xs
xsm
sm
md
lg

“มีชัย” เล็งยกระดับองค์กรอิสระรับอำนาจเพิ่ม ยืดอายุนั่งศาล รธน.75 ปี แต่ลดวาระ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
ประธาน กรธ.เผยกำลังปรับการสรรหาองค์กรอิสระให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ยกระดับรับอำนาจที่เพิ่มขึ้น ให้คนคร่ำหวอดสาขาวิชาต่างๆ มาทำงาน นักบริหารบ้านเมืองเป็นที่ปรึกษา กำหนดให้องค์กรทำหน้าที่แมวมอง แจงเขียนให้ชัดเจนขึ้นให้ศาล รธน.ชี้ขาด ไม่ได้เพิ่มอำนาจ กำลังถกลดวาระเหลือ 7 ปี ยืดอายุนั่งเก้าอี้ถึง 75

วันนี้ (14 ม.ค.) นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีข้อเสนอของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ที่เสนอว่า กรธ.ควรจะยกระดับมาตรฐานของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้เพิ่มสูงขึ้น รับกับอำนาจหน้าที่ที่เพิ่มมากขึ้นว่ากระบวนการสรรหาคณะกรรมการในองค์กรอิสระว่า ขณะนี้ทาง กรธ.กำลังดำเนินการปรับปรุงวิธีการสรรหาในองค์กรอิสระกันอยู่ โดยจะปรับให้เป็นมาตรฐานเดียวกันหมด ให้มีความเข้มข้นมากขึ้นซึ่งมีการเรียกร้องกันเข้ามาว่าคนที่จะมาอยู่ทำงานในองค์กรอิสระนั้นจะต้องมีความกล้าหาญในการใช้ดุลยพินิจในเรื่องต่างๆ โดยในขณะนี้ทาง กรธ.ก็พยายามที่จะบัญญัติให้คนที่มีความคร่ำหวอดในสาขาวิชาต่างๆ เข้ามาทำงาน โดยอย่างน้อยที่สุดเวลาที่จะทำอะไรก็จะมีหลักวิชาการที่สามารถอ้างอิงได้ ส่วนคนที่มีประสบการณ์ในการบริหารบ้านเมืองก็จะนำมาเป็นที่ปรึกษา เพื่อคอยสะกิดบอกให้นักวิชาการรู้ว่าในการปฏิบัติงานเพื่อบ้านเมืองจะต้องทำอย่างไร

“องคาพยพในองค์กรอิสระทุกองค์กร คุณสมบัติก็จะสูงขึ้น อย่างเช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่เดิมกำหนดว่าเป็นผู้ที่ได้เป็นรองศาสตราจารย์ ต่อไปนี้ทาง กรธ.ก็จะกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ แล้วไม่ใช่เพียงแค่ได้เพียงวันสองวัน แต่ต้องได้ตำแหน่งมาระยะเวลานานพอสมควร อย่างน้อยที่สุดคนจะได้มั่นใจว่า คนเหล่านี้ได้มีความคร่ำหวอดในเรื่องที่เขาชำนาญ หรือแม้แต่เรื่องของศาลปกครองสูงสุด ก็มีการกำหนดว่าจะต้องมีพื้นฐานหรือได้ผ่านงานในศาลปกครองชั้นต้นมากี่ปีแล้วจึงจะมาเป็นองค์คณะในศาลปกครองสูงสุดได้ สังคมก็จะได้มีความมั่นใจและไม่มีข้อกังขา โดยวิธีการสรรหาก็ให้ห่างไกลจากการเมืองให้มากที่สุด โดยยังคงให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบเหมือนเดิม และแต่เดิมก็พบปัญหาว่า คนที่มาสมัครเป็นกรรมการในองค์กรอิสระก็จะเป็นคนที่ซ้ำๆ กัน ดังนั้น ทาง กรธ.จึงกำหนดให้ทางองค์กรต่าง ๆ สามารถทำหน้าที่คล้ายๆ แมวมอง เพื่อหาคนที่เหมาะสม และเชิญมาเป็นกรรมการฯได้” นายมีชัยกล่าว

นายมีชัยกล่าวต่อว่า ส่วนการที่คนมองว่า กรธ.จะมีการให้อำนาจแก่ศาลรัฐธรรมนูญเพิ่มมากขึ้น จากการโอนอำนาจวินิจฉัยตามมาตรา 7 เดิมนั้น ตนเห็นว่า แต่เดิมนั้น มีการระบุเอาไว้ว่า หากไม่มีบทบัญญัติบังคับแก่กรณีใด ก็ให้วินิจฉัยโดยใช้ประเพณีการปกครอง แต่ก็มีคำถามว่า องค์กรใดจะเป็นผู้ชี้ขาด เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดเอาไว้ ดังนั้น ในรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ก็เลยเขียนว่า หากมีปัญหาขึ้นมา ให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ขาด ทาง กรธ.ก็เลยมีการเขียนว่า หากไม่มีบทบัญญัติในกรณีใดก็ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ ดังนั้น หากมีปัญหาในเรื่องของรัฐธรรมนูญ หน่วยงานที่จะชี้ขาดก็คือศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นการเขียนให้ชัดเจนขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า จริงๆแล้วอำนาจก็ไม่ได้เพิ่มมากขึ้น เพียงแต่ว่ามีอำนาจในการชี้ขาดคุณสมบัติ แต่เนื่องจากทุกวันนี้ มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่างๆ ไว้มากขึ้น ทำให้มีเรื่องที่ให้ต้องชี้ขาดมากขึ้นเท่านั้น ส่วนวาระของศาลรัฐธรรมนูญ ก็ยังคงเดิมคือ 9 ปี แต่ทาง กรธ.กำลังคุยกันว่าจะมีการลดวาระลงเหลือ 7 ปี ได้หรือไม่ และจะมีการขยายจากให้สิ้นสุดการดำรงตำแหน่งจาก 70 ปี เป็น 75 ปี เพื่อให้เป็นทางเลือกของคนที่มีความรู้ความสามารถได้มีทางเลือกมากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น