xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ทีมธัมมี่ ว่าที่สังฆปริณายก!?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ในช่วงระหว่างที่คนไทยทั้งประเทศกำลังเฝ้าจับตามองอย่างไม่วางตาว่า สมเด็จพระราชาคณะ ชั้นสุพรรณบัฏ รูปใดจะได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ภายหลังพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ “สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก” เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย ได้เกิดเหตุการณ์ที่น่าสนใจขึ้นสองเหตุการณ์

เหตุการณ์แรก คือการที่นายสุรชัย ขันอาสา ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี หาญกล้าตัดสินใจให้วัดพระธรรมกายเลื่อนการจัดกิจกรรมธรรมยาตรา ธุดงค์ธรรมชัย เส้นทางพระผู้ปราบมาร พระมงคลเทพมุนี (สด จันทสโร) ปีที่ 5

เหตุการณ์ที่สอง คือการกลุ่มเครือข่ายปกป้องพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช และเครือข่ายสตรีปกป้องพระพุทธศาสนา นำโดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสมาชิกวุฒิสภา และอดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์ กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้ยื่นหนังสือต่อนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อขอให้มีการชะลอการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ เนื่องจากมีพระราชาคณะบางรูปยังมีข้อครหาในทางคดีความ

แน่นอน ทั้งสองเหตุการณ์ย่อมมีความสัมพันธ์กันอย่างปฏิเสธไม่ได้แม้จะเกิดขึ้นต่างกรรมต่างวาระกันก็ตาม เพราะล้วนแล้วแต่มีความเกี่ยวพันกับ “พระ 2 รูปสำคัญของประเทศไทย” ทั้งสิ้น นั่นก็คือ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ และพระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) หรือ พระธัมมชโย แห่งวัดพระธรรมกาย

ที่เป็นเช่นนั้นเนื่องจากสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) คือพระอุปัชฌาย์ของ พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) หรือ พระธัมมชโย

อนึ่ง เนื่องจากสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) คือเจ้าประคุณสมเด็จพระราชาคณะ ชั้นสุพรรณบัฏ ซึ่งมีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ หรือหมายความว่า สมเด็จวัดปากน้ำคือ “เต็ง 1” ที่จะได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

เป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดาและผิดปกติวิสัยเป็นอย่างยิ่ง เมื่อนายสุรชัย ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีหาญกล้ากระทำเช่นนั้น เพราะหากตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังเกี่ยวกับการจัดธุดงค์ของวัดพระธรรมกายจะเห็นว่า แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมอย่างหนักหน่วงแต่ที่ผ่านมา หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องไม่เคยมีปากมีเสียงเลยแม้แต่น้อย ดังนั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงถือเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดา

และอาจกล่าวได้ว่าเป็นครั้งแรกที่มีปัญหากับการจัดธุดงค์ของวัดพระธรรมกายจนต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด

ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีไปกินดีหมีหรือสวมหัวใจสิงห์มาจากไหน

เรื่องนี้ น่าไขปริศนายิ่งนัก

ทั้งนี้ ต้นสายปลายเหตุของเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อทางวัดพระธรรมกายประกาศเดินจัดกิจกรรมธรรมยาตรา ธุดงค์ธรรมชัย เส้นทางพระผู้ปราบมาร พระมงคลเทพมุนี (สด จันทสโร) ปีที่ 5 พระธรรมกาย ระหว่าง 2-31 มกราคมที่จะถึงนี้ โดยจะมีการโปรยดอกดาวรวยต้อนรับพระภิกษุสงฆ์ 1,131 รูป ในเส้นทางที่ออกจากวัดพระธรรมกาย ผ่าน 7 จังหวัดคือปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี นครปฐม นนทบุรี สมุทรสาคร และกรุงเทพมหานคร

จากนั้นได้ปรากฏแผ่นป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ซึ่งติดตั้งอยู่บริเวณเกาะกลางถนนปทุมธานี-รังสิต ต.บ้านกลาง อ.เมือง จ.ปทุมธานี ขึ้นข้อความว่า “หยุดธรรมกาย หยุดธุดงค์ธรรมชัย หยุดเส้นทางธัมมชโย” เพื่อต่อต้านการเดินธุดงค์ของวัดพระธรรมกาย

