วัดไชโยวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ 21 หมู่ 3 ต.ไชโย อ.ไชโย จ.อ่างทอง
วัดนี้เดิมชื่อ “วัดไชโย” เช่นกัน เป็นวัดราษฎร์เก่าแก่ สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ไม่มีประวัติแน่ชัดว่าใครสร้าง แต่มาปรากฏชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วไป เมื่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆษิตาราม กรุงเทพฯ ได้มาสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยใช้เวลานานเกือบ 3 ปี
สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต)ได้สร้างพระพุทธรูป 2 ครั้ง ครั้งแรกสร้างเป็นพระพุทธรูปนั่งขนาดใหญ่โตมาก ใช้วิธีก่ออิฐสอดิน แต่แล้วก็หักพังทลายลงในไม่ช้า ครั้งที่ 2 ก็ก่อเช่นนั้นเหมือนกัน แต่ลดขนาดให้เล็กลงกว่าครั้งแรก ถึงกระนั้นก็ยังนับว่าใหญ่มากอยู่นั่นเอง ครั้งนี้ก่อได้สำเร็จ แต่ไม่สู้ประณีตเกลี้ยงเกลานัก เป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิ ถือปูนขาว ไม่ได้ปิดทอง ประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง มองเห็นได้จากที่ไกล
เมื่อ พ.ศ. 2421 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประพาสมณฑลอยุธยา และเสด็จขึ้นทอดพระเนตรหลวงพ่อโต ทรงมีพระราชดำรัสว่า “พระใหญ่ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) สร้างนี้ดูหน้าตารูปร่างไม่งามเลย ดูที่หน้าวัดปากเหมือนขรัวโตไม่มีผิด ถือปูนขาวไม่ได้ปิดทอง ทำนองท่านไม่คิดจะปิดทอง จึงได้เจาะท่อน้ำไว้ที่พระหัตถ์”
ต่อมา พ.ศ. 2430 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยารัตนบดินทร (บุญรอด กัลยาณมิตร) ที่สมุหนายก สำเร็จราชการกรมมหาดไทย ขึ้นมาเป็นแม่กองปฏิสังขรณ์วัดไชโยขึ้นใหม่ทั่วทั้งพระอาราม
เมื่อมีการสร้างพระวิหารก็จำเป็นต้องมีการกระทุ้งราก พระพุทธรูปองค์ใหญ่ทนการกระเทือนไม่ได้ ก็พังลง จึงโปรดเกล้าฯ รับสร้างพระพุทธรูปใหม่เป็นของหลวง ทดแทนพระพุทธรูปที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)ได้สร้างไว้ แล้วโปรดเกล้าฯให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการ นายช่างปั้นพระพุทธรูปฝีพระหัตถ์ยอดเยี่ยมในสมัยนั้นขึ้นมาช่วย
พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการพิจารณาว่า จะก่อสร้างขึ้นไปในรูปเดิม แต่ใหญ่โตเท่าเดิมเห็นจะไม่ได้ กำลังความยึดเหนี่ยวของอิฐปูนคงจะไม่พอ จึงตกลงรื้อออกใหม่หมดทั้งองค์ วางรากฐานการก่อใหม่ ครั้งนี้ใช้โครงเหล็กยึดเป็นโครงรัดอิฐปูนไว้ภายใน เหมือนดังร่างที่มีกระดูก ลดขนาดให้เล็กลงเหลือเท่าที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้
พระพุทธรูปองค์นี้จึงเป็นฝีพระหัตถ์ของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการ นับเป็นการก่อสร้างครั้งที่ 3 เป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิซ้อนพระหัตถ์ตามลักษณะเดิมที่สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) สร้างไว้ แต่ครองจีวรและพาดสังฆาฏิกว้างตามแบบใหม่
เจ้าพระยารัตนบดินทรได้ดำเนินการปฏิสังขรณ์วัดไชโยทั่วทั้งพระอาราม มีการสร้างพระวิหารประดิษฐานหลวงพ่อโต สร้างพระอุโบสถ สร้างศาลารายรอบพระวิหาร รวม 4 หลัง สร้างกำแพงแก้วเป็นเขตพุทธาวาส สร้างกุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ หอระฆัง ศาลารายกลางวัด ศาลาท่าน้ำ จนเสร็จบริบูรณ์ เมื่อ พ.ศ. 2437
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้ยกฐานะของวัดไชโยขึ้นเป็นพระอารามหลวง ตั้งแต่ปีต้นของการปฏิสังขรณ์ แล้วพระราชทานพระนามพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นใหม่ว่า “พระมหาพุทธพิมพ์” แล้วโปรดเกล้าฯ ให้มีการเฉลิมฉลองพระอารามเป็นงานใหญ่ 3 วัน 3 คืน เมื่อวันที่ 5-7 ตุลาคม พ.ศ. 2438 ได้พระราชทานของช่วย คือ ละครโรง 1 หนังโรง 1 ดอกไม้เพลิง 1 ต้น กัลปพฤกษ์ 2 ต้น ตลอดงาน
