xs
xsm
sm
md
lg

“ประยุทธ์” สั่งแปลงคณะขับเคลื่อนเดิมของ คสช. เอือมบรรดาพรรคถก รธน. แต่เรื่องเลือกตั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.สั่งยุบคณะขับเคลื่อนเดิมของ คสช. แปลงมาเป็นคณะกรรมการปฏิรูปและขับเคลื่อน ให้รองนายกฯ ควบคุมดูแลงาน จัดทำแผนงานเร่งด่วนก่อน ก.ค. 2560 แย้มกำลังพิจารณาให้นักการเมืองถกร่างรัฐธรรมนูญ แต่เบื่อหารือแค่เรื่องเลือกตั้ง กกต. อยู่แค่นี้ ประชาชนยังไม่ได้อะไร ยินดีพม่ามีคนใช้สิทธิ์เลือกตั้งกว่าร้อยละ 80 แต่เอือมคนไทยมาแค่ 10-20 ล้านคน บ่นถ้านอนอยู่บ้านเฉยๆ แล้วติติงทุกอย่างนั้นไม่ใช่ พอใจดัชนีความเชื่อมั่นดีขึ้น สั่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาจัดทำงบประมาณบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ รับปีงบประมาณ 2560

วันนี้ (10 พ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 13.20 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า การทำงานจากนี้ไปตนจะกำหนดชัดเจนขึ้น โดยได้สั่งการไปแล้ว แผนงานโครงการต่างๆ ที่จะทำจากนี้ไปถึงเดือน ก.ค. 2560 ที่เราจะต้องขับเคลื่อนหรือปฏิรูปให้ได้ ให้ไปลิสต์มาว่าจะทำอะไรบ้าง ส่วนโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การบริการจัดการน้ำหรือที่ดินตรงนี้มีแผนระยะยาวอยู่แล้ว ต้องไปใส่ในยุทธศาสตร์แผนการปฏิรูปต่อไป ซึ่งจะต้องมีความชัดเจน สิ่งเหล่านี้จะต้องเกิดขึ้นในช่วงปี 2560 ที่ตนยังอยู่ หากเราเอาทุกอย่างมาทำดีทั้งหมดคงเป็นไปไม่ได้ เพราะเรื่องมีเยอะแยะ จะสำเร็จได้อย่างไร ฉะนั้นจะเอาเรื่องที่ทำได้ในปี 2560 ขึ้นมาดำเนินการให้รวดเร็วขึ้นซึ่งมีหลายเรื่องที่จะส่งผลดีต่อประชาชน

ทั้งนี้ ในวันนี้ได้ตั้งให้รองนายกฯ ควบคุมดูแลงาน จากเดิมที่จะมีคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ คสช. และคณะกรรมการขับเคลื่อนของรัฐบาล วันนี้จะแปลงมาเป็นคณะกรรมการปฏิรูปและขับเคลื่อน จะเป็นการยุบรวมเพื่อนำงานสำคัญๆ ขึ้นมาดำเนินการ เช่น คณะปฏิรูปและขับเคลื่อนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คณะปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน คณะปฏิรูประบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คณะปฏิรูประบบการเกษตรแนวใหม่ซึ้งจะรวมกับการบริหารจัดการน้ำไปด้วย คณะปฏิรูปเศรษฐกิจใหม่ทั้งเชิงมหภาค จุลภาค เศรษฐกิจพิเศษจะรวมอยู่ในกลุ่มนี้ รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การอำนวยความสะดวกในการประกอบการธุรกิจการลงทุน คณะปฏิรูปการพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งอาชีพ รายได้ ค้าขาย การจัดระเบียบที่อยู่ให้ คณะปฏิรูปการท่องเที่ยววัฒนธรรมและคณะปฏิรูปด้านการสาธารณะสุข โดยทั้งหมดได้สั่งการไปแล้ว และกำลังจะร่างเรื่อง นอกจากนี้ยังมีปัญหาเร่งด่วนเป็นวาระแห่งชาติ เช่น ไอเคโอ ไอยูยู ยาเสพติด ซึ่งมีผลกระทบต่อประชาชนวงกว้างที่ต้องอยู่ในคณะปฏิรูปดังกล่าว สรุปแล้วมีทั้งหมดอยู่ประมาณ 7-8 คณะ

