xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 3-9 ม.ค.2559

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1.“บิ๊กตู่” ใช้ ม.44 ลงดาบ ขรก.-ผู้นำท้องถิ่น 59 ราย พบ บอร์ด สสส.โดนเกือบยกชุด ด้านเครือข่ายภาค ปชช.นัดประชุมค้าน 11 ม.ค.!
บางส่วนของบอร์ด สสส.ที่ถูกปลด นพ.วิชัย โชควิวัฒน, นายยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์, นายเอ็นนู ชื่อสุวรรณ, นายสมพร ใช้บางยาง
เมื่อวันที่ 5 ม.ค. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เรื่องประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ 3 โดยระบุว่า หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบได้เสนอรายงานเพิ่มเติมเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบ จึงจำเป็นต้องประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐเพิ่มเติม ประกอบกับจำเป็นต้องให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบางตำแหน่งพ้นจากตำแหน่ง เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของงานอันเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปราชการแผ่นดิน อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 หัวหน้า คสช. โดยความเห็นชอบของคณะ คสช.จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

1. ให้ผู้ที่มีรายชื่อในกลุ่มที่ 1 ผู้บริหารสถานศึกษา ตามบัญชีแนบท้ายคำสั่งนี้ ระงับการปฏิบัติราชการหรือหน้าที่ในตำแหน่งเดิมเป็นการชั่วคราว มี 2 ราย คือ นายสุเมธ แย้มนุ่น รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และนายอร่าม ศิริพันธุ์ หัวหน้าภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

2. ให้ผู้มีรายชื่อในกลุ่มที่ 2 ข้าราชการพลเรือน ตามบัญชีแนบท้ายคำสั่งนี้ ระงับการปฏิบัติราชการในตำแหน่งเดิมเป็นการชั่วคราว และไปปฏิบัติราชการประจำหน่วยงานตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย ซึ่งมี 2 ราย ประกอบด้วย 1.นายอภิชาติ ถนอมทรัพย์ ผู้อำนวยการกองคดี สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) และนายสมคิด มะธิปะโน ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนแก่งนาจารย์พิทยาคม จ.กาฬสินธุ์

3. ให้ผู้มีรายชื่อในกลุ่มที่ 3 ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามบัญชีแนบท้ายคำสั่งนี้ ระงับการปฏิบัติราชการหรือหน้าที่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดำรงตำแหน่งอยู่เป็นการชั่วคราวโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน ซึ่งมี 44 ราย โดยในจำนวนนี้ เป็นผู้บริหารท้องถิ่นใน จ.มหาสารคามถึง 32 ราย

4. ให้ผู้มีรายชื่อในกลุ่มที่ 4 ข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามบัญชีแนบท้ายคำสั่งนี้ ไปช่วยราชการที่ศาลากลางจังหวัดที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นตั้งอยู่ หรือสถานที่ราชการอื่นตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดกำหนด แต่ต้องมิใช่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่อยู่เดิมโดยไม่ต้องมีคำร้องขอ และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายเป็นผู้บังคับบัญชา มีอำนาจมอบหมายให้ผู้นั้นปฏิบัติงานตามความเหมาะสม โดยมิให้บุคคลดังกล่าวได้รับเงินประจำตำแหน่งและสิทธิเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการชั่วคราว ซึ่งมี 4 ราย ประกอบด้วย นายยุทธเดช พลอยสังวาลย์ ท้องถิ่นจังหวัดนครพนม, ส.ต.ต. บุญส่ง ทศพร ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลนพรัตน์ จ.ปทุมธานี, นายณรงค์ฤทธิ์ คล้ายทอง ปลัดเทศบาลตำบลท่าข้าม อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์ และ น.ส.จันทร์ประภา อิสสอาด ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม เทศบาลเมืองบางบัวทอง จ.นนทบุรี

5. เมื่อหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) และสำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้มีรายชื่อในกลุ่มที่ 1-4 ต่อหน่วยงานต้นสังกัด แล้ว ให้หน่วยงานนั้นเร่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือสอบสวนเพื่อดำเนินการทางวินัย ในกรณีที่ไม่พบว่ามีความผิด ให้รายงานนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเปลี่ยนแปลงคำสั่งต่อไป