สิ่งสำคัญภายพระอาราม ได้แก่
• พระอุโบสถ กว้าง 8 เมตร ยาว 16 เมตร เป็นทรงไทยโบราณมีมุขลดต่อออกมาทางด้านหน้าพระวิหาร มีช่อฟ้าหน้าบัน เสาพระวิหารรับเชิงชาย พระประธานภายในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปั้นปางสมาธิ ผนังทุกด้านมีภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติ ฝีมือช่างในสมัยรัชกาลที่ 5
• พระวิหารหลวง หรือพระวิหารพระมหาพุทธพิมพ์ กว้าง 30 เมตรเศษ ยาว 27 เมตรเศษ สูง 1 เส้นเศษ สร้างเป็นเรือนใหญ่ครอบองค์พระพุทธรูปขนาดใหญ่ไว้
• พระมหาพุทธพิมพ์ หรือหลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ขัดสมาธิราบ ก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทอง หน้าตักกว้าง 8 วา 6 นิ้ว สูงสุดยอดพระรัศมี 11 วา 1 ศอก 7 นิ้ว พุทธลักษณะของหลวงพ่อโตนั้นโดดเด่นกว่ายุคสมัย คือ พระพักตร์และพระกรรณเหมือนคนธรรมดามากกว่า และมีริ้วรอยย่นของสบง จีวร อย่างชัดเจน
ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อโต เป็นที่ประจักษ์กันดีในหมู่ชาวเมืองอ่างทองที่เคารพนับถือ กล่าวกันว่า ผู้ที่ก่อกรรมทำชั่วไว้มาก จะไม่สามารถเข้าไปกราบนมัสการหลวงพ่อโตได้ เนื่องจากเมื่อเข้าใกล้องค์พระ จะเห็นว่าหลวงพ่อโต กำลังจะล้มลงมาทับ
• วิหารสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมฺรํสี) ตั้งอยู่ริมฝั่งทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา กว้าง 22 เมตร ยาว 39 เมตร ลักษณะเป็นทรงไทย มีมุขลด มีช่อฟ้าหน้าบัน เสาพระวิหารรับเชิงชาย สวยงามมาก ภายในประดิษฐานรูปเหมือนสมเด็จพระพุฒาจารย์ หน้าตักกว้าง 5 เมตร สูง 7 เมตร
• พระเจดีย์ใหญ่ ก่ออิฐถือปูน ฐานสี่เหลี่ยมมุมตัด มีบัวหงายรับคอระฆัง และมีฉัตรรูปบัวหงาย 7 ชั้น มีแกนเหล็กข้างในไปถึงยอดสุด ปั้นเป็นลูกแก้วติดไว้ด้วย
• มณฑปพระพุทธบาทจำลอง ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ ติดโรงเรียนพระปริยัติธรรม ภายในประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง
ราว 120 ปี หลังการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระอารามหลวงแห่งนี้ก็ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ใหญ่อีกครั้งในรัชกาลปัจจุบัน เพื่อให้คืนกลับสู่ความงดงามเฉกเช่นครั้งอดีต โดยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับโครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดไชโยวรวิหาร ไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ โปรดเกล้าฯให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จัดทำโครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดไชโยวรวิหาร ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2554 เริ่มจากบูรณะพระวิหารหลวง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2558 จากนั้นจึงบูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ วิหารสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ศาลาราย 4 หลัง หอระฆัง รวมทั้งซุ้มประตู กำแพง และพื้นลาน รอบเขตพุทธาวาส ไปตามลำดับ คาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ทั้งหมดในปี 2562
และเนื่องจากวันที่ 22 มิถุนายน เป็นวันมรณภาพสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) วัดไชโยวรวิหารจึงได้จัดงานบุญทักษานุประทานกิจ น้อมอุทิศถวายท่านเป็นประจำทุกปี
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 174 มิถุนายน 2558 โดย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)