xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

"มีชัย-วิษณุ"มึนตึ้บ "ปรองดอง"ยังมืดแปดด้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ตามกำหนดการของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)ที่ได้วางไว้ ในวันที่ 11-17 ม.ค.นี้ กรธ.จะมีการประชุมนอกสถานที่ ที่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี เพื่อรวบรวมข้อมูลความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่มีการเสนอมา นำไปพูดคุยเพื่อหาข้อสรุปเป็นรายมาตรา ก่อนที่จะเผยแพร่เนื้อหา ร่างรัฐธรรมนูญ อย่างเป็นทางการในวันที่ 29 ม.ค. ว่ามีกี่มาตรา แต่ละมาตรามีเนื้อหาว่าอย่างไรบ้าง เพื่อรับฟังความเห็นอีกครั้ง ก่อนที่ได้ร่างตัวจริงเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมครม.

และในการประชุมระหว่างวันที่ 11-17ม.ค.นี้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. จะเปิดให้สื่อมวลชนเข้ารับฟังด้วย เพื่อจะได้นำเสนอเนื้อหา ของร่างรัฐธรรมนูญ อออกมาสู่สังคมอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ สื่อไม่เคยได้เข้าฟัง ต้องรอโฆษก กรธ. แถลงอย่างเดียว

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ ทางโฆษก กรธ.ก็ได้แถลงความคืบหน้าออกมาบ้างในบางเรื่อง บางประเด็น แต่เรื่องที่มีการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องการเข้าสู่อำนาจของฝ่ายการเมือง อย่างเช่นการเลือกตั้งส.ส. ที่มาส.ว. คุณสมบัติของรัฐมนตรี การเปิดช่องให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอกได้ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ยังเป็นเพียงกรอบ หรือข้อยุติในระดับหนึ่ง ยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์

แต่เรื่องที่เกี่ยวกับแนวทางการสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ ของคนในชาติ ทั้งนายมีชัย และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ต่างยอมรับว่า ยังคิดไม่ออกว่าจะเอายังไงกัน

เพราะในสภาพความเป็นจริงแล้ว คณะคสช.และรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาบริหารประเทศเกือบ 2 ปีแล้ว แต่คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายก็ยังคงตั้งประจัญ และหาช่องทางที่จะทำลายฝ่ายตรงข้ามอยู่ตลอดเวลา โดยฝ่ายหนึ่งคือกลุ่มของ ทักษิณ ชินวัตร และอีกฝ่ายคือ รัฐบาลทหาร บวกประชาธิปัตย์

นายมีชัย ได้พูดถึงเรื่องแนวทางการสร้างความปรองดองที่ได้บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้จินตนาการกันไกลพอสมควร และก็ยังไม่รู้ว่า จะได้ผลหรือไม่ 

" การปรองดองในวันข้างหน้า กรธ.ก็ได้เขียนไว้แล้วในหลายส่วน เช่น การเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียว ก็จะช่วยเรื่องการปรองดอง โดยทำให้ไม่มีฝ่ายใดชนะ จนอีกฝ่ายอยู่ไม่ได้ หรือ การให้อำนาจผู้นำฝ่ายค้านขอเปิดอภิปราย เสนอแนะรัฐบาล เพื่อหาทางออกให้ประเทศ หากเกิดวิกฤติการเมืองขึ้น แต่สำหรับการปรองดองจากสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ ผมยังคิดไม่ออก ไม่รู้จะนำบทสวดมนต์บทไหนไปใส่ไว้ ถึงจะเลิกขัดแย้ง อีกทั้งการปรองดอง ยังต้องอาศัยการกระทำอีกหลายอย่าง และยังต้องใช้เวลา กรธ.คงจะต้องเสนอให้รัฐบาลไปทำ"

ขนาดนายมีชัย ยังคิดไม่ออกว่าจะใช้บทสวดมนต์บทไหนเข้ามาช่วย คงต้องให้รัฐบาลรับภาระไปทำ ซึ่งความหมายก็คือ ต่อให้ใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญมาบังคับ ก็ปรองดองไม่ได้ ถ้าทั้งสองฝ่ายไม่ปฏิบัติตาม เพราะเมื่อถึงเวลาที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว ประเทศชาติกลับเข้าสู่ประชาธิปไตย ความขัดแย้งก็จะเข้าสู่วงจรแบบเดิมๆ  

สุดท้ายสรุปว่า ถ้าจะทำก็ทำเสียตอนนี้ ตอนที่นายกฯ ยังมีอำนาจตามมาตรา 44 จะตั้งคณะกรรมการปรองดอง หรือจะทำอะไรที่คิดว่าเอาอยู่ ก็ทำเสีย อย่าได้ชักช้า

