xs
xsm
sm
md
lg

"ปรองดอง"อยู่ที่ใจไม่ใช่กฎหมาย ชงนิรโทษกรรมแทนใช้มาตรา44

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแนวคิดของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. เสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ใช้อำนาจตาม มาตรา 44 ตั้งคณะทำงานสร้างความปรองดอง ว่า ตนได้อธิบายสื่อมวลชน ที่ถามว่า ระหว่างการใช้ มาตรา 44 การออกฎหมาย และการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ อะไรดีกว่ากัน ตนได้ตอบไปในหลักการกว้างๆว่า ถ้าเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็พะรุงพะรัง ถ้าใช้ มาตรา 44 อำนาจนี้มันไม่ยั่งยืน เพราะถึงเวลาเลือกตั้งขึ้นมา ปรองดองกันยังไม่เสร็จ คสช. ก็ไปแล้ว แล้วยังใช้มาตรการนี้ต่อไป โดยที่การปรองดองยังไม่สิ้นสุด มันก็ไม่มีเครื่องมือแล้ว การใช้พระราชบัญญัติ จึงดีที่สุด แต่ในที่สุดแล้วไม่ว่าใช้อะไรก็ตาม การปรองดองสำคัญที่ใจ ถ้าใจคิดปรองดอง มันไม่ต้องมีอะไรมารองรับก็ได้
" เว้นแต่การปรองดองมีคนเสนอว่า ต้องอภัยโทษ นิรโทษกรรม ถ้าออกอย่างนั้น ก็ต้องมีการออกฎหมายแล้ว หรือปรองดองโดยไม่ต้องไปยุ่งกับการอภัยโทษก็ได้ และการมีอภัยโทษ หรือนิรโทษกรรม มันจะทำให้ปรองดองได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ ซึ่งนายชวน หลีกภัย อดีตนายกฯ เองก็พูดว่า ไม่เชื่อว่ามันจะปรองดองได้ ก็ต้องมานั่งคิดกันเสียก่อนว่า จะปรองดองกันได้อย่างไร ในเรื่องอะไร เครื่องมือค่อยหาที่หลัง ผมไม่ห่วงเรื่องเครื่องมือ " นายวิษณุ กล่าว

**"สมบัติ"ชงนิรโทษฯแทนใช้ ม. 44

นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจ ม. 44 ก็ได้ เพียงแค่ พล.อ.ประยุทธ์ สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งมาแก้ปัญหาโดยไม่ต้องรอ เพราะเรื่องนี้เกิดจากวิเคราะห์ต้นเหตุไม่ชัดเจน ว่าใครเป็นผู้ทำให้เกิดขึ้น ที่ผ่านมาแกนนำกลุ่มการเมืองปลุกระดมให้ประชาชนมาทำร้าย เผชิญหน้า เป็นศัตรูกัน ชาวบ้านตกอยู่ในสถานะเป็นเหยื่อ รัฐบาลจึงควรแก้ไข โดยใช้กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับเดียวก็จบ นิรโทษฯ เฉพาะคดีที่ไม่เกี่ยวกับคดีเผา อาญา ฆ่าคนตาย หรือทำทุจริตโกงกิน
"จะปรองดองได้ต้องแก้ที่กลุ่มการเมือง ความคิดพวกเขาคงเปลี่ยนยาก จึงควรเขียนให้ชัดในรัฐธรรมนูญว่า ต่อไปนี้การกระทำใดๆ ก่อให้เกิดการปฏิปักษ์ต่อกันในหมู่ประชาชน เป็นการกระทำต้องห้าม ผู้ใดละเมิดมีความผิดตามกฎหมาย ถ้ากรณีพรรคการเมือง หรือกลุ่มการเมือง ทำให้แตกสามัคคีต่อคนในชาติ ให้มีโทษถูกยุบพรรค หรือยุบกลุ่มการเมืองนั้นๆ หมายความว่า ต่อไปนี้จะชุมนุมได้ แต่ห้ามแกนนำปลุกระดมให้เกิดการปฏิปักษ์ในหมู่ประชาชน เช่น ปลุกระดมให้ประชาชนใส่เสื้อคนละสี ฆ่ากันเอง" นายสมบัติ กล่าว

** "มาร์ค"เชื่อตั้งกก.ปรองดองไม่ได้ผล

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า รัฐบาลควรหยิยปัญหาออกมาให้ชัดใน 2 เรื่องที่ต้องทำ คือ
1.เรื่องอนาคต ว่าจะมีวิธีการอย่างไร ไม่ให้สังคมไทยย้อนไปสู่ความขัดแย้งแตกแยกใช้ความรุนแรง ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการควบคุมไม่ให้ใช้อำนาจโดยมิชอบ ไม่จำกัดพื้นที่การแสดงออก จนคนต้องไปปะทุบนท้องถนน และการป้องกันไม่ให้มีการปลุกระดมให้ใช้ความรุนแรงหรือเกลียดชังโดยใช้ข้อมูลเท็จ ซึ่งเชื่อมโยงถึงการปฎิรูปสื่อ การปฎิรูปการทุจริตคอร์รัปชัน การปฎิรูประบบราชการ ซึ่งไม่สามารถพึ่งกรรมการปรองดองเพียงชุดเดียวที่จะให้คำตอบทั้งหมดได้
2. เรื่องอดีต ที่ควรทำให้จบ โดยการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้เฉพาะประชาชนผู้เข้าร่วมชุมนุมโดยบริสุทธิ์ และมีความผิดเล็กน้อย ส่วนที่เหลือให้เข้าสู่กระบวนกรยุติธรรมตามปกติ จึงไม่มีความจำเป็นต้องมีคณะกรรมการชุดใดขึ้นมาอีก อยากให้ คสช.และรัฐบาลเร่งดำเนินการทันที
เมื่อถามว่า หากมีการตั้งคณะกรรมการ ตามมาตรา 44 ขึ้น จะทำให้เสมือนมีอำนาจรัฐฎาธิปัตย์หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ต้องดูคำสั่งว่ามีรายละเอียดอย่างไร แต่ปัญหาคือ เมื่อใดที่มีกรรมการ กรรมการก็จะตกเป็นเป้า สมัยรัฐบาลยุคตน เคยตั้งกรรมการอิสระที่มี นายคณิต ณ นคร เป็นประธาน ตอนแรกมีเสียงเกี่ยงงอนบ้าง ต่อมาทุกฝ่ายยอมรับ แต่เมื่อผลออกมา ก็มีบางฝ่ายไม่ยอมรับ หรือบางเรื่องที่นายคณิต พยายามผลักดันก็ไม่ได้การตอบสนอง
ฉะนั้น หากตั้งกรรมการขึ้นมา ในที่สุดก็จะกลับไปสู่สภาพเช่นนี้ ตนจึงสนับสนุนให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ประชาชนโดยเร็วเพราะที่ผ่านมามีการจับประชาชนเป็นตัวประกันพ่วงกับผู้ที่กระทำผิดกฎหมายร้ายแรงมาโดยตลอด ซึ่งนายชวน หลีกภัย อดีตนายกฯ ก็พูดชัดเจนว่า ถ้าความปรองดองไปมุ่งตอบสนองคนแค่กลุ่มเดียวปัญหาก็ไม่จบ เพราะไม่ใช่ปัญหาความขัดแย้งส่วนบุคคล แต่เป็นการต่อสู้ในเชิงความคิด ดังนั้นการแก้ปัญหาให้คนกลุ่มเล็กๆ ไม่ได้ช่วยอะไรเลย
กำลังโหลดความคิดเห็น