ทั้งนี้ คณะบุคคลที่จัดทำป้ายและเขียนข้อความดังกล่าวมีแกนนำ 3 คนคือ นายคิว อรุโณรส ผู้ประสานงานพุทธศาสนิกชนคนปทุมธานี น.ส.พลอยวิพร ธรรมศิริสุนทร เครือข่ายสตรีปกป้องพระพุทธศาสนา และนายวีระ ศรีพิทักษ์ ตัวแทนกลุ่มชาวบ้าน

นายคิวซึ่งเดินทางมาตรวจสอบความเรียบร้อยของป้ายพร้อมคณะให้ข้อมูลว่า เมื่อช่วงเช้า(28 ธันวาคม 2558) ได้ทำหนังสือแจ้งไปยัง สภ.เมืองปทุมธานี ให้รับทราบว่า ในวันที่ 29 ธ.ค. กลุ่มคัดค้านจะไปยื่นหนังสือเปิดผนึก ต่อนายสุรชัย ขันอาสา ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ในเรื่องเกี่ยวกับกิจกรรมบุญธุดงค์ธรรมชัย ของวัดพระธรรมกาย ที่เห็นว่าเป็นการบิดเบือนพระธรรมวินัย บิดเบือนหลักพุทธศาสนา

ต่อมาในวันดังกล่าวคณะผู้คัดค้านดังกล่าวกว่า 250 คนได้เดินทางโดยขบวนรถยนต์ และเปิดไฮด์ปาร์ก เพื่อยื่นหนังสือต่อนายสุรชัย ขันอาสา ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เพื่อขอให้ยุติกิจกรรมของวัดพระธรรมกาย โดยนายอรรถพล อรุโนรส ผู้ประสานงานเครือข่ายกล่าวว่า การเรียกร้องครั้งนี้จะขอให้ยุติกิจกรรมธุดงค์ธรรมชัยของวัดพระธรรมกายซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักพุทธศาสนา ผิดต่อหลักปฏิบัติธุดงควัตร ที่เน้นความสมถะ สงบ หลีกเร้น เรียบง่าย แต่ธุดงค์ธรรมชัยกลับถือปฏิบัติตรงกันข้าม บิดเบือนจากคำสอนธรรมวินัย จัดกิจกรรมที่มีการลงทุนอย่างเอิกเกริก เพื่อสร้างแรงศรัทธาแก่ผู้พบเห็น คือธุดงค์ในวิถีของ “ธัมมชโย” หาใช่ธุดงควัตร มีการปูเสื่อโรยด้วยดอกดาวเรืองตลอดสาย และทุกครั้งที่ผ่านมาการเดินธุดงค์ธรรมชัย เดินใน จ.ปทุมธานี การจราจรติดขัดสร้างความเดือดร้อนให้ชาวปทุมธานี

นายสุรชัยซึ่งขณะนั้นกำลังประชุมกับหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดกว่า 100 คน บนศาลากลางจังหวัด ได้ออกมารับหนังสือด้วยตนเอง และขึ้นรถชี้แจงต่อกลุ่มพุทธศาสนิกชนปทุมธานี ว่าได้รับหนังสือแจ้งจากทางวัดพระธรรมกายว่า วัดพระธรรมกาย เลื่อนการจัดกิจกรรมเดินธุดงค์ธรรมยาตราไปไม่มีกำหนด ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมดีใจ และร่วมกันสวดมนต์ก่อนเดินทางกลับ

นั่นหมายความว่า ก่อนที่นายสุรชัยจะออกมาพบปะกับกลุ่มผู้คัดค้านได้มีการเจรจากับทางวัดพระธรรมกายเป็นการล่วงหน้ามาแล้ว และขณะเดียวกัน ก็จะต้องมีการประสานงานกับ “ผู้ใหญ่” ที่อยู่เหนือขึ้นไป มิฉะนั้น ผลจะไม่ออกมาในลักษณะนี้อย่างแน่นอน

คำถามก็คือ “ผู้ใหญ่” ที่ว่านั้นคือใคร?

