xs
xsm
sm
md
lg

ดับฝัน! “อุ๋ย” กมธ.ยกร่างฯ ยอม สสส.-ไทยพีบีเอส ใช้ภาษีบาปไม่ต้องผ่านสภา-รัฐบาลปัดเสนอ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รองนายกรัฐมนตรีปฏิเสธรัฐเสนอไม่ให้ภาษีบาป “สสส.-ไทยพีบีเอส” โดยตรงตามแนวคิด “ปรีดิยาธร” ระบุ 2 หน่วยงานทำดีอยู่แล้ว ด้าน กมธ.ยกร่างฯ ยอมถอยให้ทั้ง 2 องค์กรใช้ภาษีบาปตลอดไป พร้อมกับกองทุนกีฬา หลังพบเงินไม่ได้หักจากคลัง แต่เรียกเก็บจากผู้ขายเหล้า-บุหรี่อีกต่อ เชื่อหากไม่แก้ไขบริษัทอบายมุขเสียตังค์น้อยลง ส่วนผู้จัดการ สสส. ระบุ กมธ.เข้าใจคลาดเคลื่อน ชี้หากยกเลิกรัฐเสียรายได้ต้องจ่ายแทน

วันนี้ (4 ส.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านสังคม กล่าวถึงกรณีที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ กล่าวถึงข้อเสนอกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้มีการปรับปรุงแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของที่เกี่ยวกับการคลังและงบประมาณ ในมาตรา 204 วรรคสอง ว่าด้วยการใช้เงินของกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (สสท.) หรือ ไทยพีบีเอส และกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ที่แบ่งรายได้จากภาษีสุราและยาสูบจากที่ใช้โดยตรง เปลี่ยนเป็นต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ว่า เป็นเรื่องที่ทาง กมธ.ยกร่างฯ บางท่านได้เสนอเช่นนี้ เป็นเรื่องที่ กมธ.ยกร่างฯ จะไปพิจารณา รัฐบาลไม่ได้เป็นผู้เสนอ โดยมีผู้ที่เป็นห่วงว่าจะมีหน่วยงานที่ขอใช้ภาษีสรรพสามิตมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะขณะนี้มีแค่ 2 หน่วยเท่านั้น คือ สสส. กับไทยพีบีเอส และกำลังจะมีการเสนอในส่วนของกองทุนการกีฬาแห่งชาติ การส่งเสริมสร้างการเรียนรู้ ขอใช้ภาษีนี้ ดังนั้นหากมีมากขึ้นจะกลายเป็นการผิดหลักการในการใช้ภาษีบาป

“แต่เราได้บอกว่าที่ทำมา 2 หน่วยงานนั้นก็ทำมาได้อย่างดี ถ้าเผื่อจะไม่มีใหม่ก็ไม่ว่ากัน แต่ 2 หน่วยงานก็น่าจะยังคงอยู่ แต่ตรงนี้เป็นความเห็นส่วนตัว” นายยงยุทธกล่าว

เมื่อถามว่า มีการเกรงกันว่าหากให้มีการใช้งบประมาณนี้โดยผ่านรัฐสภา โดยบัญญัติไว้ในหลักการของรัฐธรรมนูญจะทำให้การเมืองสามารถแทรกแซงการทำงานได้นั้น นายยงยุทธ กล่าวว่า อันนั้นก็เป็นสิ่งที่ตนเป็นห่วง

ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ. ยกร่างฯ กล่าวถึงการเขียนบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ ให้ สสส., ไทยพีบีเอส และกองทุนกีฬา สามารถใช้ภาษีบาปได้โดยตรงอีกแค่ 4 ปี ว่า เมื่อช่วงเช้าวันนี้ได้มีโอกาสสนทนาอย่างไม่เป็นทางการกับ กมธ.บางคน เห็นร่วมกันว่าจะเสนอทบทวนบทบัญญัติที่เกี่ยวกับกรณี สสส., ไทยพีบีเอส และกองทุนกีฬาฯ โดยน่าจะทบทวนเป็น 2 ระดับ ระดับแรกที่ต้องทบทวนแน่ๆ คือทบทวนบทเฉพาะกาล จากเดิมที่มีระยะหน่วง 4 ปี เป็นการยกเว้นถาวรให้ 3 องค์กรที่เกิดขึ้นก่อนรัฐธรรมนูญบังคับใช้ และการใช้งบประมาณก็ไม่ต้องผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณร่ายจ่ายประจำปีเช่นเดิม แนวทางนี้อาจจะมากกว่า 3 องค์กร หากก่อนรัฐธรรมนูญบังคับใช้ มีกฎหมายใหม่ออกมาอีก ทราบจากสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่ามีร่างกฎหมายทำนองนี้อยู่อีกสองสามฉบับ

