xs
xsm
sm
md
lg

ร่วมสร้าง ปชต.แบบตะวันออก - “เอนก” ชู 42 ปี 14 ต.ค.ก้าวข้าม “แนวคิดมะกัน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตประธานคณะกรรมาธิการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะอธิการ วิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวปาฐกถา 14 ตุลา ประจำปี 2558 หัวข้อไทยในยุคบูรพาภิวัฒน์:โลกที่เปลี่ยนไปจาก 14 ตุลาคม 2516 ถึง 14 ตุลาคม 2558 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา 16 แยกคอกวัว
“ร่วมสร้างประชาธิปไตยแบบตะวันออก” - “เอนก” ชูไอเดีย “42 ปี 14 ต.ค.” ชี้ ถึงเวลาก้าวข้าม “สหรัฐอเมริกา” ปรับระยะใกล้ไกลใหม่ ยันต้องนำผลประโยชน์จาก “จีน” มาใช้ให้มากกว่านี้ ช่วยกันใช้สติปัญญาทำให้ 14 ตุลาฯ 58 เป็นการระเบิดครั้งใหญ่ ค้านใช้คำว่าประชาธิปไตยแบบไทย ๆ เพราะใช้เรียกแทนระบอบเผด็จการ ด้าน เวที มธ. นักวิชาการร่วมวิจารณ์อุดมคติรัฐธรรมนูญ 42 ปี 14 ต.ค.

วันนี้ (14 ต.ค.) นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตประธานคณะกรรมาธิการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะอธิการ วิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวปาฐกถา 14 ตุลา ประจำปี 2558 หัวข้อ “ไทยในยุคบูรพาภิวัฒน์ : โลกที่เปลี่ยนไปจาก 14 ตุลาคม 2516 ถึง 14 ตุลาคม 2558” ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา 16 แยกคอกวัว

โดยตอนหนึ่ง นายเอนก กล่าวว่า บริบทในช่วงก่อน 14 ตุลาคม 2516 เมื่อก่อนประเทศไทยในสายตาของประเทศอินโดจีน เป็นเพียงเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐอเมริกาที่ไม่มีใครจมได้ เพราะไม่ได้เป็นเรือที่ไม่ได้แล่นบนน้ำ แต่เป็นพื้นแผ่นดิน ซึ่งในยุคนั้น ขบวนการนักศึกษาเริ่มมีการต่อต้านสหรัฐฯ ต่อต้านฐานทัพสหรัฐฯในประเทศไทย โดยเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เปรียบเสมือนเป็นระเบิดลูกใหญ่ที่เปลี่ยนทัศนะของคนไทย และเพื่อนบ้านใกล้เคียงไทยเป็นอย่างมาก เพราะคนในยุค 14 ตุลาฯ เกิดมาในโลกที่ฝรั่งเป็นใหญ่ ที่แบ่งออกเป็น 2 ค่าย คือ สหรัฐฯ กับ โซเวียต และเป็นโลกที่ประเทศโลกตะวันออกเพิ่งพ้นจากโลกอาณานิคมได้ไม่นานนัก จากที่คนไทยเคยคิดว่า โลกนี้มีเพียงสหรัฐฯที่มีความแข็งแกร่งไม่มีใครต้านทานได้ เป็นผู้นำทางความคิด และทุกประเทศใช้สหรัฐฯเป็นแบบอย่างในการพัฒนาประเทศตัวเอง

แต่ขณะที่ทุกประเทศมองสหรัฐฯเป็นแบบอย่าง จีนก็เริ่มมีการพัฒนาเติบโตเงียบ ๆ อย่างไม่น่าเชื่อ ภายใต้การนำของ เติ้ง เสี่ยวผิง โดยใช้เวลากว่า 3 ทศวรรษ เริ่มเปิดประเทศ เริ่มปฏิรูปประเทศ จากที่ไทยเคยเห็นจีนเป็นยักษ์เป็นมาร อยู่ในฝ่ายเวียดนามในการสู้กับสหรัฐฯ แต่แล้วโลกก็ได้เห็นจีนสู้กับเวียดนาม ทำสงครามสั่งสอน สนับสนุนไทยให้ต้านเวียดนาม ทั้งนี้ จีนมีความสนิทกับอาเซียนอย่างไม่น่าเชื่อ กระทั่งเกิดเหตุการณ์เทียนอันเหมินขึ้น จนใครต่อใครมองว่า จีนจะถูกคว่ำบาตรจากโลกภายนอก

