xs
xsm
sm
md
lg

เปิดรายนาม 8 สมเด็จพระราชาคณะมีสิทธิเป็น “สังฆราช” พบเอี่ยว “ธรรมกาย” 5

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เปิดรายนามสมเด็จพระราชาคณะ 8 องค์ ที่มีสิทธิได้รับการแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชองค์ใหม่ เรียงตามลำดับอาวุโส พบเกี่ยวข้องกับวัดพระธรรมกายถึง 5 องค์ นำโดย “สมเด็จช่วง” วัดปากน้ำ ผู้มีอาวุโสสูงสุด มีศักดิ์เป็นทั้งอาจารย์และพระอุปัชฌาย์ของ “ธัมมชโย”

ภายหลังจากมีพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. ที่ผ่านมา หลังจากนี้ จะมีการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ โดยยึดตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7 ที่ระบุว่า “พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง ในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกรัฐมนตรีโดย ความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุด โดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช

“ในกรณีที่สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นผู้มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์รองลงมาตามลำดับ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช”

เว็บบล็อก Anti - Dhammakaya ซึ่งจัดทำโดยกลุ่มผู้ต่อต้านวัดพระธรรมดาย ได้รวบรวมข้อมูลรายนามนามสมเด็จพระราชาคณะ ที่มีสิทธิได้รับการแต่งตั้งเป็นพระสังฆราช เรียงตามลำดับอาวุโสจากอันดับ 1 ไปถึงสุดท้าย และความเกี่ยวข้องของสมเด็จพระราชาคณะแต่ละองค์กับวัดพระธรรมกายในอดีต ดังนี้

1. สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ (มหานิกาย) ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช สถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะเมื่อ พ.ศ. 2538 เป็นทั้งอาจารย์และพระอุปัชฌาย์ของ “ธัมมชโย” วัดพระธรรมกาย และประกาศชัดเจนว่า “วัดปากน้ำ กับวัดพระธรรมกาย เป็นพี่น้องกัน มีอะไรก็ช่วยเหลือกัน” เป็นการประกาศจุดยืนชัดเจนว่า สมเด็จวัดปากน้ำ สนับสนุนวัดพระธรรมกาย 100%

2. สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร) เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร (ธรรมยุติกนิกาย) สถาปนาเมื่อ พ.ศ. 2544 สมเด็จมานิต เป็นพระที่สังกัดธรรมยุตเพียงรูปเดียวที่ให้การสนับสนุนวัดพระธรรมกาย โดยปรากฏเป็นกรรมการจัดโครงการบวชแสนรูป และกิจกรรมอื่น ๆ ของวัดพระธรรมกาย โดยมีผู้สันนิษฐานว่า สมเด็จมานิตป่วยมิได้รับรู้อะไรมาก แต่เพราะมีพระพรหมเมธี (จำนง ธัมมจารี) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ฯ และโฆษกมหาเถรสมาคม ที่แสดงตนชัดเจนว่าฝักใฝ่และให้การสนับสนุนวัดพระธรรมกาย เป็นผู้อยู่เบื้องหลังทำให้สมเด็จมานิต ไปร่วมงานธรรมกายบ่อย ๆ

3. สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม (ธรรมยุติกนิกาย) สถาปนาเมื่อ พ.ศ. 2552 ไม่มีประวัติใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวัดพระธรรมกาย เป็นลูกศิษย์หลวงปู่ฝั้น อาจาโร พระธุดงคกรรมฐานชื่อดังในสกลนคร

4. สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร (ธรรมยุติกนิกาย) สถาปนาเมื่อ พ.ศ. 2552 ไม่มีประวัติใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวัดพระธรรมกาย

5. สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (วีระ ภทฺทจารี) เจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร (มหานิกาย) สถาปนาเมื่อ พ.ศ. 2553 เคยเป็นผู้เกี่ยวข้องกับคดีสร้างพระของ “เสี่ยอู๊ด” ที่เป็นคดีความเมื่อหลายปีก่อน ปัจจุบันป่วยไม่สามารถประกอบภารกิจใด ๆ ได้ และเป็นหนึ่งในพระเถระที่ปรากฏชื่อเกี่ยวข้องกับการจัดงานของวัดพระธรรมกายบ่อย ๆ

6. สมเด็จพระธีรญาณมุนี (สมชาย วรชาโย) เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส (ธรรมยุติกนิกาย) สถาปนาเมื่อ พ.ศ. 2553 ไม่มีประวัติใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวัดพระธรรมกาย

7. สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม) เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการามวรวิหาร (มหานิกาย) สถาปนาเมื่อ พ.ศ. 2554 ในอดีตสมเด็จสมศักดิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง “พระธรรมโมลี” ได้รับการแต่งตั้งจาก สมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดชนะสงคราม ให้ตั้งศาลสงฆ์เพื่อเอาผิดต่อ “ธัมมชโย” แต่ก็ทำด้วยความล่าช้า จนสมเด็จวัดชนะสงครามมรณภาพ และพระธรรมโมลี ก็เปลี่ยนตัวเองไปเป็นพยานให้การสนับสนุนธัมมชโย ว่าเผยแผ่คำสอนถูกต้อง จนคดีถูกถอนฟ้องในที่สุด และพระธรรมโมลี ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็น “สมเด็จพระพุทธชินวงศ์” ในเวลาต่อมา นอกจากนี้ สมเด็จสมศักดิ์ เป็นหนึ่งในพระราชาคณะที่ปรากฏชื่อสนับสนุนกิจกรรมวัดพระธรรมกาย ทุกงาน

8. สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร (มหานิกาย) สถาปนาเมื่อ พ.ศ. 2557 สมเด็จสนิท เป็นพระราชาคณะอีกหนึ่งองค์ที่ปรากฏชื่อเป็นผู้ให้การสนับสนุนกิจกรรมของวัดพระธรรมกายเกือบทุกกิจกรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น