พรรคประชาธิปไตยใหม่ ค้านระบบเลือกตั้งใช้คะแนนผู้แพ้นำมาคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หวั่นพรรคเล็กเสียเปรียบ เหตุส่งผู้สมัคร ส.ส.เขตไม่ครบทั้งหมด ด้าน “เพื่อไทย” ส่ง 10 ข้อเสนอแนะให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ชงห้ามนิรโทษผู้ล้มล้างรัฐธรรมนูญ-ภายใน 180 วันหลังเลือกตั้งค้องร่าง รธน.ฉบับใหม่
วันนี้ (4 พ.ย.) นายสุรทิน พิจารณ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ เข้ายื่นความเห็นต่อการทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต่อกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ผ่าน พล.อ.นิวัฒน์ ศรีเพ็ญ กรธ. โดยมีเนื้อหาที่สำคัญ คือ 1. ระบบเลือกตั้ง เห็นว่าควรให้มี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และ ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกพรรคการเมืองเข้ามีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ และเป็นไปตามความเคยชินของประชาชน กรณีที่พิจารณาระบบเลือกตั้งแบบใหม่ที่จะนำคะแนนของผู้แพ้ในเขตเลือกตั้งมาคำนวณเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อนั้นอาจมีปัญหาความได้เปรียบ และเสียเปรียบของพรรคการเมืองขนาดใหญ่และขนาดเล็ก เพราะทุกพรรคการเมืองไม่สามารถส่ง ส.ส.ได้ครบทุกเขตเลือกตั้ง เนื่องจากมีปัญหาเรื่องเงินทุน วิธีดังกล่าวนั้นเชื่อว่าจะเกิดพรรคการเมืองนอมินีแน่นอน 2. พรรคการเมือง ควรตั้งองค์กรพัฒนาการเมือง เพื่อให้องค์กรดังกล่าวดูแลทุกพรรคการเมืองที่เข้าสังกัดมากกว่าให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดูแล และให้องค์กรดังกล่าวที่ประกอบทุกพรรคการเมือง มีการกำกับดูแลกันเอง นอกจากนั้นแล้วในองค์กรพัฒนาการเมือง ควรประกอบด้วย 73 พรรคการเมือง, กองทุนพัฒนาพรคการเมืองที่มีงบประมาณเหลือ 5,000 ล้านบาท และสภาพัฒนาการเมือง และ 3. ประชาชนที่เป็นคนไทยและมีบัตรประชาชนต้องได้สิทธิประกันตัวเองในศาล โดยมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 50,000 บาท
ขณะที่ เมื่อวานนี้ (3 พ.ย.) พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ส่งหนังสือเรื่อง “ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของพรรคเพื่อไทย ต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ” ต่อนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยมีเนื้อหาทั้งหมดดังนี้
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของพรรคเพื่อไทย ต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (3 พฤศจิกายน 2558)
พรรคเพื่อไทยได้รับฟังและรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ จากสมาชิกของพรรค โดยจำแนกเป็น 3 ประเด็นใหญ่ๆ คือ 1) ทำไมต้องจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 2) รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องตอบโจทย์อะไร 3) รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรมีและไม่ควรมีเนื้อหาสาระอะไร
1. ทำไมจึงต้องจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ - คำถามในประเด็นนี้เกิดขึ้นตั้งแต่การยึดอำนาจการปกครองและล้มล้างรัฐธรรมนูญ 2540 นั่นคือเมื่อมีการยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนเมษายน 2549 ซึ่งเป็นกระบวนการปกติของระบอบประชาธิปไตยเพื่อให้ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยตัดสินใจ พรรคการเมืองบางพรรคกลับไม่ยอมส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง และไปถึงขั้นเรียกร้องให้ใช้ ม.7 ของรัฐธรรมนูญ 2540 เพื่อขอให้มีการโปรดเกล้าฯ นายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงไม่เห็นด้วย จนนำไปสู่การแก้ไขปัญหานอกบริบทประชาธิปไตย เกิด “ตุลาการภิวัฒน์” เพื่อล้มล้างการเลือกตั้ง และในที่สุดก็ต้องใช้วิธีการรัฐประหารในเดือนกันยายน โดยคณะรัฐประหารได้ให้เหตุผลในการยึดอำนาจไว้ตอนหนึ่งในคำปรารภของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 ว่า “... ปัญหาความขัดแย้งในมวลหมู่ประชาชนที่ ถูกปลุกปั่นให้แบ่งแยกเป็นฝักเป็นฝ่าย จนเสื่อมสลายความรู้รักสามัคคีของชนในชาติอันเป็นวิกฤตการณ์รุนแรงทางสังคม แม้หลายภาคส่วนจะได้ใช้ความพยายามแก้ไขวิกฤติการณ์ดังกล่าวแล้ว แต่ก็ยังไม่เป็นผล กลับมีแนวโน้มว่าจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น จนถึงขั้นใช้กำลังเข้าปะทะกันซึ่งอาจมีการสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อได้ นับว่าเป็นภยันตรายใหญ่หลวงต่อระบอบการปกครอง ระบบเศรษฐกิจและความสงบเรียบร้อยของประเทศ ...”
