วัดรัชฎาธิษฐาน เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ที่แขวงคลองชักพระ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร
พระอารามแห่งนี้เดิมชื่อ “วัดเงิน” เป็นวัดราษฎร์ที่สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ผู้สร้างคือ เจ้าขรัวเงิน แซ่ตัน คหบดีชาวจีนที่สืบเชื้อสายมาจากขุนนางจีนในกรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นพระภัสดา(สามี) ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ (พระเจ้าพี่นางเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1)
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ วัดเงินเริ่มชำรุดทรุดโทรมลง สมเด็จกรมพระอมรินทรามาตย์ พระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงได้ทรงสถาปนาวัดนี้ขึ้นใหม่ทั้งพระอาราม อาทิ กุฏิ หอสวดมนต์ ศาลาการเปรียญ หอไตร เป็นต้น
ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 สมเด็จกรมพระอมรินทรามาตย์ ซึ่งเป็นพระบรมราชชนนี ทรงมีพระดำริว่า วัดเงินมีแต่วิหาร ไม่มีพระอุโบสถ พระภิกษุสามเณรต้องข้ามคลองไปทำสังฆกรรมที่วัดทอง (ซึ่งเจ้าขรัวทอง น้องเจ้าขรัวเงิน เป็นผู้สร้างขึ้น ปัจจุบันคือวัดกาญจนสิงหาสน์) จึงได้โปรดให้สร้างพระอุโบสถขึ้น โดยมีพิธีผูกพัทธสีมา เมื่อ พ.ศ. 2366
ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุในวัดเงิน เช่น หอสวดมนต์ หอไตร โดยทรงสร้างหอระฆังใหม่ และในรัชกาลนี้เอง สมเด็จกรมพระอมรินทรามาตย์ได้พระราชทานตำหนักยาว 12 วา กว้าง 6 วา ให้สร้างเป็นศาลาการเปรียญ และได้พระราชทานบุษบกให้เป็นธรรมาสน์ไว้ที่วัดเงินด้วย
เมื่อ พ.ศ. 2397 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดเงิน โดยโปรดให้ลงรักปิดทองพระประธานในพระอุโบสถ แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดรัชฎาธิษฐาน”
สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เจ้าอาวาสวัดได้บูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ ศาลาจัตุรมุข รวมทั้งสร้างถนนภายในวัด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานเงิน 22 ชั่ง เพื่อให้ใช้ในการบูรณปฏิสังขรณ์ช่อฟ้าและหางหงส์
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุในวัด และก่อสร้างขึ้นใหม่หลายรายการ อาทิ กุฏิ ศาลาการเปรียญ ศาลาท่าน้ำ รวมทั้งสร้างโรงเรียนเทศบาลประจำวัดรัชฎาธิษฐานด้วย
ถาวรวัตถุและปูชนียวัตถุที่สำคัญของพระอารามแห่งนี้ ได้แก่
• พระอุโบสถ หลังเดิมเป็นแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 คือ ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หลังคาลด 2 ชั้น ใบเสมาทำด้วยหินจากเมืองจีน บานประตูหน้าต่างเขียนลายปิดทองรดน้ำ หลังบานประตูและหน้าต่างเขียนภาพทวารบาล
แต่เมื่อ พ.ศ. 2531 ทางวัดได้ก่อสร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่ เป็นสถาปัตยกรรมสมัยปัจจุบัน ซุ้มประตูหน้าต่างเป็นทรงมงกุฎ หน้าบันมีตราสัญลักษณ์งานพระราชพิธีมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยอุโบสถหลังเดิมนั้นทางวัดได้ใช้เป็นพระวิหาร แทนพระวิหารเดิมที่ชำรุดทรุดโทรมลง
• พระประธาน ประดิษฐานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ปางมารวิชัย หล่อด้วยโลหะ ลงรักปิดทอง หน้าตักกว้าง 2 เมตร สูง 2.50 เมตร ไม่ปรากฏพระนาม เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2553 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงตัดหวายลูกนิมิต และทรงยกฉัตรพระประธานประจำพระอุโบสถ
• พระเจดีย์ ตั้งอยู่รายรอบพระวิหารเก่า มี 9 องค์ เป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง แบบรัตนโกสินทร์ตอนต้น
• ศาลาการเปรียญ เดิมเป็น “ตำหนักแดง” ที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ตำหนักนี้ตั้งอยู่เบื้องหลังพระที่นั่งพิมานรัตยา ในหมู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาพระตำหนักนี้ได้เป็นที่ประทับของสมเด็จกรมพระอมรินทรามาตย์ ซึ่งได้พระราชทานให้แก่วัดเงิน
เป็นอาคารหลังเดียว 2 ชั้น มีความยาว 9 ห้อง โดยเป็นเรือนพระประธาน 5 ห้อง และมีมุขลดหน้าหลังมุขละ 2 ห้อง ชั้นล่างเป็นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ซึ่งสร้างใหม่เมื่อย้ายจากที่ตั้งเดิม ส่วนชั้นบนยังเป็นโครงสร้างไม้ที่ยังคงสภาพรายละเอียดทางสถาปัตยกรรมแบบเดิมไว้ ภายในศาลาการเปรียญมีภาพจิตรกรรม เช่น ทศชาติ และนรกภูมิ
• ธรรมาสน์บุษบก ประดิษฐานอยู่ในศาลาการเปรียญ มีฐานกว้าง 6.75 เมตร สูง 6.40 เมตร ได้รับพระราชทานจากสมเด็จกรมพระอมรินทรามาตย์ ลักษณะเป็นแบบสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีเชิงกลอนซ้อน 5 ชั้น งดงามมาก
• หอระฆัง ก่ออิฐถือปูน ทรงยอดเกี้ยวอย่างจีน สร้างบนฐานแปดเหลี่ยมมีพนักล้อม
• หอไตร เป็นเรือนทรงไทยกลางน้ำ 4 หลัง ปัจจุบันเป็นที่พักของสงฆ์ และเก็บหนังสือโบราณ
• พระแท่นศิลาที่ประทับ ประดิษฐานอยู่หน้าวัด เป็นแท่นชั้นลด ศิลปะสมัยรัชกาลที่ 3 ก่ออิฐถือปูน พระแท่นนี้เคยเป็นที่ประทับพักผ่อนพระอิริยาบถของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จพระราชทานผ้าพระกฐินและทรงโปรยทาน และมีหลักฐานปรากฏว่า เมื่อ พ.ศ. 2447 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสต้นและทรงแวะที่วัดรัชฎาธิษฐาน ได้ทรงฉายภาพบนพระแท่นร่วมกับพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชบริพารที่โดยเสด็จในครั้งนั้น
กาลเวลาผ่านพ้นมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน วัดรัชฎาธิษฐานได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ใหญ่อีกครั้งหนึ่ง เพื่อคืนความสง่างามให้กับพระอารามหลวงแห่งนี้ โดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้จัดทำโครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดรัชฎาธิษฐานตั้งแต่ปี 2555 ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ศาลาการเปรียญ และหอไตร(กลางน้ำ) จนแล้วเสร็จในปี 2557 สำหรับในปี 2558 ได้เริ่มบูรณปฏิสังขรณ์พระวิหาร ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2559 จากนั้นจะบูรณปฏิสังขรณ์พระวิหารน้อย ซุ้มประตูและกำแพงเขตพุทธาวาส รวมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์ ซึ่งจะแล้วเสร็จทั้งหมดในปี 2561
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 173 พฤษภาคม 2558 โดย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)