xs
xsm
sm
md
lg

มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ‘Red Horse’ แบรนด์ไทยจับเทรนด์ประหยัดเงิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า แบรนด์‘Red Horse’
ด้วยความเชื่อว่าคนไทยจะหันมาใช้รถจักรยานยนต์พลังงานไฟฟ้ามากขึ้นเรื่อยๆ เพราะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการเติมเชื้อเพลิงพลังงาน แถมยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นที่มาของธุรกิจนำเข้ารถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าจากแดนมังกร สร้างแบรนด์และทำตลาดในเมืองไทย ภายใต้ชื่อ ‘Red Horse’
จุฬา ริยาพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซ็นทรัล มายด์ จำกัด
จุฬา ริยาพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซ็นทรัล มายด์ จำกัด เจ้าของรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าแบรนด์ ‘Red Horse’ เผยที่มาของธุรกิจ อดีตเคยทำงานประจำอยู่ธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง ก่อนจะลาออกมาทำกิจการส่วนตัวหลายๆ อย่าง โดยเมื่อ พ.ศ. 2553 เห็นโอกาสที่มีรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเข้ามาใช้ในเมืองไทย ส่วนใหญ่เป็นรถมือสอง ซื้อขายกันในเว็บไซต์ ส่วนตลาดทั่วไปยังไม่มีวางขาย ทำให้เกิดความสนใจนำเข้ามาขาย เพราะมองว่าสินค้าตัวนี้ตอบโจทย์ความต้องการของคนไทยได้ดี ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งเวลานั้นน้ำมันราคาพุ่งสูงมาก

“จากที่คิดจะนำเข้ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ามาขายในเมืองไทย ผมเลยหาข้อมูล จนรู้แหล่งผลิตใหญ่ของโลกมาจากเมืองจีน ผมเลยเดินทางไปถึงโรงงานผลิตที่จีนเลยเพื่อซื้อเข้ามาขายในเมืองไทย ทดสอบมาทำตลาดจำนวน 30 คัน ผลปรากฏว่าระยะเวลาไม่กี่เดือนสามารถขายหมดทั้ง 30 คัน ทำให้ผมเห็นโอกาสทางการตลาดสูงมาก กำลังจะลงทุนนำเข้ามาเพิ่ม แต่ปรากฏว่าตอนนั้นเกิดวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ของเมืองไทยเลยต้องพับโครงการนี้ไว้ก่อน”

หลังจากวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ในปี พ.ศ. 2554 จุฬาระบุว่า หันไปทำธุรกิจอื่นๆ หลายอย่าง จนมาถึงปีนี้ (2558) ปัดฝุ่นธุรกิจที่ตัวเองเคยริเริ่มไว้อีกครั้ง เพราะเห็นว่า รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ายังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการลดค่าใช้จ่าย ทั้งราคารถที่ถูกกว่าจักรยานยนต์แบรนด์ดังๆ ที่ใช้น้ำมัน รวมถึงประหยัดค่าพลังงาน อีกทั้งตรงกับเทรนด์ของโลกที่หันมาใส่ใจสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

สำหรับวิธีการนั้น จุฬาระบุว่า เดินทางไปเลือกซื้อมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าด้วยตัวเองที่โรงงานประเทศจีน ซึ่งโรงงานแห่งนี้ถือเป็นผู้ผลิตมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ารายใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก มีมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าให้เลือกหลายร้อยแบบ ซึ่งเขาจะคัดแบบที่เชื่อว่าถูกใจคนไทย นอกจากนั้น กำหนดให้ผู้ผลิตนำตัวอักษร หรือโลโก้ต่างๆ ที่เกี่ยวกับประเทศจีนออกให้หมด แล้วให้ติดแบรนด์ ‘Red Horse’ เข้าไปแทนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ซื้อ และยังเป็นการสร้างแบรนด์ของตัวเองด้วย

“เนื่องจากภาพลักษณ์สินค้าจีนในสายตาผู้บริโภคเป็นสินค้าคุณภาพต่ำ ทั้งที่ในความเป็นจริงสินค้าที่ผลิตจากเมืองจีนมีหลายเกรดมาก ซึ่งมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่ผมนำเข้ามาได้มาตรฐานดี แต่ผมไม่ต้องการให้ภาพลักษณ์ออกมาเป็นสินค้าจากเมืองจีน ดังนั้น ในการผลิตผมจะบอกให้โรงงานเอาทุกอย่างที่จะสื่อว่าเป็นสินค้าจากจีนออกให้หมดแล้วติดแบรนด์ ‘Red Horse’ ซึ่งผมคิดขึ้นเอง เข้าไปแทน เพื่อจะมาทำตลาดในเมืองไทย” จุฬาเผย และอธิบายต่อว่า

มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่นำเข้ามามีทั้งหมด 6 แบบ ครอบคลุมกลุ่มผู้ซื้อ ซึ่งต้องการพาหนะสำหรับขับขี่ในระยะทางใกล้ๆ มีลูกค้าเป้าหมาย ได้แก่ แม่บ้าน วัยรุ่น นักศึกษา พนักงานออฟฟิศ และผู้สูงอายุ

ทั้งนี้ มอเตอร์ไซค์ 6 แบบที่นำเข้ามานั้นจะใช้พลังงานไฟฟ้ามากน้อยแตกต่างกันไป เริ่มตั้งแต่ 350 วัตต์ 400 วัตต์ 450 วัตต์ 800 วัตต์ และ 1,500 วัตต์ โดยขนาดที่ใช้ไฟตั้งแต่ 500 วัตต์ขึ้นไปสามารถนำไปขึ้นทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกเพื่อให้ออกป้ายทะเบียน สามารถวิ่งออกถนนใหญ่ได้ ส่วนที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 500 วัตต์ลงมาใช้ได้เฉพาะขับขี่ภายในตรอกซอกซอย หรือภายในหมู่บ้าน ห้ามออกถนนใหญ่