ใช่ผู้ใหญ่ในกระทรวงมหาดไทย หรือเหนือไปกว่านั้น

แน่นอน ความเคลื่อนไหวต่อต้านการจัดธุดงค์ของวัดพระธรรมกายเป็นเรื่องที่ต้องจับตาเพราะสามารถเชื่อมโยงกับเรื่อง “ว่าที่สกลมหาสังฆปริณายก” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ดังเหตุผลที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

สำหรับเหตุการณ์ที่สองเกิดขึ้นเมื่อกลุ่มเครือข่ายปกป้องพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช และเครือข่ายสตรีปกป้องพระพุทธศาสนา นำโดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสมาชิกวุฒิสภา และอดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์ กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้ยื่นหนังสือต่อนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อขอให้มีการชะลอการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ เนื่องจากมีพระราชาคณะบางรูปยังมีข้อครหาในทางคดีความ

ทั้งนี้ นายไพบูลย์เปิดเผยว่า เนื่องจากทางมหาเถรสมาคมจะมีการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวในวันที่ 11 มกราคมนั้น ตนเห็นว่าเป็นการดำเนินการที่ผิดขั้นตอนและกฎหมาย เพราะตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7 ระบุให้เป็นขั้นตอนของนายกรัฐมนตรีที่จะพิจารณาดำเนินการก่อนแล้วค่อยขอความเห็นจากมหาเถรสมาคม มิใช่ริเริ่มมาจากมหาเถรสมาคมเพื่อเสนอชื่อมายังนายกรัฐมนตรี

อีกทั้งสมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสสูงสุด ก็คือ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) มีข้อทักท้วงไม่เหมาะสมหลายประการ เช่น มีพฤติกรรมปกป้องการกระทำของพระธัมมชโย ทำให้ไม่ต้องปาราชิกตามพระวินิจฉัยของสมเด็จพระญาณสังวรฯ กรณีเกี่ยวข้องกับรถยนต์หรู กรณีกระทำผิดในการยักยอกเงินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น

“หากมีการเสนอพระราชาคณะรูปดังกล่าวให้เป็นสมเด็จพระสังฆราชแล้วเป็นการกระทบกระเทือนจิตใจต่อพุทธศาสนิกชนทั่วไป และกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมที่กำลังดำเนินการอยู่ ทางเครือข่ายฯ จึงได้ยื่นหนังสือเพื่อเรียกร้องให้ระงับกระบวนการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ออกไปก่อน เพื่อให้มีการตรวจสอบตามกระบวนการยุติธรรมจนกว่าเรื่องคดีความจะยุติ” นายไพบูลย์แจกแจงเหตุผล

จะเห็นได้ว่า เป้าหมายคณะของนายไพบูลย์ประกาศอย่างชัดเจนว่า คัดค้านการสถาปนาสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ขึ้นเป็นสกลมหาสังฆปริณายกด้วยเหตุผลในเรื่องของความสัมพันธ์ที่มีต่อพระธัมมชโยแห่งวัดพระธรรมกาย

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบรายชื่อพระสงฆ์ที่ทรงสมณศักดิ์สมเด็จพระราชาคณะ “ชั้นสุพรรณบัฏ” ในปัจจุบัน ทั้งมหานิกายและธรรมยุติกนิกาย พบว่า มีทั้งหมด 8 รูปด้วยกัน โดยเว็บบล็อก Anti - Dhammakaya ซึ่งจัดทำโดยกลุ่มผู้ต่อต้านวัดพระธรรมกาย ได้รวบรวมข้อมูลรายนามสมเด็จพระราชาคณะ ที่มีสิทธิได้รับการแต่งตั้งเป็นพระสังฆราช เรียงตามลำดับอาวุโสจากอันดับ 1 ไปถึงสุดท้าย และความเกี่ยวข้องของสมเด็จพระราชาคณะแต่ละองค์กับวัดพระธรรมกายในอดีต ดังนี้
สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ)
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปญฺโญ)
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (วีระ ภทฺทจารี)
สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม)
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร)
หนึ่ง-สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เป็นทั้งอาจารย์และพระอุปัชฌาย์ของ “พระธัมมชโย”

