วัดชัยพฤกษมาลา เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิด "ราชวรวิหาร" ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อย ปากคลองมหาสวัสดิ์ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร
ตามประวัติกล่าวว่า วัดแห่งนี้เป็นวัดโบราณ มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เดิมเรียกกันว่า “วัดชัยพฤกษ์” เป็นวัดร้าง
เมื่อสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2326 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งในเวลานั้นดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงเป็นนายด่านทำกำแพงพระนครด้านหนึ่ง ได้ขอพระบรมราชานุญาตรื้ออิฐจากวัดชัยพฤกษ์ร้างมาก่อสร้างกำแพงพระนคร
ต่อมา พ.ศ. 2328 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 จึงโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร บูรณะและสถาปนาวัดชัยพฤกษ์ขึ้นใหม่ในที่เดิม
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรได้ทรงบริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์ในการสร้างพระอุโบสถ พระประธานในพระอุโบสถหนึ่งองค์ พระสาวกสององค์ พระวิหาร พระพุทธรูปสี่องค์ ศาลาการเปรียญ หอระฆัง และกุฏิสงฆ์ แต่การก่อสร้างก็ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ เนื่องจากบ้านเมืองยังมีศึกสงคราม
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 เสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ทรงมีรับสั่งให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ เป็นแม่กองทำเป็นการหลวง แต่การนั้นก็ค้างอยู่จนตลอดรัชกาลที่ 3 ด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ ได้เสด็จออกผนวช
ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เสด็จขึ้นครองราชย์ ได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์จำนวนมาก เพื่อปฏิสังขรณ์วัดชัยพฤกษ์ โดยโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส เป็นแม่กองปฏิสังขรณ์ และเนื่องจากพื้นที่เดิมของวัดค่อนข้างแคบ จึงพระราชทานพระราชทรัพย์ให้ซื้อที่สวนติดกับวัดเพิ่มเติม แล้วให้ขุดคูรอบวัด สร้างพระอุโบสถ และพระวิหารของเดิมที่ยังค้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 ซึ่งขณะนั้นได้ชำรุดเกือบหมด ให้แล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย จากนั้นโปรดเกล้าฯให้สร้างศาลาการเปรียญ พระเจดีย์ใหญ่ หมู่กุฏิ หอสวดมนต์ หอระฆัง ศาลา สะพานท่าน้ำ และสะพานข้ามคลองหน้าวัด จนแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2398
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามใหม่แก่พระอารามแห่งนี้ว่า “วัดชัยพฤกษมาลา” และได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงถวายกุฏิหมู่แก่พระสงฆ์ และทรงก่อพระเจดีย์หลังพระอุโบสถและพระวิหารเป็นพระฤกษ์
การบูรณปฏิสังขรณ์วัดชัยพฤกษมาลา ใช้เวลาต่อมาอีกราว 3 ปี การก่อสร้างต่างๆภายในวัดจึงสำเร็จเรียบร้อย แต่ก็ยังไม่ได้เขียนภาพและปิดทองบานประตูหน้าต่าง สันนิษฐานว่าการเขียนภาพและปิดทองบานประตูหน้าต่าง น่าจะเสร็จก่อนมีพระราชพิธีฉลองวัดใน พ.ศ. 2406
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ณ วัดชัยพฤกษมาลา เสมอมามิได้ขาด และยังได้กำหนดให้วัดนี้ส่งพระธรรมกถึกไปเทศนาธรรมถวายทุกวันพระเป็นประจำทุกเดือน
ในพระอารามแห่งนี้ มีปูชนียวัตถุและถาวรวัตถุที่สำคัญ อาทิ
• พระประธานในพระอุโบสถเก่า เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 4 ศอก 4 นิ้ว สูง 4 ศอกคืบ 9 นิ้ว
• พระประธานในพระอุโบสถใหม่ เป็นพระพุทธชินราชจำลอง หน้าตักกว้าง 2.50 เมตร มีนามว่า “พระพุทธชัยมงคล ภปร.”
