xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจ “ไพบูลย์” สกัดตั้งสมเด็จช่วงขึ้นสังฆราช หวั่นเป็นแรงฉุด ศาสนาพุทธเสื่อม-ธรรมกายครองเมือง!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไพบูลย์ นิติตะวัน แจงข้อมูล หลักฐานถึงสาเหตุการออกมาคัดค้านตั้ง สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ฯ ขึ้นเป็นสังฆราชองค์ที่ 20 เชื่อหากปล่อยให้ขึ้นมาเป็นสังฆราช ศาสนาพุทธในประเทศไทย จะถูกวัดธรรมกายยึดอำนาจ แผ่อาณาจักรปกคลุมไปทั่ว ล้มศาสนาพุทธนิกายมหายาน กับนิกายหินยาน สร้างนิกายใหม่ขึ้นมา พร้อมเปิดเผยความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างสมเด็จช่วง กับ พระธัมมชโย ที่มีการเกื้อหนุนกันทั้งในเรื่องอำนาจ และทรัพย์สิน ขณะเดียวกันก็ผิดพระธรรมวินัย รับทรัพย์หรูไว้ครอบครองในชื่อของตัวเอง!

กระแสการต่อต้าน สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ หรือสมเด็จช่วงขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20ได้นำไปสู่ความขัดแย้งในวงการพุทธศาสนา เพราะกลุ่มที่คัดค้านต่างมีเหตุผลและเชื่อว่า สมเด็จช่วง เป็นสัญลักษณ์ หรือ ตัวแทนของวัดธรรมกายที่เผยแผ่คำสอนคลาดเคลื่อนไปจากหลักพระพุทธศาสนา

ขณะเดียวกันกระแสข่าวการดำเนินคดีกับ “พระเทพญาณมหามุนี หรือ พระธัมมชโย” เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ทั้งกรณีที่มีพระวินิจฉัยของสมเด็จพระสังฆราชที่ทรงตัดสินว่าพระธัมมชโยให้ต้องอาบัติปาราชิกตั้งแต่ปี2542 และกรณีกระทำผิดในการยักยอกเงินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นที่สั่งจ่ายวัดธรรมกาย ฯลฯ

ดังนั้นหากปล่อยให้มีการแต่งตั้งสมเด็จช่วงขึ้นเป็นสังฆราชองค์ที่ 20 เกรงว่าจะทำให้พุทธศาสนาบิดเบือนจากพระธรรมวินัยอย่างสิ้นเชิง และท่ามกลางกระแสคัดค้านการแต่งตั้งสมเด็จช่วงในการประชุม (มหาเถรสมาคม) มส. ครั้งที่ 1/2559 ในวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมานั้น นายประดับ โพธิกาญจนวัตร รองโฆษกสำนักงานพระพุทธศาสนา พศ. ได้แถลงผลการประชุมว่า “การประชุมในวันนี้ไม่มีวาระการพิจารณารายชื่อของสมเด็จพระราชาคณะที่เหมาะสมจะได้รับการแต่งตั้งเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่”
นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)
Special Scoopได้สัมภาษณ์ “นายไพบูลย์ นิติตะวัน” อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งเป็นผู้ที่ศึกษาเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง ได้ให้ความเห็นถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นหากมีการสถาปนาสมเด็จช่วงขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช

ทำไมถึงกลัวหาก “สมเด็จช่วง” ขึ้นเป็นสังฆราชองค์ใหม่

เพราะจากการตรวจสอบ เรื่องการปฏิรูปศาสนา พบว่ามีปัญหาสำคัญ คือ ไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย โดยเฉพาะการรับและยินดีในทรัพย์สินกันมากในหมู่พระภิกษุสงฆ์ การมุ่งหาลาภยศสรรเสริญ ซึ่งเป็นกิเลส

นอกจากนั้น ยังได้ศึกษาในกรณีของพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย พบว่าเป็นต้นแบบของความบิดเบือน แนวทางพระธรรมวินัยอย่างสิ้นเชิง ทั้งคำสอน และรูปแบบการปฏิบัติทางธุดงค์ธรรมชัย การก่อสร้างวัด หรือรูปแบบกิจการศาสนกิจทั้งหลาย มีความเป็นอลังการ เหมือนการจัดอีเวนต์ที่มีการจัดตั้งและว่าจ้างกันเป็นธุรกิจ ลักษณะโครงข่ายเป็นเหมือนพรรคการเมือง ที่มีการขับเคลื่อนเพื่อจะแสวงหาพลังอำนาจนำมาสู่ผลประโยชน์ต่างๆ