แต่จีนก็อยู่รอดได้จนเป็นชาติมหาอำนาจ มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก จะเห็นได้ว่า จากบริบทในช่วงปี 2516 มาจนถึงปัจจุบัน โลกที่เราอยู่กลายเป็นโลกใบใหม่ เป็นโลกที่ตื่นเต้นที่สุด เพราะภายในเวลา 60 - 70 ปี ภายหลังสงครามโลก ไม่เพียงแค่จีน แต่ยังมีอินเดียที่เคยเป็นประเทศอาณานิคมก็กำลังเติบโตอย่างไม่หยุดยั่ง เช่นเดียวกับอาเซียน อย่าง สิงคโปร์ ก็มีรายได้ต่อหัวเท่า ๆ กับประเทศตะวันตก

“ผมเรียกโลกปัจจุบันนี้ว่า ยุคบูรพาภิวัฒน์ เพราะโลกไม่อยู่ในยุคที่ตะวันตกเข้มแข็ง แต่เพียงผู้เดียวอีกแล้ว จีนและสหรัฐฯ เป็นผู้ขับเคี่ยวแห่งศตวรรษนี้ ซึ่งในทัศนะของผม ไทยควรจะทำต้องปรับระยะใกล้ไกลระหว่าง 2 ประเทศนี้ใหม่ เราอยู่ไกลจากสหรัฐฯมากที่สุด แต่ความสัมพันธ์เราอยู่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯมากเกินไป ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องตามสหรัฐฯมากจนเกินไป เพราะสหรัฐฯมักจะดำเนินนโยบายการต่างประเทศของตัวเองผิดพลาดอยู่บ่อยครั้ง อย่างนโยบายสงครามในประเทศอิรัก และซีเรีย เป็นต้น ดังนั้นคิดให้มากก่อนที่จะเดินตามเหมือนอย่างแต่ก่อน ในขณะที่เราใกล้กับประเทศจีนมาก และในทางผลประโยชน์เราก็มีความใกล้ชิดกัน” นายเอนก กล่าว

ทั้งนี้ ส่วนตัวคิดว่าเราก็ต้องนำผลประโยชน์จากจีนให้มากกว่านี้ แม้ว่าปากของคนไทยจะบอกว่า คนจีนเสียงดัง แต่ไทยต้องการจีนมากกว่าจีนต้องการไทยเยอะ เพราะเราต้องการนักท่องเที่ยว ต้องการทุน และโครงสร้างพื้นฐาน ดังนั้น เราต้องเปลี่ยนความสัมพันธ์กับจีนให้ฉลาดกว่านี้ และไม่ว่า สหรัฐฯ กับจีน ใครจะชนะ ผมคิดว่า ไม่ใช่เรื่องของเรา เพราะความขัดแย้งมีอยู่จริง แต่ความร่วมมือระหว่างจีน กับสหรัฐฯก็ขาดกันไม่ได้แล้ว ดังนั้น จึงไม่ควรยั่วยุให้ตะวันตกกับตะวันออกขัดแย้งกัน”

นายเอนก กลาวต่อว่า คิดว่าสิ่งที่เป็นหัวใจที่สุดของยุคนี้ คือ ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนด้วยกันเอง ไทยจะต้องใช้อาเซียนเป็นส่วนขยายในทางการทูตให้มากขึ้น เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 16 ได้ส่งผลกระทบต่อมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เขารู้จักคนในข่าวของไทยดีมาก ลาว พม่า กัมพูชา รู้ภาษาไทย ดังนั้น เราจะต้องเชื่อมโยงกับทุกประเทศในอาเซียนให้มากขึ้น เราต้องใช้ความเจริญจากภูมิภาค และชายแดนให้เป็นประโยชน์ เพราะเพื่อนบ้านของเรามีอัตราความเจริญมากกว่า

