ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -แนวคิดที่จะนิรโทษกรรมให้ผู้กระทำความผิดระหว่างการชุมนุมของคนเสื้อแดง ภายใต้การชักใย ของนายทักษิณ ชินวัตร ยังคงไม่หนีหายไปไหน แม้จะเคยมีบทเรียนจากการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมในยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนทำให้เกิดสถานการณ์วุ่นวายและนำไปสู่การรัฐประหารมาแล้วก็ตาม
ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ที่ผ่านมา นายสมพงษ์ สระกวี แกนนำคนเสื้อแดง ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) ด้านการเมือง ได้กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาแนวทางการนิรโทษกรรม ของคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ว่า ไม่ได้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาเรื่องการนิรโทษกรรมทางการเมืองแล้ว แต่เปลี่ยนเป็น กมธ.ด้านการเมืองดำเนินการแบบเต็มคณะ เพื่อทำเรื่องปรองดองและนิรโทษกรรม โดยประเด็นดังกล่าวจะเริ่มพิจารณาในช่วงหลังปีใหม่
นายสมพงษ์บอกว่า การพิจาณาเรื่องนี้จะทำคู่ไปกับศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแนวทางสร้างความปรองดอง ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เบื้องต้นจะประเมินจากทุกฝ่าย รวมถึงแนวทางที่คณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ที่มีนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธาน
นายสมพงษ์อ้างอีกว่า กำลังแลกเปลี่ยนข้อมูลในเรื่องดังกล่าวกับ กอ.รมน.อยู่ ซึ่งรัฐบาลมีแนวทางนิรโทษกรรม และสร้างความปรองดองให้เสร็จก่อนการเลือกตั้งในปี 2560 นาทีนี้ทุกคนอยากให้มีการนิรโทษกรรม แต่ไม่ใช่สุดโต่งไปทางใดทางหนึ่ง ต้องนิรโทษทุกฝ่าย ยกเว้นแกนนำ แต่หากสถานการณ์บ้านเมืองดีขึ้น และคดีต่าง ๆ ตัดสินแล้ว ก็ค่อยมาว่ากันอีกทีว่าจะนิรโทษให้แกนนำอย่างไร
ทั้งนี้ แนวคิดที่จะเสนอให้มีการนิรโทษกรรมนั้น นายสมพงษ์ได้ประกาศจุดยืนตั้งแต่วันแรกที่เข้ารายงานตัวเป็น สปท.ในวันที่ 6 ตุลาคม 2558 โดยบอกว่า การเข้ามาเป็น สปท.ครั้งนี้ไม่ได้มาในนามพรรคเพื่อไทย แต่มาในฐานะที่เคยช่วยงานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองของ สปช.ที่มี นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธาน พร้อมประกาศว่า จะมาเดินหน้าผลักดันเรื่องการนิรโทษกรรมให้สำเร็จ เพราะเป็นหนทางเดียวที่ทำให้เกิดความปรองดอง จะให้นิรโทษกรรมเฉพาะประชาชนไม่เกี่ยวกับแกนนำและคดีทุจริต คดีตามมาตรา 112
นายสมพงษ์ยังบอกอีกว่า ในส่วนประชาชนที่ต้องโทษคดีเผาบ้านเผาเมืองก็ควรอยู่ในข่ายได้รับการนิรโทษกรรมด้วย โดยอ้างว่า เคยมีการนิรโทษกรรมให้นักศึกษาที่เผาทำลายสถานที่ราชการ ในเหตุการณ์ วันที่ 14 ต.ค. 2516 และ 6 ต.ค.2519 และเหตุการณ์เดือนพฤษภาฯ 2535 มาแล้ว
ทั้งนี้ นายสมพงษ์ยืนยันว่า ตนยังมีความเป็นคนเสื้อแดงในหัวใจอยู่ และยังรักคนเสื้อแดงอยู่เหมือนเดิม แม้ว่ากลุ่ม นปช.และพรรคเพื่อไทยบางส่วนจะไม่พอใจที่ตนมาเป็น สปท.ก็ตาม พร้อมย้ำว่า ที่มาเป็น สปท. ก็เพราะอยากมาผลักดันเรื่องการนิรโทษกรรม เพราะขณะนี้มีคดีที่เกี่ยวกับกลุ่มพันธมิตรฯ และคนเสื้อแดงค้างคาอยู่ถึง 6,000 คดี บางส่วนก็ติดคุกอยู่ จึงต้องมาผลักดันเรื่องนี้
การเสนอแนวทางนิรโทษกรรมของนายสมพงษ์ ซึ่งเปิดทางไปสู่การนิรโทษกรรมให้บรรดาแกนนำผู้สั่งการไว้ด้วยนั้น ประจวบเหมาะกับช่วงเวลาที่นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข หนึ่งในแกนนำพรรคเพื่อไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ออกมาเสนอแนะต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ให้มีการตั้งรัฐบาลแห่งชาติ หลังจากการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วเสร็จ โดยให้ คสช.ตรวจสอบประวัติของนักการเมืองแต่ละคนที่เป็นคนดีและเก่ง เป็นที่ยอมรับของประชาชนมาเป็นรัฐมนตรี แล้วให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ เหมือนเดิม เพื่อกำกับดูแลนโยบายอย่างเคร่งครัด บริหารประเทศและแก้ปัญหาของบ้านเมืองให้เป็นไปตามโรดแม็ป