6.ให้ผู้มีรายชื่อในกลุ่มที่ 5 กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(บอร์ด สสส.) ตามบัญชีแนบท้ายคำสั่งนี้ พ้นจากการเป็นกรรมการและการดำรงตำแหน่งในกองทุนดังกล่าว และให้ผู้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการแต่งตั้งกรรมการใหม่ตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมี 7 ราย ประกอบด้วย นพ.วิชัย โชควิวัฒน รองประธานบอร์ด สสส.คนที่สอง ส่วนกรรมการ สสส.อีก 6 คน ได้แก่ นายนายสงกรานต์ ภาคโชคดี, นายเอ็นนู ชื่อสุวรรณ, นายยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์, นายสมพร ใช้บางยาง, รศ.ประภัทร นิยม และนายวิเชียร พงศธร (สำหรับกรรมการที่ไม่ถูกให้พ้นจากตำแหน่ง มีเพียง 2 คน คือ นางทิชา ณ นคร และนายชำนาญ พิเชษฐพันธ์)

7.ให้กำหนดตำแหน่งนายจเร พันธุ์เปรื่อง ที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรีตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 3 พ.ย. 2558 ไว้ในสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค. 2558

8. การรับเงินเดือน สิทธิประโยชน์ หรือประโยชน์ตอบแทนใด ๆ ของผู้มีรายชื่อในกลุ่มต่าง ๆ ตามบัญชีแนบท้ายคำสั่งนี้และตามข้อ 7 ให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการ

9. ในกรณีมีปัญหา ให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) หรือส่วนราชการเจ้าของเรื่องเสนอปัญหาและแนวทางดำเนินการให้นายกรัฐมนตรีวินิจฉัย โดยคำวินิจฉัยของนายกรัฐมนตรีให้ถือเป็นที่สุด

10. นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีแล้วแต่กรณี อาจมีคำสั่งหรือมติเปลี่ยนแปลงคำสั่งนี้ได้ตามที่เห็นสมควร โดยคำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซึ่งก็คือวันที่ 5 ม.ค.2559

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ พูดถึงประกาศรายชื่อดังกล่าวว่า รายชื่อที่ออกมายังไม่ได้ชี้ว่าเป็นการทุจริต แต่เพื่อให้สะดวกในการสอบสวน หากทำผิด จะนำไปสู่กระบวนการอื่นต่อไป

ขณะที่ นพ.วิชัย โชควิวัฒน อดีตรองประธานบอร์ด สสส.กล่าวว่า ส่วนตัวแล้วเชื่อว่ามีกระบวนการล้มล้าง สสส.เพราะชนวนเหตุเกิดขึ้นตั้งแต่การร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และ พ.ร.บ.ยาสูบ ทั้งที่โครงการ สสส.หลายอย่างที่ผ่านมาเกิดผลลัพธ์ที่ดี จึงมองว่ากองทุน สสส.อาจไปขัดผลประโยชน์กับบริษัทเหล่านี้

ทั้งนี้ คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ปลดบอร์ด สสส.ทั้ง 7 คน ได้สร้างความไม่พอใจให้ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน ซึ่งประกอบด้วยเครือข่ายภาคประชาชนทั่วประเทศ 20 เครือข่าย เช่น ชมรมแพทย์ชนบท เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายเด็ก เยาวชนและครอบครัว เครือข่ายงดเหล้าและบุหรี่ ฯลฯ โดยได้ออกแถลงการณ์คัดค้านคำสั่งของ คสช.ที่ปลดบอร์ด สสส.ดังกล่าว พร้อมชี้ว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบธรรม เนื่องจากที่ผ่านมา ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ(ศอตช.) และคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณภาครัฐ(คตร.) ได้ตรวจสอบการดำเนินงานของ สสส.และบอร์ดแล้ว ไม่มีการทุจริตแต่อย่างใด ส่วนเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของบอร์ดบางคนที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรที่ได้รับทุนด้วยนั้น เกิดจาก พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 ถูกออกแบบให้ตัวแทนจากองค์กรภาคประชาสังคมเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหาร สสส.ภายใต้ระเบียบการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนที่เข้มงวด ซึ่งได้มีการแก้ไขระเบียบข้อบังคับ สสส.หลายฉบับเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของบอร์ด และผ่านความเห็นขอบของบอร์ดแล้ว ให้ดำเนินการตามระเบียบภายใน 90 วัน ซึ่งบอร์ด สสส.เริ่มทยอยปฏิบัติตามระเบียบแล้ว แต่กลับมีประกาศมาตรา 44 ปลดบอร์ด สสส.อย่างมีเงื่อนงำดังกล่าว

