xs
xsm
sm
md
lg

รักษ์วัดรักษ์ไทย : “พระอินทร์แปลง” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ วัดเสนาสนาราม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ตำบลหัวรอ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ตามประวัติกล่าวว่า เดิมชื่อ “วัดเสื่อ” เป็นวัดโบราณ สร้างตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างในสมัยใด แต่มีกล่าวไว้ในพงศาวดารว่า วัดเสื่อได้สร้างขึ้นพร้อมพระราชวังจันทรเกษม หรือวังหน้า ที่สมเด็จพระมหาธรรมราชาโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2120 เพื่อให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยมีอาณาเขตด้านทิศใต้ของวังติดกับวัดเสื่อ ต่อมาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โปรดให้ขยายขอบเขตของวังออกไป วัดเสื่อจึงได้เข้ามารวมอยู่ในเขตวัง ดังนั้น พระอารามแห่งนี้จึงไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา เช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

เมื่อสิ้นกรุงศรีอยุธยา วัดเสื่อได้กลายเป็นวัดร้าง จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ 300 ชั่งเศษ และโปรดเกล้าฯให้พระยาราชสงคราม (ทัด หงสกุล) เป็นประธานในการบูรณวัดเสื่อ การดำเนินงานแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2406 พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร” เรียกสั้นๆว่า “วันเสนาสน์” ซึ่งคล้อยตามนามเก่าคือ “วัดเสื่อ” แล้วถวายเป็นพระอารามหลวงฝ่ายธรรมยุตนิกาย โปรดเกล้าฯให้อาราธนาพระครูพรหมเทพาจารย์ (บุญรอด พฺรหฺมเทโว) ซึ่งเป็นพระธรรมยุตนิกาย พร้อมทั้งลูกคณะ ซึ่งอยู่ ณ วัดขุนญวน อันเป็นวัดที่พระองค์เคยเสด็จประทับในสมัยเมื่อทรงผนวช ให้ย้ายมาอยู่วัดเสนาสนารามแต่นั้นมา นับเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ห้ขยายเขตวิสุงคามสีมาของวัดให้กว้างออกไป แล้วให้สร้างกุฏิหลังละ 4 ห้อง รวม 9 หลัง ต่อมาภายหลังโปรดเกล้าฯให้สร้างเพิ่มอีก 5 หลัง และให้กรมหมื่นพงศาดิศรมหิป (พระองคเจ้าไชยานุชิต ต้นสกุล ชยางกูร ณ อยุธยา) เป็นผู้อำนวยการปฏิสังขรณ์พระอุโบสถใหม่ และเสนาสนะต่างๆ

ปูชนียสถานและปูชนียวัตถุที่สำคัญของวัดเสนาสนาราม ได้แก่
• พระอุโบสถ เป็นสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา หน้าบันด้านหน้าและด้านหลังเป็นไม้แกะสลักปิดทอง ประดับกระจกรูปช้างเอราวัณ ขนาบด้วยฉัตร เหนือเศียรช้างเอราวัณมีพระราชลัญจกรในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือรูปพระมหามงกุฎ

• พระประธานในพระอุโบสถ มีนามว่า “พระสัมพุทธมุนี” ขนาดหน้าตักกว้าง 2 ศอก 2 นิ้ว สูงตลอดพระรัศมี 3 ศอก 1 นิ้ว ประดิษฐานอยู่ในซุ้มเรือนแก้วยอดพระมหามงกุฎ ที่ซุ้มเรือนแก้วมีอักษรขอมจารึกไว้

• พระพุทธไสยาสน์ เป็นศิลปะแบบอยุธยา แกะสลักจากศิลา ขนาดยาว 14.2 เมตร เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดพระมหาธาตุ รัชกาลที่ 5 โปรดให้สร้างวิหารพระนอนขึ้นในวัดเสนาสนาราม แล้วอัญเชิญพระพุทธไสยาสน์จากวัดมหาธาตุมาประดิษฐานไว้