อัตราเร่งความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 55-80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (แล้วแต่แบบ) ส่วนระยะเวลาในการชาร์จแบตเตอรี่เต็มขึ้นอยู่กับจำนวนวัตต์ เฉลี่ยอยู่ที่ 6-8 ชั่วโมง และสามารถใช้วิ่งได้นานประมาณ 60-80 กิโลเมตร (แล้วแต่แบบ)

สำหรับด้านบริการหลังการขายนั้น เขาอธิบายให้ฟังว่า มีรับประกันส่วนแบตเตอรี่ 6 เดือน และมอเตอร์ 2 ปี นอกจากนั้น มีศูนย์บริการอยู่ที่ย่านพุทธมณฑลสำหรับแจ้งรับซ่อมหากรถเกิดปัญหาด้านอิเล็กทรอนิกส์

เขาเผยด้วยว่า ข้อดีของมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า คือ ประหยัดค่าเชื้อเพลิง โดยเฉลี่ยแล้ว ค่าไฟฟ้าต่อการใช้งานหนึ่งวันไม่เกิน 10 บาท นอกจากนั้น ยังไม่มีควันดำ และไม่มีเสียงดัง ทำให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่อายุการใช้งานของมอเตอร์ไซค์เฉลี่ยมากกว่า 10 ปีขึ้นไป ขณะที่ตัวแบตเตอรี่อายุการใช้งานเฉลี่ยประมาณ 3 ปี หลังจากนั้นก็ซื้อแบตเตอรี่ตัวใหม่ใส่เข้าแทน ซึ่งทางบริษัทเป็นตัวแทนนำเข้ามาขายด้วยเช่นกัน

“กลไกการทำงานของมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ไม่มีอะไรซับซ้อนมาก เปรียบไปแล้วคล้ายกับพัดลมธรรมดาๆ ที่มีอุปกรณ์สำคัญแค่ตัว “มอเตอร์” กับ “แบตเตอรี่” เท่านั้น ดังนั้น การดูแลผมจึงจะครอบคลุมแค่ 2 ตัวนี้ ส่วนเรื่องโครงสร้างและอุปกรณ์อื่นๆ หากเกิดอุบัติเหตุสามารถซ่อมที่ร้านซ่อมรถมอเตอร์ไซค์ทั่วไปได้”
หน้าจอแสดงการใช้พลังงานไฟฟ้า
จุฬากล่าวต่อว่า การทำตลาดเบื้องต้นนำเข้ามาขายในเมืองไทยจำนวน 100 คัน ลงทุนประมาณ 3 ล้านบาท ราคาขายปลีก เริ่มต้นที่คันละ 19,000 บาท ถึงสูงสุด 45,000 บาท (แล้วแต่แบบ) โดยราคาดังกล่าวหักต้นทุนที่ซื้อมา และค่าใช้จ่ายต่างๆ จะเหลือกำไรเฉลี่ยประมาณ 20% ตั้งเป้าว่าจะขายหมดทั้ง 100 คันภายในปีนี้

ในส่วนแผนการขายนั้น เบื้องต้นอาศัยขายตามงานแสดงสินค้า รวมถึงไปออกบูทตามสโมสรหมู่บ้านต่างๆ และเร็วๆ นี้จะประสานดีลเลอร์ขายมอเตอร์ไซค์เพื่อขอนำไปวางขายตามหน้าร้าน นอกจากนั้น เตรียมทำโครงการให้ผู้ขับขี่วินมอเตอร์ไซค์มาผ่อนซื้อ ระยะเวลา 10 เดือน คิดอัตราดอกเบี้ยประมาณ 8% โดยกำลังประสานกับบริษัทลีสซิ่งอยู่
แบตเตอรี่อยู่ใต้เบาะที่นั่ง
เมื่อถามถึงคู่แข่งในตลาดเวลานี้ เขาบอกว่า ในส่วนผู้นำเข้ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ายังมีไม่มากนัก ซึ่งแต่ละรายก็จะมีสินค้าแตกต่างกันไป รวมถึงตามห้างโมเดิร์นเทรดก็มีนำเข้ามาขายบ้างเช่นกัน แต่ทั้งหมดยังไม่ได้ทำแบรนด์ของตัวเองอย่างจริงจัง หรือมีบริการหลังการขายเหมือน ‘Red Horse’

ทั้งนี้ แผนธุรกิจต่อไปนั้น เขาเผยว่า เนื่องจากปัจจุบันใช้วิธีนำเข้าแบบสำเร็จรูปทั้งคัน ทำให้เหลือกำไรเพียง 20% ซึ่งน้อยเกินไปสำหรับการจะจัดโปรโมชันทำการตลาดต่างๆ ดังนั้น ในอนาคตจะปรับรูปแบบกระบวนการผลิต โดยจะนำเข้าเฉพาะชุดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และมอเตอร์จากโรงงานจีน แล้วมาว่าจ้างโรงงานผลิตมอเตอร์ไซค์ในเมืองไทยทำในส่วนโครงสร้าง ซึ่งวิธีดังกล่าวจะทำให้มีช่องว่างเหลือกำไรจากราคาขายปลีกเพิ่มเป็น 60% ซึ่งเป้าหมายสูงสุดต้องการให้แบรนด์ ‘Red Horse’ กลายเป็นสัญลักษณ์ของมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเบอร์หนึ่งของคนไทย และมียอดขายถึง 1 ล้านคันทั่วประเทศ

เป้าหมายของเขาดูแล้วช่างยากและอีกยาวไกล ในความเป็นจริงแล้วจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป
ผู้สูงอายุ หนึ่งในลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น