รองนายกฯ แจงหากชะลอตั้งพระสังฆราชใหม่ ไม่ใช่เพราะกระแส ต้องเป็นเหตุผลที่สังคมฟังขึ้น ชี้ช่องชะลอได้ตาม ม.7 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ รับยังไม่รู้ มส.เอายังไง เผยกรรมการสอบคดีข้าว “ยิ่งลักษณ์” ปัดสอบพยานเพิ่ม กำลังช่งต่อกรรมการว่าด้วยความผิดแพ่งเรื่องค่าเสียหายอยู่ที่กรรมการชุด 2 ฟ้องเอกชนอายุความถึง กพ. ไม่รอ จนท.รัฐ ย้ำปรองดองใช้ พ.ร.บ.ดีที่สุด ท้ายสุดสำคัญที่ใจ ไม่ห่วงเรื่องเครื่องมือ
วันนี้ (7 ม.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เรียกร้องให้ชะลอการการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ออกไปก่อนเนื่องจากมีกระแสคัดค้านว่า หากจะชะลอต้องตอบว่าเป็นเพราะอย่างอื่น ไม่ใช่เพราะกระแส หากตอบว่าอะไรก็ตามที่ต้องชะลอเพราะกระแสอย่างนั้นจะต้องชะลอหมด เพราะจะมีคนสร้างกระแสขึ้นมาทุกเรื่อง ดังนั้น หากจะต้องชะลอก็ต้องเข้าใจว่าเป็นเพราะเหตุผลอื่นที่ต้องฟัง แล้วสังคมฟังขึ้น เนื่องจากเรื่องนี้เกี่ยวกับสังคม ไม่ใช่ว่าฟังขึ้นกันอยู่ในผู้ออกคำสั่งเอง
ผู้สื่อข่าวถามว่า ใครจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะชะลอหรือไม่ชะลอ นายวิษณุกล่าวว่า ตามมาตรา 7 ใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 การชะลอทำได้ เพราะมีขั้นตอนอยู่ 3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 เรียกว่า เป็นอำนาจของมหาเถรสมาคม (มส.) ซึ่งเขาจะประชุมกันเมื่อไรก็ได้ ไม่ประชุมก็ได้ เสนอก็ได้ ไม่เสนอก็ได้ แต่ถ้าไม่มาจากเขามันเดินต่อไม่ได้ ขั้นตอนที่ 2 หาก มส.ประชุมแล้ว เสนอมาที่นายกฯ เป็นขั้นตอนของนายกฯ แต่นายกฯไม่ใช่ว่าได้รับอะไรมาแล้วเสนอไปหมดและไม่ใช่ว่าทันที แต่ต้องมีการตรวจสอบ กรณีของสมเด็จพระสังฆราชไม่ได้แต่งตั้งเหมือนกับข้าราชการหรือรัฐมนตรี เพราะการแต่งตั้งข้าราชการ รัฐมนตรี ที่ถ้านำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายและทรงลงพระปรมาภิไธยลงมาถือว่าจบ แต่กรณีของสมเด็จพระสังฆราชนั้นยังมีขั้นตอนอีก โดยภายหลังทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วจะต้องมีการประกาศสถาปนาและมีพระราชพิธี โดยสมเด็จพระสังฆราชจะมีพระฐานานุกรมหลายรูปซึ่งต้องตั้งพร้อมกัน ต้องมีอาลักษณ์อ่านประกาศ ตลอดจนต้องประกอบพระราชพิธีในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามหรือในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย แล้วการที่จะเรียกคนมาที่พระที่นั่งฯ จะต้องมีวโรกาส ทั้งหมดคือสิ่งที่นายกฯ เมื่อได้รับมาจาก มส.จะต้องคิด และขั้นตอนที่ 3 คือ เป็นขั้นตอนของพระราชอำนาจ
เมื่อถามว่า กำหนดการประชุมของ มส.ในวันที่ 11 ม.ค.ยังเป็นเหมือนเดิมหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า วันนี้รัฐบาลยังไม่ได้รับอะไรมาสักอย่าง ยังไม่รู้เลยว่าเขาจะเอาอย่างไร
