว ในช่วงที่ผ่านมาต้องบอกว่า เสียงของ “กองเชลียร์” ก็มาแรงไม่แพ้กัน โดยมี 2 บุคคลสำคัญที่ต้องจับตามอง
คนแรกคือ “พระเมธีธรรมาจารย์” เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย
คนที่สองคือ “นายจตุพร พรหมพันธุ์” ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)
ทั้งสองคนเคลื่อนไหวและแสดงความคิดเห็นไปในท่วงทำนองเดียวกันอย่างมีนัยสำคัญ จนมีการตั้งสมมติฐานว่า หรือการที่ มส.มีพฤติกรรมลึกๆ ลับๆ เป็นเพราะกำลังรอกองหนุนดาหน้ากันออกมาให้กำลังใจ...ใช่หรือไม่
พระเมธีธรรมาจารย์ หนึ่งในกรรมการ มส.และเป็นพระผู้ฝักใฝ่ในระบอบทักษิณ ประกาศกร้าวออกมาว่า “จากนี้ไปก็ต้องวัดใจรัฐบาลว่า จะเต้นตามกลุ่มกดดัน หรือจะยืนอยู่ข้างพระสงฆ์ทั้งประเทศ ถ้ายืนอยู่ข้างพระสงฆ์ทั้งประเทศก็ขออนุโมทนา แต่ถ้ายืนอยู่ข้างกลุ่มกดดัน คงได้เห็นจีวรพระทั่วประเทศเหลืองอร่ามกลางกรุงเทพมหานครแน่นอน”
เรียกว่า ประกาศจัดม็อบพระท้าชนถ้าหากผิดไปจากสมเด็จวัดปากน้ำกัน เลยทีเดียว
นี่หรือคือวาจาของพระที่บรรพชาอุปสมบทมาเพื่อลดละซึ่งกิเลสทั้งปวง
ท่านเจ้าคุณยังจำคำว่า “นิพฺพาน ปจฺจโย โหตุ” ได้หรือไม่
ขณะที่นายจตุพรก็ประกาศท่าทีไปในท่วงทำนองเดียวกันว่า “การจะล้มการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชนั้น จะเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อเล่นงานพระฝ่ายมหานิกาย จะกลายเป็นชนวนใหญ่ของประเทศ ใหญ่กว่าอุทยานราชภักดิ์ ใหญ่กว่าการแก้ไขปัญหาชาวสวนยาง ใหญ่กว่าการแก้ไขปัญหาชาวนา และใหญ่กว่ารถไฟไทย-จีน”
คำถามมีอยู่ว่า นายจตุพรมีเงื่อนปมในใจเกี่ยวกับเรื่องนิกายและวัดบวรนิเวศวิหารฯ ผสมโรงแฝงอยู่ด้วยหรือไม่ ทำให้มีท่าทีออกมาเยี่ยงนี้
และหลังการออกมาเคลื่อนไหวของกองหนุนไม่นาน มส.และองค์กรที่เกี่ยวข้องถึงได้ออกมายอมรับเรื่องการประชุมลับและมติลับของ มส.เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2559
แน่นอน การเคลื่อนไหวของ 2 กองเชียร์ข้างต้นถูกโยงไปเป็นเรื่องการเมืองอย่างช่วยไม่ได้ เพราะทั้งเจ้าคุณพระเมธีธรรมาจารย์และนายจตุพรล้วนแล้วแต่ยึดโยงกับคนเสื้อแดงและระบอบทักษิณทั้งสิ้น ซึ่งทำให้มีการตั้งสมมติฐานกันว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการใช้การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชในการเคลื่อนไหวทางการเมืองหลังจากก่อนหน้านี้เคยมีความพยายามมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ล้มเหลวทุกครั้งไป โดยเฉพาะครั้งล่าสุดที่ลาก “นักศึกษา” ออกมาเคลื่อนไหวตรวจสอบการทุจริตโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์
....นี่คือสิ่งที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
แกะรอยชีวิต “สมเด็จ SLOW LIFE” !?