อย่างไรก็ตาม เมื่อตอน 14 ตุลาฯ 16 เศรษฐกิจของโลกเป็นของคนผิวขาวเท่านั้น แต่ในปัจจุบันโลกน่าสนใจมากขึ้น เพราะเศรษฐกิจโลกไม่ได้เป็นของคนผิวขาวอย่างเดียวแล้ว คนผิวอื่น ๆ เริ่มขยับเขามาใกล้เคียงกับคนผิวขาวมากขึ้น ขณะเดียวกัน เรื่องประชาธิปไตย เราก็ต้องร่วมสร้าง แม้ว่าจะเป็นแนวคิดจากตะวันตกก็ตาม ซึ่งเราจะต้องไม่หลีกหนีจากระบอบประชาธิปไตยไป และต้องไม่ใช่แค่การคัดลอกแบบของตะวันตกมา แต่เราต้องเริ่มผลประชาธิปไตยแบบตะวันออกให้มากขึ้น ต้องทำให้คำว่า ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ไม่เป็นเพียงแค่คำพูดสุภาพ แต่ใช้เรียกแทนระบอบเผด็จการ

“เมื่อ 42 ปีที่แล้ว ชาว 14 ตุลาฯ อยู่ในวัยที่หนุ่มสาวมาก ตอนนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ก็ยังเรียนอยู่โรงเรียนนายร้อย จปร. แต่วันนี้ชาว 14 ตุลาฯ กลายเป็นคนวัยเกษียณไปแล้ว พวกเราคนรุ่นประหลาด เพราะเราทำเรื่องใหญ่ให้บ้านเมืองตั้งแต่วัยหนุ่มสาว เห็นโลกที่แน่วแน่ว่าอะไรคือก้าวหน้า หรือล้าหลัง แต่ความจริงโลกน่าพิศวงมากกว่านั้น 14 ตุลา 2516 เป็นการระเบิดครั้งใหญ่ แต่ 14 ตุลาฯ 2558 จะเป็นการระเบิดครั้งใหญ่หรือไม่ ผมคิดว่าเราควรใช้สติปัญญาที่สุกงอมอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งผมได้แต่หวังว่า ชาว 14 ตุลาฯ จะช่วยกันคิดให้ไทยเปลี่ยนไป เดินไปสู่ความสว่าง สุกงอก และมีวุฒิภาวะที่เกิดจากภายในเองได้ โดยเราต้องหยุดเป็นประเทศลูกไล่ประเทศมหาอำนาจ เราต้องคิดถึงโลกทัศน์ใหม่ เป็นชาติอำนาจระดับกลาง เหมือนที่อินโดนีเซีย ตุรกี และบราซิล คิดแล้วทำ" นายเอนก กล่าวในที่สุด

วันเดียวกัน ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดเสวนาโอกาสรำลึก 42 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ประจำปี 2558 หัวข้อ “ว่าด้วยรัฐธรรมนูญ และอุดมคติ”