นายปรีชาอ้างว่า สาเหตุที่บ้านเมืองวุ่นวายมาจนถึงทุกวันนี้ เกิดจากนักการเมืองชิงดีชิงเด่นกัน สร้างความเสียหายแก่บ้านเมืองจนเกิดการปฏิวัติมาโดยตลอด และหากมีการเลือกตั้งอีกก็จะกลับสู่วงจรเดิม คือ ถูกปฏิวัติอีก ดังนั้นทางออกของประเทศมีทางเดียว คือ ตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ให้ทุกฝ่ายและทุกพรรคการเมือง มาร่วมกันแก้ไขปัญหาของประเทศและสร้างความปรองดอง หากไม่ทำแบบนี้รับรองประเทศไทยเดินหน้าต่อไปไม่ได้
ข้อเสนอของนายปรีชา ถูก พล.อ.ประยุทธ์ปฏิเสธ พร้อมยืนยันว่าจะไม่มาเป็นนายกรัฐมนตรีให้นักการเมืองอีก หลังจากนั้น แกนนำพรรคเพื่อไทยหลายๆ คน ก็ออกมาปฏิเสธว่า แนวคิดการตั้งรัฐบาลแห่งชาตินั้นเป็นความเห็นส่วนตัวของนายปรีชาเพียงคนเดียวไม่ใช่แนวทางของพรรค
อย่างไรก็ตาม มีข้อสงสัยจากหลายฝ่ายว่า นี่เป็นความเห็นส่วนตัวของนายปรีชาเพียงคนเดียวจริงหรือไม่
นายถาวร เสนเนียม อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตแกนนำ กปปส.ให้ความเห็นว่า โดยส่วนตัวเห็นว่ารัฐบาลแห่งชาติไม่ใช่ทางออกในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง อีกทั้งจะเกิดปัญหาการตีความคำว่ารัฐบาลแห่งชาติ ที่แต่ละกลุ่มแต่ละพรรคยังเข้าใจไม่ตรงกัน ปัญหาก็จะเกิดขึ้นอีกว่าจะแค่ไหน
นายถาวรยังบอกอีกว่า มีข่าวมาว่ามีการต่อรองของคนแดนไกลกับผู้ใหญ่ใน คสช.เพื่อไม่ให้น้องสาวของตัวเองถูกดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม เพราะไม่แน่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร จึงมีการเสนอแนวทางรัฐบาลแห่งชาติเพื่อปูทางไปสู่การนิรโทษกรรมในอนาคต เท็จจริงอย่างไรขอให้ คสช.ตรวจสอบด้วย ที่สำคัญต้องตอบให้ได้ว่าประชาชนได้ประโยชน์อะไรจากรัฐบาลแห่งชาติ หรือใคร พรรคใดได้ประโยชน์
ณ เวลานี้ คงฟันธงได้แล้วว่า รัฐบาลแห่งชาติจะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่เรื่องที่ยังวางใจไม่ได้ ก็คือการนิรโทษกรรม ที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะออกลูกไหนกันแน่
นายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกตกรณีนายสมพงษ์ สระกวี จะผลักดันการปรองดองนำไปสู่การนิรโทษกรรมว่า นายสมพงษ์ไม่มีสิทธิ์พูดในเรื่องนี้ เพราะถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จึงมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับข้อเสนอเรื่องปรองดอง และการนิรโทษกรรม เนื่องจากตัวเองถือเป็นส่วนหนึ่งของต้นตอที่สร้างความขัดแย้งนี้ที่ใช้วาทกรรมทำให้ชาวบ้านเข้าใจผิดและใช้ความศรัทธาของประชาชนเป็นเหยื่อทางการเมือง ดังนั้นอย่าใช้ความขัดแย้งเป็นเครื่องมือในการเสนอสิ่งที่จะเป็นผลประโยชน์ให้ตัวเองและพวกพ้อง
นายสาธิตบอกอีกว่า ตามหลักของระบอบประชาธิปไตยการที่มีความเห็นต่างไม่ใช่ความขัดแย้ง แต่กลับมีการใช้เรื่องความเห็นต่างไปยุยงให้เกิดการใช้ความรุนแรงจนเกิดเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมือง พฤติกรรมนายสมพงษ์ตรงกับรายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ ( คอป.) ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน หน้า 160 - 170 หมิ่นเหม่ว่าจะถูกดำเนินคดีด้วยซ้ำไป
หลังเข้าสู่ปีใหม่ 2559 การพิจารณาแนวทางการนิรโทษกรรม ของ กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สปท. จึงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่าให้คลาดสายตา ไม่เช่นนั้น อาจจะมีการสอดไส้แอบแฝงเพื่อให้คนบางคนได้ประโยชน์ด้วยอย่างแน่นอน