xs
xsm
sm
md
lg

กรธ.เมินแยกสอบสวนออกจากสตช. ไม่ใช้กม.บังคับ"ปรองดอง"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. กล่าวถึงกรณี นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เสนอให้นายกฯ ใช้อำนาจ ม.44 เพื่อแต่งตั้งคณะทำงานสร้างความปรองดองว่า ก็ให้ฝ่ายกฎหมายได้หารือกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในเรื่องดังกล่าวก่อน จะสามารถทำได้หรือไม่ ยังไม่รู้ รอให้ฝ่ายกฎหมายเขาว่ากันมาก่อน ซึ่งในส่วนของรัฐบาลก็มี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ดูอยู่ เดี๋ยวก็คงได้คุยกันมา ว่ามีความจำเป็นแค่ไหนอย่างไร
"ส่วนตัวไม่มีอะไร ในเรื่องความปรองดอง ผมบอกแล้วไงว่า มันต้องมีการปรองดอง มีคณะกรรมการปรองดองที่จะทำในระยะเริ่มต้น ไม่ได้หมายความว่าจะไปนิรโทษกรรมอะไร เอาคนเข้ามาสู่กระบวนการปรองดอง ว่ามีใครบ้าง แล้วกฎหมายมันอยู่ที่ไหน ผิดกฎหมายอะไร ตรงไหนหรือเปล่า ก็ต้องไปดู และกลั่นกรองกันอีกที แล้วจึงไปสู้ขั้นตอนต่อไปว่าจะทำอย่างไรกันต่อ ถ้าไม่เริ่มตรงนี้ มันไปไม่ได้หรอก มันก็อาจมีความจำเป็นนะ ถ้าไม่จำเป็น ท่านคงไม่เสนอมา เดี๋ยวจะทางทำให้ แต่เดี๋ยวก็จะหาว่าไม่เป็นธรรมอีก อะไรก็ทำไม่ได้ทั้งนั้น หาว่าไม่เป็นธรรมทุกเรื่อง" นายกรัฐมนตรี กล่าว

**"กก.ปรองดอง"ไม่ต้องออกเป็นกม.

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าว และยังไม่ได้รับมอบหมายจากนายกฯให้ดำเนินการใดๆ จึงยังไม่ได้เตรียมการใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งหากนายกฯ มอบหมาย ก็จะไปคิดวิธีการแนวทางตามกรอบและหารือกับนายมีชัย เวลานี้มีเรื่องที่ต้องหารือกัน แต่เป็นเรื่องอื่น การปรองดองไม่สามารถที่จะเปิดเผยได้ว่าต้องทำอย่างไร เพราะวันนี้ยังคิดไม่ออก และไม่สามารถตอบคำถามแบบสดๆ ร้อนๆได้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่อ่อนไหว เราต้องรอบครอบ
เมื่อถามว่า เรื่องการปรองดองระหว่างบรรจุไว้ในบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ กับการใช้ ม.44 มีความแตกต่างกันอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า มีความต่างแน่ และเห็นด้วยว่าหลายเรื่องไม่สามารถที่จะใส่ไว้ในกฎหมายได้ เพราะเป็นเรื่องของจิตใจ เมื่อเขียนแล้วจะเหมือนการบังคับให้คนทำ และสุดท้ายก็ทำไม่ได้ และเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามจนถึงขั้นขึ้นศาล เมื่อถึงขั้นนั้น คือการไม่ปรองดอง เหมือนการใช้ความไม่ปรองดอง เพื่อให้เกิดความปรองดอง แต่บางเรื่องเขียนได้ เช่นเขียนในรัฐธรรมนูญ อาศัยอำนาจ ม.44 และในกฎหมายธรรมดา แต่การเขียนใน ม.44 ไม่มีความยั่งยืน เนื่องจากไม่รู้ว่าในที่สุดแล้วจะมีการรื้อหรือไม่ และ ม.44 เป็นกระบวนการที่ไม่ได้ผ่านการแสดงความคิดเห็นจากหลายๆฝ่าย โดยปกติแล้วหัวหน้าคสช. มักใช้อำนาจนี้กับปัญหาเร่งด่วน และในวันหนึ่งทุกอย่างจะกลับเข้าสู่ระบบปกติ
" ปรองดองมันยืดยาว ทำไม่เสร็จในปีสองปี ดังนั้นความไม่ชัดเจนในคำสั่ง ม.44 จึงมีไม่มากเหมือนกับเขียนในรัฐธรรมนูญ หรือในกฎหมาย แต่ถ้าเขียนในรัฐธรรมนูญ ก็อาจเป็นการบีบในเรื่องของเวลาจนเกินไป และทำให้รัฐธรรมนูญยืดยาว ไม่ทันสมัยในวันหนึ่ง และเมื่อมันเชยไม่ทันสมัย หากจะไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็เป็นเรื่องยุ่งยาก แต่ถ้าเขียนกฎหมายธรรมดา ก็อาจจะง่ายกว่า อันนี้หมายถึงเขียนในกฎหมาย แต่ผมว่าใช้หลักอื่นที่ไม่ต้องเขียนเป็นกฎหมาย จะดีกว่า แต่บางเรื่องที่ต้องออกเป็นกฎหมาย เช่น อภัยโทษ นิรโทษกรรม ก็จำเป็นต้องออก" นายวิษณุ กล่าว