สอง-สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร) เป็นพระที่สังกัดธรรมยุตเพียงรูปเดียวที่ให้การสนับสนุนวัดพระธรรมกาย โดยปรากฏเป็นกรรมการจัดโครงการบวชแสนรูป และกิจกรรมอื่น ๆ ของวัดพระธรรมกาย โดยมีผู้สันนิษฐานว่า สมเด็จมานิตป่วยมิได้รับรู้อะไรมาก แต่เพราะมีพระพรหมเมธี (จำนง ธมฺมจารี) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ฯ และโฆษกมหาเถรสมาคม ที่แสดงตนชัดเจนว่าฝักใฝ่และให้การสนับสนุนวัดพระธรรมกาย เป็นผู้อยู่เบื้องหลังทำให้สมเด็จมานิต ไปร่วมงานธรรมกายบ่อย ๆ

สาม-สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) ไม่มีประวัติใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวัดพระธรรมกาย เป็นลูกศิษย์หลวงปู่ฝั้น อาจาโร พระธุดงค์กรรมฐานชื่อดังในสกลนคร

สี่-สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) ไม่มีประวัติใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวัดพระธรรมกาย

ห้า-สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (วีระ ภทฺทจารี) เคยเป็นผู้เกี่ยวข้องกับคดีสร้างพระของ “เสี่ยอู๊ด” ที่เป็นคดีความเมื่อหลายปีก่อน ปัจจุบันป่วยไม่สามารถประกอบภารกิจใด ๆ ได้ และเป็นหนึ่งในพระเถระที่ปรากฏชื่อเกี่ยวข้องกับการจัดงานของวัดพระธรรมกายบ่อย ๆ

หก-สมเด็จพระธีรญาณมุนี (สมชาย วรชโย) ไม่มีประวัติใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวัดพระธรรมกาย

เจ็ด-สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม) ในอดีตสมเด็จสมศักดิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง “พระธรรมโมลี” ได้รับการแต่งตั้งจาก สมเด็จพระมหา ธีราจารย์ วัดชนะสงคราม ให้ตั้งศาลสงฆ์เพื่อเอาผิดต่อ “ธัมมชโย” แต่ก็ทำด้วยความล่าช้า จนสมเด็จวัดชนะสงครามมรณภาพ และพระธรรมโมลี ก็เปลี่ยนตัวเองไปเป็นพยานให้การสนับสนุนธัมมชโย ว่าเผยแผ่คำสอนถูกต้อง จนคดีถูกถอนฟ้องในที่สุด และพระธรรมโมลี ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็น “สมเด็จพระพุทธชินวงศ์” ในเวลาต่อมา นอกจากนี้ สมเด็จสมศักดิ์ เป็นหนึ่งในพระราชาคณะที่ปรากฏชื่อสนับสนุนกิจกรรมวัดพระธรรมกาย ทุกงาน

แปด-สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปญฺโญ) เป็นพระราชาคณะอีกหนึ่งองค์ที่ปรากฏชื่อเป็นผู้ให้การสนับสนุนกิจกรรมของวัดพระธรรมกายเกือบทุกกิจกรรม

เรียกว่า ในจำนวน 8 รูปมีถึง 5 รูปที่มีสายสัมพันธ์กับวัดพระธรรมกายเลยทีเดียว

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งคำถามและข้อสงสัยอื่นๆ อีกมากมาย อาทิ พระธัมมชโยเคยถวายเงินแก่สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ จำนวนเงิน 100 ล้านบาท เพื่อสมทบทุนในการก่อสร้างมหาเจดีย์วัดปากน้ำภาษี เจริญ....ใช่หรือไม่ ?

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เป็นประธานมอบพัดยศ และงานฉลองพัดยศให้แก่พระธัมมชโย...ใช่หรือไม่ ?