แต่แทนที่การแก้ปัญหาด้วยการรัฐประหารจะสถาปนาระบอบประชาธิปไตยให้เข้มแข็งและตกผลึกยิ่งขึ้น กลับตั้งเป้าไปที่การเล่นงานหัวหน้าพรรคและพรรคไทยรักไทยเพื่อให้ล่มสลายไป จึงเกิดการตั้งทั้ง คตส.และป.ป.ช. ตลอดจนออกประกาศคณะรัฐประหารให้ลงโทษย้อนหลังตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยทุกคน โดยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ตั้งโดยคณะรัฐประหารดำเนินการวินิจฉัยให้ แม้จะมีผู้ถูกกล่าวหาเพียง 2 คน แต่คนอื่นๆ อีก 99 คน ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นแต่อย่างใด ไม่เคยได้รับแจ้งข้อหาหรือมีโอกาสต่อสู้คดีเลย กลับต้องถูกลงโทษตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เพราะมีการยุบพรรคไทยรักไทยและแม้ต่อมาศาลฎีกายกฟ้องผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีไปแล้วก็ตาม
มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งให้ ส.ว.ประมาณครึ่งหนึ่งมาจากการสรรหา ไม่ใช่จากการเลือกตั้งทั้งหมดเช่นรัฐธรรมนูญ 2540 มีการให้อำนาจและกำหนดที่มาขององค์กรอิสระต่างๆ และศาลรัฐธรรมนูญ ให้อยู่ในกลุ่มบุคคลที่ต่อต้านพรรคไทยรักไทยอย่างชัดแจ้งเป็นหลัก มีการแก้ไขระบบเลือกตั้งเสียใหม่ให้มี ส.ส.เขต 400 คน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ 80 คน โดยแบ่งเป็น 8 กลุ่มจังหวัด ไม่ใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้งเช่นรัฐธรรมนูญ 2540 การนำบทบัญญัติในประกาศของคณะรัฐประหารที่ให้ตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการ บริหารพรรคในกรณีพรรคถูกยุบ มาบัญญัติไว้ ฯลฯ ทั้งหมดก็เพื่อกันไม่ให้กลุ่มพรรคไทยรักไทยเดิมมีโอกาสชนะการเลือกตั้งอีก รัฐธรรมนูญ 2550 ถูกต่อต้านและวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากจากสังคม จนผู้จัดให้มีและผู้ร่างขอให้รับไปก่อนและไปแก้ไขภายหลังเพื่อให้มีการเลือก ตั้งโดยเร็ว
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการเลือกตั้งในเดือนธันวาคม 2550 พรรคพลังประชาชนซึ่งสืบทอด ต่อจากพรรคไทยรักไทยก็ชนะการเลือกตั้งมาเป็นอันดับหนึ่ง ได้ ส.ส.เกือบครึ่งหนึ่ง คือ 233 คน จาก 480 คน และได้เป็นรัฐบาล แต่ก็มีความพยายามโค่นล้มทั้งในและนอกสภา มีการบุกยึดสถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง 11 กระทรวงการคลัง ทำเนียบรัฐบาล จนในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยในเดือนกันยายน 2551 ให้นายสมัคร สุนทรเวช พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพราะร่วมรายการ “ชิมไปบ่นไป” นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมามีการบุกปิดล้อมรัฐสภาจนถึงปิดสนามบินสุวรรณภูมิ ในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรค คือ พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาธิปไตยในเดือนธันวาคม 2551 กรรมการบริหารพรรคทั้ง 3 พรรคต้องถูกตัดสิทธิเลือกตั้งหรือสิทธิทางการเมืองคนละ 5 ปี ตามรัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นใดๆ และไม่ได้รับแจ้งข้อหา หรือมีสิทธิต่อสู้คดีแต่อย่างใดเช่นเดิม
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อมา โดยอาศัยเสียงสนับสนุนที่แตกออกมาจากพรรคพลังประชาชนและเกิดเหตุการณ์ต่อต้านรุนแรงในเดือนเมษายน 2552 และ 2553 ครั้งหลังนี้มีผู้เสียชีวิต 99 คน บาดเจ็บมากกว่า 2,000 คน จนนำไปสู่การยุบสภาผู้แทนราษฎรในเดือนพฤษภาคม 2554 แต่ก่อนยุบสภาฯ รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ได้ผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องระบบเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2554 โดยให้ ส.ส.เขตมีจำนวน 375 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อมี 125 คน ยกเลิกการแบ่งบัญชีรายชื่อแบบ 8 กลุ่มจังหวัดและให้ใช้เขตประเทศเช่นรัฐธรรมนูญ 2540
หลังการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยซึ่งสืบทอดมาจากพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชนได้รับชัยชนะโดยได้จำนวน ส.ส.มากกว่าครึ่งหนึ่งและได้จัดตั้งรัฐบาลโดยมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี การบริหารงานของรัฐบาลเป็นไปด้วยความยากลำบากเพราะถูกต่อต้านจากองค์กรต่างๆ เหมือนเหตุการณ์ในอดีตแทบทุกประการ ศาลบางศาล องค์กรอิสระหลายองค์กรไม่ได้ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาตามหลักนิติธรรม และไม่ว่ารัฐบาลหรือองค์กรหรือบุคคลใดจะถูกกล่าวหาร้ายแรงเพียงใด ศาลและองค์กรอิสระก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนไปตามกรอบของประชาธิปไตยและกติกาของบ้านเมืองโดยปราศจากอคติ มีการบุกยึดสถานที่ราชการต่างๆ แบบเดิม จนมีการยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 คราวนี้พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งอีก กลุ่มต่อต้านรัฐบาลก็ขัดขวางการเลือกตั้งทุกวิถีทางจนนำไปสู่ความรุนแรงมีคนตายและบาดเจ็บ และมีการประกาศปิดหรือ shut down กรุงเทพมหานคร หลายองค์กรซึ่งเป็นหน่วย งานของรัฐไม่ว่าจะเป็นศาลบางศาลหรือแม้แต่หน่วยงานด้านความมั่นคง กลับไม่ทำหน้าที่รักษากฎหมายอย่างที่พึงกระทำ ความขัดแย้งที่แสดงออกมานอกกรอบของกฎหมายจึงดำรงอยู่ทั่วไปและดูเหมือนว่า ประเทศไทยจะเดินไปไม่ได้
ในที่สุดก็มีการรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557 โดยคณะรัฐประหารให้เหตุผลว่ากระทำไป “เพื่อให้สถานการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ประชาชนในชาติเกิดความรัก ความสามัคคี ตลอดจนเพื่อปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและอื่นๆ เพื่อให้เกิดความชอบธรรมกับทุกฝ่าย” และยังมีประกาศฉบับที่ 33/2557 ขอความร่วมมือในการปฏิบัติของศาล องค์กรอิสระและองค์กรอื่น ในการงดแสดงความคิดเห็นที่อาจจะทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด มีความสับสนหรือเกิดการแตกความสามัคคี ซึ่งดูจากเหตุผลดังกล่าว คณะรัฐประหารน่าจะมีความมุ่งหมายเพื่อสร้างความปรองดองและความเป็นธรรมให้กับสังคม ดังนั้นคณะกรรมาธิการฯ จะต้องยึดหลักการนี้เป็นหลักในการร่างรัฐธรรมนูญ
2. รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องตอบโจทย์อะไร - แม้ว่าสมาชิกพรรคเพื่อไทยจะเสียใจและผิดหวังกับการยึดอำนาจในเดือนกันยายน 2549 และเดือนพฤษภาคม 2557 และเห็นว่าการยึดอำนาจทั้งสองครั้งเป็นการทำให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขต้องสะดุดหยุดลง ไม่เกิดความต่อเนื่องที่จะให้เกิดการตกผลึกในกติการัฐธรรมนูญและปล่อยให้ระบอบประชาธิปไตยซึ่งถือประชาชนเป็นใหญ่แก้ปัญหาต่างๆ ของสังคม เช่นที่เกิดขึ้นในประเทศประชาธิปไตยทั้งหลายซึ่งล้วนผ่านวิกฤตการณ์ที่รุนแรงทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมทั้งสิ้น แต่ทุกคนก็พยายามให้โอกาสและหวังว่าการยึดอำนาจและการจัดให้มีรัฐธรรมนูญใหม่จะเป็นไปในทางที่ถูกที่ควร มุ่งแก้ปัญหาแท้จริงที่เกิดขึ้น สร้างความยุติธรรมและความปรองดองสมานฉันท์ที่เป็นรูปธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่มุ่งสืบทอดอำนาจของกลุ่มที่ไม่ปรารถนาประชาธิปไตยและไม่เชื่อมั่นศรัทธาในวิจารณญาณของประชาชน