• วิหารพระอินทร์แปลง เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้องดินเผา เคลือบหน้าบันและเครื่องประดับเป็นปูนปั้น ตรงกลางผนังด้านหลังสร้างเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ ด้านหน้าที่ซุ้มเรือนแก้ว ประดิษฐานพระประธาน “พระอินทร์แปลง”

• พระอินทร์แปลง พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์และงดงามของวัด เป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านช้าง หล่อด้วยโลหะสำริด ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 39 นิ้ว สูง 59 นิ้ว ประดิษฐานบนฐานชุกชี สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช แห่งอาณาจักรล้านช้าง ณ วัดป่าสักหลวง(ปัจจุบันคือวัดอินแปง) ประเทศลาว เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เมื่อครั้งเป็นพระยาราชสุภาวดี ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้นำมาจากเมืองเวียงจันทน์ เมื่อคราที่ยกทัพไปปราบเจ้าอนุวงศ์ที่ก่อการกบฎ เมื่อ พ.ศ.2371 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้นำมาประดิษฐานที่วัดเสนาสนาราม

มีตำนานเก่าแก่เล่าเรื่องพระอินทร์แปลงว่า ในขณะที่สร้างพระอยู่นั้น ทางวัดและชาวบ้านต่างก็ช่วยกันทำ และหาช่างหล่อพระฝีมือดีมาทำ แต่สร้างกันอย่างไรก็ไม่สำเร็จ แม้ว่าจะพยายามอยู่หลายครั้งหลายหน จนเวลาผ่านไปหลายวัน ทันใดนั้นก็มีชีปะขาวตนหนึ่งที่ไม่มีใครรู้ว่าเป็นใครมาจากไหน ได้มาขอช่วยสร้างพระ ชาวบ้านไม่ได้เห็นแค่ชีปะขาวตนเดียว แต่เห็นชีปะขาวจำนวนมากมาช่วยกันสูบเตาหลอมพระและช่วยกันปั้นพระพุทธรูป ในที่สุดการหล่อพระก็สำเร็จลงด้วยดี แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีใครเห็นชีปะขาวตนนั้นอีกเลย ชาวบ้านเห็นเป็นความอัศจรรย์ จึงพากันเรียกขานพระพุทธรูปที่เพิ่งสร้างเสร็จว่า “พระอินแปง” หมายความว่า พระที่พระอินทร์สร้าง และวัดที่สร้างพระนั้นก็ถูกเรียกขานว่า “วัดอินแปง” (แต่ไทยใช้คำว่า “อินทร์แปลง” เนื่องจากวิวัฒนาการทางภาษา)

โดยภายในพระวิหารพระอินทร์แปลงมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับตำนานพระอินทร์ด้วย

หากนับตั้งแต่เริ่มสร้างวัดเสนาสนารามตามที่กล่าวไว้ในพงศาวดารจนถึงปัจจุบัน พระอารามแห่งนี้ได้ผ่านกาลเวลามาแล้วถึง 438 ปี มีทั้งยามที่เจริญรุ่งเรืองสูงสุด พร้อมกับพระราชวังจันทรเกษม และยามที่กลายสภาพเป็นวัดร้างพร้อมกับพระราชวังจันทรเกษมเช่นกัน ในคราวเสียกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 2310

อย่างไรก็ตาม แม้พระอารามหลวงแห่งนี้จะได้รับการดูแลและปฏิสังขรณ์เรื่อยมา ทั้งจากพระเจ้าแผ่นดิน และเจ้าอาวาสผู้ครองวัด แต่สภาพหลายอย่าง เช่น จิตรกรรมฝาผนัง ฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ได้เสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา

สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเล็งเห็นว่า วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร มีความสำคัญในฐานะเป็นพระอารามหลวงที่พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้น ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องบูรณปฏิสังขรณ์ โดยใน พ.ศ. 2559 จะเริ่มดำเนินการสำรวจรังวัดพื้นที่ และจะเริ่มดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ใน พ.ศ. 2560 เพื่อให้วัดเสนาสนารามงามสง่าสมค่านามพระอารามหลวงสืบไป

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 179 พฤศจิกายน 2558 โดย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)
กำลังโหลดความคิดเห็น