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์เคยกล่าวไว้ว่า อาตมาเองตั้งแต่เกิดมาจนถึงบัดนี้ 87 ปีแล้ว เพิ่งจะวันนี้เองที่ได้เดินบนกลีบกุหลาบ จึงชื่นใจ กรณีเป็นประธานเดินธุดงค์เดินบนดอกไม้ และวัดปากน้ำกับวัดพระธรรมกายเป็นวัดพี่ วัดน้อง หรือเสมือนหนึ่งว่าเป็นวัดเดียวกัน มีอะไรก็ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน วัดปากน้ำมีอะไร วัดพระธรรมกายมีอะไร ก็ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน...ใช่หรือไม่ ?

ไม่เพียงเท่านั้น หากแต่กรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิ์เสนอชื่อสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชก็ยังมีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับวัดพระธรรมกายเช่นกัน กล่าวคือนอกจากสมเด็จทั้ง 5 แล้วเท่าที่ตรวจสอบได้ยังประกอบไปด้วย

1.พระพรหมวชิรญาณ (ประสิทธิ์ เขมงฺกโร ป.ธ.3) วัดยานนาวา กรรมการที่ปรึกษา โครงการ (ธรรมกาย) อุปสมบทหมู่ ภาคฤดูร้อน 100,000 รูป

2.พระวิสุทธิวงศาจารย์ (วิเชียร อโนมคุโณ ป.ธ.9) วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรรมการที่ปรึกษา โครงการ (ธรรมกาย) อุปสมบทหมู่ ภาคฤดูร้อน 100,000 รูป

3.พระพรหมดิลก (เอื้อน หาสธมฺโม ป.ธ.9) วัดสามพระยา กรรมการที่ปรึกษา โครงการ (ธรรมกาย) อุปสมบทหมู่ ภาคฤดูร้อน 100,000 รูป

4.พระพรหมโมลี (สุชาติ ธมฺมรตโน ป.ธ.9) วัดปากน้ำภาษีเจริญ กรรมการ ที่ปรึกษา โครงการ (ธรรมกาย) อุปสมบทหมู่ ภาคฤดูร้อน 100,000 รูป

5.พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ) วัดสระเกศ กรรมการที่ปรึกษา โครงการ (ธรรมกาย) อุปสมบทหมู่ ภาคฤดูร้อน 100,000 รูป

6.พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต ป.ธ.) วัดประยุรวงศาวาส กรรมการที่ปรึกษา โครงการ (ธรรมกาย) อุปสมบทหมู่ ภาคฤดูร้อน 100,000 รูป

7.พระพรหมเมธี (จำนงค์ ธมฺมจารี) วัดสัมพันธวงศาราม (นานาสังวาส) กรรมการที่ปรึกษา โครงการ (ธรรมกาย) อุปสมบทหมู่ ภาคฤดูร้อน 100,000 รูป

คำถามก็คือ การเคลื่อนไหวของกลุ่มนายไพบูลย์จะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด

จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ทางออกในเรื่องนี้มีความเป็นไปได้ในสองทาง

ทางแรก เป็นไปตามที่ “นายวิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรีอรรถาธิบายเอาไว้อย่างชัดเจนว่า “การเลือกสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ต้องตั้งจากมหาเถรสมาคม เพราะไม่เคยมีประเพณีปฏิบัติเป็นอย่างอื่น และมหาเถรสมาคมไม่มีสิทธิ์ที่จะเลือกองค์อื่นหรือองค์ใดก็ได้ เพราะถูกบังคับตามพ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ว่า ต้องเป็นสมเด็จที่มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์