ทั้งนี้ ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชนยังเชื่อด้วยว่า คำสั่งปลดบอร์ด สสส.ดังกล่าว จะนำไปสู่การแต่งตั้งบอร์ด สสส.และผู้จัดการ สสส.คนใหม่ ที่มาจากกลุ่มที่ใกล้ชิดกับศูนย์กลางอำนาจรัฐและตัวแทนจากกลุ่มทุน เพื่อไม่ให้การดำเนินงานของ สสส.สร้างผลกระทบต่อผลประโยชน์ในกิจการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ ยาและอาหาร ของพวกตน เป็นต้น รวมทั้งเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากกองทุน สสส.ได้โดยปราศจากการตรวจสอบของสังคม

ดังนั้นขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน จะจัดประชุมใหญ่ตัวแทนจากเครือข่ายต่างๆ ทั่วประเทศในวันจันทร์ที่ 11 ม.ค.นี้ เพื่อประกาศแนวทางในการเคลื่อนไหวคัดค้านคำสั่งดังกล่าวของ คสช.ต่อไป

2.เครือข่ายปกป้องพระเกียรติพระสังฆราช ยื่น สนช.ชะลอตั้งพระสังฆราชองค์ใหม่ เหตุมีข้อครหาทางคดีความ ด้าน “บิ๊กตู่” ขอดูสถานการณ์-ความเหมาะสม!

กลุ่มเครือข่ายปกป้องพระเกียรติ สมเด็จพระสังฆราช  นำโดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน ยื่นหนังสือต่อ สนช.ขอให้ชะลอการแต่งตั้งพระสังฆราชองค์ใหม่
เมื่อวันที่ 6 ม.ค. กลุ่มเครือข่ายปกป้องพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช และเครือข่ายสตรีปกป้องพระพุทธศาสนา นำโดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสมาชิกวุฒิสภา และอดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ได้ยื่นหนังสือต่อนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เพื่อขอให้มีการชะลอการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ เนื่องจากมีพระราชาคณะบางรูปยังมีข้อครหาในทางคดีความ

นายไพบูลย์ กล่าวว่า เนื่องจากทางมหาเถรสมาคม(มส.) จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวในวันที่ 11 มกราคมนี้ ตนเห็นว่าเป็นการดำเนินการที่ผิดขั้นตอนและกฎหมาย เพราะตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7 ระบุให้เป็นขั้นตอนของนายกรัฐมนตรีที่จะพิจารณาดำเนินการก่อน แล้วค่อยขอความเห็นจาก มส. มิใช่ริเริ่มมาจาก มส.เพื่อเสนอชื่อมายังนายกรัฐมนตรี อีกทั้งสมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสสูงสุด ก็คือ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) มีข้อทักท้วงไม่เหมาะสมหลายประการ เช่น มีพฤติกรรมปกป้องการกระทำของพระธัมมชโย ทำให้ไม่ต้องปาราชิกตามพระวินิจฉัยของสมเด็จพระญาณสังวรฯ , กรณีเกี่ยวข้องกับรถยนต์หรู, กรณีกระทำผิดในการยักยอกเงินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ซึ่งหากมีการเสนอพระราชาคณะรูปดังกล่าวให้เป็นสมเด็จพระสังฆราชแล้ว จะเป็นการกระทบกระเทือนจิตใจต่อพุทธศาสนิกชนทั่วไป และกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมที่กำลังดำเนินการอยู่ ดังนั้น ทางเครือข่ายฯ จึงได้ยื่นหนังสือเพื่อเรียกร้องให้ระงับกระบวนการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ออกไปก่อน เพื่อให้มีการตรวจสอบตามกระบวนการยุติธรรม จนกว่าคดีความจะยุติ

ด้านนายสุรชัย กล่าวว่า จะรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณา และจะมอบหมายให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการตามระเบียบและขั้นตอนต่อไป

ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายไพบูลย์ ยื่นหนังสือถึง สนช. ขอให้ชะลอการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ ที่ มส.จะประชุมกันในวันที่ 11 ม.ค. นี้ว่า การเลือกสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ต้องตั้งเรื่องจาก มส. เพราะไม่เคยมีประเพณีปฏิบัติเป็นอย่างอื่น และ มส.ไม่มีสิทธิ์ที่จะเลือกองค์อื่นหรือองค์ใดก็ได้ โหวตก็ไม่ได้ เพราะถูกบังคับตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ว่า ต้องเป็นสมเด็จที่มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ซึ่งไม่ใช่พรรษา