กระนั้นก็ดี ในระหว่างที่การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชกำลังดำเนินไปตามขั้นตอนของกฎหมาย เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า พุทธศาสนิกชนคนไทยคงอยากทำความรู้จักเรื่องราวชีวิตของ “เจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์(ช่วง วรปุญฺโญ)” เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ กันบ้างไม่มากก็น้อย
เจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เกิดเมื่อวันพุธ ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2468 ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 10 ปีฉลู บ้านเลขที่ 32 ตำบลราชเทวะ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เป็นบุตรของนายมิ่งและนางสำเภา สุดประเสริฐ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 4 คนคือ
1. นายสี สุดประเสริฐ
2.สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์
3. น.ส.แฉล้ม สุดประเสริฐ
และ 4. นายจำปี สุดประเสริฐ
นอกจากนี้ ยังมีพี่น้องร่วมมารดาเดียวกันอีก 4 คนคือ 1. นางอรุณ นาคมีพิษ 2.นายบุญส่ง นาคมีพิษ 3.นางทองใบ สนั่นทุ่ง และ 4.น.ส.สังเวียน เจริญผล
เจ้าพระคุณสมเด็จฯ อุปสมบทเมื่อวันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2488 ณ พัทธสีมาวัดปากน้ำ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร นามฉายา “วรปุญฺโญ” พระครูบริหารบรมธาตุ (ป่วน เกสโร) วัดนางชี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงพ่อวัดปากน้ำ เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ ที่ พระครูสมณธรรมสมาทาน เป็นกรรมวาจาจารย์ และศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมจนสอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค (ป.ธ.๙)
พ.ศ. 2499 ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระศรีวิสุทธิโมลี
พ.ศ. 2505 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชเวที
พ.ศ. 2510 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพวรเวที
พ.ศ. 2516 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมธีรราชมหามุนี
พ.ศ. 2530 ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็นพระราชาคณะ เจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัฏ ที่ พระธรรมปัญญาบดี
พ.ศ.2538 ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏที่สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์
เกี่ยวกับงานการก่อสร้าง เจ้าประคุณสมเด็จได้ฝากผลงานเอาไว้มากมาย แต่ที่เป็นที่จับตามองและกล่าวขานถึงจนกระทั่งปัจจุบันเห็นจะหนีไม่พ้น “พระเจดีย์มหารัชมงคล” เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา ณ วัดปากน้ำ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร โดยใช้งบประมาณสามร้อยล้านบาทถ้วน
หากยังจำกันได้ พระเจดีย์มหารัชมงคลแห่งนี้เคยตกเป็นข่าวครึกโครมมาแล้ว 2 ครั้ง 2 คราด้วยกัน
เหตุการณ์แรก เกิดขึ้นเมื่อในโลกสังคมออนไลน์ได้มีการแชร์ภาพและข้อความที่เฟซบุ๊กเพจชื่อ “พลังประชาชน โค่นล้มระบบทักษิณ” ได้นำมาโพสต์ โดยเป็นภาพวาดบนฝาผนังภายในมหาเจดีย์วัดปากนํ้า ซึ่งลักษณะภาพคล้ายภาพเหมือน สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช ขณะโปรดปัญจวัคคีย์ และภาพพระปรมาภิไธย อยู่ด้านล่างภาพ ซึ่งมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม และวัตถุประสงค์ในการจัดสร้างภาพวาดฝาผนังชุดนี้
ทันทีที่ภาพดังกล่าวปรากฏ ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียต่างวิพากษ์วิจารณ์ตรงกันว่าภาพวาดดังกล่าวนั้นไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง ทั้งยังเคลือบแคลงสงสัยถึงวัตถุประสงค์ในการจัดทำ แต่ก็มีบางส่วนที่ตั้งข้อสงสัยว่าเป็นภาพตัดต่อสร้างความเสื่อมเสีย