ส่วนการปฏิรูปประเทศนั้นตนได้บอกไปแล้วว่าจะต้องมีการนำแนวทางที่รัฐบาลทำ ไปปฏิรูปให้ได้ และวันนี้ก็มีการตั้งคณะกรรมธิการร่วม เหมือนกับตั้งวิปเพื่อประสานงาน ในการนำข้อมูลมารวมกันแล้วนำไปสู่การปฏิบัติ ส่วนบุคคลที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อประสานงานของรัฐบาลอยู่แล้วนั้นคือนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงเรื่องของการออกแบบรัฐธรรมนูญว่า วันนี้ก็ยังมีการถกแถลงขัดแย้งกันบ้าง ตนถือเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ได้ถือมาเป็นอารมณ์อยู่แล้วซึ่งก็ดี แสดงความคิดเห็นกันไปแล้วกันแต่คนที่จะต้องตัดสินใจจริงๆ ก็คือประชาชน ว่าต้องการอะไรที่ไม่ใช่จากการเลือกตั้งอย่างเดียว เช่น ต้องการให้บ้านเมืองปลอดภัย ใสสะอาด ไม่ให้มีการทุจริต ตรงนั้นเป็นกลไกที่จะออกแบบมาก็ไปเสนอตรงนั้น

สำหรับการออกแบบหรือบังคับใช้กฎหมายอะไรก็ตาม ถ้ามันรุนแรงเกินไปก็เป็นปัญหาอยู่ ทำอย่างไรที่จะต้องปลูกจิตสำนึกคนให้ได้ ตรงนี้ตนขอร้องสื่อทุกประเภท ท่านเป็นเครื่องมือของรัฐ หรือเครื่องมือของประชาชนด้วย ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ได้มาก ในการสร้างการรับรู้ เช่น ที่ตนพูดหลายเรื่องดีๆ วันนี้ก็ขยายให้ไปถึงประชาชนด้วย เพราะเขาเสพหนังสือท่าน ถ้าวันๆ เขาเสพแต่เรื่องร้ายแรง อย่างเดียวตนคิดว่าประเทศ ประชาชน ก็จะเครียด ความขัดขัดแย้งก็จะสูงขึ้น หากมีคนไม่หวังดีมากระจายอีกก็ยิ่งไปกันใหญ่ อะไรดีก็ว่าไป อะไรไม่ดีก็เตือนมาแจ้งมา วิจารณ์แต่พอสมควร ตนก็แก้ไขให้แล้วกัน

พล.อ.ประยุทธ์ตอบคำถามถึงข้อเสนอของสมาชิกสภาปฏิรูปประเทศ (สปท.) ให้พรรคการเมืองประชุมหารือเรื่องการปฏิรูป ว่า ขณะนี้กำลังมีพิจารณาถึงความเหมาะสมอยู่ สำหรับการหารือของพรรคการเมืองนั้นควรจะชัดเจนหรือเปล่า หรือไปซุบซิบอะไรไม่รู้ ซึ่งกำลังให้หาทางออกอยู่ว่าท่านจะหารือกันเรื่องอะไร ตรงไหน ที่ไหน ไม่ใช่ไปแอบหารือแล้วออกมาทะเลาะกันอีก

“ผมละเบื่อการขัดแย้งกัน พอหารือกันแล้วมันกลายเป็นเอาเรื่องความขัดแย้งมา เห็นไม่ตรงกันมาหารือ มันไม่มีทางจบหรอก เหมือนเราจะเจรจาแก้ปัญหากันสักเรื่อง มันต้องเอาเรื่องอะไรที่คุยกันได้มาทำก่อน ตรงนั้นแหละสำคัญ แล้วต้องยอมรับประเด็นที่สองคือประเทศชาติเกิดอะไรกันในอดีตที่ผ่านมา จะแก้เหล่านั้นอย่างไร ถ้าทุกคนบอกว่าเป็นสากล เป็นอย่างนี้อย่างนั้น ก็ต้องแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ได้ แล้วจะทำยังไง ประชาชนเป็นตัวประกันเหรอวันนี้ ยังไม่รู้ว่าได้รัฐบาลมาแล้วเกิดอะไรขึ้น ฝ่ายการเมืองมีหารือกันหรือไม่ ในเรื่องที่ผมจะยกตัวอย่างแล้วให้หารือได้ทันทีเลย คือ จะปฏิรูปอย่างไร ให้การเกษตร เศรษฐกิจดีขึ้นอย่างไร หัวข้อเหล่านี้มีไหม ก็ไม่มีหรอก ก็มากันในเรื่องเลือกตั้ง กกต. อยู่แค่นี้ ประชาชนยังไม่ได้อะไรตอนนี้” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

นายกฯ กล่าวด้วยว่า ต้องให้ประชาชนเกิดความชัดเจนว่า เมื่อเลือกเข้ามาแล้วจะได้อะไร จากรัฐบาลที่ตั้งขึ้นมา อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือให้ดูตัวอย่างประเทศเพื่อนบ้านเราที่มีการเลือกตั้งนั้นมีคนออกมาถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ของไทยนั้นถึงที่ไหน มีคนมีสิทธิเลือกตั้ง 40-50 ล้าน ออกมาเลือกตั้ง 10-20 ล้าน แล้วคนเหล่านี้หรือคนกำหนดอนาคตชะตากรรมบ้านเมือง ที่เหลือไม่ออกมาเพราะไม่ชอบการเมือง แต่พอการเมืองทำอะไรไม่ดีออกมาก็มาบอกว่าไม่ได้เลือกมา มันไม่รับผิดชอบ แบบนี้ไม่ได้ ตนคิดว่าการเลือกตั้งครั้งหน้านั้นต้องออกมาให้ครบ ไม่ว่าจะเป็นการทำประชามติ หรือเลือกตั้งต้องออกมาให้ครบ ชอบหรือไม่ชอบอย่างไรก็แสดงความรับผิดชอบของตัวเอง นั่นเขาถึงเรียกว่าประชาธิปไตย ถ้านอนอยู่บ้านเฉยๆ แล้วติติงทุกอย่างนั้นไม่ใช่