เมื่อถามว่า หาก มส.ส่งชื่อสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ ทางนายกรัฐมนตรีจะสามารถพิจารณาก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีสามารถพิจารณาได้ถ้าผิดกระบวนการ แต่เมื่อล็อกสเปกแล้วว่าต้องเป็นสมเด็จที่มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ในเมื่อใครๆ ก็รู้ว่าคือใคร นายกรัฐมนตรีจึงต้องทำตัวเป็นไม่รู้ ถึงนายกรัฐมนตรีจะรู้ก็มีสเปกข้อที่ 2 คือ ต้องสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ สุขภาพแข็งแรง ซึ่ง มส.จะเป็นคนบอก จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมกระบวนการจึงต้องเริ่มจากมหาเถรสมาคม ฉะนั้น นายกรัฐมนตรีจะพิจารณาได้คือ มีการผิดกระบวนการเพียงอย่างเดียว เมื่อถามย้ำว่า นายไพบูลย์ขอให้ชะลอออกไปก่อน เพราะมีข้อครหา ตามกฎหมายสามารถทำได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ขอพูด

อนึ่ง สำหรับสมเด็จพระราชาคณะที่มีลำดับอาวุโสโดยสมณศักดิ์สูงสุด คือ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) วัดปากน้ำภาษีเจริญ ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ชั้นสุพรรณบัฏ ที่ “สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์” เมื่อปี พ.ศ. 2538 เกิดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2468 ปัจจุบันอายุ 90 ปี อยู่ในคณะสงฆ์สายมหานิกาย และพบว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับวัดพระธรรมกาย จ.ปทุมธานี ของพระธัมมชโย

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.กล่าวถึงกรณีที่นายไพบูลย์ยื่น สนช.ขอให้ชะลอการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ เนื่องจากพระราชาคณะบางรูปยังมีข้อครหาในทางคดีความว่า ต้องดูกฎหมาย ดูสถานการณ์ และความเหมาะสม หากยังมีความขัดแย้งหรือมีปัญหากันอยู่ ก็ต้องคลี่คลายให้ได้

ด้านพระพุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม ได้โพสต์เฟซบุ๊กว่า เมื่อวันที่ 6 ม.ค. ดีเอสไอได้แจ้งความคืบหน้าคดีธัมมชโยกับพวกที่พระพุทธะอิสระร้องทุกข์ธรรมกายและมหาเถรสมาคมไว้ 11 คดี และเพื่อไม่ให้เสียรูปคดี บอกได้เพียงว่า ดีเอสไอมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ โดยคณะกรรมการพิจารณาคดีพิเศษเห็นตรงกันว่า พระวินิจฉัยของสมเด็จพระสังฆราชที่ทรงตัดสินธัมมชโยให้ต้องอาบัติปาราชิกตั้งแต่ปี 2542 นั้น จากการสอบสวนพยานเอกสาร พยานวัตถุ พยานบุคคล จนได้ข้อสรุปว่า ธัมมชโยต้องอาบัติปาราชิกตั้งแต่ปี 2542 จริงดังที่สมเด็จพระสังฆราชทรงวินิจฉัย “ดีเอสไอจึงมีหนังสือแจ้งให้สำนักพุทธฯ และกรรมการ มส.เร่งดำเนินการกับธัมมชโยให้พ้นจากการนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ หากสำนักพุทธฯ และ มส.ยังไม่ดำเนินการใดๆ กับอลัชชีชั่ว ทีนี้แหละคุกแน่ๆ 157 รออยู่นะ หลวงตาช่วง ผอ.สำนักพุทธฯ นี่ยังไม่รวมคดีเพ็ดทูลเบื้องสูงในกรณีนำชื่อบุคคลที่ไม่ใช่ภิกษุขึ้นทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานสมณศักดิ์ในปี 2554 อีกนะ...”

ขณะที่ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่า เรื่องพระธัมมชโยอาบัติปาราชิกขาดจากความเป็นพระภิกษุนั้น เป็นอำนาจของสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กับมหาเถรสมาคม (มส.) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ โดยทางดีเอสไอมีหน้าที่เพียงส่งข้อมูลเพิ่มเติมไปให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ดีเอสไอจะสอบถามความคืบหน้าไปยังสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติอีกครั้งว่าได้ดำเนินการอย่างไรบ้างแล้ว และว่า ดีเอสไอจะรับผิดชอบเกี่ยวกับคดีรถหรูเลี่ยงภาษีที่พบว่ามีพระใน มส. หลายรูปครอบครองมีมูลค่ากว่า 5 ล้านบาท และคดีเผยแผ่คำสอนไม่ตรงหลักศาสนาเข้าไปในระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ

ด้านนายพนม ศรศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) กล่าวถึงการประชุม มส.ในวันที่ 11 ม.ค.นี้ว่า ตนได้รับรายงานว่า การประชุม มส.วันที่ 11 ม.ค.ที่พุทธมณฑล จ.นครปฐม จะมีกลุ่มเครือข่ายปกป้องพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช และเครือข่ายสตรีปกป้องพระพุทธศาสนา ไปยื่นหนังสือคัดค้านการเสนอชื่อตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 ซึ่ง พศ.พร้อมที่จะรับเรื่องดังกล่าว แต่เท่าที่ทราบ ในการประชุม มส.วันดังกล่าว ไม่มีวาระเกี่ยวกับเรื่องสมเด็จพระสังฆราชแต่อย่างใด

ด้านนายไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 7 ม.ค. มีเนื้อหาตอนหนึ่งเกี่ยวกับการตั้งสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ว่า อย่าคิดว่าเคยวิ่งราวชิงอำนาจสมเด็จพระสังฆราชสำเร็จมาหนหนึ่งแล้วจะทำซ้ำได้อีก เพราะครั้งที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ปฏิบัติพระภารกิจในพระอุโบสถวัดบวรฯ มีแก๊งวิ่งราว ตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ถือเป็นบาปนัก มาครั้งนี้ทำท่าจะวิ่งราวอีก เพราะกำลังหลอกว่าการตั้งสมเด็จพระสังฆราช เป็นอำนาจของมหาเถรสมาคม ที่ต้องเลือกตามอาวุโสโดยสมณศักดิ์ แล้วนายกรัฐมนตรี เป็นแค่ไปรษณีย์ ต้องนำความกราบบังคมทูลไปตามนั้น ขอชี้แจงว่า การนำความกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระสังฆราช เป็นอำนาจของนายกฯ ที่มีอำนาจใช้ดุลยพินิจว่าสมควร หรือถึงเวลา หรือเหมาะสมที่จะนำความกราบบังคมทูลเมื่อใด อย่างไร ใครจะมาบังคับไม่ได้

และกรณีที่นายกฯ จะนำความขึ้นกราบบังคมทูล ก็ต้องพิจารณาจาก 4 เรื่อง คือมหาเถรสมาคมให้ความเห็นชอบว่าสมควรเสนอสมเด็จพระราชาคณะรูปใด, สมเด็จพระราชาคณะรูปนั้น มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์, สามารถปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชได้ และจะต้องเป็นสกลมหาสังฆปริณายก คือเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของคณะสงฆ์ทั้งประเทศและของพุทธศาสนิกชนทั้งประเทศ มีความบริสุทธิ์ในศีล มีจริยาวัตรอันงาม ไม่ต้องคดีอาญาแผ่นดิน ไม่ตกเป็นที่ครหานินทาเรื่องหนีภาษี เรื่องสั่งสมทรัพย์สิน

และเมื่อนายกฯ พิจารณาโดยชอบ และเห็นสมควรนำความขึ้นกราบบังคมทูลแล้ว ยังเป็นอำนาจของคณะองคมนตรีที่จะกลั่นกรองตรวจสอบความถูกต้องเหมาะสม จากนั้นยังเป็นพระราชอำนาจที่จะทรงสถาปนาอีกด้วย การที่ขบวนการวิ่งราวอำนาจอ้างแต่เพียงอำนาจมหาเถรสมาคม อ้างแต่เพียงอาวุโสโดยสมณศักดิ์ เพียงสองเรื่อง แล้วตัดอำนาจและพระราชอำนาจ ตลอดจนความถูกต้องชอบธรรม จึงเป็นเรื่องที่สาธุชนทั้งหลายพึงเข้าใจ และพึงติเตียน

3.โปรดเกล้าฯ ถอดยศ-เรียกคืนเครื่องราชฯ 1 ทหาร- 9 ตำรวจ ต้องโทษคดียาเสพติด-ทำผิดวินัยร้ายแรง ด้าน “เชาวรินธร์” ขอถอดยศตัวเอง!