คราวนี้ ลองมาฟังเสียง พล.อ.ประยุทธ์ คนถือดาบอาญาสิทธิ์ มาตรา 44 กันบ้าง ท่านบอกว่า เรื่องนี้ต้องให้ฝ่ายกฎหมาย ได้หารือกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เสียก่อนว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ และมันมีความจำเป็นแค่ไหน อย่างไร

"ส่วนตัวไม่มีอะไร ในเรื่องความปรองดอง ผมบอกแล้วไงว่า มันต้องมีการปรองดอง มีคณะกรรมการปรองดอง ที่จะทำในระยะเริ่มต้น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไปนิรโทษกรรมอะไร เอาคนเข้ามาสู่กระบวนการปรองดอง ว่ามีใครบ้าง แล้วกฎหมายมันอยู่ที่ไหน ผิดกฎหมายอะไร ตรงไหนหรือเปล่า ก็ต้องไปดู และกลั่นกรองกันอีกที แล้วจึงไปสู่ขั้นตอนต่อไป ว่าจะทำอย่างไรกันต่อ เพราะเดี๋ยวก็จะหาว่าไม่เป็นธรรมอีก อะไรก็ทำไม่ได้ทั้งนั้น หาว่าไม่เป็นธรรมทุกเรื่อง "

ความหมายคือ นายกฯประยุทธ์ ก็โยนปัญหานี้ไปให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่เป็นหัวหน้าทีมกฎหมายของรัฐบาล เป็นคนตอบว่า จะหาทางปรองดองกันอย่างไร 

แต่สิ่งที่นายวิษณุ ตอบก็คือ เรื่องการปรองดองไม่สามารถบอกได้ ว่าต้องทำอย่างไร เพราะวันนี้ก็ยังคิดไม่ออก เนื่องจากเป็นเรื่องที่อ่อนไหว ต้องรอบคอบ หลายเรื่องไม่สามารถที่จะใส่ไว้ในกฎหมายได้ เพราะเป็นเรื่องของจิตใจ เมื่อเขียนแล้วจะเหมือนการบังคับให้คนทำ และสุดท้ายก็ทำไม่ได้ และเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติตาม

ครั้นจะอาศัยอำนาจตาม มาตรา 44 มันก็จะไม่มีความยั่งยืน เพระไม่รู้ว่าจะถูกรื้อเมื่อไร และ มาตรา 44 ก็เป็นกระบวนการที่ไม่ได้ผ่านการแสดงความคิดเห็นจากหลายๆฝ่าย จึงยากที่จะได้รับการยอมรับ เมื่อเวลา และสถานการณ์เปลี่ยนไป

" ผมว่าใช้หลักอื่นที่ไม่ต้องเขียนเป็นกฎหมายจะดีกว่า เว้นแต่มีคนเสนอว่า ต้องอภัยโทษ นิรโทษกรรม ถ้าอย่างนั้นก็ต้องมีการออกกฎหมาย หรือปรองดองโดยไม่ต้องไปยุ่งกับการอภัยโทษก็ได้ และการมีอภัยโทษ หรือนิรโทษกรรม มันจะทำให้ปรองดองได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ ซึ่งนายชวน หลีกภัย อดีตนายกฯ เองก็พูดว่า ไม่เชื่อว่ามันจะปรองดองได้ ก็ต้องมานั่งคิดกันเสียก่อนว่า จะปรองดองกันได้อย่างไร ในเรื่องอะไร ส่วนเครื่องมือค่อยหาที่หลัง ผมไม่ห่วงเรื่องเครื่องมือ เมื่อตัดสินใจแล้วทำแกง ไม่ทำผัก จะคิดหาหม้อ เพราะมันใช้กระทะไม่ได้ และเรื่องนี้ก็ยังไม่ได้ฟังอะไรจากนายกฯ" นายวิษณุ กล่าว

สำหรับความเห็นของผู้ที่ไม่ได้มีอำนาจโดยตรงอย่าง นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ให้ความเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจ มาตรา 44 ก็ได้ เพียงแค่ พล.อ.ประยุทธ์ สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งมาแก้ปัญหาโดยไม่ต้องรอ เพราะเรื่องนี้เกิดจากวิเคราะห์ต้นเหตุไม่ชัดเจนว่าใครเป็นผู้ทำให้เกิดขึ้น ที่ผ่านมาแกนนำกลุ่มการเมืองปลุกระดมให้ประชาชนมาทำร้ายกัน มาเผชิญหน้าเป็นศัตรูกัน ชาวบ้านตกอยู่ในสถานะเป็นเหยื่อ รัฐบาลจึงควรแก้ไข โดยใช้กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับเดียวก็จบ นิรโทษเฉพาะคดีที่ไม่เกี่ยวกับคดีเผา อาญา ฆ่าคนตาย หรือทำการทุจริตโกงกิน