กระนั้นก็ดี แม้กฎหมายระบุเอาไว้ชัดเจน แต่ข้อเสนอของนายไพบูลย์นั้นก็ใช่ว่าจะไม่มีทางเป็นไปได้ โดยนายวิษณุอธิบาย ทางที่สอง เอาไว้ว่า มาตรา 7 ในพ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า การชะลอสามารถทำได้ โดยมี 3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 เรียกว่า เป็นอำนาจของมหาเถรสมาคม (มส.) ซึ่งจะประชุมกันเมื่อไรก็ได้ ไม่ประชุมก็ได้ เสนอก็ได้ ไม่เสนอก็ได้ ขั้นตอนที่ 2 หาก มส.ประชุมแล้ว เสนอมาที่นายกฯ เป็นขั้นตอนของนายกฯ แต่นายกฯไม่ใช่ว่าได้รับอะไรมาแล้วเสนอไปหมดและไม่ใช่ว่าทันที ต้องมีการตรวจสอบ ซึ่งกรณีของสมเด็จพระสังฆราชไม่ได้แต่งตั้งเหมือนกับข้าราชการหรือรัฐมนตรี เพราะการแต่งตั้งข้าราชการ รัฐมนตรี ที่ถ้านำขึ้นทูลเกล้าฯและทรงลงพระปรมาภิไธยลงมาถือว่าจบ แต่กรณีของสมเด็จพระสังฆราชนั้นยังมีขั้นตอนอีก โดยภายหลังทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วจะต้องมีการประกาศสถาปนาและมีพระราชพิธี โดยสมเด็จพระสังฆราชจะมีพระฐานานุกรมหลายรูป ซึ่งต้องตั้งพร้อมกัน ต้องมีอาลักษณ์อ่านประกาศ ตลอดจนต้องประกอบพระราชพิธีในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามหรือในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ซึ่งเมื่อนายกฯรับเรื่องจาก มส.มาแล้วจะต้องคิด และขั้นตอนที่ 3 คือ เป็นขั้นตอนของพระราชอำนาจ

ขณะที่ นายไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Paisal Puechmongkol ว่า อย่าคิดว่าเคยวิ่งราวชิงอำนาจสมเด็จพระสังฆราชสำเร็จมาหนหนึ่งแล้ว จะทำซ้ำได้อีก คนเขารู้ทันกันหมดแล้ว กำลังหลอกใครต่อใครว่าการตั้งสมเด็จพระสังฆราชเป็นอำนาจของมหาเถร ที่ต้องเลือกตามอาวุโสโดยสมณศักดิ์ แล้วนายกฯ เป็นแค่ไปรษณีย์ จะต้องนำความกราบบังคมทูลไปตามนั้น นี่มันเตรียมการวิ่งราวกันชัด ๆ

ดังนั้น ขอประกาศให้รู้โดยทั่วกันว่า หนึ่ง การนำความกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระสังฆราช เป็นอำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มีอำนาจใช้ดุลยพินิจว่าสมควร หรือถึงเวลา หรือเหมาะสมที่จะนำความกราบบังคมทูลเมื่อใด อย่างไร ใครจะมาบังคับไม่ได้ และสอง ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีจะนำความขึ้นกราบบังคมทูล ก็ต้องพิจารณา 4 ประการ

(1) มหาเถรให้ความเห็นชอบว่าสมควรเสนอสมเด็จพระราชาคณะรูปใด

(2) สมเด็จพระราชาคณะรูปนั้น มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์

(3) สมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์นั้น สามารถปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชได้ ถ้าปฏิบัติไม่ได้ก็ต้องเสนอสมเด็จพระราชาคณะลำดับถัดไปโดยลำดับ

(4) สมเด็จพระราชาคณะรูปนั้น จะทรงเป็นสกลมหาสังฆปริณายก คือเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของคณะสงฆ์ทั้งประเทศและของพุทธศาสนิกชนทั้งประเทศ จะสามารถทำหน้าที่ถวายพระธรรมและคำอธิบายทางพระพุทธศาสนาแก่พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ได้หรือไม่ มีความบริสุทธิ์ในศีล มีจริยาวัตรอันงาม ไม่ต้องคดีอาญาแผ่นดิน ไม่ตกเป็นที่ครหานินทาเรื่องหนีภาษี เรื่องสั่งสมทรัพย์สิน เรื่องรับสินบน เรื่องตั้งคนปาราชิกให้ดำรงสมณศักดิ์ เรื่องตั้งตนเสมอเจ้า มอบพัดยศแก่ผู้ที่ไม่ไปเข้าเฝ้าฯ เพื่อรับพระราชทานเสียเอง เหล่านี้ เป็นต้น

เมื่อนายกรัฐมนตรีพิจารณาโดยชอบ และเห็นสมควรนำความขึ้นกราบบังคมทูลแล้ว ยังเป็นอำนาจของคณะมนตรีที่จะกลั่นกรองตรวจสอบความถูกต้องเหมาะสม จากนั้นยังเป็นพระราชอำนาจที่จะทรงสถาปนาอีกด้วย

