เผย 4 เขื่อนใหญ่มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 866 ล้านลูกบาศก์เมตร ระบายน้ำได้วันละ 28 ล้านลูกบาศก์เมตร เน้นส่งน้ำ “ลุ่มน้ำเจ้าพระยา” เพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ “อธิบดีกรมชลฯ” ตีมึน! ข่าวถูก “บิ๊กตู่” เหวี่ยง ปม ตอบไม่ตรงคำถาม “ทีดีอาร์ไอ” ย้ำการเมืองแทรกบริหารเขื่อนใหญ่ สั่งปรับแผนปล่อยน้ำปี 2554 หวังต่อลมหายใจ “นโยบายจำนำข้าว” แนะ คสช.คุมผังเมือง-ปชช.ร่วมมือแก้ปัญหาได้
วันนี้ (1 ก.ค.) ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) (ล่าสุด 1 ก.ค. 58) มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 866 ล้านลูกบาศก์เมตร มีการระบายน้ำเพื่อใช้ในกิจกรรมต่างๆ ของลุ่มน้ำเจ้าพระยารวมกัน วันละ 28 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ (ณ วันที่ 30 มิ.ย. 58) รวมกัน ประมาณ 7 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน จะเน้นส่งน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อใช้สำหรับการอุปโภคบริโภค และการรักษาระบบนิเวศ (ผลักดันน้ำเค็ม) เป็นหลัก โดยปริมาณน้ำที่มีอยู่จะเพียงพอใช้ไปจนถึงเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งจะตรงกับช่วงที่เกิดฝนตกชุกตามฤดูกาล ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ไว้
อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานได้วางแผนการใช้น้ำไปจนถึงช่วงหน้าแล้ง และต่อเนื่องไปจนถึงฤดูฝนปี 2559 ด้วย โดยจะสำรองน้ำไว้ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค 1,100 ล้านลูกบาศก์เมตร และรักษาระบบนิเวศน์อีก 1,400 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมกับปริมาณน้ำที่จะต้องสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูฝนปี 2559 อีกจำนวน 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นปริมาณน้ำที่จะต้องสำรองไว้ใช้ทั้งในหน้าแล้งและฤดูฝนปีหน้า จำนวน 3,500 ล้านลูกบาศก์เมตร
อีกด้าน นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงกรณีที่ถูก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ดึงมือออกระหว่างบรรยายแผนการจัดน้ำในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ในระหว่างการประชุม ครม.สัญจร ที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า ตนไม่รู้สึกอะไร และยืนยันว่านายกรัฐมนตรีไม่ได้อารมณ์เสียในเรื่องนี้ เพราะเป็นปกติของนายกฯ ที่มีสไตล์แบบนี้ เวลาพูดเสียงดังช่วงที่ถามคนตอบไม่ตรงคำถาม
“ผมทำงานรับนโยบายต่างๆ จากนายกรัฐมนตรี และคนที่อยู่บริเวณนั้นทราบดีว่านายกฯ ไม่ได้หงุดหงิด แต่พูดเสียงดัง สื่อมวลชนจึงเอาไปเขียนแบบนั้น และด้วยนายกฯ มีสไตล์การทำงานที่รวดเร็ว จึงอยากรู้ต้นตอปัญหาน้ำแล้งที่แท้จริง และมีวิธีแก้ไขหรือไม่ เพื่อเตรียมรอรับฝนที่จะตกปลายเดือน ก.ค.นี้ ซึ่งต้องขุดขยายคลองรับน้ำจากต้นน้ำ ทำแก้มลิง กักเก็บน้ำไว้ให้มากที่สุด เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งที่อาจยาวไปถึงปลายปีนี้ สอดคล้องทำระบบเชื่อมโยงให้ทั่วถึงใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ”
ทั้งนี้ ตามมติคณะรัฐมนตรีได้ขอให้กรมชลประทานเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 10 ไร่ ในแผนยุทธศาสตร์น้ำปี 2558-2569 เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนได้อีก 4 พันล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) นอกจากนี้ ครม.ยังให้ตั้งงบประเมินโครงการแต่ละโครงการตามแผนระยะยาว เริ่มปี 2560 พร้อมศึกษาโครงการผันน้ำจากแม่น้ำโขงเพิ่มชลประทานภาคอีสานและผันน้ำจากแม่น้ำสาละวินไปเติมน้ำในระบบลุ่มเจ้าพระยาและภาคเหนือตอนบน-ล่าง ซึ่งต้องขออนุญาตใช้พื้นที่อุทยานแห่งชาติ
