นักวิชาการจุฬาฯ ชำแหละร่างรัฐธรรมนูญ ชี้ รัฐบาลปรองดองยิ่งกว่า “ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ” 2521 กระบวนการเหมือนเล่นไฮโล ไม่เผยเนื้อหาซ้ำมีนักเลงคุมบ่อน ชี้ ความขัดแย้งจัดการได้ แต่ไม่ทำ ยอมทำเลวแค่ไหนก็ได้เพื่อกำจัดคนเลว ซัดเพิ่มอำนาจผู้ดี ลดอำนาจประชาชน กมธ. ยกร่างฯ เปรยร่างเพื่อดูแลความเรียบร้อย 3 - 4 ปี ค่อยปรับแก้ ยันปรับ กก. ยุทธศาสตร์ฯ ห้ามใช้อำนาจบริหาร นิสิตได้กลิ่นหึ่งเหมือนแนวคิด “ทิดเทือก” ย้ำจะเอาแบบจีนมาใช้ไม่ได้
วันนี้ (19 ส.ค.) ที่ห้อง 107 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โครงการรัฐศาสตร์เสวนา ภาควิชาการปกครอง จัดงานเสวนาเนื่องในโอกาสวันสถาปนาคณะรัฐศาสตร์ครบรอบ 67 ปี หัวข้อ “ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูป คณะปฏิรูปการเมืองไทย” โดยมีตัวแทนจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้แก่ นายจรัส สุวรรณมาลา และนายบัณฑูรย์ เศรษฐศิโรตม์ ร่วมแลกเปลี่ยนทัศนะกับอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาการปกครอง ได้แก่ นายประภาส ปิ่นตบแต่ง และนางสิริพรรณ นกสวนสวัสดี
เริ่มจาก นางสิรพรรณ ตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญในช่วงแก้ไข จึงต้องเป็นความลับ ทั้งที่ก็รับทราบว่าประชาชนกระหายใคร่รู้อยากมาก ท่ามกลางสถานการณ์พิเศษนี้ ส่วนรัฐบาลปรองดองแห่งชาติที่จะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง ในทางรัฐศาสตร์การมีรัฐบาลร่วมขนาดใหญ่เป็นเรื่องปกติ แต่การที่ กมธ. ยกร่างฯ อ้างว่า จะนำมาใช้กับสังคมไทย ถามว่า หากทำประชามติแล้วประชาชนเห็นชอบกับรัฐบาลปรองดอง 16 ล้านเสียง ให้มีรัฐบาลปรองดอง แต่หากพรรคใหญ่ 2 พรรคที่มีฐานเสียง 10 ล้าน และ 8 ล้านเสียง รวม 18 ล้านเสียง ไม่เอาด้วยหลังจากการเลือกตั้งจะทำอย่างไร หรือ หาก 2 พรรคใหญ่เอาด้วย พรรคคะแนนเสียงอันดับ 1 หรือ อันดับ 2 จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี เราจะได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่มีนายกรัฐมนตรีคนนอกใช่หรือไม่
ส่วนคณะกรรการยุทธศาสตร์ฯ ที่มีอำนาจหน้าที่สูงมาก ทั้งทางบริหาร นิติบัญญัติ ตลอดจนมีอำนาจทางการคลัง โดยอ้างว่า ให้ใช้ในสภาวการณ์ไม่ปกตินั้น ก็ทำให้สังคมเห็นว่า เป็นรัฐบาลซ้อนรัฐบาล รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะเหลือความสำคัญแค่ไหน ซึ่งแนวทางนี้จะย้อนไปไกลกว่า ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ เมื่อปี 2521 คำว่า คณะกรรมการชุดนี้มีไว้เฉพาะช่วงเปลี่ยนผ่าน จึงอยากทราบว่า เปลี่ยนผ่านคือแค่ไหน แล้วเมื่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์เข้ามาทำหน้าที่ รัฐบาลจากการเลือกตั้งจะอยู่อย่างไร ทำไมไม่ใช้ระบอบประชาธิปไตยแก้ปัญหาด้วยการยุบสภา
“ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้สร้างการควบคุม มากกว่าการมุ่งเน้นให้มีการตรวจสอบ การร่างรัฐธรรมนูญที่ดีควรตัดอคติส่วนตัวออกไป เพราะมันจะทำให้มีผลประโยชน์ทับซ้อนทางการเมืองได้ การมุ่งเน้นกำจัดคนบางคนบางกลุ่ม ปิดกั้นการเข้าสู่วงการเมือง ก็จะไม่มีใครอยากเข้าสู่พื้นที่การเมือง หากกำหนดมาตราการให้เข้มข้นกันไป” นางสิริพรรณ กล่าว
ขณะที่ นายประภาส กล่าวว่า เป็นการร่างรัฐธรรมนูญที่เหมือนกับการเล่นไฮโล ลูกเต๋าอยู่ในถ้วย ไม่มีการเปิดเผยเนื้อหาให้รับทราบ ทั้งยังมีนักเลงคุมบ่อนคอยคุ้มครอง ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความเป็นประชาธิปไตยเพียงแค่เสี้ยวใบ ยิ่งกว่าครึ่งใบในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 ที่มีลักษณะอำนาจดิบ กำหนดให้ นายกฯ มาจากข้าราชการประจำได้ แต่ฉบับนี้ซับซ้อนซ่อนเงื่อนกว่ามาก มีการกำหนดให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ และผู้มีอำนาจต่างก็ออกมายอมรับมาหน้าตาเฉยว่ารัฐธรรมนูญนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย
นายประภาส กล่าวว่า เนื้อหาในร่างฯ นี้ยังมีองค์กรที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่ยึดโยงกับประชาชนอยู่เยอะแยะไปหมด มีที่มาจากการสรรหา แต่มีอำนาจถอดถอนผู้มาจากการเลือกตั้ง แต่ก็พยายามอธิบายโดยอ้างภาวะของความไม่ปกติจากความขัดแย้งก่อนหน้านี้ ทั้งที่ความขัดแย้งเหล่านี้ สามารถจัดการได้โดยกระบวนการปกติ ซึ่งการที่เรามาถึงจุดนี้ ก็เพราะเราไม่ยอมรับกติกา ยอมทำเลวแบบไหนก็ได้ เพื่อกำจัดคนเลว
นายประภาส กล่าวอีกว่า กมธ.ยกร่างฯ ที่ต้องการผลักดัน รัฐบาลปรองดองแห่งชาติ และกรรมการยุทธศาสตร์ฯ กล้าตั้งคำถามประชามติตามตรง ว่า เราต้องการรัฐบาลที่ไม่ได้จากการเลือกตั้ง มาเหนือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือไม่ เพราะการดำเนินการต่าง ๆ ภายใต้สภาวะที่คนคอยกำกับกันเอง เป็นสังคมของนักเลงแบบนี้ จะเป็นอย่างไร ประชามติจะกลายเป็นการมัดมือชกหรือไม่ ประชาชนได้รับทราบหรือไม่ว่า คำถามประชามติจะทำให้ปัญหาตามมาอีกมาก
“นี่คือสร้างการเมืองแบบชนชั้นนำ เพิ่มอำนาจผู้ดี ลดอำนาจประชาชน เพิ่มองค์กรขึ้นมาตรวจสอบกำกับมากขึ้นไปอีก เพราะว่าร่างรัฐธรรมนูญกันในลักษณะมองจากข้างบนลงไปที่คนข้างล่างว่า ไม่บริสุทธิ์ ยุติธรรม สร้างปัญหาจากการเลือกตั้ง แทนที่จะมองในลักษณะในการถ่ายโอนอำนาจ มองจากข้างล่างขึ้นข้างบน ด้วยการสร้างความยึดโยงให้มากขึ้น รัฐธรรมนูญคือสัมพันธภาพทางอำนาจ รัฐธรรมนูญที่มาจากการยึดอำนาจของทหารก็มีลักษณะสืบทอดอำนาจ ผมไม่แปลกใจที่ร่างรัฐธรรมนูญออกมาแบบนี้” นายประภาส กล่าว