รธน. ฉบับไหนทำลาย ปชต.- หลักนิติธรรม ถือว่าไม่ได้มาตรฐาน

นายพรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวตอนหนึ่งว่า ส่วนตัวมองว่ารัฐธรรมนูญที่ดีต้องมีสิ่งชี้วัด คือ รัฐธรรมนูญสามารถบังคับใช้แล้วบรรลุวัตถุประสงค์ของรัฐธรรมนูญ หรือเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ต้องตอบโจทย์หลักการสำคัญใน 3 ประเด็นได้ คือ 1. คุณค่าความเป็นมนุษย์ รวมถึงต้องคำนึงถึงความมีศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกับของประชาชนทุกคน ทำให้ระยะต่อมาจะมีการคำนึงในสิทธิ เสรีภาพของประชาชนโดยผู้ปกครองต้องให้ความเคารพประชาชนที่อยู่เหนือสิ่งอื่นใด 2. คุณค่ากับพันธสัญญา ที่สะท้อนให้เห็นถึงการใช้อำนาจของผู้ปกครองที่ต้องได้รับความยินยอมจากประชาชนก่อนดำเนินการ โดยไม่สามารถใช้อำนาจโดยไม่มีกฎหมายใดรองรับได้ รวมถึงการใช้อำนาจของรัฐต้องถูกกำกับและตรวจสอบจากรัฐธรรมนูญ นอกจากนั้น ผู้ปกครองไม่สามารถรวมศูนย์อำนาจไว้ที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งได้เพียงบุคคลเดียวได้อีก เมื่อพิจารณาในคุณค่าพันธสัญญาจะทำให้เกิดกระบวนการแบ่งแยกอำนาจ และ 3. คุณค่าในทางสาธารณะ หมายถึงการใช้อำนาจต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ และประโยชน์ของประชาชน

“3 คุณค่านั้น ผมถือเป็นจิตวิญญาณของรัฐธรรมนูญ เมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้วต้องนำสังคมไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม หากรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้วทำลายประชาธิปไตยหรือหลักนิติธรรม ถือว่ารัฐธรรมนูญฉบับนั้นไม่ได้มาตรฐาน” นายพรสันต์ กล่าว

หลากหลายมุมมองที่ต่างกัน ทำความขัดแย้งไม่ยุติ

นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผอ.สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม และอดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การทำร่างรัฐธรรมนูญที่ตนมีส่วนร่วมได้ตั้งเจตจำนงให้รัฐธรรมนูญเหมาะสมกับสังคมไทย ใน 6 ส่วนที่พยายามผลักดันให้เกิดขึ้น ได้แก่ 1. สิทธิเสรีภาพที่ให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ 2. การปฏิรูปการเมืองเชิงสถาบัน ที่อดีต กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ ตั้งอุดมคติคือการใช้อำนาจเพื่อประโยชน์สาธารณะ รวมถึงต้องถูกตรวจสอบกำกับ จากองค์กรรัฐสภา พลเมือง สื่อมวลชน ขณะที่การกระจายอำนาจที่ไม่รวมศูนย์ หรือกระจายไปยังองค์กรส่วนท้องถิ่นเท่านั้น แต่หมายถึงชุมชนท้องถิ่น รวมถึงพลเมืองเพื่อสร้างการตรวจสอบถ่วงดุลและแก้ปัญหาของการใช้อำนาจเพื่อประโยชน์โดยมิชอบ 3. การเมืองภาคประชาชน ได้สร้างพัฒนาการของภาคประชาชนให้มีส่วนร่วมทางการเมืองในรูปแบบของสมัชชาพลเมืองอย่างเข้มแข็ง 4. องค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ โดยคาดหวังในกระบวนการให้เกิดการตรวจสอบการใช้อำนาจ โดยตั้งเป้าให้การตรวจสอบที่ส่งต่อไปยังรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและนำไปสู่การตรวจสอบได้อย่างแท้จริง 5. ศาลและกระบวนการยุติธรรมที่สร้างความเป็นมาตรฐานของการดำเนินการ และ 6. การปฏิรูปและการสร้างปรองดอง

