xs
xsm
sm
md
lg

นักเศรษฐศาสตร์ค้านแก้ร่างรัฐธรรมนูญ ยกเลิกระบบภาษีบาป หวั่น สสส. - ไทยพีบีเอส เจ๊ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วราภรณ์ สามโกเศศ (ภาพจากแฟ้ม)
“วรากรณ์ สามโกเศศ” ค้าน กมธ. ยกร่างฯ ปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ระบุผิดเพี้ยน หวั่นระบบคลังเกิดปัญหา ส่งผลยกเลิกระบบ Earmarked Tax อาจพายุบ สสส.-ไทยพีบีเอส ในอีก 4 ปีข้างหน้า ด้าน กมธ. ยกร่างฯ แจงวางหลักการเพื่อป้องกันการกู้นอกระบบงบประมาณ

วันนี้ (3 ส.ค.) นายวรากรณ์ สามโกเศศ นักเศรษฐศาสตร์การคลัง และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัญฑิต กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง ในมาตรา 190 โดยบัญญัติให้การจัดเก็บภาษีอากรเพื่อเป็นรายได้แผ่นดินจะต้องจัดเก็บจากฐานภาษีต่างๆ ให้ครบฐาน ทั้งจากฐานรายได้ ฐานการซื้อขาย และจากฐานทรัพย์สิน การกำหนดนโยบายและอัตราภาษี ต้องคำนึงถึงความเป็นกลาง ความเป็นธรรมในสังคม ความทั่วถึง ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลัง และข้อผูกพันระหว่างประเทศ ให้มีการจัดระดับของภาษีเป็นสองระดับคือ ภาษีระดับชาติ และภาษีระดับท้องถิ่น และการตรากฎหมายให้หน่วยงานรัฐจัดเก็บภาษีและจัดสรรเงินจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรตามกฎหมายซึ่งมิใช่การจัดสรรภาษีหรืออากรให้องค์การบริหารท้องถิ่น หรือมิใช่การจัดสรรเงินให้พรรคการเมืองตามกฎหมาย จะกระทำมิได้ ซึ่งจะเป็นการยกเลิกระบบ Earmarked Tex หรือที่คนไทยรู้จักกันในส่วนที่เป็นกองทุนจากค่าธรรมเนียมและภาษีสุราและบุหรี่ หรือเรียกกันว่า ภาษีบาป ซึ่งมีผลเสียคือทำให้เกิดการมัดมือตนเองให้เสียความยืดหยุ่นความคล่องตัวในการทำงานในโลกที่มีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น และองค์กรที่รับผลกระทบโดยตรงคือสำนักงานคณะกรรมการกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (สสท.) หรือไทยพีบีเอส รวมทั้งกองทุนกีฬาแห่งชาติที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพิ่งผ่านกฎหมายให้จัดตั้งขึ้น

“ทราบมาว่าเบื้องหลังมีอีกหลายแห่งที่อยากจะขอใช้กองทุนจาก Earmarked Tex แบบนี้ โดยการจัดสรรพิเศษจากส่วนหนึ่งของภาษีอะไรก็แล้วแต่ เขาก็เลยกลัวว่าระบบการคลังจะเป็นปัญหา จึงขอให้ยกเลิกเด็ดขาด ซึ่งจะส่งผลให้ สสส. กับ ไทยพีบีเอสจะถูกยุบไปด้วย ซึ่งผมว่ามันเพี้ยน เพราะ Earmarked Tex มันไม่ผู้ร้าย มีการใช้กันมายาวนาน และไม่ได้ใช้เฉพาะในประเทศไทย คือทำให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นได้ว่าโครงการที่รัฐจะทำมีการทำจริงจัง เช่นโครงการกำจัดกากของเสียอุตสาหกรรม เป็นต้น” นายวราภรณ์ กล่าว