ด้าน นายจรัส ชี้แจงว่า สาเหตุที่ กมธ. ยกร่างฯ ต้องมีการประชุมลับในช่วงหลัง เนื่องจากมีบางประเด็นที่เราต้องโต้เถียงกันแรง และมันยังไม่นิ่ง มีการเปลี่ยนแปลงทุกวัน ซึ่ง กมธ. ยกร่างฯ มีเวลาปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญจนถึงวันที่ 20 ส.ค. เป็นวันสุดท้าย โดยเราพร้อมจะรับฟังความคิดเห็น แต่หากจะเสนออะไรยาก ๆ ให้แก้ก็คงไม่สามารถทำได้แล้ว ส่วนคณะกรรมกการยุทธศาสตร์ เราไม่ได้เขียนให้มารุกรานรัฐบาล หากเกิดวิกฤตขึ้นมา รัฐบาลอาจทำการยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้
นายจรัส กล่าวว่า ตัวอย่างจากต่างประเทศทำให้เราเห็นว่า เขาแก้ปัญหาจากไม่สงบด้วยการนำรัฐบาลปรองดองแห่งชาติมาใช้ แต่ด้วยความไม่มั่นใจ จึงเสนอให้เป็นคำถามประชามติ ซึ่งหากประชาชนเห็นชอบ พรรคการเมืองก็คงต้องพยายามจัดตั้งให้ได้ เช่น อาจตกลงกันว่า จะะเป็นนายกฯ กันคนละ 2 ปี ก็ได้ ส่วนนายกฯ คนนอกนั้นถือว่ายาก เพราะะต้องเสียงเยอะ แต่หากตั้งรัฐบาลไม่ได้ ก็เลือกตั้งใหม่
“ยอมรับว่า รัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตยที่คณะรัฐศาสตร์ใช้เรียนกัน แต่เป็นรัฐธรรมนูญดูแลความเรียบร้อยของบ้านเมืองไปอีก 3 - 4 ปี จากนั้นเมื่อกลับมาปกติแล้วค่อยมาแก้ไข จึงจำเป็นจะต้องทำประชามติให้เกิดการยอมรับ” นายจรัส ระบุ
ส่วน นายบัณฑูร กล่าวว่า หากไม่มีการกำหนดให้ต้องทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เราจะไม่มีทางเขียนถึงคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาตินี้อย่างเด็ดขาด ซึ่งล่าสุดเราได้ปรับแก้ให้ชัดเจนแล้วว่า กรรมการชุดนี้ห้ามใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดิน ส่วนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นการกำหนดทิศทางใหญ่ของประเทศ สามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภา
นอกจากนี้ ในการเสวนายังเปิดให้ผู้ร่วมฟังการเสวนาที่เป็นนิสิต นักศึกษา และบุคคลทั่วไปได้แสดงความคิดเห็นและซักถาม ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอจัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ โดยชี้ว่า หากหวังจะให้คณะกรรมการชุดนี้คอยควบคุมกำกับนโยบายเหมือนประเทศจีนนั้น คงนำมาใช้สังคมไทยไม่ได้ เพราะแนวปฏิบัติของจีนนั้นเกิดขึ้นมานานจนได้รับการยอมรับไปแล้ว ส่วนสังคมไทยนั้นเพียงแค่การรัฐประหาร ประชาชนไม่ก็เอาด้วยแล้ว ขณะเดียวกัน ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่าแนวทางปฏิรูปการเมือง คล้ายกับข้อเสนอของ กปปส. ที่ออกมาเคลื่อนไหวเมื่อปีที่ผ่านมาอีกด้วย