xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ ผุด “กรรมการปรองดอง” หย่าศึกม็อบในอนาคต - “เอนก” ชงประชามติ “รัฐบาลปรองดองแห่งชาติ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ที่ประชุมกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เห็นชอบตั้ง 22 อรหันต์ กรรมการยุทธศาสตร์และการปรองดองแห่งชาติ วาระ 4 ปี หวังแก้ปัญหา ครม. ไม่มีเสถียรภาพจากการชุมนุม และรัฐบาลเอาไม่อยู่ ติดหนวดมีอำนาจพิเศษเหนือรัฐบาล - นิติบัญญัติ คุมความขัดแย้ง “เอนก” ได้ทีชงถามประชามติอยากให้มีรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ หรือไม่ อ้างเยอรมนีประสบความสำเร็จ เชื่อพรรคการเมืองต่าง ๆ คงยอม

วันนี้ (11 ส.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 18.15 น. นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้มีกรรมการยุทธศาสตร์และการปรองดองแห่งชาติ ในมาตรา 260 ประกอบด้วย ประธานกรรมการ 1 คน และกรรมการไม่เกิน 22 คน ประกอบด้วย กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการกองทัพไทย ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ซึ่งเลือกกันเองประเภทละ 1 คน และ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 11 คน ซึ่งแต่งตั้งตามมติรัฐสภา จากผู้ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการปฏิรูปด้านต่าง ๆ และการสร้างความปรองดอง โดยมีอำนาจหน้าที่เสริมสร้างการปฏิรูป และกำกับการสร้างความปรองดอง และระงับเหตุที่อาจนำไปสู่การเกิดความรุนแรง
กมธ. ยกร่างฯ ได้กำหนดอำนาจพิเศษของ กรรมการยุทธศาสตร์ฯ ไว้ในบทเฉพาะกาล ระบุว่า หากคณะรัฐมนตรีไม่มีเสถียรภาพ จนไม่สามารถบริหารประเทศได้ กรรมการยุทธศาสตร์มีมติคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของกรรมการทั้งหมด มีอำนาจใช้มาตรการที่จำเป็นสำหรับจัดการกับสถานการณ์ดังกล่าว ภายหลังจากที่ได้รับการปรึกษากับ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานศาลปกครองสูงสุดแล้ว เพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว จากนั้น ประธานกรรมการยุทธศาสตร์ มีอำนาจสั่งการระงับยับยั้ง หรือกระทำการใด ๆ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลทางนิติบัญญัติหรือในทางบริหาร ให้ถือว่า คำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่งและการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้ และถือเป็นที่สุด และเมื่อได้ดำเนินการตามมาตราการดังกล่าวแล้ว ให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ รายงานต่อประธานสภา ประธานวุฒิสภา รายงานต่อ ประธานศาลศาลรัฐธรรมนูญ และประธานศาลปกครองสูงสุด รับทราบโดยเร็ว และแถลงให้ประชาชนรับทราบ และเมื่อมีการใช้อำนาจตามมาตรานี้ ให้ถือเป็นการเปิดประชุมสภา โดยอำนาจพิเศษตามมาตรานี้กำหนดให้ใช้ได้เพียง 5 ปี ซึ่งอำนาจตามมาตรานี้ไม่เหมือนกับมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เพราะไม่มีอำนาจทางตุลาการ

“ตัวอย่างสำหรับการใช้มาตรานี้ เช่น หากเกิดการชุมนุมขึ้นหลายพื้นที่ จนกลายเป็นจลาจล รัฐบาลประกาศใช้กฎหมายความมั่นคง ประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน แล้ว ตำรวจ ทหาร ก็ยังเอาไม่อยู่ ถือว่า กลไกทางกฎหมายตามปกติไม่สามารถใช้ได้แล้ว กรรมการยุทธศาสตร์ก็ต้องมาใช้อำนาจตามมาตรานี้ ซึ่งขอบเขตของอำนาจตามมาตรานี้ มีไว้เพื่อทำให้สถานการณ์กลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ยืนยันว่า เรื่องนี้ไม่มีการหมกเม็ด แต่เปิดเม็ดวางอยู่บนโต๊ะ ทั้งยังไม่ใช่การสืบทอดอำนาจแต่ต้องการทำให้เมืองสงบ” นายบวรศักดิ์ กล่าว

นายบวรศักดิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ตน และนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ยังมีแนวคิดเสนอคำถามประชามติ ว่า อยากให้มีรัฐบาลปรองดองแห่งชาติหรือไม่ เพื่อยุติความขัดแย้งทางการเมืองในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ควบคู่ไปกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่ง กมธ. ยกร่างฯ จะทำการหารือกันอีกครั้งเพื่อหาข้อยุติ หาก กมธ. ยกร่างฯ ไม่เห็นด้วยก็จบ แต่หากเห็นด้วยก็จะนำความเห็นนี้ เสนอ สนช. และสปช. ให้ตั้งเป็นคำถามประชามติต่อไป ทั้งนี้ หากเรื่องดังกล่าวผ่านความเห็นของประชาชน ภายหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญจะกำหนดให้การจัดตั้งรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ ต้องใช้เสียง ส.ส. สนับสนุน 4 ใน 5 จาก 450 คน หรือ รัฐบาลปรองดองแห่งชาติต้องใช้เสียง 360 คน ส่วนที่เหลือเป็นฝ่ายค้าน เพื่อรัฐบาลดังกล่าวนี้ แก้ปัญหาความขัดแย้งของประเทศต่อไปอีก 4 ปี หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ และเมื่อพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้ว บทเฉพาะกาลมาตรานี้ก็ถือว่าสิ้นผลไป และหลังจากนั้น หากบ้านเมืองยังไม่สงบก็ช่วยไม่ได้ ซึ่งในกรณีนี้ประเทศที่เคยใช้และประสบความสำเร็จ ได้แก่ ประเทศเยอรมนี

ด้าน นายเอนก กล่าวเสริมว่า หากเรื่องดังกล่าวผ่านการทำประชามติของประชาชน ก็เชื่อว่า พรรคการเมืองต่าง ๆ ก็จะยินยอม เพราะเราไม่สามารถปล่อยให้บ้านเมืองกลับมาขัดแย้งเหมือนที่ผ่านมาได้





กำลังโหลดความคิดเห็น