xs
xsm
sm
md
lg

เคาะ 200 ส.ว.ให้ ครม.สรรหา 123 คน - เลือกตั้ง 77 คน อยู่ในวาระ 3 ปีแรก - ไม่ตอบ ปูทาง สปช.หมดวาระ 7 ก.ย.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.เลิศรัตน์ รันตวานิช (แฟ้มภาพ)
“กมธ. ยกร่างฯ” เคาะ 200 ส.ว. มีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี เลือกตั้ง 77 สรรหา / กกต. จัดเลือกตั้ง ส่วนอีก 123 ประนีประนอม “คสช.” ให้ ครม. สรรหา ผ่านกรรมการเป็นผู้คัดเลือก เพื่อสนับสนุนภารกิจของรัฐบาลในการปฏิรูปประเทศ พร้อมเปิดช่องอยู่ในอำนาจยาว 9 ปี โฆษก กมธ. ไม่ตอบ ปูทาง สปช. หมดวาระ 7 ก.ย. หรือไม่

วันนี้ (11 ส.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยมี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นประธาน เพื่อทบทวนบทบัญญัติ ร่างรัฐธรรมนูญที่ค้างการพิจารณาในส่วนที่เหลือ ประชุมลับต่อเนื่องเป็นวันที่ 2

โดยยังเหลือ 2 ประเด็นหลัก ที่ต้องพิจารณา คือ ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จจากเมื่อวันที่ 10 ส.ค. โดย กมธ. ยกร่างฯ ได้วางแนวทางไว้ 3 ทาง คือ

1. พิจารณาว่าจะคงหลักการเดิมให้มี ส.ว. เลือกตั้ง 77 คน และ ส.ว. สรรหา 123 คน หรือไม่

2. ประเภทของ ส.ว. สรรหาทั้ง 4 กลุ่มที่กำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญมีความหลากหลายเกินไปหรือไม่

3. รูปแบบที่มาของคณะกรรมการสรรหา ทั้ง 4 กลุ่ม มีความเหมาะสมหรือไม่ รวมไปถึงการหาข้อยุติในภาค

4. ว่าด้วยการปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง ในส่วนโครงสร้างคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองแห่งชาติ

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษก กมธ. ยกร่างฯ แถลงผลงการประชุมเกี่ยวกับที่มา ส.ว. ว่า ที่ประชุมมีมติให้กำหนดให้มาตรา 118 ให้วุฒิสภามีจำนวน 200 คน โดยแบ่งเป็นมาจากการเลือกตั้ง 77 คน มาจากการสรรหา 123 คน โดยแบ่งเป็นการสรรหาจาก 4 กลุ่มใหญ่ โดยมาตรา 119 กมธ. ยกร่างฯ เห็นชอบให้เขียนองค์ประกอบของที่มากรรมการสรรหา ส.ว. ทั้ง 4 กลุ่มดังกล่าว ให้ไปอยู่ใน พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว.

เนื่องจากที่ผ่านมาตลอด 2 สัปดาห์ มีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับกรรมการสรรหาว่ามีจำนวนมากเกินไป ซึ่งไม่ได้ยึดโยงกับอำนาจต่าง ๆ ดังนั้น เพื่อความรอบคอบ จึงได้นำไปไว้ในกฎหมายลูก ซึ่งต้องผ่านการพิจารณาของคณะอนุ กมธ. และ กมธ. ยกร่างฯ รวมถึงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยตนมั่นใจว่ากรรมการที่จะมาสรรหา ส.ว. จะมีความหลากหลาย เป็นกลาง และไม่ยึดโยงกับการเมือง

ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเรียบร้อยของบ้านเมือง สอดรับกับการปฏิรูปประเทศและการทำงานของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองแห่งชาติที่จะเกิดขึ้น กมธ. ยกร่างฯ จึงได้เขียนไว้ในบทเฉพาะกาลเห็นชอบให้ ส.ว. ชุดแรก จำนวน 200 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี โดยส.ว. เลือกตั้ง 77 จังหวัด ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้จัดการเลือกตั้ง

ส่วน ส.ว. สรรหา จำนวน 123 คน ให้อำนาจ ครม. เป็นผู้สรรหา โดยผ่านกรรมการเป็นผู้คัดเลือก เพื่อสนับสนุนภารกิจของรัฐบาลในการปฏิรูปประเทศร่วมกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ จากนั้นเมื่อ ส.ว. ชุดแรกทั้ง 200 คน ครบวาระก็จะเข้าสู่การเลือกตั้ง ส.ว. ตามปกติ ภายใต้บทบัญญัติ มาตรา 118 และ มาตรา 119 ของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้ดำรงวาระ 6 ปี โดยจะไม่มีการตัดสิทธิ์ ส.ว. ชุดแรก มาลงสมัครในรอบถัดไปได้

เมื่อถามว่า การที่ กมธ. ยกร่างฯ เขียนให้ ส.ว. ชุดแรกที่มาจากการสรรหา 123 คน เป็นอำนาจ ครม. ตรงนี้เป็นการปูทางให้ สปช. ที่จะหมดวาระลงในวันที่ 7 ก.ย. นี้ หรือไม่ โฆษก กมธ. ยกร่างฯ กล่าวว่า ไม่มีใครตอบได้ เพราะต้องผ่านการสรรหา ที่เชื่อว่า ครม. ก็ต้องเลือกคนที่เหมาะสมที่สุด เพื่อเข้ามาทำหน้าที่ แต่ก็ไม่สามารถตอบได้ว่าจะเปิดช่องให้ สปช. เข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าวได้หรือไม่ ส่วนกรรมการสรรหาเป็นอำนาจรัฐบาลในการแต่งตั้ง ซึ่งในขั้นตอนนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่ามีกี่คน แต่ก็เชื่อว่า ครม. จะตั้งกรรมการสรรหาฯที่มีความเหมาะสม และหลากหลาย

ต่อมาที่ประชุม กมธ. ยกร่างฯ ได้เริ่มพิจารณา ภาค 4 ว่าด้วยการปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง ในส่วนโครงสร้างคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองแห่งชาติ โดยเบื้องต้น กมธ. ยกร่างฯ เคยกำหนดให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ จะกำหนดสัดส่วนให้มีกรรมการ จำนวน 20 - 23 คน โดยยึดตามคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญของ ครม. ที่โครงสร้างคณะกรรมการมีที่มา 3 ส่วน คือ 1. มาจากประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) 2. มาจากผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา และ 3. ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิการปฏิรูปด้านต่าง ๆ และการสร้างความปรองดอง


กำลังโหลดความคิดเห็น