นายวิษณุกล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการเรียกค่าเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีว่า ทราบว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ยื่นพยานเพิ่มเติม แต่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดในโครงการรับจำนำข้าวในส่วนของกระทรวงการคลังเห็นว่าจะยืดยาว เพราะพยานบางคนว่างเดือน ก.พ.หรือ มี.ค.เลยไม่ต่อเวลาให้ ขณะนี้คณะกรรมการฯ กำลังทำงาน ก่อนส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการว่าด้วยการรับผิดทางแพ่ง ซึ่งเป็นคณะกรรมการชุดที่ 2 อย่างไรก็ตาม ใครที่มีรายชื่อเป็นพยานยังสามารถส่งข้อมูลเป็นเอกสารมาได้ ขณะที่การดำเนินเรียกค่าเสียหายของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงฯ ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ เรื่องยังอยู่ที่คณะกรรมการชุดที่สองอยู่ ส่วนการดำเนินการกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าวที่มีอายุความ 1 ปี ถึงเดือน ก.พ.นี้ มีเจ้าหน้าที่ดูแลอยู่ โดยไม่ได้ดำเนินการเรียกรับผิดทางละเมิด เพราะไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ แต่จะมีการฟ้องในความผิดฐานละเมิดตามอายุความ โดยไม่ต้องรอในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐแต่อย่างใด
นายวิษณุกล่าวถึงแนวคิดตั้งคณะกรรมการปรองดองว่า ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังไม่ได้สั่งการอะไรเพิ่มเติม สิ่งที่ตนอธิบายไปเป็นการตอบคำถามสื่อมวลชนที่ถามว่า ระหว่างการใช้มาตรา 44 การออกฎหมายและการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญอะไรดีกว่ากัน ตนได้ตอบไปในหลักการกว้างๆ ว่า ถ้าเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญก็พะรุงพะรัง ถ้าใช้มาตรา 44 อำนาจนี้มันไม่ยั่งยืน เพราะถึงเวลาเลือกตั้งขึ้นมา ปรองดองกันยังไม่เสร็จ คสช.ก็ไปแล้ว แล้วยังใช้มาตรการนี้ต่อไป โดยที่การปรองดองยังไม่สิ้นสุด มันก็ไม่มีเครื่องมือแล้ว การใช้พระราชบัญญัติจึงดีที่สุด แต่ในที่สุดแล้ว ไม่ว่าใช้อะไรก็ตาม การปรองดองสำคัญที่ใจ ถ้าใจคิดปรองดองมันไม่ต้องมีอะไรก็ได้มารองรับ
“เว้นแต่การปรองดองมีคนเสนอว่า ต้องอภัยโทษ นิรโทษกรรม ถ้าออกอย่างนั้นก็ต้องมีการออกฎหมายแล้ว หรือปรองดองโดยไม่ต้องไปยุ่งกับการอภัยโทษก็ได้ และการมีอภัยโทษ หรือนิรโทษกรรม มันจะทำให้ปรองดองได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ ซึ่งนายชวน หลีกภัย อดีตนายกฯ เองก็พูดว่าไม่เชื่อว่ามันจะปรองดองได้ ก็ต้องมานั่งคิดกันเสียก่อนว่าจะปรองดองกันได้อย่างไร ในเรื่องอะไร เครื่องมือค่อยหาที่หลัง ผมไม่ห่วงเรื่องเครื่องมือ เมื่อตัดสินใจแล้วทำแกง ไม่ทำผัก จะคิดหาหม้อ เพราะมันใช้กระทะไม่ได้ และเรื่องนี้ต้องยังไม่ได้ฟังอะไรจากนายกฯ” นายวิษณุกล่าว