(บน) ทหารที่ถูกถอดยศ พ.ท. ตรัยพฤทธิ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา (ล่าง) 1 ใน 9 ตำรวจที่ถูกถอดยศ พ.ต.ต.สุภวัฒน์ สุปิยะพาณิชย์
เมื่อวันที่ 7 ม.ค. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี 3 ฉบับ เกี่ยวกับการถอดยศตำรวจและทหาร รวมทั้งการเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ โดยฉบับแรก มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ถอดยศ พ.ท. ตรัยพฤทธิ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา สังกัดกองบัญชาการกองทัพไทย ตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค. 2556 ซึ่งเป็นวันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก เนื่องจากกระทำความผิดต่อ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ความผิดต่อ พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ความผิดเกี่ยวกับเอกสาร และความผิดต่อ พ.ร.บ.รถยนต์ และให้เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่บุคคลดังกล่าวได้รับพระราชทาน

ฉบับที่สอง ให้ถอดยศอดีตข้าราชการตำรวจ เนื่องจากกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง และถูกลงโทษไล่ออกจากราชการ จำนวน 2 ราย ประกอบด้วย ร.ต.อ.พิชัย ลีมะทวีกูล ตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค. 2547 และ ร.ต.ท.หญิง ณิลวรัตน์ ชูใหม่ ตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค. 2548

ฉบับที่สาม ให้ถอดยศอดีตข้าราชการตำรวจ และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับพระราชทานตั้งแต่วันที่มีคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ เนื่องจากกระทำผิดวินัยร้ายแรง และถูกลงโทษไล่ออกจากราชการจำนวน 7 ราย ประกอบด้วย พ.ต.ต.สุภวัฒน์ สุปิยะพาณิชย์ ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ย.2550, ร.ต.อ.ณัฏฐ์ ชลนิธิวณิชย์ ตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค.2551, พ.ต.ท.ปัญญาพจน์ ปานทอง ตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค. 2553, ร.ต.อ.สมควร บัวไสว ตั้งแต่วันที่ 3 ก.พ. 2556, ร.ต.ต.เสรี กาศสกุล ตั้งแต่วันที่ 30 ส.ค. 2556, พ.ต.ท.วีรพล วัชราทิตย์ ตั้งแต่วันที่ 29 ก.ย. 2557 และ พ.ต.อ.วุฒิชาติ เลื่อนสุคันธ์ ตั้งแต่วันที่ 23 พ.ย. 2557

สำหรับ พ.ต.อ.วุฒิชาติ เลื่อนสุคันธ์ อดีตผู้กำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นตำรวจในเครือข่าย พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ที่ถูกจับกุมในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับผลประโยชน์ เปิดบ่อน และแอบอ้างเบื้องสูงก่อนหน้านี้

เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อวันที่ 6 ม.ค. นายเชาวรินธร์ ลัทธศักย์ศิริ หรือ ร.ต.ท.เชาวรินทร์ ลัทธศักดิ์ศิริ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อดีตผู้ต้องขังความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนและถูกจำคุกเป็นเวลา 10 เดือน ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และพ้นโทษออกมาแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.ที่ผ่านมา ได้แถลงข่าวเพื่อขอถอดยศ “ร.ต.ท.” ของตัวเอง โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (4) มาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 โดยให้เหตุผลว่า เพื่อรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย และไม่ต้องรอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติมาทำเรื่องถอดยศตน

ผู้สื่อข่าวถามว่า การถอดยศตัวเองต้องการประชดไปถึงนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ หรือไม่ นายเชาวรินธร์ กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกัน และว่า เรื่องคดีของนายทักษิณช่วงที่ถูกดำเนินคดีที่ดินรัชดาฯ ตนเคยให้คำปรึกษาทางกฎหมายไปแล้ว แต่อดีตนายกฯ ไม่เชื่อ และหลังจากนั้นก็ไม่กล้าให้คำปรึกษาและติดต่อกันอีกเลย ตนมั่นใจว่า หากวันนั้นนายทักษิณเชื่อตน ก็ไม่ต้องรับโทษและอยู่ต่างประเทศแบบนี้

4.ชาวสวนยางสุดทน เตรียมชุมนุมเรียกร้อง รบ.แก้ปัญหาราคายางต่ำสุดในรอบ 100 ปี 12 ม.ค.นี้ ขณะที่ “บิ๊กตู่” แนะปฏิรูปตัวเอง-ปลูกพืชเสริม!