วันเดียวกัน มีรายงานว่า นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ ได้นำเสนอผลการศึกษาและข้อเสนอแนะเรื่อง “การบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย : ข้อเสนอเชิงนโยบาย” ในงานสัมมนาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ตอนหนึ่งว่า วิกฤตภัยแล้งและน้ำท่วมที่ผ่านมาไม่ได้เกิดจากธรรมชาติอย่างเดียว แต่เกิดจากความผิดพลาดของนโยบายและการจัดการน้ำ รวมทั้งปัญหาการใช้ที่ดินที่ขาดการควบคุม แต่แนวทางการแก้ปัญหาของภาครัฐยังคงเน้นสิ่งก่อสร้างเป็นหลัก
ทีดีอาร์ไอพบว่า ปัญหาของการบริหารจัดการน้ำที่ผ่านมา คือปัญหาการจัดการด้านการลงทุนโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ขาดการศึกษาความเป็นไปได้เพื่อคัดเลือกโครงการลงทุนที่เหมาะสมที่สุด การตัดสินใจลงทุนที่ไม่โปร่งใสและไม่เป็นธรรม เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลก็มีการเปลี่ยนโครงการ นอกจากนี้กฎหมายในการจัดการน้ำของไทย เป็นการมุ่งแก้ปัญหาเพียงการป้องกันและระวังภัย แต่ไม่ได้คำนึงถึงการบริหารจัดการน้ำในระยะยาว รวมทั้งปัญหานักการเมืองหรือ ผู้มีอำนาจเข้ามาแทรกแซง กดดันการทำงานของเจ้าหน้าที่
ทีดีอาร์ไอจึงมีข้อเสนอในการบริการจัดการน้ำโดยให้มีการพัฒนามาตรการด้านผังเมือง อาทิ การควบคุมความหนาแน่นของการใช้ที่ดิน โดยเฉพาะในชานเมืองและพื้นที่เสี่ยง พัฒนามาตรการด้านผังเมืองที่เอื้อต่อการควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินลุ่มน้ำ อีกทั้งจัดทำฐานข้อมูลและแผนที่ระดับลุ่มน้ำที่แสดงความต้องการใช้น้ำและความเสี่ยงต่อน้ำท่วมที่นำมาเป็นเกณฑ์ในการวางแผนการใช้ที่ดิน
นอกจากนั้นควรให้ความสำคัญของการสร้างสถาบัน องค์กร หรือกลุ่มในการจัดการน้ำที่มากกว่าสิ่งก่อสร้าง อาทิ ตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำ ที่มีความเชื่อมโยมกับกรรมการลุ่มน้ำย่อยประจำจังหวัด และกลุ่มผู้ใช้น้ำ โดยสถาบันหรือองค์กรที่ตั้งขึ้นต้องมีตัวแทนจากกลุ่มลุ่มน้ำ กลุ่มผู้ใช้น้ำเข้าไปมีส่วนร่วม ส่วนข้อเสนอสำหรับท้องถิ่น ควรยกระดับขีดความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการวางแผนและผังของพื้นที่ตนเอง
นายนิพนธ์ยังให้ความเห็นภายหลังว่า ภาวะน้ำแล้งที่กำลังกระทบการทำนาปีในขณะนี้ เริ่มต้นจากการเมืองเข้าแทรกแซงการบริหารเขื่อนใหญ่ในปลายปี 2554 เพราะความกังวลเรื่องน้ำท่วม และนโยบายรับจำนำข้าวที่ทำให้ชาวนาเพิ่มการปลูกข้าวในฤดูแล้ง ทำให้ปล่อยน้ำมากกว่าแผน และเกษตรกรไม่เชื่อคำเตือนภัยแล้งของกรมชลประทาน ดังนั้นการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำต่อไป ควรตั้งคนที่มีความรู้เข้าไปทำงาน ไม่ควรให้นักการเมืองที่ไม่มีความรู้เรื่องน้ำมาทำให้เกิดปัญหา ส่วนผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งต่อปริมาณการผลิตข้าวนั้น ยืนยันว่ามีแน่นอน แต่ยังไม่สามารถคำนวณความเสียหายได้ เพราะยังไม่รู้ว่าจะมีฝนตกและน้ำเข้ามาเติมในเขื่อนเมื่อใด
มีรายงานว่า ก่อนหน้านั้นนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลฯ ออกมายอมรับว่า ในปี 2555 มีการสั่งการจากฝ่ายการเมืองให้กรมชลฯ ระบายน้ำในเขื่อนทุกเขื่อนลงเหลือ 45% ของความจุเขื่อน จนปริมาณน้ำลดต่ำมาถึงในปัจจุบัน เพราะไม่ต้องการให้มีน้ำท่วมซ้ำเหมือนวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ซึ่งขณะนั้นกรมชลฯ ได้พยายามทัดทาน และประวิงเวลาการระบายน้ำมาโดยตลอด เนื่องจากการระบายน้ำมากหรือน้อย ต้องทำให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำท้ายเขื่อน แม้ท้ายที่สุดฝ่ายการเมืองจะยอมรับฟังเหตุผล ให้หยุดการระบายน้ำจากเขื่อนได้ แต่ก็มีการระบายออกแล้วมากถึง 14,000 ล้าน ลบ.ม.ซึ่งเป็นปริมาณการระบายน้ำออกที่มากที่สุดในรอบ 15 ปี