ดังนั้น จึงได้นำข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้าและคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เกี่ยวกับความแตกแยกของสังคมไทย เสนอต่อคณะกรรมาธิการฯ และยังเสนอด้วยว่า รัฐธรรมนูญเป็นกติกาที่ต้องการการดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดการตกผลึกทั้งในความเข้าใจและการปฏิบัติของประชาชนในสังคม เช่น สหรัฐอเมริกาที่ใช้มาตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 228 ปี โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมเป็นครั้งคราวตามแนวคิดและสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่เปลี่ยนไป ซึ่งแม้ช่วง 83 ปีที่ผ่านมาของประเทศไทยจะมีรัฐธรรมนูญทั้งฉบับถาวรและชั่วคราวถึง 19 ฉบับ มีการรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญถึง 13 ครั้ง มีความพยายามล้มล้างรัฐธรรมนูญอีก 11 ครั้ง แต่ก็มีหลายประเด็นที่สังคมไทยได้ตกผลึกไปแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2538 (63 ปีนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 2475) เช่น 1) นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. 2) ประธานรัฐสภาต้องเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร 3) ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบต่อประชาชนผ่านพรรคการเมือง ไม่ใช่การรวมกลุ่มต่อรองผลประโยชน์กับทุกฝ่าย ทั้งนี้เพื่อให้พรรคการเมืองเข้มแข็งมีจุดยืน ไม่ใช่ใครให้ประโยชน์มากก็ไปร่วมหรือสนับสนุน 4) การไม่ให้มีผู้สมัคร ส.ส.แบบอิสระหรือรวมตัวกันเป็นกลุ่มการเมืองต่างๆ ทั้งนี้โดยการวางกรอบไว้ในกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง
นอกจากนี้ สมาชิกพรรคเพื่อไทยก็เห็นด้วยว่ารัฐธรรมนูญ 2540 ที่ถือเป็นฉบับ ประชาชนฉบับแรกและฉบับเดียวโดยมีนายบวรศักดิ์ฯ เป็นแกนนำคนสำคัญในการยกร่างเช่นครั้งนี้ ได้ทำให้หลักการที่ตกผลึกแล้วมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยการเสริมสร้างระบบตรวจสอบที่ดีขึ้น ที่มา ส.ว.ก็เคารพอำนาจอธิปไตยของประชาชน คือต้องมาจากการเลือกตั้งแบบเสรี ที่มาของ ส.ส.ก็สะท้อนบริบทของสังคมไทยดีขึ้น ด้วยการให้ ส.ส.ส่วนใหญ่มาจากเขตเลือกตั้ง (400 คน) และส่วนน้อยมาจากระบบบัญชีรายชื่อ (100 คน) จนเกิดถ้อยคำสำหรับระบบบัญชีรายชื่อว่า “พรรคเลือกคน ประชาชนเลือกพรรค” เพื่อให้พรรคเสนอบุคลากรที่มีความสามารถ ต่อประชาชนผู้เลือกตั้งโดยตรงและเมื่อเลือกทั้ง 2 แบบจึงเกิดถ้อยคำว่า “เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ” เนื่องจากประชาชนผู้เลือกตั้งอาจชอบผู้สมัครในเขตเลือกตั้งซึ่งสังกัดพรรค การเมืองหนึ่งและชอบนโยบายของอีกพรรคหนึ่ง ขณะเดียวกัน ผู้ร่างรัฐธรรมนูญขณะนั้นก็มุ่งสานต่อการตกผลึกในอดีต คือ ทำอย่างไรจะได้รัฐบาลที่เข้มแข็ง ประกอบด้วยพรรคการเมืองน้อยพรรค ไม่ใช่รัฐบาลผสม 6-7 พรรคที่อ่อนแอ อยู่ได้เพียงปีเศษๆ ก็มีการเปลี่ยนแปลงเพราะพรรคใหญ่ที่เป็นแกนนำของรัฐบาลต้องฟังและยอมการต่อรองผลประโยชน์จากพรรคเล็กอยู่ตลอดเวลา ไม่เช่นนั้นพรรคเล็กก็จะไปร่วมกับพรรคใหญ่ฝ่ายค้าน นโยบายที่แต่ละพรรคหาเสียงไว้แทบไม่ได้รับการนำไปปฏิบัติ เพราะต้องเอามาผสมปนเปกันไปหมด ทิศทางการบริหารประเทศจึงไม่ชัดเจนและไร้ประสิทธิภาพ
ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ 2540 จึงกำหนดให้การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ทำได้ยากกว่าปกติและต้องเสนอชื่อผู้จะเป็นนายกรัฐมนตรีใหม่ด้วย ซึ่งประเด็นนี้ก็ไม่มีใครคาดถึงมาก่อนว่าพรรคไทยรักไทยจะได้ ส.ส.ถึง 377 คนจาก 500 คน หรือมากกว่า 75% จนเกิดวาทกรรม “เผด็จการรัฐสภา” ขึ้น แต่ก็ต้องเข้าใจข้อเท็จจริงให้ถูกต้องด้วยว่ารัฐธรรมนูญ 2540 ไม่ได้ทำให้พรรคไทยรักไทยได้เสียงเกิน 75% แต่เป็นเรื่องนโยบายในการหาเสียงและการตกผลึกในความเข้าใจของประชาชนว่า เขาต้องการรัฐบาลที่เข้มแข็งมากกว่ารัฐบาลผสมในอดีตที่เขาแทบไม่ได้รับการตอบสนองอย่างเป็นรูปธรรมเท่าที่ควร ตรงกันข้ามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องเป็นกลไกที่ช่วยส่งเสริมให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง เช่น การให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคและการให้เงินอุดหนุนพรรค