ในขณะนั้น ทีมข่าว LIVE เครือผู้จัดการได้ลงพื้นไปยังที่วัดปากน้ำภาษี เจริญ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และพบว่า บริเวณชั้น 1 ห้องมหาชนคุณารมณ์ ภายในพระมหาเจดีย์มหารัชมงคล วัดปากน้ำภาษีเจริญ มีภาพวาดขนาดใหญ่ทอดตัวยาวหลายเมตร ลวดลายสีสันคล้ายกับภาพวาดที่กำลังแชร์ในโซเชียลมีเดีย แต่กลับไม่พบภาพสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ขณะโปรดปัญจวัคคีย์ตามที่เป็นข่าว
ทว่า มีร่องรอยทาสีขาวทับภาพวาดบางส่วนอย่างน่าสงสัย เช่นเดียวกับภาพพระปรมาภิไธยย่อ ภปร. ที่อยู่ด้านล่างภาพก็ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นการทาทับภาพวาดที่ตกเป็นเป้าวิจารณ์หรือไม่
สำหรับภาพที่เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งในภาพวาดขนาดใหญ่คล้ายภาพวาดบนผืนผ้าใบ โดยมีการนำมาใส่กรอบติดไว้บนผนังภายในห้องมหาชนคุณารมณ์ บริเวณชั้น 1 ของพระมหาเจดีย์มหารัชมงคล จากการลงพื้นที่สังเกตการณ์พบว่า เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบารมีมงคล (หลวงพ่อหยกเขียว) และสถานที่จัดแสดงพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน และสิ่งของเครื่องใช้โบราณจำนวนมาก
ไม่ว่าจะเป็น สมุดข่อย ภาพถ่ายของเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เครื่องมือเกษตรกรรม เรือ รถม้า เครื่องเบญจรงค์ เครื่องปั้นดินเผา รวมไปถึงรถยนต์โบราณ
เหตุการณ์ที่สองคือกรณีการสะสมและรถยนต์โบราณ ยี่ห้อ Mercedes Benz รุ่น W186 ปี ค.ศ.1951-1957 ทะเบียน ขม 99 โดยรถยนต์คันดังกล่าว เป็น 1 ในรถจำนวน 5,832 คัน ซึ่งในขณะนั้นกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ระบุบัญชีรายชื่อผู้ครอบครองรถยนต์ราคาแพง หรือรถยนต์ตลาดยอดนิยมในข่ายต้องสงสัยที่ดีเอสไออยู่ระหว่างการตรวจสอบเป็นรถจดประกอบหลบเลี่ยงภาษี
โดยรถคันดังกล่าวถูกจัดแสดงเอาไว้ภายในห้องมหาชนคุณารมณ์ บริเวณชั้น 1 ของพระมหาเจดีย์มหารัชมงคล
นายวิชาญ รัษฐปานะ ผู้ดูแลรถยนต์สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง สุดประเสริฐ) ยอมรับว่า เป็นรถจดประกอบจริง แต่ไม่ใช่รถที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ หากเป็นซากรถเก่าอายุประมาณ 80 ปี ที่ลูกศิษย์นำไปซ่อมปะผุ จัดซื้ออะไหล่มาประกอบขึ้นใหม่ โดยมีการเสียภาษีและนำไปจดทะเบียนที่กรมการขนส่งทางบกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ขณะที่ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษในขณะนั้นตั้งข้อสังเกตว่า “โดยปกติแล้วชาวพุทธ เวลาจะทำบุญหรือถวายของพระสงฆ์ ต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดตามความเชื่อ ไม่เข้าใจว่าทำไมเอาซากรถเก่าๆ คันละชิ้น คนละชิ้นส่วน มาประกอบเป็นคันๆ แล้วถวายท่าน คิดกันได้ยังไง ปกติที่เคยเห็นส่วนใหญ่ก็เป็นรถใหม่หรือรถสภาพดี เพราะเวลาท่านนำรถเก่าไปใช้แล้วเกิดปัญหา มันจะกลายเป็นบาปมากกว่าได้บุญ”
ด้าน พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกล่าวถึงความคืบหน้าของคดีดังกล่าวว่า อยู่ในขั้นตอนดำเนินการ ซึ่งดีเอสไอได้ส่งให้กรมศุลกากรประเมินราคา โดยได้ย้ำให้ปฏิบัติไปตามหน้าที่ไม่มีเงื่อนเวลา
แน่นอน ประเด็นเรื่องการหลีกเลี่ยงภาษีไม่ใช่สิ่งสลักสำคัญอะไร หากแต่สิ่งที่จะต้องตอบคำถามก็คือ การสะสมรถยนต์โบราณเป็นเรื่องที่สมควรต่อสมณสารูปหรือไม่ เพราะต้องไม่ลืมว่า จุดมุ่งหมายปลายทางของพระภิกษุสงฆ์ก็คือลด ละ เลิกกิเลส และไปให้ถึงซึ่งพระนิพพาน
ไม่ใช่มีชีวิต SLOW LIFE เหมือนคนทั่วไป