"จะปรองดองได้ ต้องแก้ที่กลุ่มการเมือง ความคิดพวกเขาคงเปลี่ยนยาก จึงควรเขียนให้ชัดในรัฐธรรมนูญ ว่า ต่อไปนี้การกระทำใดๆก่อให้เกิดการปฏิปักษ์ต่อกันในหมู่ประชาชน เป็นการกระทำต้องห้าม ผู้ใดละเมิด มีความผิดตามกฎหมาย ถ้ากรณีพรรคการเมือง หรือกลุ่มการเมือง ทำให้แตกสามัคคีต่อคนในชาติ ให้มีโทษถูกยุบพรรค หรือยุบกลุ่มการเมืองนั้นๆ หมายความว่า ต่อไปนี้จะชุมนุมได้ แต่ห้ามแกนนำปลุกระดมให้เกิดการปฏิปักษ์ในหมู่ประชาชน เช่น ปลุกระดมให้ประชาชนใส่เสื้อคนละสีฆ่ากันเอง"

ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงแนวทางการปรองดองว่า มี 2เรื่อง ที่ต้องทำคือ

1.เรื่องอนาคต ว่าจะมีวิธีการอย่างไร ไม่ให้สังคมไทยย้อนไปสู่ความขัดแย้ง แตกแยก และใช้ความรุนแรง ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการควบคุมไม่ให้ใช้อำนาจโดยมิชอบ ไม่จำกัดพื้นที่การแสดงออก จนคนต้องไปปะทุบนท้องถนน และการป้องกันไม่ให้มีการปลุกระดมให้ใช้ความรุนแรง หรือเกลียดชังโดยใช้ข้อมูลเท็จ ซึ่งเชื่อมโยงถึงการปฎิรูปสื่อ การปฏิรูปการทุจริต คอร์รัปชัน การปฎิรูประบบราชการ ซึ่งไม่สามารถพึ่งกรรมการเพียงชุดเดียวที่จะให้คำตอบทั้งหมดได้

2. เรื่องอดีต ที่ควรทำให้จบ โดยการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้เฉพาะประชาชนผู้เข้าร่วมชุมนุมโดยบริสุทธิ์ และมีความผิดเล็กน้อย ส่วนที่เหลือให้เข้าสู่กระบวนกรยุติธรรมตามปกติ จึงไม่มีความจำเป็นต้องมีคณะกรรมการชุดใดขึ้นมาอีก อยากให้คสช.และรัฐบาล เร่งดำเนินการในทันที

ส่วนแนวทางที่จะให้มีการตั้งคณะกรรมการปรองดองนั้น เชื่อว่าไม่ได้ผล ตัวอย่างมีมาแล้ว อย่างกรรมการอิสระเพื่อความปรองดอง ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน เมื่อศึกษาจนได้ข้อสรุปออกมาแล้ว ก็มีบางฝ่ายไม่ยอมรับ หรือบางเรื่องที่คณะกรรมการพยายามผลักดัน ก็ไม่ได้การตอบสนอง

ดังนั้นจึงสนับสนุนให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ประชาชนโดยเร็ว เพราะที่ผ่านมามีการจับประชาชนเป็นตัวประกัน พ่วงกับผู้ที่กระทำผิดกฎหมายร้ายแรงมาโดยตลอด ซึ่งนายชวน หลีกภัย อดีตนายกฯ ก็พูดชัดเจนว่า ถ้าความปรองดองไปมุ่งตอบสนองคนแค่กลุ่มเดียว ปัญหาก็ไม่จบเพราะไม่ใช่ปัญหาความขัดแย้งส่วนบุคคล แต่เป็นการต่อสู้ในเชิงความคิด ดังนั้นการแก้ปัฐหาให้คนกลุ่มเล็กๆ ไม่ได้ช่วยอะไรเลย

"อย่าไปคิดเรื่องตั้งกรรมการอะไร ให้คสช.และรัฐบาล กำหนดแผนออกมาเลยว่าจะนิรโทษกรรมให้ใครบ้าง ที่เหลือก็เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ส่วนการป้องกันในอนาคต ก็ทำเรื่องการปฎิรูปสื่อ ปฏิรูปตำรวจ และด้านต่างๆ" 
 
จากความคิดอันหลากหลายนี้ เห็นทีว่า ความคาดหวังที่จะเห็นคนในชาติปรองดองกันได้ เมื่อมีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ คงเป็นไปได้ยาก


กำลังโหลดความคิดเห็น