ระดับต่อมาคือ อาจทบทวนบทบัญญัติปกติในหมวดการคลังการงบประมาณด้วย โดยอาจปรับข้อความให้คลายตัวลง ไม่ห้ามออกกฎหมายตั้งหน่วยงานเก็บภาษีต้นทางมาเป็นทุนดำเนินงาน หรือเอียร์มาร์ค แทกซ์ (Earmarked Tax) เด็ดขาด แต่ให้คำนึงถึงวินัยการเงินการคลัง ในระดับหลังที่อาจมีการทบทวน เพราะกรรมาธิการเคยเข้าใจว่า เอียร์มาร์ค แทกซ์ เป็นการหักภาษีที่เก็บได้ไปใช้ก่อนส่งเข้าคลัง แต่แท้จริงแล้ว เป็นการให้อำนาจหน่วยงานนั้นเก็บเพิ่มเป็นเปอร์เซ็นต์จากยอดภาษีที่ส่งเข้าคลัง คือ ไม่ใช่เก็บมาได้ 100% หักออก 2% เข้าคลัง 98% แต่เป็นเสียภาษีเข้าคลัง 100% เสียเพิ่มให้องค์กรอีก 2% การห้าม จึงไม่มีผลกระทบต่อยอดภาษีที่ส่งเข้าคลัง คลังไม่ได้มีรายได้เพิ่มขึ้น ได้เท่าเดิม แต่บริษัทเหล้าบุหรี่ประหยัดค่าภาษีที่ต้องเสียเพิ่มให้องค์กรนั้นๆ ไป

“ถ้าบทบัญญัติที่เพิ่มขึ้นใหม่ทำให้รัฐได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นจริง เราก็จะยืนหยัดคงไว้ แต่ถ้านอกจากรัฐไม่ได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นแล้ว บริษัทเหล้าบุหรี่ยังได้ประโยชน์ โดยเสียเงินน้อยลง ขณะที่องค์กรที่มีเป้าหมายทำสาธารณะประโยชน์ต้องได้รับผลกระทบ เราก็จำเป็นต้องทบทวน” นายคำนูณกล่าว

โฆษก กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า สำหรับตัวอย่างเอียร์มาร์ค แทกซ์ของ 2 องค์กร โดยกฎหมายของ สสส. ปี 2544 มาตรา 11 ให้กองทุนมีอำนาจจัดเก็บเงินบำรุงกองทุนจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมายว่าด้วยสุราและกฎหมายว่าด้วยยาสูบ ในอัตราร้อยละสองของภาษีที่เก็บจากสุราและยาสูบตามกฎหมายว่าด้วยสุราและกฎหมายว่าด้วยยาสูบ ในการคำนวณเงินบำรุงกองทุนตามอัตราที่กำหนดในวรรคหนึ่ง หากมีเศษของหนึ่งสตางค์ให้ปัดทิ้ง

ขณะที่กฎหมาย สสท.ปี 2551 มาตรา 12 ให้องค์การมีอำนาจจัดเก็บเงินบำรุงองค์การจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมายว่าด้วยสุราและกฎหมายว่าด้วยยาสูบ ในอัตราร้อยละหนึ่งจุดห้าของภาษีที่เก็บจากสุราและยาสูบตามกฎหมายว่าด้วยสุราและกฎหมายว่าด้วยยาสูบ และจัดสรรให้เป็นรายได้ขององค์การ โดยให้มีรายได้สูงสุดปีงบประมาณละไม่เกินสองพันล้านบาท และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจในการปรับเพิ่มรายได้สูงสุดตามมาตรานี้ทุกสามปี เพื่อให้องค์การมีรายได้เพียงพอต่อการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ โดยให้พิจารณาถึงอัตราเงินเฟ้อของปีที่ผ่านมาประกอบกับขอบเขตการดำเนินงานขององค์กร

“จะเห็นได้ว่าจากกฎหมายของทั้ง 2 องค์กร เงิน 2% และ 1.5% ที่เขาได้ไป ไม่ได้มาจากการหักออกจากภาษีที่บริษัทเหล้าบุหรี่เสียให้รัฐ แต่เป็นการเก็บเพิ่ม ถ้าห้าม รัฐก็ได้เท่าเดิม แต่บริษัทเหล้าบุหรี่ประหยัดเงินลงเพราะไม่ต้องเสียอีก 2% และ 1.5%” โฆษก กมธ.ยกร่างฯ ระบุ