ในหลักการแล้ว ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ได้สานต่อหลักการที่ตกผลึกแล้วอย่างชาญฉลาดและเป็นผลดีในระยะยาวต่อพัฒนาการประชาธิปไตยของสังคมไทย เพราะเมื่อประชาชนเข้าใจและตกผลึกในระบบและกลไกที่เพิ่มเติมเข้ามา การบริหารจัดการประเทศในทุกด้านก็จะเดินไปอย่างต่อเนื่อง มีทิศทางที่ชัดเจน มีประสิทธิภาพ ทุกสถาบันมีความมั่นคง ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ทั้งนี้ในส่วนที่มีข้อบกพร่องก็ต้องปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสม เช่น การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี อาจกำหนดจำนวน ส.ส.ที่จะเข้าชื่อให้น้อยลง เพื่อให้การตรวจสอบในสภาผู้แทนฯ เป็นไปได้ เป็นต้น
ปัญหาของพัฒนาการประชาธิปไตยตลอด 83 ปีผ่านมาก็คือ การที่คนบางกลุ่มไม่อดทนและยอมรับว่ากติกาประชาธิปไตยในรูปของรัฐธรรมนูญ ต้องการการตกผลึกของประชาชนในสังคม คนเหล่านี้มักจะคิดว่ามีปัญหา ก็ควรให้พวกตนแก้ไข แทนที่จะปล่อยให้ระบบแก้ไขตัวมันเอง
ดังนั้น โจทย์สำคัญที่ต้องตอบก็คือ
หนึ่ง ต้องให้เกิดการปรองดองสมานฉันท์ซึ่งเป็นปัญหาเฉพาะหน้าในปัจจุบัน
สอง ต้องสานต่อสิ่งที่ได้ตกผลึกไปแล้ว
สาม ต้องให้เกิดความต่อเนื่องของการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะมีวิกฤตใดเกิดขึ้นก็ตาม
3. รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรมีและไม่ควรมีเนื้อหาสาระอะไร - ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้กล่าวบ่อยครั้งว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องมีความเป็นสากล ขณะเดียวกันก็ต้องผสานความเป็นไทยเข้าไปด้วย และจะมีเนื้อหาไม่มาก รายละเอียดจะไปอยู่ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูก เพื่อให้รัฐธรรมนูญมีความกระชับ ซึ่งสมาชิกพรรคส่วนใหญ่เห็นด้วยในความคิดเห็นดังกล่าว โดยมีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมดังต่อไปนี้
1) รัฐธรรมนูญที่มีความเป็นสากลคือ รัฐธรรมนูญที่ถือว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน และให้ประชาชนมีสิทธิในการตัดสินใจ ทั้งในการเลือกตั้งทุกรูปแบบและการมีส่วนร่วมอื่นๆ เช่น การลงประชามติ การเสนอร่างรัฐธรรมนูญ ร่างกฎหมาย ฯลฯ อย่างแท้จริง องค์กรที่ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ศาลหรือองค์กรอิสระ ล้วนต้องมาจากประชาชนหรือเชื่อมโยงกับประชาชน
2) การจัดความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรต่างๆ ในรัฐธรรมนูญตามหลักสากล ต้องเป็นไปอย่างมีดุลยภาพ มีความรับผิดชอบและถูกตรวจสอบได้ ไม่ให้องค์กรหนึ่งองค์กรใดอยู่เหนือองค์กรอื่น หรือกลายเป็นรัฐธรรมนูญเสียเอง หรือการกำหนดให้ฝ่ายบริหารอ่อนแอ จนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น เช่น หากมีศาลรัฐธรรมนูญที่ประกอบไปด้วยผู้พิพากษาตุลาการเป็นส่วนใหญ่ ทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดปัญหาระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญและปัญหาอื่นๆ ตามรัฐธรรมนูญแล้วเป็นที่สุด ไม่อาจถูกตรวจสอบได้ ปราศจากการมีส่วนร่วมขององค์กรอื่นๆ ก็อาจนำมาซึ่งผลประหลาด ทำให้เกิดความรู้สึกสองมาตรฐาน ดังนั้นจึงควรให้เป็นองค์กรในลักษณะ “คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ” ที่มีตัวแทนของทั้งนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ องค์กรอิสระเข้าร่วม พร้อมกับผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากระบบราชการและภาคเอกชน เพื่อให้ปัญหาที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญได้รับการพิจารณาอย่างรอบด้าน อันจะสร้างความเข้าใจ เกิดการยอมรับและตกผลึกในสังคมต่อไป