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมานั้นมีการเลือกใครเข้ามาแล้วจะถูกหรือผิดตนไม่ว่า แต่ไปตรวจสอบให้ชัดเจนในเรื่องของนโยบายที่ทำมา ตนไม่ได้ว่าใครผิดใครถูก แต่เพียงเอาเข้าไปสู่กระบวนการให้เขาตรวจสอบ และไปสู้ในศาล ไม่ใช่สู้นอกศาล บ้านเมืองก็จะวุ่นวายอยู่แบบนี้ ประชาชนก็สับสน สื่อเองก็สับสนไม่รู้จะฟังใครดี สรุปว่าดีทั้งหมดที่เถียงกันนั้นถูกทุกคนแล้วจะไปกันได้ยังไง เมื่อเข้ากระบวนการยุติธรรมแล้ว ก็ให้กระบวนการยุติธรรมว่าไปแล้วไปเรื่องอื่นว่ามีอีกไหม ถ้าเอาเรื่องหนึ่งเข้าไปแล้วกลับมาสวนใหม่ข้างนอกก็ยังเป็นอยู่อย่างนี้ ตรงนี้เขาถึงเรียกว่าหารือกันไม่ได้ไม่จบ

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สำหรับการเลือกตั้งของประเทศพม่าที่ผ่านมาซึ่งที่มีผู้มาใช้สิทธิ 80 เปอร์เซ็นต์ก็ต้องแสดงความยินดี เป็นเรื่องของประเทศเพื่อนบ้านเราที่ต้องให้การสนับสนุน เพราะเราเป็นเพื่อนกัน ต้องเจริญเติบโตไปพร้อมกัน เขาจะเป็นยังไงก็แล้วแต่ อย่ามาตีกันว่าเป็นเขาเป็นทหารหรือพลเรือนอะไรก็แล้วแต่ ประเทศคือประเทศ ไม่ว่าทหารหรือพลเรือนก็ต้องนึกถึงประเทศชาติเป็นหลักอยู่แล้ว คงไม่มีใครเอาเรื่องทั้งหมดมาขัดแย้ง ให้ประชาชนมาทะเลาะกันอีก ซึ่งเราได้มีการคุยกันตลอด และขอเป็นกำลังใจให้ทุกคน

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนี้มีตัวเลขดีขึ้น จาก 72.1 เป็น 73.4 ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือนที่ผ่านมา นั่นแสดงว่าสิ่งที่รัฐบาลได้ดำเนินการกำลังเป็นผล แต่ขณะเดียวกันผู้มีรายได้น้อยอาจได้รับผลกระทบเนื่องจากการพัฒนาเชิงโครงสร้าง ดังนั้นจึงส่งผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อยและผู้ประกอบอาชีพอิสระ ทั้งนี้ ได้สั่งการในที่ประชุม ครม. ให้กระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานคร ดูแลผู้มีรายได้น้อย ที่จะได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบใหม่ โดยต้องรายงานการดำเนินการให้ทราบ สำหรับประกอบอาชีพค้าขาย รัฐบาลไม่มีเจตนาสั่งการให้รื้อหรือย้ายพื้นที่ แต่ต้องดูตามข้อกฎหมาย โดยจะพยายามหาทางแก้ไขปัญหา ซึ่งทุกคนต้องช่วยกัน และอยากฝากบอกไปยังเจ้าหน้าที่ระดับล่างว่า เวลาออกไปปฏิบัติงาน ต้องอธิบายถึงเหตุผลและมาตรการรองรับก่อนการดำเนินการด้วย

สำหรับเรื่องงบประมาณซึ่งมีการใช้จ่ายในหลายกลุ่มงาน ทั้งงบลงทุน และการพัฒนา การปฏิรูป ซึ่งวันนี้ได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาการจัดทำงบประมาณในลักษณะการบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อเตรียมการร่างงบประมาณไว้ใช้จ่ายในปี 2560 ซึ่งการใช้งบต้องจัดระเบียบ เพราะถ้าไม่มีการจัดเตรียม งบจะควบคุมไม่ได้ ส่วนการลงทุนจากต่างประเทศนั้น ขณะนี้มีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง นโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลมีความก้าวหน้าตามลำดับ


กำลังโหลดความคิดเห็น