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ “ไม่ใช่กิจของสงฆ์” ตามพระพุทธศาสนา

อีกทั้งธัมมชโยยังมีปัญหาที่ถูกชี้ความผิดโดยพระราชวินิจฉัยของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 ที่พุทธศาสนิกชนทั้งหมดประจักษ์ชัดถึงคุณความดี มีการปฏิบัติที่ยึดมั่นในพระธรรมวินัยและท่านเป็นสมเด็จพระสังฆราชที่มีพระอำนาจ ทั้งตามกฎหมายและตามหลักพระธรรมวินัย
พระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
เมื่อท่านได้ชี้วินิจฉัยเป็นพระบัญชาอย่างชัดเจนว่า พระธัมมชโยได้ปาราชิกไปแล้ว (ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน2542) เรียกว่าได้กลายเป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายไปแล้วเช่นกัน

แต่กลับได้รับการปกป้องคุ้มครอง แน่นอนว่าจะต้องมีพระในระดับสมเด็จพระราชาคณะที่อยู่ในเถรสมาคมในขณะนั้นให้การคุ้มครอง ซึ่งชัดเจนว่าในช่วงปี 2542 สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็นสมเด็จพระราชาคณะอยู่ด้วย ซึ่งเป็นการช่วยเหลือในทางอ้อมโดยไม่เปิดเผย

สำหรับหลักฐานการช่วยเหลือนั้นมีปรากฏอย่างชัดเจนนับแต่ปี 2500 เป็นต้นมา ตั้งแต่สมเด็จช่วงเป็นพระอุปัชฌาย์ให้พระธัมมชโย

และยังมีคลิปวิดีโอที่บันทึกไว้ในหลายโอกาส ที่สมเด็จช่วงกล่าวต่อสาธารณะว่า “วัดปากน้ำกับวัดพระธรรมกาย เป็นวัดพี่วัดน้องและเป็นวัดเดียวกัน” มีการอุปถัมภ์ค้ำจุนกัน และวัดธรรมกายค้ำจุนวัดปากน้ำมากกว่า และยังมอบเงินให้วัดปากน้ำถึง 30 ล้านบาท ซึ่งสามารถนำมาเผยแพร่ได้เพราะเปิดเผยในที่สาธารณะแล้ว เพื่อให้สังคมได้เห็นว่า วัดปากน้ำและวัดธรรมกาย เป็นวัดพี่วัดน้องกันจริงๆ



ที่มา : Dmc Dhammamediachannel

นอกจากนั้นยังมีหลายโอกาสที่สมเด็จช่วง ไปร่วมกิจกรรมกับวัดพระธรรมกายอย่างเป็นพิเศษ แม้กระทั่งการเลื่อนพัดยศ ซึ่งการเลื่อนสมณะของพระธัมมชโยในปี 2549 ที่มีคดีที่ถือว่าปาราชิกไปแล้วเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง

สิ่งเหล่านี้จึงชี้ให้เห็นว่าสมเด็จช่วงต้องมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้พระธัมมชโยได้เลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นอย่างแน่นอน

เหตุผลที่กล่าวอ้างอย่างนี้ได้ เพราะในตอนนั้นสมเด็จช่วง เป็นสมเด็จราชาในคณะสงฆ์ ซึ่งอยู่ในสมเด็จพระราชาคณะจึงสามารถผลักดันในมหาเถรสมาคมได้

ที่ชัดเจน คือ การเลื่อนสมณศักดิ์ครั้งนี้ พระธัมมชโยไม่ได้ไปรับพัดยศร่วมกับเถระรูปอื่น แต่กลับมาจัดงานในวันถัดไปที่วัดพระธรรมกาย โดยสมเด็จช่วง ไปมอบให้ด้วยตนเองและพิธีนั้นมอบให้พระธัมมชโยแต่เพียงรูปเดียวอีกด้วย ซึ่งเหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ท่านมีความผูกพันเป็นหนึ่งเดียวกัน สนับสนุนอุ้มชูและปกป้องคุ้มครอง รวมทั้งให้การช่วยเหลือไม่ไห้ต้องรับผิดอย่างแน่นอน