3) คำว่า “ต้องมีความเป็นไทย” หรือเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นไปตามหลักสากล แต่ต้องสอดคล้องกับ “ความเป็นไทย” เป็นคำพูดที่ดูดี แต่ยากที่จะบอกว่าแบบไทยๆ คืออะไร และใครเป็นคนบอก และหากแบบไทยๆ ขัดกับหลักสากล จะทำอย่างไร ดังนั้น วิถีที่ดีที่สุดและอธิบายได้ดีที่สุดคือ การพิจารณาจากวิวัฒนาการของรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมา ทั้งที่มีที่มาแบบประชาธิปไตยและแบบเผด็จการ ทั้งแบบถาวรและชั่วคราว ซึ่งจะเห็นได้ว่า “แบบไทยๆ” คือ วิธีการยึดอำนาจ การสร้างรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ให้ผู้ยึดอำนาจมีอำนาจสูงสุดกว่าประชาชนและ สถาบันใด มีอำนาจทั้งนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ สามารถใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจ การสร้างองค์กรและกลไกต่างๆ ขึ้นมาในรัฐธรรมนูญฉบับถาวรเพื่อให้ตนและพวกพ้องสามารถสืบทอดอำนาจได้ การร่างรัฐธรรมนูญก็ใช้บุคคลที่ไม่เคยมีจุดยืนแบบประชาธิปไตยและยอมรับใน วิถีแห่งประชาธิปไตยที่ประชาชนคือผู้ตัดสินใจ เป็นต้น ทั้งหมดนี้ขัดกับหลักสากลโดยชัดแจ้ง และมีแต่จะสร้างความแตกแยก ขัดแย้ง ซึ่งบ่อยครั้งในอดีตทำให้เกิดวิกฤตการณ์ที่ทำให้ประชาชนล้มตายเป็นจำนวนมาก เพื่อต่อสู้ให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่แท้จริง เช่น กรณี 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519, พฤษภาคม 2535 ฯลฯ
ดังนั้น “แบบไทยๆ” จึงควรหมายถึง สถาบันและกลไกที่ได้รับการยอมรับและตกผลึกเป็นเวลานานในช่วง 83 ปีที่ผ่านมา โดยไม่ขัดแย้งกับหลักสากล เช่น การที่นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง ประธานรัฐสภาต้องมาจากประธานสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องสังกัดพรรคการเมือง การมีคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ประกอบด้วยตัวแทนจากฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการและองค์กรอื่นๆ ตามรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่ตีความและวินิจฉัยปัญหาต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ ระบบเลือกตั้งที่ประชาชนเข้าใจง่ายและสัมผัสได้ที่เคยปฏิบัติมาแล้ว
4) การบัญญัติให้ทุกองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม เป็นสิ่งที่ดีและควรสานต่อ แต่ต้องมีวิธีการให้ประชาชนเข้าใจว่าหลักนิติธรรมที่ถูกต้องและเป็นสากลคืออะไร หลักนิติธรรมที่ถูกบิดเบือนเป็นอย่างไร ต้องกำหนดให้มีระบบและกลไกตรวจสอบทุกองค์กรในรัฐธรรมนูญและทุกกลไกของรัฐ เช่น ต้องมีระบบตรวจสอบศาลและองค์กรอิสระที่ไม่ทำหน้าที่ให้ถูกต้องตามหลักนิติธรรม อาทิ การให้ประชาชนฟ้องร้องและวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาได้ ถ้าเป็นไปโดยสุจริตและในทางวิชาการ การกำหนดให้บุคลากรระดับสูงของฝ่ายตุลาการและองค์กรอิสระ ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณะ รวมถึงข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับกลางขึ้นไปทุกคนด้วย ไม่ใช่กำหนดแต่รัฐมนตรีและสมาชิกรัฐสภาเช่นที่ผ่านมา การรายงานผลการดำเนินงานของศาลและองค์กรอิสระต่อรัฐสภา เป็นต้น