“เหตุผลสำคัญที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความขัดแย้งที่ไม่ยุติ ทำให้การเขียนรัฐธรรมนูญยังไม่เกิดการยอมรับ จากผลวิเคราะห์สำคัญ คือ เพราะมุมมองทางการเมืองที่ต่างกัน ทั้งมุมมองหลังการเลือกตั้งที่ความขัดแย้งรูปแบบเดิมจะกลับมาอีก แต่อีกส่วนมองว่าการเติบโตภาคประชาชนจะทำให้การแก้ไขขัดแย้งไม่กลับไปสู่แบบเดิม, มุมมองต่อทางเลือกของการนำไปสู่การแก้ปัญหาทางการเมือง และความขัดแย้งต่างกัน ทั้งการมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ หรือไม่มีในร่างรัฐธรรมนูญ, มุมมองที่ต่างกันของรัฐธรรมนูญในภาวะการลดความขัดแย้งและสร้างปรองดอง แม้จะมีการเจรจาต่อรองแล้วมาเขียนรัฐธรรมนูญ แต่พรรคการเมืองกลับมองต่างมุมกับ กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ และที่สำคัญ ด้วยเวลาจำกัดของการระดมความเห็นจนตกผลึกมีน้อย ทำให้การตัดสินใจและออกแบบในรัฐธรรมนูญที่ต่างกัน ดังนั้น ผมขอฝากไว้ว่าจะวางรัฐธรรมนูญใหม่อย่างไร เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขความขัดแย้งอย่างไร” นายบัณฑูร กล่าว

ยกแนวคิดต่างประเทศ “สถาบันปรปักษ์เสียงข้างมาก” ป้องล้มกระดาน

นายภูริ ฟูวงศ์เจริญ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การออกแบบรัฐธรรมนูญอาจไม่ใช่เรื่องของอุดมคติทั้งหมด เพราะการเขียนรัฐธรรมนูญให้ได้ตามอุดมคติอาจก่อให้เกิดปัญหา เนื่องจากสภาพความเป็นจริงพื้นฐานของมนุษย์ หรือพฤติกรรมทางการเมืองที่คำนึงถึงผลได้กับผลเสีย ตนขอเสนอเพื่อเป็นมุมมองหนึ่งระหว่างการออกแบบรัฐธรรมนูญใหม่ ว่า สิ่งที่จะควบคุมผู้มีอิทธิพลใช้อำนาจล้มกระดานได้ มีคนพูดถึง “แนวคิดสถาบันปฏิปักษ์เสียงข้างมาก” คือ การให้เข้ามาบงการผลได้ผลเสีย การควบคุมพฤติกรรมด้วยการให้สิทธิพิเศษกับคนบางกลุ่มที่เข้าไปร่วมกระบวนการ โดยไม่ต้องเลือกตั้ง หรือกลัวว่าจะถูกถอดถอน

ทั้งนี้ การให้อำนาจ มีหลายรูปแบบ เช่น ให้ ส.ว. มาจากการแต่งตั้ง, ตั้งสภาที่ปรึกษามีอำนาจกำกับรัฐบาล เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในต่างประเทศ เช่น ที่แอฟริกาใต้ ที่เปลี่ยนการปกครองจากการเหยียดสีผิวเป็นประชาธิปไตย ได้จัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อจูงใจคนผิวขาวให้ก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนผ่าน ที่ โปแลนด์ ที่ปกครองโดยเปลี่ยนผ่านจากระบอบคอมมิวนิสต์ไปสู่ประชาธิปไตย มีกติกาว่าในจำนวนสมาชิกสภา 1 ใน 3 ต้องเป็นคนของพรรคคอมมิวนิสต์ เพื่อกันการล้มกระดานของกลุ่มคอมมิวนิสต์ หรือ ที่ ชิลี ให้แรงจูงใจด้วยการให้ทหารและนายทุนได้รับตำแหน่งทางการเมืองจำนวนหนึ่งในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในระยะประมาณ 10 ปี และไม่เกิดการรัฐประหารอีกจนปัจจุบัน

ดังนั้น การออกแบบรัฐธรรมนูญบางทีเอาประชาธิปไตยอย่างเดียวอาจเปลี่ยนผ่านไม่พ้น หรือเป็นประชาธิปไตยในระยะเวลาสั้นแล้วถูกล้มกระดาน