ดังนั้น การอ้าง อำนาจมหาเถรอ้างแต่เพียงอาวุโสโดยสมณศักดิ์เพียงสองเรื่องแล้วตัดอำนาจความถูกต้องชอบธรรมทั้งสิ้นทั้งปวงจึงเป็นเรื่องที่สาธุชนทั้งหลายพึงเข้าใจ พึงติเตียน บ้านเมืองนี้ศักดิ์สิทธิ์ พระสยามเทวาธิราชมีจริง เราจึงอยู่รอดปลอดภัยกันมาได้ จงวางใจเถิด

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ก็ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเอาไว้อย่างน่าสนใจสั้นๆ เมื่อวันที่ 7 ม.ค.59 ว่า “ก็เดี๋ยวต้องดูสถานการณ์ ดูกฎหมาย ดูความเหมาะสม ถ้ายังมีปัญหา มีความขัดแย้งอยู่ ก็ต้องทำให้คลี่คลายให้ได้ก่อน โอเคนะ”

นอกจากนี้ หากย้อนดูในประวัติศาสตร์ก็เคยเกิดเหตุการณ์ในทำนองนี้มาแล้ว กล่าวคือในบางช่วงของประวัติศาสตร์ที่การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่เกิดขึ้นหลังการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระสังฆราชพระองค์เดิมหลายปี ยกตัวอย่างเช่นหลังการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส(พระองค์เจ้าวาสุกรี) เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2396 การสถาปนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์(พระองค์เจ้าฤกษ์) ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้าองค์ใหม่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2434 หรือทิ้งระยะเวลานานถึง 38 ปี

ขณะที่การสถาปนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส(พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ) เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2453 หรือใช้เวลานานถึง 11 ปีหลังการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก(สา ปุสฺสเทโว) เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2442

“....ตั้งแต่รัชชกาลที่ 4 พระเจ้าแผ่นดินทรงตั้งพระมหาเถระที่เปนพระอุปัชฌาย์อาจารย์ของพระองค์ ถ้าไม่มี ก็ไม่ทรงตั้ง ในรัชชกาลที่ 4 ทรงตั้งกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ เพราะทรงนับถือเปนพระอาจารย์ เมื่อกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสสิ้นพระชนม์แล้ว ไม่ได้ทรงตั้งอีกเลยตลอดรัชชกาล ในรัชชกาลที่ 5 จะทรงตั้งกรมสมเด็จพระปวเรศฯ พระอุปัชฌาย์ของพระองค์ แต่กรมสมเด็จฯ ทรงขอผัดให้ไหว้พระสวดมนต์ไปก่อน จนจวนจะสิ้นพระชนม์จึงทรงรับมหาสมณุตฯ ทรงรับประมาณเกือบปีหรือปีกว่า ก็สิ้นพระชนม์ รัชชกาลที่ 5 ทรงตั้งสมเด็จพระสังฆราชสา ซึ่งเปนพระกรรมวาจาจารย์(พระศพกรมสมเด็จฯ เอาไว้นานจนสมเด็จพระสังฆราชสาสิ้นพระชนม์ลงอีก เข้าพระเมรุเดียวกับเจ้านายอีกหลายพระองค์) เมื่อสมเด็จพระสังฆราชสาสิ้นพระชนม์แล้ว ก็ไม่ได้ทรงตั้งอีกตลอดรัชชกาล สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณ วโรรสได้ทรงรับมหาสมณุตฯ ในรัชชกาลที่ 6 เพราะทรงเปนพระอุปัชฌาย์ในรัชชกาลที่ 6”(ตัวสะกดตามต้นฉบับ)”

นั่นคือบันทึกเกร็ดประวัติเกี่ยวกับการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงบันทึกไว้จากคำบอกเล่าของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์

แต่จะอย่างไร ถึงเวลานี้ ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า เรื่องนี้จะจบลงอย่างไร และจะมีใครพลิกผันไปจากที่ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 เขียนเอาไว้หรือไม่ อย่างไร 
 


กำลังโหลดความคิดเห็น