5) ต้องไม่กำหนดเนื้อหาหรือกลไกใดที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมโดยเด็ดขาด เช่น การกำหนดว่าการนิรโทษกรรมตนเองของคณะรัฐประหาร รวมถึงการใช้อำนาจและกระทำใดๆ ไม่ว่าของบุคคลใดที่เกี่ยวกับการรัฐประหาร ตลอดจนที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เป็นที่สุด ห้ามฟ้องร้องดำเนินคดี เพราะเท่ากับยอมรับว่าหากผู้กระทำผิดกฎหมายถึงขั้นล้มล้างรัฐธรรมนูญและการปกครอง ซึ่งเป็นความผิดร้ายแรงที่สุด สามารถบังคับให้ประชาชนต้องยอมรับว่าที่พวกตนทำผิดกฎหมาย ให้ถือว่าถูกกฎหมาย ซ้ำยังชอบด้วยรัฐธรรมนูญเสียอีก และให้เป็นที่สุดห้ามฟ้องร้อง และไม่ต้องรับผิดใดๆ จึงเท่ากับเป็นการยุยงและสนับสนุนให้มีการล้มล้างรัฐธรรมนูญ สถาบันต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญและการปกครองได้ตลอดเวลา แม้จะทำให้มีผู้คนล้มตายหรือบ้านเมืองเสียหายเพียงใดก็ตาม
ต้องทำให้เห็นในครั้งนี้ว่า การบัญญัติในลักษณะที่กล่าวมาข้างต้นในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ เป็นการสอพลอของพวกนักกฎหมายและนักคิดที่รับใช้เผด็จการและเห็นแก่ประโยชน์ ของพวกพ้อง มากกว่าของประชาชน ทั้งยังขัดกันเองในแง่ที่ว่า ผู้ยึดอำนาจการปกครองได้สำเร็จย่อมเป็น “รัฏฐาธิปัตย์” ทำไมจะต้องมานิรโทษกรรมตนเองอีก
ดังนั้น จึงต้องกำหนดในรัฐธรรมนูญ ห้ามการนิรโทษกรรมแก่ผู้ล้มล้างรัฐธรรมนูญและสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่นที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 และต้องกำหนดให้บทบัญญัติเช่นนี้ เป็นประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
6) เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญที่มีความชอบธรรมสูงสุดและอยู่ได้ยาวนาน ต้องกำหนดในร่างรัฐธรรมนูญนี้ว่า เมื่อมีการเลือกตั้งแล้วภายใน 180 วันหรือ 1 ปี ต้องให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญโดยตรงทั่วประเทศ มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ภายในระยะเวลาที่เหมาะสม เช่นภายใน 1 ปี จากนั้นไปทำประชามติ หากผ่าน ก็ไปสู่การบังคับใช้ตามรัฐธรรมนูญฉบับนั้นต่อไป ซึ่งจะเป็นฉบับแรกและฉบับเดียวของประเทศไทยที่ร่างโดยประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และเห็นชอบโดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งประเทศ ความชอบธรรมจะมีสูง ยากแก่การล้มล้าง ยิ่งถ้ามีบทบัญญัติห้ามนิรโทษกรรมผู้ล้มล้างรัฐธรรมนูญ บวกเข้าไปด้วย
7) การตัดสิทธิเลือกตั้งนักการเมืองหรือบุคคลใดก็ตามที่ถูกศาลพิพากษาถึงที่สุดว่าประพฤติมิชอบหรือทุจริตการเลือกตั้ง เป็นสิ่งที่ชอบด้วยเหตุผล แต่ต้องชัดเจนว่ากรณีนั้นๆ เกิดขึ้นตามระบบปกติ ไม่ใช่ผลพวงของการรัฐประหาร และบุคคลผู้ถูกตัดสิทธิต้องถูกดำเนินคดีโดยชอบ นั่นคือต้องได้รับแจ้งข้อหา มีโอกาสต่อสู้ชี้แจงในกระบวนการพิจารณาทุกขั้นตอน และต้องถูกศาลที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรง พิพากษาว่ากระทำผิด ทั้งจะต้องไม่กำหนดให้เป็นโทษย้อนหลัง คือ ต้องบังคับใช้กับบุคคลนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญใช้บังคับ มิเช่นนั้นก็จะขัดกับหลักนิติธรรม ซึ่งถือว่าการออกกฎหมายย้อนหลังเป็นโทษไม่ว่าในทางอาญาหรือไม่ จะกระทำไม่ได้ มิเช่นนั้นสถานะทางกฎหมายของบุคคลจะไม่แน่นอน
8) เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยและความมั่นคงต่อเนื่องของรัฐธรรมนูญ ตกผลึกให้เป็นวัฒนธรรมการเมืองและวิถีแห่งสังคมไทย ควรกำหนดไม่ให้บุคคลที่แสดงตนไม่ว่าทางความคิดเห็นหรือการกระทำใดโดยชัดแจ้งว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยและการดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องของรัฐธรรมนูญ หรือได้ตำแหน่งหรือผลประโยชน์ใดๆ จากการรัฐประหาร ดำรงตำแหน่งใดๆ ในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้เพราะรัฐธรรมนูญทุกฉบับจะบัญญัติว่า “บุคคลมีหน้าที่รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” และ “บุคคลผู้เป็นข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ต้องวางตนเป็นกลางทางการเมืองในการปฏิบัติหน้าที่”
9) การที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญประสงค์จะร่างรัฐธรรมนูญให้มีความกระชับ ไม่ลงรายละเอียดที่ปลีกย่อยเกินไป นับว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องให้มีความชัดเจนและตรงไปตรงมาในหลักการและกรอบต่างๆ มิเช่นนั้นผู้ที่จัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูก อาจอาศัยความไม่ชัดเจนและการซ่อนเงื่อน ไปกำหนดในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูก จนไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยที่เป็นสากล หรือไปแฝงการสืบทอดอำนาจและการเล่นพรรคเล่นพวกในการแต่งตั้งองค์กรอิสระบาง องค์กรในกฎหมายเหล่านั้นได้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจึงต้องใช้ความระมัดระวังและความรอบคอบอย่างยิ่ง
10) การปฏิรูปประเทศเป็นสิ่งสำคัญ แต่ต้องทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ว่า การปฏิรูปเป็นขบวนการปกติของทุกองค์กรและทุกสังคมที่จะต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไป ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปด้วยการเพิ่มหรือลดองค์กร เพิ่มกลไก เพิ่มหรือลดบุคลากร จัดระบบการเงินการคลังให้มีประสิทธิภาพขึ้น นำระบบไอทีเข้ามาใช้ให้มากขึ้น นำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ให้เหมาะสมขึ้น ฯลฯ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่การจะปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาไปอย่างยั่งยืนนั้น ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการรับฟังซึ่งกันและกัน การวิพากษ์ตนเอง การยอมรับที่จะปรับปรุงตนเอง การไม่ใช้อคติและการมีท่าทีที่ดีต่อกัน ดังนั้นการจะสร้างคณะกรรมการที่เกี่ยวกับการปฏิรูปใดๆ ขึ้นมา หรือสร้างองค์กรต่างๆ ขึ้นอีกมาก ต้องถามว่าบุคลากรมาจากไหน จะทำหน้าที่บนพื้นฐานที่กล่าวมาได้หรือไม่ ถ้าบุคลากรมาจากบุคคลที่ได้ประโยชน์จากการรัฐประหาร หรือมาจากองค์กรต่างๆ ที่เกิดจากการรัฐประหาร จะเป็นไปได้หรือ และจะไม่ถูกมองว่าสืบทอดอำนาจหรือ ขอให้เชื่อมั่นว่าคนไทยทุกคนรักบ้านเมืองและรักสถาบันสูงสุดของสังคม หากเลือกฝ่ายหนึ่ง กีดกันหรือแกล้งอีกฝ่ายหนึ่ง สังคมจะดำรงอยู่ไม่ได้ ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย การปรองดองสมานฉันท์ที่แท้จริงจึงจะเกิดขึ้นได้
ความแตกแยกทั้งหมด ทางสถาบันพระปกเกล้า และ คอป.ได้ศึกษาและสรุปไว้หมดแล้ว ปัญหาสำคัญที่สุด คือ ความอยุติธรรม การกล่าวอ้างสถาบันและสื่อเลือกข้าง รัฐธรรมนูญใหม่อาจแก้ปัญหาเหล่านี้โดยตรงไม่ได้ทั้งหมด แต่อย่าให้กลายเป็นเครื่องมือชิ้นใหม่ เพื่อให้ความขัดแย้งบานปลายมากไปกว่านี้
พรรคเพื่อไทยหวังว่า คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะทำหน้าที่อย่างไม่มีอคติ ยึดหลักการที่เป็นสากลและวัฒนธรรมการเมืองแบบไทยที่ตกผลึกแล้วโดยสอดคล้องกับหลักสากล และพรรคเพื่อไทยจะให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเมื่อมีความคืบหน้าในการดำเนินการของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเป็นระยะๆ ต่อไป เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญที่ดีและเหมาะสมสำหรับสังคมไทย