ความชัดเจนนี้ไม่ใช่เป็นเพียงอุปัชฌาย์แล้วจบ แยกวัดกันอย่างที่หลายๆ ฝ่ายพยายามจะชี้แจงถึงความไม่เกี่ยวข้องกัน แต่แสดงให้เห็นว่ามีความเกี่ยวข้องกันอย่างมาก

แม้กระทั่งเรื่องผลประโยชน์ที่มีร่วมกันเช่นในวันที่ 22 เมษายน (วันคุ้มครองโลก หรือวันเกิดของพระธัมมชโย) ของทุกปี สมเด็จช่วงจะไปที่วัดพระธรรมกาย และจะมีการประกาศมอบเงินให้สมเด็จช่วงจำนวน 5 ล้านบาท นอกจากนั้นยังมีข่าวเรื่องการมอบทรัพย์สินอื่นๆ ที่เป็นการให้โดยส่วนตัวรวมทั้งมีการสร้างรูปเหมือนหลวงพ่อสด เป็นพระทองคำอีกด้วย

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ถือเป็นการเชื่อมโยงชนิดที่ถ้านำมาตรวจสอบกันอย่างชัดเจนแล้ว จะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเห็นถึงความเกี่ยวโยงกันอย่างแนบแน่น

ดังนั้นเมื่อพระธัมมชโยยังต้องคดีอีกมากมาย ทั้งการวินิจฉัยของสมเด็จพระสังฆราช ที่จะต้องตรวจสอบให้ปาราชิกและยังมีตามมาอีก เช่น คดีสหกรณ์คลองจั่น

หากมีการแต่งตั้งให้สมเด็จช่วงขึ้นเป็นสังฆราชองค์ที่ 20 นั้นจะทำให้ตั้งข้อสังเกตได้ว่าขนาดไม่ได้เป็นสังฆราชยังช่วยเหลือกันได้ขนาดนี้ ซึ่งยังเอาผิดกันไม่ได้จนถึงปัจจุบัน และหากขึ้นมาเป็นสังฆราชจะน่ากลัวขนาดไหน จะเป็นการหนุนธรรมกายให้ครองพุทธศาสนาจักรทั้งแผ่นดิน ศาสนาพุทธจะถูกบิดเบือนจนไม่เรียกว่า “ศาสนาพุทธ”

เพราะอะไรก็ตามที่มุ่งยินดีในทรัพย์สิน ชื่นชมในลาภยศสรรเสริญ ชื่นชมสะสมในความมั่งคั่งความร่ำรวยนั้น ไม่ใช่หลักของพุทธศาสนา ดังนั้นจะวิบัติกันไปหมด

ประการสำคัญที่สุด คือ ในขณะที่อยู่ในระหว่างการติดตามเรื่องพระบัญชา พระวินิจฉัยของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ที่ให้พระธัมมชโยปาราชิกนั้น การเสนอให้สถาปนาสมเด็จช่วงเป็นพระสังฆราชองค์ที่ 20 จะทำให้พระวินิจฉัยและพระบัญชาของ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ถูกยกเลิกหรือถูกละเลยไม่นำมาปฏิบัติอย่างแน่นอน

จึงนับว่าเป็นการทำลายพระเกียรติทำให้ สมเด็จพระสังฆราช เสื่อมเสียอย่างยิ่ง กลายเป็นว่าท่านไปโจษให้พระธัมมชโยปาราชิกแต่ขณะนี้ก็ยังไม่ปาราชิก แสดงว่า สมเด็จพระสังฆราช ใส่ร้ายพระธัมมชโยอย่างนั้นหรือ ซึ่งเป็นเรื่องที่รับไม่ได้

ดังนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่สมเด็จช่วงขึ้นมาเป็นสมเด็จพระสังฆราช เท่ากับสถาปนาผู้ที่ช่วยเหลืออุ้มชูผู้กระทำผิดต่อสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในทันที

สมเด็จช่วง ผิดพระธรรมวินัยเรื่องรับทรัพย์

การมอบเงินให้ 30 ล้านบาทสร้างพระทองคำหรืออื่นๆ อีกนั้น ถามว่าพระธัมมชโยนำเงินมาจากไหน และหากเชื่อมโยงกับระยะเวลา จะพบว่าเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ได้เงินจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นที่ได้มาจากนายศุภชัย ศรีศุภอักษร กรณีนี้จะต้องมีการตรวจสอบว่า เงินมาจากไหน นำไปใช้อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงกันทั้งหมดและถ้าขึ้นเป็นสังฆราชจะไม่สามารถตรวจสอบได้