“ซึ่งข้อดีสถาบันปรปักษ์เสียงข้างมาก ที่อาจเป็นรูปแบบประชาธิปไตยครึ่งใบ เพื่อให้เกิดกระบวนการเปลี่ยนผ่านแบบค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ สถาบันปฏิปักษ์เสียงข้างมาก ถือเป็นองค์กรชั่วคราว เพื่อใช้ในช่วงการเปลี่ยนผ่าน ส่วนจะมีความจำเป็นกับสังคมไทยหรือไม่ ผมตอบยาก” นายภูริ กล่าวและว่า ส่วนประเทศที่บังคับใช้ไม่สำเร็จ เช่น ประเทศบราซิล เพราะมีกลุ่มประโยชน์ที่ฝังตัวกับทหาร ทั้ง กลุ่มทุน ไม่ยอมถอนตัวออกจากระบบ

ค้านใช้ มาตรา 35 ตีกรอบร่าง รธน. เชื่อปรองดองยาก

นายไพโรจน์ พลเพชร อดีตคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า การร่างรัฐธรรมนูญรอบใหม่ ที่มีโจทย์ตามมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 และโจทย์ที่สังคมต้องการ คือ ความปรองดอง และปฏิรูป มีหลายประเด็นที่ตนสงสัยว่าทำไมต้องเขียน เช่น ให้มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเหมาะสมกับสภาพสังคมไทย ซึ่งไม่มีผู้ใดตอบได้ว่าการปกครองดังกล่าวจะเป็นรูปแบบใด ทั้งนี้ ตนมองว่า คือ การเปิดให้มีวุฒิสภา เพื่อเปิดพื้นที่ให้ทหารเข้ามาอยู่ในกติกาใช่หรือไม่ ซึ่งการเปิดให้วุฒิสภามาจากการสรรหาจะไม่ตอบโจทย์ของประชาชน ซึ่งอาจเป็นจุดที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาอีกได้

“ผมเป็นห่วงกรณีที่กำหนดโจทย์ห้ามผู้ที่เคยต้องคดีเข้ามาสู่การเมืองโดยเด็ดขาด เราจะเขียนรัฐธรรมนูญใหม่แบบนี้หรือ นอกจากนั้น ประเด็นการขับเคลื่อนสร้างความเป็นธรรม ยั่งยืน ป้องกันการบริหารราชการที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมือง หรือประชานิยม ขณะที่เรื่องที่น่าแปลก คือ กำหนดกลไกที่มีประสิทธิภาพของการใช้จ่ายเงินของรัฐ ทั้งที่สิ่งนี้เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ด้วยเหตุนี้ผมมองว่ารัฐธรรมนูญจะถูกกำหนดทิศทาง หรือเนื้อหาที่ชัดเจน การใช้อำนาจจะยิ่งหมดลง แม้จะกำหนดให้รัฐธรรมนูญใหม่ตอบโจทย์ปรองดองหรือปฏิรูป แต่ผมไม่แน่ใจว่าจะทำได้จริงหรือไม่ เพราะมีมาตรา 35 ที่มีอคติครอบไว้” นายไพโรจน์ กล่าวและว่า หากผู้ร่างรัฐธรรมนูญตอบโจทย์หลักการประชาธิปไตย นิติธรรมไม่ได้ อนาคตจะเกิดความขัดแย้ง ดังนั้น การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องคำนึงด้วยว่าไม่ควรใช้มาตรา 35 ที่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าชี้นำการเขียนรัฐธรรมนูญเท่านั้น ขณะที่การปรองดองไม่ควรเขียนอย่างละเอียดไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ควรกำหนดเพียงหลักการของการแสวงหาความจริงร่วมกัน, บุคคลที่ทำผิดต้องถูกลงโทษ, มีความทรงจำร่วมผ่านการสร้างสัญลักษณ์, สร้างระบบเยียวยาในสังคมไทยที่ไม่ขึ้นอยู่กับความพอใจของฝ่ายการเมือง และกลไกการปรองดองต้องเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย










กำลังโหลดความคิดเห็น