ผู้จัดการรายวัน 360 - “ประยุทธ์” ขอดูสถานการณ์แต่งตั้ง “สมเด็จพระสังฆราช” องค์ใหม่ ถ้ายังขัดแย้งก็ไม่เหมาะสม ด้าน “วิษณุ” ติงอย่าทำตามกระแส ชี้ 3 ช่องเบรกขั้นตอนตั้งองค์ใหม่ “ไพศาล” ยัน มส.อำนาจไม่เบ็ดเสร็จ จวกพวกจ้องวิ่งราว ลั่นนายกฯมีสิทธิ์พิจารณาก่อนทูลเกล้าฯ แขวะ “สังฆราชองค์ใหม่” ต้องไม่มีปมหนีภาษี-สะสมทรัพย์สิน ขณะที่ “หลวงปู่ฯ” ปูด DSI มีมติเอกฉันท์รับรองพระวินิจฉัยของ “สมเด็จญาณฯ” ให้ปาราชิก “ธัมมชโย” จี้ 3 หน่วยงานรีบดำเนินการ ก่อนโดน ม.157
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ยื่นหนังสือถึงประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ชะลอการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ ที่มหาเถรสมาคมจะประชุมกัน ในวันที่ 11 ม.ค.นี้ เนื่องจากผิดขั้นตอนกฎหมายว่า ต้องดูสถานการณ์ และข้อกฎหมาย รวมไปถึงความเหมาะสม หากยังมีปัญหามีความขัดแย้งอยู่ก็ต้องทำให้คลี่คลายให้ได้ก่อน
** เผย 3 ขั้นตอนเบรกตั้งสังฆราช
ด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หากจะชะลอการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชต้องมีเหตุผลอย่างอื่น ไม่ใช่เพราะกระแส ตามมาตรา 7 ในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 การชะลอทำได้ 3 ขั้นตอน คือ 1.เป็นขั้นตอนของมหาเถรสมาคม (มส.) ซึ่งหากไม่มีการเสนอชื่อ กระบวนการก็เดินต่อไม่ได้ 2.เป็นขั้นตอนของนายกฯ ที่หาก มส.ประชุมแล้วเสนอมาที่นายกฯ ก็ต้องมีการตรวจสอบก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ และกรณีของสมเด็จพระสังฆราชไม่ได้แต่งตั้งเหมือนกับข้าราชการหรือรัฐมนตรี ที่ถ้านำขึ้นทูลเกล้าฯและทรงลงพระปรมาภิไธยลงมาถือว่าจบ ส่วนสมเด็จพระสังฆราชนั้นภายหลังทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วก็จะต้องมีการประกาศสถาปนาและมีพระราชพิธี โดยสมเด็จพระสังฆราชจะมีพระฐานานุกรมหลายรูป ซึ่งต้องตั้งพร้อมกัน ต้องมีอาลักษณ์อ่านประกาศ ตลอดจนต้องประกอบพระราชพิธีในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามหรือในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย แล้วการที่จะเรียกคนมาที่พระที่นั่งฯจะต้องมีวโรกาส ทั้งหมดคือ สิ่งที่นายกฯต้องพิจารณาเมื่อได้รับเรื่องมาจาก มส. และ 3.เป็นขั้นตอนของพระราชอำนาจ
** พศ.เผย กม.ไม่กำหนดเวลา
นายพนม ศรศิลป์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ในฐานะเลขาธิการ มส.กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯไม่ได้กำหนดเวลาในการให้ มส.เสนอรายชื่อสมเด็จพระราชาคณะที่อาวุโสสุงสุดโดยสมณศักดิ์ ไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช อย่างไรก็ตามแม้ในกฎหมายไม่ได้กำหนดระยะเวลา แต่ทาง มส.จะดูเวลาตามความเหมาะสมตามโบราณราชประเพณีที่เคยประพฤติปฏิบัติกันมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติ
“การเสนอรายชื่อสมเด็จพระราชาคณะนั้น ต้องผ่านความเห็นชอบจาก มส.ก่อน เพื่อเสนอไปยังนายกฯ ก่อนที่นายกฯจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งในการประชุม มส.วันที่ 11 ม.ค. ในวาระปกติ จะยังไม่มีการนำเรื่องนี้เข้าหารือ” นายพนม กล่าว