เพราะหากมีการตรวจสอบเกิดขึ้น จะต้องเป็นข่าวดังเสื่อมเสียไปทั่วโลกว่า สมเด็จพระสังฆราชแห่งประเทศไทย โดนตรวจสอบว่ามีส่วนร่วมในเรื่องของการกระทำผิดกฎหมายเพราะนั่นคือ สิ่งที่เกี่ยวโยงกับพระธัมมชโย

ในด้านส่วนตัวของสมเด็จช่วงเองนั้น มีปัญหาเรื่องรถหรู ซึ่งมองได้ทั้งการผิดพระธรรมวินัย และผิดกฎหมายการได้รับรถหรูมาโดยมีคนนำมาถวายอาจจะมองได้ว่ามีคำถวายและท่านเป็นพระคงไม่เป็นไร แต่ตามพระธรรมวินัยแล้ว ถือว่าไม่สมควร ต้องไม่รับทรัพย์สินและไม่ยินดี

แม้หากรับมาแล้วก็ต้องสละ ต้องไม่ยึดถือทรัพย์สินใด แต่ปรากฏว่า สมเด็จช่วงนำรถที่ได้รับมาใส่ชื่อท่านในทะเบียนเจ้าของรถ เรื่องนี้มีหลักฐานชัดเจนว่า ท่านรับเมื่อมีคนให้และแสดงได้ว่า รับและยินดีในทรัพย์สิน ขัดต่อพระธรรมวินัย และอาบัติอยู่ในขณะนี้

ประการต่อมา คือ รถนี้มีการหนีภาษี ซึ่งการหนีภาษีมีอยู่ในพระธรรมวินัยกล่าวถึงการนำแก้วมณีหนีภาษีเข้ามาตั้งแต่ในสมัยพุทธกาล และในทางของพระธรรมวินัยกล่าวว่า การหนีภาษีเป็นอาบัติในขั้นปาราชิก

ขณะเดียวกันในทางกฎหมาย ถือว่าการรับรถหรูมา เป็นการรับมาโดยที่ท่านเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพราะการเป็นกรรมการเถรสมาคมนี้ถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและจะต้องอยู่ภายใต้การบังคับของกฎหมายพระราชบัญญัติของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ระบุว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐจะไปรับอะไรทั้งตามธรรมจรรยาหรือมีคนมอบให้มาด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม มูลค่าทั้งสิ้นจะต้องไม่เกิน 3,000 บาท ถ้าเกินคือผิดกฎหมาย

จะเห็นได้ว่า เรื่องรถหรูนั้น ผิดพระธรรมวินัยถึง 2 เรื่อง และผิดกฎหมายอีก 2 เรื่องด้วย

สมเด็จช่วงขึ้นเป็นสังฆราชศาสนาพุทธจะเปลี่ยนเป็นอาณาจักรของพระธรรมกาย

นายไพบูลย์ บอกด้วยว่า ถ้าสมเด็จช่วงขึ้นเป็นสังฆราช ศาสนาจะเปลี่ยนเป็นอาณาจักรของพระธรรมกาย จะแผ่ขยายปกคลุมไปทั่ว เพราะว่าเมื่อขึ้นเป็นสังฆราชแล้ว จะสร้างความน่าเกรงกลัวต่อพระสงฆ์ทั้งหมด จะต้องสยบต่อระบบของธรรมกาย ซึ่งแนวคิดไม่ได้เป็นไปตามหลักแก่นแท้ของพระธรรมวินัย และจะกลายเป็นว่า แยกออกเป็นอีกศาสนา ซึ่งไม่ใช่ศาสนาพุทธนิกายมหายาน กับนิกายหินยาน (เถรวาท)

เป็นที่ชัดเจนว่าไม่ใช่การแยกนิกายแต่เป็นการสร้างอีกศาสนาขึ้นมา โดยใช้คราบของความเป็นพุทธ เพราะทุกอย่างนั้นตรงกันข้ามกับหลักพุทธ ไม่เน้น "หลักตถตาหรือหลักของพุทธทาส" ที่กล่าวถึงแก่นแท้ของหัวใจศาสนาพุทธ คือ การละวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่น การแสวงหาทางแห่งการพ้นทุกข์และรักษาอยู่ในใจ ไม่เน้นในวัตถุทั้งหลาย