** ไม่แยกงานสอบสวนออกจากสตช.

นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรธ. กล่าวถึงข้อเสนอ แยกงานสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ว่า ที่ประชุมยังไม่ได้ข้อยุติ เห็นเพียงหลักการว่า การสอบสวนควรปราศจากการแทรกแซงจากภายนอก ไม่ควรมีระบบการครอบงำจากสายการบังคับบัญชา ให้พนักงานสอบสวนมีความอิสระ และเปิดโอกาสให้อัยการ มีอำนาจสอบสวนด้วย เพราะเห็นว่าถ้าแยกกลไกการสอบสวนออกในเชิงของโครงสร้างตำรวจ ก็อาจจะเป็นเรื่องหน่วยสอบสวนโดยเฉพาะ อาทิ ดีเอสไอ ป.ป.ช. ซึ่งมีอำนาจสอบสวน แต่กลไกตำรวจจะมีเรื่องของยศเข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าลดเรื่องการบังคับบัญชาในภารกิจนี้ได้ ก็เท่ากับลดการแทรกแซงจากผู้มีอำนาจในการบังคับบัญชา
ทั้งนี้งานสอบสวนก็ยังคงอยู่ในหน่วยงานสตช. เหมือนเดิม แต่ในทางปฏิบัติ ก็ต้องคิดวางกลไกอย่างไรให้เป็นอิสระ ซึ่งต้องไปวางไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
ส่วนแนวทางการปฏิรูปข้าราชการ เบื้องต้นมีข้อเสนอให้กำหนดมาตรฐานจริยธรรมของข้าราชการ แต่ละหน่วยเหมือนกัน โดยมอบอำนาจให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นผู้รับผิดชอบ วางมาตรฐานจริยธรรม อีกทั้งที่ประชุมยังมีข้อเสนอให้ ในคดีทุจริตของข้าราชการ นอกจากจะมีความผิดทางวินัย และคดีอาญาแล้ว จะต้องสามารถฟ้องเรียกร้องค่าเสียหาย และยึดทรัพย์ได้ด้วย

**ต้องวางกติกาประชามติให้ชัด

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึง กรณีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ยืนยันว่าจะไม่มีองค์กรในลักษณะ คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า เป็นเรื่องที่ดี เพราะจะช่วยให้หลายฝ่ายไม่ต้องกังวล ว่าจะมีองค์กรที่กระทบกับองค์กรที่มาจากกระบวนการประชาธิปไตย ซึ่งตนเชื่อมั่นในคำพูดของประธานกรธ. ว่าจะมีวิธีและกลไกในการขับเคลื่อนการปฏิรูปและการปรองดองที่ดีกว่าคปป.
ทั้งนี้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะผ่านประชามติหรือไม่ ยังไม่สามารถประเมินได้ แต่คสช. และรัฐบาล ควรแก้ไขหลักเกณฑ์ประชามติให้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเกณฑ์คะแนนที่ผ่านความเห็นชอบการประชามติ หรือกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ส่วนพรรคการเมืองบางพรรคที่ประกาศจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ทราบเจตนาของพรรคนั้แต่การจะตัดสินใจว่ารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญควรได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์เสียก่อน ขณะที่รัฐมนตรีบางคน ที่เคยออกมาระบุว่า จะไม่จัดประชามติ หากเกิดความวุ่นวาย จะต้องทบทวนให้ดี เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ถ้าไม่ได้รับความชอบธรรมจากประชาชน อาจนำไปสู่ปัญหาในอนาคตได้
กำลังโหลดความคิดเห็น