• พระอุโบสถเก่า มีขนาดกว้าง 5 วา ยาว 11 วา 2 ศอก ที่หน้าบันชั้นบนมีปูนปั้นเป็นรูปพระครุฑพ่าห์ ซึ่งเป็นเครื่องหมายประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และที่หน้าบันมุขลด มีปูนปั้นเป็นรูปพระมหามงกุฎ ซึ่งเป็นเครื่องหมายประจำรัชกาลที่ 4
• พระอุโบสถใหม่ มีขนาดกว้าง 14 เมตร ยาว 22 เมตร หน้าบันด้านหน้าพระอุโบสถเป็นตราประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระที่นั่งอัฐทิศ หน้าบันด้านหลังเป็นพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร
• พระวิหาร มีขนาดกว้างยาวเท่ากับพระอุโบสถ
• พระเจดีย์ทรงระฆัง สูง 10 วา 2 ศอก วัดโดยรอบ 14 วา และมีพระเจดีย์ทิศขนาดเล็กอยู่บนฐานเดียวกันอีก 4 องค์ เมื่อ พ.ศ. 2478 หม่อมเจ้าเพิ่ม ลดาวัลย์ ทรงบูรณปฏิสังขรณ์เสร็จแล้ว ได้อัญเชิญพระบรมอัฐิรัชกาลที่ 3 และพระอัฐิเจ้านายอีกหลายพระองค์มาบรรจุไว้ในพระเจดีย์องค์นี้ด้วย
• พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2
วัดชัยพฤกษมาลารุ่งเรืองและสง่างามมากในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป วัดนี้ขาดการทะนุบำรุงอย่างจริงจัง เสนาสนะต่างๆจึงชำรุดทรุดโทรมโดยลำดับ จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระนันทวิริยะ(โพธิ์) เป็นเจ้าอาวาส วัดแห่งนี้ก็กลับเจริญรุ่งเรืองขึ้นอีกครั้ง เพราะได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ทั่วพระอาราม
เพื่อดำรงคงความสง่างามแห่งพระอาราม “ชัยพฤกษมาลา” ที่องค์พระมหากษัตราธิราชได้ทรงสถาปนาไว้ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จึงร่วมกับทางวัดจัดทำ “โครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดชัยพฤกษมาลา” เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2554 บูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ พระวิหาร พระเจดีย์ และปรับปรุงภูมิทัศน์ โดยงานบูรณะพระวิหาร พระเจดีย์ และปรับปรุงภูมิทัศน์ ได้แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2558 เหลือเพียงงานบูรณะพระอุโบสถ ซึ่งจะดำเนินต่อไปใน พ.ศ. 2559 นี้
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 181 มกราคม 2559 โดย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)
ตามประวัติกล่าวว่า วัดแห่งนี้เป็นวัดโบราณ มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เดิมเรียกกันว่า “วัดชัยพฤกษ์” เป็นวัดร้าง
เมื่อสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2326 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งในเวลานั้นดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงเป็นนายด่านทำกำแพงพระนครด้านหนึ่ง ได้ขอพระบรมราชานุญาตรื้ออิฐจากวัดชัยพฤกษ์ร้างมาก่อสร้างกำแพงพระนคร
ต่อมา พ.ศ. 2328 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 จึงโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร บูรณะและสถาปนาวัดชัยพฤกษ์ขึ้นใหม่ในที่เดิม
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรได้ทรงบริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์ในการสร้างพระอุโบสถ พระประธานในพระอุโบสถหนึ่งองค์ พระสาวกสององค์ พระวิหาร พระพุทธรูปสี่องค์ ศาลาการเปรียญ หอระฆัง และกุฏิสงฆ์ แต่การก่อสร้างก็ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ เนื่องจากบ้านเมืองยังมีศึกสงคราม
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 เสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ทรงมีรับสั่งให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ เป็นแม่กองทำเป็นการหลวง แต่การนั้นก็ค้างอยู่จนตลอดรัชกาลที่ 3 ด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ ได้เสด็จออกผนวช
ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เสด็จขึ้นครองราชย์ ได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์จำนวนมาก เพื่อปฏิสังขรณ์วัดชัยพฤกษ์ โดยโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส เป็นแม่กองปฏิสังขรณ์ และเนื่องจากพื้นที่เดิมของวัดค่อนข้างแคบ จึงพระราชทานพระราชทรัพย์ให้ซื้อที่สวนติดกับวัดเพิ่มเติม แล้วให้ขุดคูรอบวัด สร้างพระอุโบสถ และพระวิหารของเดิมที่ยังค้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 ซึ่งขณะนั้นได้ชำรุดเกือบหมด ให้แล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย จากนั้นโปรดเกล้าฯให้สร้างศาลาการเปรียญ พระเจดีย์ใหญ่ หมู่กุฏิ หอสวดมนต์ หอระฆัง ศาลา สะพานท่าน้ำ และสะพานข้ามคลองหน้าวัด จนแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2398
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามใหม่แก่พระอารามแห่งนี้ว่า “วัดชัยพฤกษมาลา” และได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงถวายกุฏิหมู่แก่พระสงฆ์ และทรงก่อพระเจดีย์หลังพระอุโบสถและพระวิหารเป็นพระฤกษ์
การบูรณปฏิสังขรณ์วัดชัยพฤกษมาลา ใช้เวลาต่อมาอีกราว 3 ปี การก่อสร้างต่างๆภายในวัดจึงสำเร็จเรียบร้อย แต่ก็ยังไม่ได้เขียนภาพและปิดทองบานประตูหน้าต่าง สันนิษฐานว่าการเขียนภาพและปิดทองบานประตูหน้าต่าง น่าจะเสร็จก่อนมีพระราชพิธีฉลองวัดใน พ.ศ. 2406
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ณ วัดชัยพฤกษมาลา เสมอมามิได้ขาด และยังได้กำหนดให้วัดนี้ส่งพระธรรมกถึกไปเทศนาธรรมถวายทุกวันพระเป็นประจำทุกเดือน
ในพระอารามแห่งนี้ มีปูชนียวัตถุและถาวรวัตถุที่สำคัญ อาทิ
• พระประธานในพระอุโบสถเก่า เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 4 ศอก 4 นิ้ว สูง 4 ศอกคืบ 9 นิ้ว
• พระประธานในพระอุโบสถใหม่ เป็นพระพุทธชินราชจำลอง หน้าตักกว้าง 2.50 เมตร มีนามว่า “พระพุทธชัยมงคล ภปร.”
• พระอุโบสถเก่า มีขนาดกว้าง 5 วา ยาว 11 วา 2 ศอก ที่หน้าบันชั้นบนมีปูนปั้นเป็นรูปพระครุฑพ่าห์ ซึ่งเป็นเครื่องหมายประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และที่หน้าบันมุขลด มีปูนปั้นเป็นรูปพระมหามงกุฎ ซึ่งเป็นเครื่องหมายประจำรัชกาลที่ 4
• พระอุโบสถใหม่ มีขนาดกว้าง 14 เมตร ยาว 22 เมตร หน้าบันด้านหน้าพระอุโบสถเป็นตราประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระที่นั่งอัฐทิศ หน้าบันด้านหลังเป็นพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร
• พระวิหาร มีขนาดกว้างยาวเท่ากับพระอุโบสถ
• พระเจดีย์ทรงระฆัง สูง 10 วา 2 ศอก วัดโดยรอบ 14 วา และมีพระเจดีย์ทิศขนาดเล็กอยู่บนฐานเดียวกันอีก 4 องค์ เมื่อ พ.ศ. 2478 หม่อมเจ้าเพิ่ม ลดาวัลย์ ทรงบูรณปฏิสังขรณ์เสร็จแล้ว ได้อัญเชิญพระบรมอัฐิรัชกาลที่ 3 และพระอัฐิเจ้านายอีกหลายพระองค์มาบรรจุไว้ในพระเจดีย์องค์นี้ด้วย
• พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2
วัดชัยพฤกษมาลารุ่งเรืองและสง่างามมากในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป วัดนี้ขาดการทะนุบำรุงอย่างจริงจัง เสนาสนะต่างๆจึงชำรุดทรุดโทรมโดยลำดับ จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระนันทวิริยะ(โพธิ์) เป็นเจ้าอาวาส วัดแห่งนี้ก็กลับเจริญรุ่งเรืองขึ้นอีกครั้ง เพราะได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ทั่วพระอาราม
เพื่อดำรงคงความสง่างามแห่งพระอาราม “ชัยพฤกษมาลา” ที่องค์พระมหากษัตราธิราชได้ทรงสถาปนาไว้ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จึงร่วมกับทางวัดจัดทำ “โครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดชัยพฤกษมาลา” เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2554 บูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ พระวิหาร พระเจดีย์ และปรับปรุงภูมิทัศน์ โดยงานบูรณะพระวิหาร พระเจดีย์ และปรับปรุงภูมิทัศน์ ได้แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2558 เหลือเพียงงานบูรณะพระอุโบสถ ซึ่งจะดำเนินต่อไปใน พ.ศ. 2559 นี้
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 181 มกราคม 2559 โดย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)