สิ่งที่เห็นในธรรมกายนั้นคือความอลังการโอ่อ่า เน้นเรื่องการทำพิธีกรรม สร้างเป็นอาณาจักรขึ้นมา

ข้อกฎหมายที่นำมาใช้ได้กรณีล้มการแต่งตั้งสังฆราชองค์ที่ 20

เมื่อกฎหมายตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7 ระบุว่า

“พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่งในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุด โดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช

ในกรณีที่สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นผู้มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์รองลงมาตามลำดับ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช”

เมื่อมาตรา 7 เขียนอย่างนี้ต้องเริ่มที่นายกฯ เมื่อนายกฯ กล่าวว่ายังไม่พร้อมต้องดูและตรวจสอบให้เรียบร้อยรอบคอบ และที่ผ่านมาไม่เคยพูดเรื่องกฎหมายเน้นแต่ตามสมณยศ แต่ในขั้นตอนที่ถูกต้องต้องพิจารณาว่า หากชื่อที่จะเสนอมีข้อครหามากมายต้องเคลียร์ก่อนโดยท่านนายกฯ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็พูดในทำนองเดียวกัน

เนื่องเพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องสูง แต่หลายคนบอกว่าเป็นเรื่องสงฆ์ หากเป็นเช่นนั้นก็ประชุมกันแล้วตั้งกันไปเอง แต่ตรงนี้นายกฯ ต้องเป็นคนเสนอชื่อ กราบบังคมทูลให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานโปรดเกล้าฯ จึงไม่ใช่เรื่องของสงฆ์ฝ่ายเดียว ถ้ามองตามกฎหมาย ต้องเป็นชื่อของพระที่มีสมณยศสูงสุด คือ สมเด็จช่วง วัดปากน้ำ เว้นแต่ว่าจะปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ ซึ่งกรณีนี้ยังปฏิบัติหน้าที่ จึงไม่ควรมองรูปอื่น

ข้อที่สอง เมื่อเขียนว่า นายกฯ เป็นผู้เสนอชื่อโดยความเห็นชอบของเถรสมาคม ดังนั้นนายกฯ ต้องเป็นคนเริ่มว่าจะเสนอแล้ว และจะส่งชื่อมาที่เถรสมาคมว่ามีชื่อพระรูปไหน ซึ่งเถรสมาคมเป็นผู้เห็นชอบด้วยก็ดำเนินการ ไม่ใช่เริ่มเรื่องโดยเถรสมาคมตกลงกันเอง

“ถ้าเป็นแบบนี้จะไปฟ้องว่าเป็นการกระทำผิดขั้นตอนกฎหมาย”

และที่ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี บอกว่า ต้องเริ่มต้นที่มหาเถรสมาคม (มส.) เพราะทำตามประเพณีนั้น ตั้งแต่แก้ฎหมายมาเมื่อปี พ.ศ. 2535 ยังไม่มีประเพณีตรงไหน เพราะยังไม่เคยตั้งสมเด็จพระสังฆราชเลย ดังนั้นจะใช้กฎหมายหรือประเพณีก็ต้องเอาให้แน่ ใช้ทางใดทางหนึ่งไปเลย

ปฏิรูปศาสนา เริ่มที่เถรสมาคมไม่รับหรือยินดีในทรัพย์สิน

ในการแต่งตั้งพระสังฆราชองค์ใหม่นี้จะเป็นตัวอย่าง ที่จะนำมาสู่การเตือนสติสังคมไทยว่า พุทธศาสนาของเรานั้นถูกละเลย และเป็นแต่เปลือกกันมานานแล้ว ไม่เคยมองกันอย่างแท้จริงว่า หัวใจของพระพุทธศาสนาอยู่ที่พระธรรมวินัยและการปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างแท้จริงตามคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ให้ไว้ว่า ฝากศาสนาพุทธไว้กับพุทธบริษัท 4 (ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา)

ประการต่อมา คือ ผู้ใดเห็นธรรม คือ ธรรมะ คือ ศาสนาพุทธ ไม่ใช่วัดไม่ใช่พระภิกษุ แต่พระธรรมต่างหาก คือ แก่นแท้ของศาสนาพุทธ

