xs
xsm
sm
md
lg

รักษ์วัดรักษ์ไทย : 3 วัดรวมเป็นหนึ่งเดียว วัดดุสิดาราม แดนแห่งทวยเทพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วัดดุสิดารามวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก เหนือปากคลองบางกอกน้อย แขวงอรุณอัมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร

พระอารามนี้เดิมชื่อ “วัดเสาประโคน” ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้สร้าง สันนิษฐานว่า เป็นวัดโบราณตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย มีเสาใหญ่ปักเขตอยู่ในบริเวณวัด ซึ่งเป็นที่มาของชื่อวัด ต่อมาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ พระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงปฏิสังขรณ์พระอาราม และทรงสร้างพระอุโบสถ เพราะฝีมือการสร้างและจิตรกรรมภายในพระอุโบสถ ปรากฏฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 1

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 สมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ได้ทรงสร้างกุฏิ หอสวดมนต์ ศาลาการเปรียญ เจดีย์ ซึ่งทรงบรรจุอัฐิเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ ซึ่งเป็นพระเชษฐภคนี ไว้ในเจดีย์ รวมทั้งบูรณปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุอื่นๆ และพระราชทานนามวัดว่า “วัดดุสิตาราม”

สมัยรัชกาลที่ 3 ได้ทรงปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ พระวิหาร และกุฏิทั่วพระอาราม ในสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเปลี่ยนนามเป็น “วัดดุสิดาราม” ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ทรงปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ พร้อมทั้งพระระเบียง สร้างอาคารเสนาสนะต่างๆ เพิ่มขึ้น รวมทั้งทรงสร้างโรงเรียนสอนหนังสือไทย 1 หลัง

ในสมัยรัชกาลที่ 6 พ.ศ. 2456 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้เสด็จตรวจวัดดุสิดาราม วัดภุมรินราชปักษี และวัดน้อยทองอยู่ ซึ่งมีอาณาเขตที่ดินติดต่อกัน ทรงรับสั่งให้รวมวัดภุมรินราชปักษี ซึ่งมีพระสงฆ์จำพรรษาเพียงรูปเดียวเข้ากับวัดดุสิดาราม

ต่อมาในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 วัดดุสิดารามและวัดน้อยทองอยู่ได้รับความเสียหายจากระเบิด แต่วัดน้อยทองอยู่เสียหายหนัก เหลือเพียงกำแพงอุโบสถ ดังนั้น ในวันที่ 5 มีนาคม 2488 เจ้าอาวาสวัดดุสิดารามจึงได้ยื่นหนังสือกับทางการขอรวมวัดน้อยทองอยู่เข้าด้วยกันกับวัดดุสิดาราม

การรวม 3 วัดเป็นวัดเดียวกัน ทำให้เนื้อที่ของวัดดุสิดารามเพิ่มมากขึ้น แต่เจ้าอาวาสที่ปกครองวัดสืบทอดกันมาก็สามารถบริหารจัดการดูแลบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามให้งดงามสืบต่อกันมาเป็นอย่างดี

สำหรับปูชนียวัตถุและถาวรวัตถุที่สำคัญๆ ในพระอาราม ได้แก่

• พระอุโบสถ หลังคาลด 3 ชั้น มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ เสริมมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง หน้าบันตอนล่างก่ออิฐถือปูน ตอนบนจำหลักไม้เป็นลวดลายก้านขด มีเทวดาถือพระขรรค์ประทับนั่งบนแท่นลงรักปิดทอง ประดับกระจก

ภายในพระอุโบสถ มีภาพเขียนฝีมือช่างในรัชกาลที่ 1 รอบผนังทั้ง 4 ด้าน เป็นภาพต้นไม้ดอกไม้ พุทธประวัติ เทพชุมนุม ภาพนรกภูมิ โดยเฉพาะภาพนรกภูมิเบื้องหลังพระประธาน กล่าวกันว่าเขียนได้งดงามราวกับมีชีวิตจริง จนได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุสำคัญของชาติ

• พระประธาน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 2.12 เมตร สูง 2 เมตร พระพักตร์งดงาม ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ

• พระระเบียง รอบพระอุโบสถทั้ง 4 ด้าน ยาว 62.20 เมตร กว้าง 42.25 เมตร มีพระพุทธรูปยืนปางถวายเนตรก่อด้วยปูนลงรักปิดทอง จำนวน 64 องค์ ประทับยืนอยู่ในซุ้มจระนำที่เจาะเข้าไปในผนังพระระเบียงโดยรอบ

ตรงลานมุมพระระเบียงทั้งสองข้างหน้าพระอุโบสถ มีพระปรางค์ข้างละ 1 องค์ และในลานมุมพระระเบียงด้านหลัง มีพระเจดีย์ ข้างละ 1 องค์

• พระเจดีย์ปลา ตั้งอยู่นอกกำแพงพระระเบียง ด้านหน้าพระอุโบสถ เป็นพระเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ที่ฐานมีรูปปลาเงือก และช้างน้ำติดอยู่โดยรอบ

• พระอุโบสถเก่าทรงสำเภา (พระอุโบสถมหาอุตม์) เป็นพระอุโบสถเดิมของวัดภุมรินราชปักษี มีขนาดเล็กทรวดทรงงดงาม หน้าบันรูปนารายณ์ทรงครุฑและนกยูงรำแพน ปิดกระจกสวยงาม ด้านหลังประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติ

• พระวิหารเก่า เป็นพระวิหารเก่าดั้งเดิมของวัดดุสิดาราม มีขนาดเล็กทรงสำเภา หน้าบันรูปนารายณ์ทรงครุฑ

• หอระฆัง เป็นหอระฆังเก่าแก่ของวัดดุสิดาราม

หากนับอายุที่สันนิษฐานไว้ว่า สร้างขึ้นปลายกรุงศรีอยุธยา วัดดุสิดารามก็มีอายุกว่า 200 ปี ในช่วงเวลาอันยาวนานนี้เองที่ได้ผ่านทั้งความเจริญรุ่งเรืองและความชำรุดทรุดโทรม โดยได้รับผลกระทบมากที่สุดจากภัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และล่าสุดจากน้ำท่วมใหญ่ เมื่อพ.ศ. 2554

พระอารามหลวงแห่งนี้จึงจำต้องได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์อย่างเร่งด่วน โดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ร่วมกับทางวัดจัดทำ “โครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดดุสิดาราม” ซึ่งได้เริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2556 บูรณะพระอุโบสถ ระเบียงคดรอบพระอุโบสถ และปรับปรุงภูมิทัศน์ในเขตพุทธาวาส ซึ่งขณะนี้งานบูรณะบางส่วนได้เสร็จสิ้นแล้ว และภายใน พ.ศ. 2559 การบูรณะก็จะแล้วเสร็จสมบูรณ์ คืนความงดงามให้สมเป็นแดนแห่งทวยเทพ พุทธสถานสำคัญของบ้านเมือง ให้อยู่คู่ชาติไทยตราบกาลนาน

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 180 พฤศจิกายน 2558 โดย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)
กำลังโหลดความคิดเห็น