นายวรากรณ์ กล่าวด้วยว่า แนวคิดที่ว่าจะให้ทุกอย่างเข้าสู่การควบคุมด้วย พ.ร.บ. งบประมาณมันเป็นไปไม่ได้ อย่างกองทุนหมุนเวียนก็ควบคุมไม่ได้ รัฐวิสาหกิจเองก็ไม่ได้อยู่ในระบบงบประมาณ คือในธรรมชาติมันไม่มีอะไรที่สมบูรณ์แบบที่จะให้รายได้ทั้งหมดเข้ามาสู่รัฐอย่างเดียว มันยังมีองค์กรมหาชนที่เขาได้เงินของเขาเองมา โลกปัจจุบันมันก็ไม่ใช่โลกของการควบคุมแล้ว แต่เป็นเรื่องการการบริหารจัดการภายใน โดยภาครัฐตรวจสอบอีกชั้น ขณะที่การควบคุมทั้งหมดโดยภาครัฐมันเป็นโลกการคลังสมัยก่อน และสมัยนี้วิธีการคลังที่ก้าวหน้าคือต้องปล่อยให้บริหารเอง ประเมินเองแล้วรัฐมาตรวจสอบ เพียงแต่สามารถควบคุมได้ในระดับรองคือเรื่องของภาษีอากร การดูแลกำกับให้มีประสิทธิภาพ โดยอาจจะบังคับได้ว่าการตั้งกองทุน Earmarked Tex จะต้องออกเป็นพระราชบัญญัติแทนการออกเป็นกฎกระทรวง

ด้านแหล่งข่าวเปิดเผยว่า กมธ.ยกร่างฯ ยังได้กำหนดในบทเฉพาะกาลในมาตรา 281(1) ระบุไว้ว่าให้ชะลอการบังคับตามรัฐธรรมนูญนี้ไปอีก 4 ปีหลังจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับ โดยในระหว่าง 4 ปีดังกล่าว ก็ยังสามารถออกกฎหมายเพื่อรองรับให้ สสส. หรือไทยพีบีเอสให้ปรับสถานะเพื่อให้ยังคงดำรงอยู่ได้ ซึ่งเจตนารมณ์เดิมที่จะให้รายได้แผ่นดินเข้าสู่ระบบงบประมาณที่ผ่านรัฐสภา ก็เพื่อป้องกันกรณีการใช้รูปแบบการออกกฎหมายพิเศษเพื่อใช้จ่ายเงินกู้โดยไม่ผ่านระบบงบประมาณเพื่อเลี่ยงการตรวจสอบ เช่น พ.ร.บ. เงินกู้โครงการไทยเข้มแข็ง และ พ.ร.ก. เงินกู้เพื่อบริหารจัดการน้ำ 2 ล้านล้านบาท

โดยหลักการคือ พ.ร.บ. งบประมาณประจำปีต้องแสดงภาพรวมการใช้จ่าย แสดงงบดุลของประเทศทั้งหมด ไม่ใช่ซุกไว้ใน พ.ร.บ. ใช้จ่ายงบประมาณอื่น ๆ และเห็นว่าแม้จะนำงบประมาณการใช้จ่ายขององค์การมหาชนต่าง ๆ มาไว้ในระบบงบประมาณ ไม่น่าจะเกิดผลทำให้ฝ่ายการเมืองเข้าไปแทรกแซงได้โดยง่าย เพราะเป็นประเพณีที่ฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติจะไม่เข้าไปแตะต้อง เช่นเดียวกับกรณีงบประมาณของศาล และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ซึ่งก็ไม่ได้ถูกแทรกแซงได้โดยระบบงบประมาณ ในระหว่าง 4 ปีตามบทเฉพาะกาล ก็สามารถแก้พระราชบัญญัติให้ทั้งสององค์กรให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ โดยแปรให้เป็นเงินอุดหนุนจากรัฐจ่ายผ่านระบบงบประมาณแผ่นดินแทน

“อันที่จริงเป็นหลักการเดิมที่มีมาตั้งแต่ในร่างแรก คือบัญญัติไว้ว่าการจ่ายเงินแผ่นดินต้องผ่าน พรบ.งบประมาณฯ เป็นหลัก โดยพยายามนิยามคำว่าเงินแผ่นดินให้หมายรวมถึงภาษีอากรด้วย เพราะในระยะหลัง ๆ มีการก่อตั้งองค์กรใหม่ที่หักเงินจากต้นทางภาษีก่อนเข้าคลังจำนวนมาก เงินเหล่านี้จะไม่ปรากฏใน พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี ต่อมามีข้อเสนอให้ทบทวนตัดนิยมของเงินแผ่นดินออก จึงเขียนใหม่อย่างที่เห็น” แหล่งข่าวระบุ


กำลังโหลดความคิดเห็น