(บน) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. (ล่างซ้าย) นายบุญส่ง นับทอง นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (ล่างขวา) นายชัยวุฒิ ผ่องแผ้ว ประธานสมาพันธ์เกษตรกรจังหวัดสงขลา
สัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวเรื่องราคายางพาราตกต่ำ โดยนายบุญส่ง นับทอง นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมชาวสวนยาง จ.กระบี่ กล่าวว่า ราคายางพาราตกต่ำหนักสุดในรอบหลายสิบปีตั้งแต่มียางพาราเกิดขึ้นในประเทศไทย โดยขณะนี้ราคาน้ำยางสดอยู่ที่กิโลกรัมละ 22-25 บาท เศษยางราคา 12-15 บาท/กิโลกรัม ชาวสวนยางเดือดร้อน ต้องกู้เงินนอกระบบมาเป็นค่าใช้จ่าย บางรายเริ่มโค่นต้นยางเพื่อขายปลดหนี้ ยอมถูกยึดรถ เพราะไม่สามารถผ่อนชำระค่างวดรถได้ จึงขอเรียกร้องรัฐบาล 6 ข้อ เช่น ให้ใช้มาตรา 44 นำยางในสต๊อก 3 แสนตันมาทำถนน, เร่งจ่ายเงิดชดเชยไร่ละ 1,500 บาทให้ทั่วถึง ฯลฯ

ขณะที่นายชัยวุฒิ ผ่องแผ้ว อดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานสมาพันธ์เกษตรกรจังหวัดสงขลา เผยว่า สมาพันธ์ฯ มีมติว่า ชาวสวนยางพาราจะรวมตัวกันเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงความเดือดร้อนในวันที่ 12 ม.ค.นี้ เพื่อเรียกร้องให้นายกฯ และหัวหน้า คสช.ใช้มาตรา 44 ในการแก้ปัญหา เพราะขณะนี้ราคายางพาราตกต่ำจนเข้าขั้นวิกฤต เป็นราคาที่ต่ำสุดในรอบ 100 ปี “การรวมตัวกันวันที่ 12 ม.ค.นี้ เพื่อแสดงพลังความเดือดร้อน พร้อมยื่นหนังสือถึงสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ทั้ง 3 คนของ จ.สงขลา เพื่อนำเสนอต่อไปถึงนายกฯ และอยู่ระหว่างขออนุญาตชุมนุม ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ เพื่อให้ถูกต้องตามขั้นตอน”

ด้านตัวแทนเกษตรกร 6 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งประกอบด้วย จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา สตูล และพัทลุง ได้ประชุมเมื่อวันที่ 7 ม.ค. โดยได้ข้อสรุป 10 ข้อที่ต้องการให้รัฐบาลช่วย เช่น ให้ประกันราคายางพารา(น้ำยางสด) ที่กิโลกรัมละ 80 บาท, พักหนี้เกษตรกรชาวสวนยาง และให้รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ย ฯลฯ

ทั้งนี้ ชาวสวนยางบางส่วน เช่น สมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ ได้นัดชุมนุมกันตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค. ที่สหกรณ์การเกษตรท่าแซะ อ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. พูดถึงกรณีที่เกษตรกรชาวสวนยางจะออกมาชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาราคายางตกต่ำในวันที่ 12 ม.ค.ว่า ถ้าจะชุมนุมก็ออกมา แต่หากออกมาจะมีคดี และว่า ปัญหาราคายางตกต่ำ มีการช่วยเหลืออยู่แล้ว แต่เกษตรกรต้องปฏิรูปตัวเองด้วยหรือไม่ ต้องปลูกพืชเสริมเพื่อช่วยเหลือตัวเองบ้าง ที่เหลือรัฐบาลจะช่วย วันนี้หลายแห่งช่วยตัวเองได้ด้วยการปลูกสตรอเบอร์รี่ในสวนยาง ปลูกกล้วยหอมทองแทรก ผู้สื่อข่าวถามว่า หากเกษตรกรชุมนุมวันที่ 12 ม.ค. รัฐบาลจะส่งใครไปคุยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “ชุมนุมกันไปสิ ผมไม่คุย เขามีเจ้าหน้าที่ที่จะคุยอยู่แล้ว แต่ผมบอกอย่างเดียว ชุมนุมไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะคงไม่ให้ตามนั้นอยู่แล้ว แต่จะช่วยในแบบวิธีการยั่งยืน เขาก็ต้องร่วมมือกับผมด้วย นี่คือเรื่องของการปฏิรูป”

ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 ม.ค. พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยวิธีการแก้ไขปัญหายางพาราว่า ขณะนี้ได้วางนโยบายแก้ปัญหาทั้งเฉพาะหน้าและแบบบยั่งยืนแล้ว โดยจะผลักดันให้มีการใช้ยางพาราในประเทศให้มากที่สุด เช่น การทำสนามกีฬา การทำถนนใน อบต.และ อบจ.ต่างๆ ซึ่งจะเร่งดำเนินการในต้นปีนี้ พร้อมกันนี้ได้มีการวางรากฐานในการแก้ปัญหาในอนาคต คือ มีนโยบายให้เกษตรกรชาวสวนยางมีอาชีพเสริม เช่น ปศุสัตว์ ไม้ผล ไม้ยืนต้น ไม้ประดับ พืชไร่ และอื่นๆ ที่ได้เริ่มไปแล้ว โดยขณะนี้มีเกษตรกรชาวสวนยางร่วมโครงการ 159,270 ราย ซึ่งมีงบประมาณในการดำเนินโครงการ 15,000 ล้านบาท และจะเปิดขยายรับสมาชิกเพิ่มในวันที่ 15 ม.ค.นี้ นอกจากนี้ยังมีแผนจัดตั้งคณะกรรมการในการบริหารจัดการยางพารา(กนย.) โดยเร่งด่วนที่สุด เพื่อดำเนินการไม่ให้ราคายางพาราแย่ลง และวางแผนแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนด้วย

5.สรุป 7 วันอันตรายปีใหม่ ตาย 380 ราย “นครราชสีมา” ตายมากสุด ด้าน คสช.สรุป 11 วัน “ดื่มไม่ขับ” ยึดรถ 4,672 คัน-ดำเนินคดีเกือบ 4 หมื่นคน!

พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)
เมื่อวันที่ 5 ม.ค. พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้สรุปมาตรการดื่มไม่ขับตลอดเทศกาลปีใหม่ 11 วัน ระหว่างวันที่ 25 ธ.ค.2558-4 ม.ค.2559 ซึ่งเป็นนโยบายสร้างความปลอดภัยในการสัญจรของ คสช.และรัฐบาลว่า เจ้าหน้าที่ได้ยึดรถที่ฝ่าฝืนมาตรการดื่มไม่ขับไว้ทั้งหมด 4,672 คัน แบ่งเป็นรถจักรยานยนต์ 3,413 คัน และรถยนต์ 1,259 คัน โดยได้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดเกือบ 40,000 คน แบ่งเป็น รถจักรยานยนต์ 28,540 คน และรถโดยสารสาธารณะ/รถยนต์ส่วนบุคคล 10,325 คน และว่า ขณะนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจและกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยในทุกพื้นที่กำลังดำเนินการคืนรถให้แก่เจ้าของตามข้อตกลงที่ได้แจ้งไว้ ส่วนรถที่จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย จะต้องรอผลทางคดีให้เสร็จสิ้นก่อน

ขณะที่ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน(ศปถ.) ได้สรุปอุบัติเหตุทางถนนช่วง 7 วันอันตรายช่วงเทศกาลปีใหม่(29 ธ.ค.2558-4 ม.ค.2559) ว่า เกิดอุบัติเหตุรวม 3,379 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 380 ราย ผู้บาดเจ็บ 3,505 ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ เมาสุรา รองลงมาคือ ขับรถเร็วเกินกำหนด สำหรับยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด คือ รถจักรยานยนต์ รองลงมาคือ รถปิกอัพ จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ เชียงใหม่ (139 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตมากสุด คือ นครราชสีมา (15 ราย) สำหรับจังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตเลย มี 4 จังหวัด ประกอบด้วย ตรัง แพร่ ระนอง และสุโขทัย

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ได้สั่งการให้กระทรวงดูแลเรื่องรถโดยสารสาธารณะ โดยเฉพาะรถโดยสาร 2 ชั้น เนื่องจากอันตรายและเกิดอุบัติเหตุบ่อย เพราะมีปัญหาด้านการเข้าโค้ง ดังนั้น ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป กรมขนส่งทางบกจะยกเลิกการจดทะเบียนรถโดยสาร 2 ชั้น แต่ยังมีรถโดยสาร 2 ชั้น ที่จดทะเบียนและให้บริการอยู่ราว 2 หมื่นคัน ซึ่งจดทะเบียนตั้งแต่ปี 2556 มีอายุการใช้งานประมาณ 5 ปี หรือปี 2560 หลังจากปี 2560 รถโดยสาร 2 ชั้นเหล่านี้จะทยอยหมดไปจากระบบ นอกจากนี้นายกฯ ยังสั่งการให้เร่งรัดรถโดยสารสาธารณะทุกคันต้องติดระบบติดตามตำแหน่งรถ(จีพีเอส) โดยรถโดยสายสาธารณะจดทะเบียนใหม่ตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค.นี้เป็นต้นไป จะต้องติดจีพีเอสทุกคัน ส่วนรถเก่าในระบบจะต้องติดจีพีเอสและเชื่อมต่อระบบกับกรมขนส่งทางบกให้ครบทุกคันภายในปี 2560
กำลังโหลดความคิดเห็น