ปัจจุบันเมื่อโลกเข้าสู่ยุคอินเทอร์เน็ต ยุคของการเรียนรู้ทางข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีสารสนเทศกันมากมายเชื่อว่าพุทธศาสนิกชนในประเทศไทยสามารถศึกษาเรื่องของพระธรรมกันได้ทุกรูปทุกแบบ สามารถศึกษาถึงแก่นแท้ของพระธรรมและนำมาปฏิบัติ เพราะศาสนาพุทธเน้นการปฏิบัติ

นี่คือ แนวทางในการปฏิรูปศาสนา คือการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา

ดังนั้นในเรื่อง "การตั้งสมเด็จพระสังฆราชนี้จะเป็นกรณีที่จะนำไปสู่การปฏิรูป" เพราะประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ คือ ตั้งไม่ได้เพราะไม่ได้อยู่ในพระธรรมวินัย และหากพระสังฆราชไม่ปฏิบัติตนตามพระธรรมวินัยแล้ว เมื่อขึ้นเป็นพระสังฆราชจะไม่ "พัง"กันหรือ

ดังนั้นเมื่อถึงเวลาที่จะต้องมีการปฏิรูปกันแล้วต้องมาดูกันว่า การปฏิบัติตามพระธรรมวินัย คือ อย่างไร ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เรียกร้องตลอดมาว่า ให้เถรสมาคมปฏิบัติเป็นตัวอย่าง ต้องไม่รับหรือยินดีในทรัพย์สิน ไม่สะสมทรัพย์สิน ให้เน้นสมถะ เช่น ให้พระรูปที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ต้องเปิดเผยแสดงบัญชีทรัพย์สิน เพื่อให้เห็นว่าปฏิบัติตามพระธรรมวินัย

กรณีสมเด็จช่วง วัดปากน้ำ ที่จะได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ให้เปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน หากว่ามีมากมายก็ขัดต่อพระธรรมวินัยแล้วจะเป็นสมเด็จพระสังฆราชได้อย่างไร หรือมีทรัพย์สินมากมายจะเป็นสมเด็จพระราชาคณะได้อย่างไร แสดงว่าเลือกในทางจะเป็นภิกษุแล้วสะสมทรัพย์สินหาประโยชน์จากการเป็นพระภิกษุ ก็ไม่เป็นไร แต่อย่านำยศถาบรรดาศักดิ์มาใช้

สมเด็จพระราชาคณะ ต้องเป็นตัวอย่างของผู้ทรงไว้ซึ่งการปฏิบัติให้เป็นตามพระธรรมวินัยไม่ใช่การปฏิบัติแต่สวดมนต์อย่างเดียว ต้องไม่ยินดีในทรัพย์สิน ละเว้นซึ่งกิเลสใดๆ มุ่งแสวงหาแต่การหลุดพ้น

ส่วนพุทธศาสนิกชนก็เช่นเดียวกัน ต้องไม่มองแต่กระพี้พุทธพาณิชย์หรือเดรัจฉานวิชา เข้ามาหลอกล่อกระทั่งบิดเบือนแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา แต่ต้องให้หันมามองถึงแก่นแท้ของพระธรรมจริงๆ โดยกลับไปศึกษาถึงแนวทางของพระพุทธเจ้า

นี่คือแนวทางการปฏิรูปศาสนา และเมื่อ "ปฏิรูปในส่วนยอด (สมเด็จพระราชาคณะ) ได้แล้วก็จะส่งผลไปทั้งกิจการของพระพุทธศาสนาทั้งระบบทันที" ไม่มีประโยชน์ที่จะไปแก้ในบางจุด แต่หากหัวหน้าจุดสูงสุดซึ่งเป็นศูนย์กลางของศาสนานั้น กลับกระทำผิดกันเอง เปรียบเทียบแล้วเสมือนทางโลก คือ นักการเมือง ผู้บริหารประเทศทุจริต เพราะถ้ายังคอร์รัปชันจะไม่มีวันแก้ปัญหาได้ ต้องเริ่มต้นที่ผู้นำทางโลก และในส่วนพุทธศาสนานั้นผู้นำทางศาสนาจะต้องเป็นตัวอย่างในการปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างแท้จริงต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น