ขณะที่ ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงกรณีกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เสนอปรับปรุงแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 กำหนดไม่ให้มีการตรากฎหมายให้หน่วยงานรัฐจัดเก็บภาษี และจัดสรรเงินจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากร และให้มีผลบังคับใช้กับหน่วยงานที่จัดเก็บภาษีและจัดสรรเงินดังกล่าวอีก 4 ปีหลังประกาศใช้ว่า ขณะนี้มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในเรื่องระบบการจัดเก็บภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ หรือภาษีบาปรวมร้อยละ 5.5 แต่ความจริงไม่ใช่ โดยสัดส่วนภาษีจำนวนดังกล่าว เป็นการเก็บภาษีพิเศษเพิ่มจากภาษีปกติที่ต้องจ่าย

“ผู้มีอำนาจพิจารณาเรื่องนี้ อาจมีความเข้าใจผิด หรือได้รับข้อมูลเพียงบางส่วนว่า การดึงเงินภาษีบาปส่วนนี้ กลับไปสู่ระบบงบประมาณราชการ จะทำให้รัฐบาลเก็บภาษีได้น้อยลง ประเทศเสียประโยชน์ เพราะรัฐบาลกลับต้องนำภาษีปกติมาจัดสรรให้แทน ขณะที่ธุรกิจบาปจะเป็นผู้รับประโยชน์จากการยกเลิกเอียร์มาร์ค แทกซ์ โดยตรง เพราะไม่ต้องจ่ายภาษีพิเศษตรงนี้เพิ่มที่มีมูลค่านับ 10,000 ล้านบาท เงินเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ส่งเสริมกิจกรรมทางการตลาดกับประเทศไทย ส่งผลให้พฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งรายได้จากภาษีบาปส่วนใหญ่ มาจากธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาสูบข้ามชาติ ขณะที่รายได้ภาษีจากโรงงานยาสูบ มีเพียงส่วนน้อยมาก” ผจก.สสส.กล่าว

ทพ.กฤษดากล่าวว่า ขณะนี้ สสส.อยู่ระหว่างการสรุปเรื่องดังกล่าวรายงานให้แก่คณะกรรมการกองทุน สสส. โดยเร็วที่สุด เพื่อรับทราบข้อเสนอแนะและความเห็นว่า ควรจะดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไร พร้อมเตรียมทำหนังสือชี้แจงไปยังคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบของการยกเลิกเอียร์มาร์ค แทกซ์ ซึ่งในต่างประเทศการเก็บภาษีแบบเอียร์มาร์ค แทกซ์ มักจะใช้กับเรื่องสำคัญๆ เช่น สุขภาพ สื่อ และกีฬา ซึ่งตามหลักเศรษฐศาสตร์ ประเทศที่มีระบบเอียร์มาร์ค แทกซ์ ตามระเบียบวินัยทางการเงินจะร้อยละ 5 ของงบประมาณแผ่นดิน แต่ประเทศไทยขณะนี้ อยู่ที่ร้อยละ 0.4 ของงบประมาณแผ่นดินเท่านั้น

ทั้งนี้ การบริหารงาน สสส.ในปัจจุบัน ถือว่ามีดำเนินงานเทียบเท่าหน่วยงานรัฐต่างๆ เห็นได้จากช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อัตราการสูบบุหรี่ของคนไทยลดลงกว่า 1.2 ล้านคน คนดื่มเหล้าลดลง ช่วยประหยัดงบประมาณไปมากกว่า 20,000 ล้านบาท งานลดอุบัติเหตุ ช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตร้อยละ 48 ลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นมากกว่า แสนล้านบาท ซึ่งผลลัพธ์ดังกล่าวคงเกิดขึ้นไม่ได้ หากอยู่ในระบบราชการ และความสำเร็จที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจาก สสส. แต่เกิดจากการทำงานลงไปสนับสนุนเครือข่าย ภาคประชาสังคม และชุมชนต่างๆ ในการขับเคลื่อน ซึ่งมีมากกว่า 10,000 องค์กร และคนทำงานมากกว่า 1 ล้านคนซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดขึ้นได้คือ ความคล่องตัวในการบริหารจัดการและความโปร่งใสในการบริหารจัดการ

ทพ.กฤษดากล่าวว่า จากตัวอย่างในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา องค์กรที่มีลักษณะเดียวกับ สสส. ก็ถูกกลุ่มธุรกิจโจมตีและยุบองค์กรไป เกิดจากการทำงานขับเคลื่อนด้านการส่งเสริมสุขภาพ ให้ประชาชนลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาสูบ ส่งผลโดยตรงกับกลุ่มธุรกิจกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอำนาจและอิทธิพลอย่างมาก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะการทำงานที่ได้ผล ทำให้ประชาชนมีความเข้าใจถึงพิษภัยของสิ่งเหล่านี้ และตระหนักถึงสุขภาพมากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น