** “ไพศาล” ชี้ต้องไม่มีตำหนิหนีภาษี
นายไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว มีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า อย่าคิดว่าเคยวิ่งราวชิงอำนาจสมเด็จพระสังฆราชสำเร็จมาหนหนึ่งแล้วจะทำซ้ำได้อีก เพราะครั้งที่สมเด็จพระญาณสังวรฯปฏิบัติพระภารกิจในพระอุโบสถวัดบวรฯมีแก๊งวิ่งราว ตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ถือเป็นบาปนัก มาครั้งนี้ทำท่าจะวิ่งราวอีก เพราะกำลังหลอกว่าการตั้งสมเด็จพระสังฆราช เป็นอำนาจของ มส.ที่ต้องเลือกตามอาวุโสโดยสมณศักดิ์ แล้วนายกรัฐมนตรีเป็นแค่ไปรษณีย์ ต้องนำความกราบบังคมทูลไปตามนั้น ขอชี้แจงว่าการนำความกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระสังฆราช เป็นอำนาจของนายกฯที่มีอำนาจใช้ดุลยพินิจว่าสมควร หรือถึงเวลา หรือเหมาะสมที่จะนำความกราบบังคมทูลเมื่อใด นอกจากนี้กรณีที่นายกฯจะนำความขึ้นกราบบังคมทูล ก็ต้องพิจารณาจาก 4 เรื่อง คือ 1.มส.ให้ความเห็นชอบว่าสมควรเสนอสมเด็จพระราชาคณะรูปใด 2.สมเด็จพระราชาคณะรูปนั้น มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ 3.สมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์นั้น สามารถปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชได้
“และ 4.สมเด็จพระราชาคณะรูปนั้น จะต้องเป็นสกลมหาสังฆปริณายก คือเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของคณะสงฆ์ทั้งประเทศและของพุทธศาสนิกชนทั้งประเทศ มีความบริสุทธิ์ในศีล มีจริยาวัตรอันงาม ไม่ต้องคดีอาญาแผ่นดิน ไม่ตกเป็นที่ครหานินทาเรื่องหนีภาษี เรื่องสั่งสมทรัพย์สิน” นายไพศาล ระบุ
** “หลวงปู่ฯ” อ้าง DSI เช็คบิล “ธัมมชโย”
วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พระพุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม ได้โพสต์เพจเฟซบุ๊ก "หลวงปู่พระพุทธะอิสระ (Buddha Isara)" ในหัวข้อ “ถึงเวลาเช็คบิล ธรรมกายได้แล้วท่านนายก” โดยระบุว่า วานนี้ (6 ม.ค.) ได้มอบหมายให้ทีมทนายไปรับทราบความคืบหน้าของคดีที่ได้ร้องทุกข์แก่ พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และ มส.ทั้งหมด 11 คดี จากคณะกรรมการพิจารณาคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โดยมีสรุปรายงานความคืบหน้าทั้งหมด 7 ประเด็น เพื่อไม่ให้เป็นการเสียรูปคดีสามารถเปิดเผยได้เพียงว่า คณะกรรมการพิจารณาคดีพิเศษ ได้มีมติเอกฉันท์ว่า จากการสอบสวนพยานเอกสาร พยานวัตถุ พยานบุคคล ได้ข้อสรุปว่า พระธัมมชโยต้องอาบัติปาราชิก ดังพระวินิจฉัยของสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ตั้งแต่เมื่อปี 2542 จริง
“ดีเอสไอ จึงมีหนังสือแจ้งให้สำนักพุทธ และกรรมการมหาเถรสมาคมเร่งรีบดำเนินการกับธัมมชโยให้พ้นจากการนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ซึ่งดีเอสไอจะได้ส่งหนังสือเร่งรัดแจ้งเตือนแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไป 3 ฉบับ หากสำนักพุทธและมหาเถรสมาคมยังไม่ดำเนินการใดๆกับอลัชชีชั่ว ทีนี้แหละคุกแน่ๆ 157 รอคุณอยู่” เฟซบุ๊กหลวงปู่พระพุทธะอิสระ ระบุ